Skip to main content
sharethis

คุยกับ อานันด์ แพตวาร์ธัน นักทำหนังสารคดีชาวอินเดีย หนังที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมอินเดียอย่างตรงไปตรงมาและทรงพลัง หนังของเขาหลายเรื่องต้องต่อสู้ขึ้นศาลเพื่อให้ได้ฉายโดยไม่ถูกเซ็นเซอร์ หนังของเขาแตะทุกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงอย่างรุนแรงในสังคมอินเดีย

 

 

อานันด์ แพตวาร์ธัน คือนักทำหนังสารคดีชาวอินเดียผู้ทำหนังวิพากษ์วิจารณ์สังคมอินเดียอย่างตรงไปตรงมาและทรงพลัง หนังของเขาหลายเรื่องต้องต่อสู้ขึ้นศาลเพื่อให้ได้ฉายโดยไม่ถูกเซ็นเซอร์ หนังของเขาแตะทุกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงอย่างรุนแรงในสังคมอินเดีย ทั้งลัทธิคลั่งศาสนาสุดโต่ง สังคมที่ชายเป็นใหญ่และกดขี่ผู้หญิง ชนชั้น วรรณะ การประท้วง ต่อสู้ ความสัมพันธ์อันอ่อนไหวของอินเดียและปากีสถาน

วันที่ 20-21 ก.ค. ที่ผ่านมา Documentary Club, Filmvirus ด้วยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดให้เราได้ชมหนังของเขา 2 เรื่อง คือ Father, Son and Holy War (1995) ซึ่งได้รับการตัดสินให้เป็นหนึ่งใน 50 สารคดีที่น่าจดจำที่สุดตลอดกาลในปี 2004 จาก DOX นิตยสารหนังสารคดีเล่มสำคัญของยุโรป และ  War And Peace (2002) ซึ่งเคยถูกกองเซ็นเซอร์ขอให้ตัดออก 21 ฉาก ก่อนที่เขาจะต่อสู้และได้รับชัยชนะในศาล สามารถฉายได้โดยไม่ต้องตัดออกแม้เพียงฉากเดียว (ทั้งสองเรื่องมีในยูทูบ)

 

War And Peace เล่าถึงเมื่อครั้งอินเดียทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ สร้างความปั่นป่วนให้คนทั่วประเทศทั้งฝ่ายเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ลามไปถึงปากีสถาน ประเทศที่มีพรมแดนติดกันและมีปัญหาสงครามกับอินเดียมายืดเยื้อยาวนาน รวมทั้งญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากระเบิดนิวเคลียร์

ฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนที่อานันด์เข้าไปถ่ายในห้องเรียนในปากีสถานระหว่างคลาสโต้วาที ซึ่งจัดให้มีการโต้วาทีกันถึงประเด็นอาวุธนิวเคลียร์นี้ เด็กหญิงคนหนึ่งลุกขึ้นพูดชัดถ้อยชัดคำด้วยท่าทีสนับสนุนการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ปากีสถาน

“อินเดียคิดว่าปากีสถานแค่โม้และไม่มีน้ำยาจะทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นหากเรามีการทดสอบนิวเคลียร์เราจะสร้างความเชื่อมั่นให้ไม่เฉพาะกับชาวปากีสถานเท่านั้น แต่คือชาวมุสลิมทั่วโลก”

แต่เมื่อการโต้วาทีจบลง และเธอรู้ว่าอานันด์แม้เป็นคนอินเดีย แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ท่าทีเธอและเด็กคนอื่นจึงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“นี่เป็นปัญหาของปากีสถานมา 50 ปีได้แล้ว เราไม่มีของจำเป็นเช่นน้ำหรืออาหาร แต่พวกเขายังคิดเรื่องระเบิดนิวเคลียร์ได้ยังไง เราฆ่ากันเองในคาราจี มีคนเสียชีวิต 25,000 คน เราไม่จำเป็นต้องมีศัตรูภายนอกหรอก เพราะเราฆ่ากันเองอยู่ตอนนี้” เด็กหญิงอีกคนพูดอย่างหนักแน่น

“ทำไมตอนนี้พวกคุณถึงพูดสิ่งที่แตกต่างจากตอนโต้วาทีเหลือเกิน” อานันด์ถาม

“ฉันแค่เลือกฝ่ายเดียวกับคนส่วนใหญ่ เพราะจะทำให้เราได้คะแนนมากขึ้น เพื่อจะทำให้เราชนะ” เด็กหญิงที่พูดสนับสนุนตอนแรกพูด

“นั่นก็คือความคิดแบบเดียวกับนักการเมืองของพวกเรา” อานันด์ย้อนเธอ

“เป็นความผิดของฉันเอง นักการเมืองก็ไม่ควรทำแบบนั้น” เธอกล่าว “ฉันขอโทษ”

 

 

อานันด์บอกกับเราว่า นี่คือส่วนที่ทำให้นักการเมืองแตกต่างจากเหล่าเด็กๆ เพราะนักการเมืองจะไม่มีวันเอ่ยคำขอโทษ

ประชาไทมีโอกาสชวนอานันด์ แพตวาร์ธันคุยถึงเรื่องหนังในประเด็นความขัดแย้งต่างๆ ไปถึงสถานการณ์ทางสังคม การเมืองของอินเดีย ที่เมื่อฟังแล้วก็อดเปรียบกับสังคมเราไม่ได้.

 

0000

 

คุณเรียนอะไรมา ทำไมถึงมาทำหนังได้?

ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับหนังโดยตรง แต่เรียนด้านวรรณกรรมกับสังคมวิทยา ต่อมาผมได้ทุนไปเรียนที่อเมริกา ช่วงนั้นเป็นสงครามเวียดนามพอดี มีการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม นั้นเป็นครั้งแรกที่ผมหยิบกล้องไปถ่ายการประท้วงสงครามเวียดนาม พอเรียนจบกลับมาอยู่อินเดียก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำหนัง แต่มีการประท้วงของนักศึกษาต่อต้านการคอร์รัปชั่น และมีตำรวจใช้ความรุนแรง ผมจึงตั้งใจจะบันทึกภาพเหล่านั้นไว้ด้วยกล้องซุปเปอร์ 8 ที่ยืมมา แล้วเอากล้องนั้นมาฉายบนจอ เอากล้อง 16 มม. ถ่ายซ้ำ เพื่อขยายภาพให้เป็นฟอร์แมตแบบ 16 มม. นั้นเป็นหนังเรื่องแรกที่ผมได้เข้าไปถ่าย

 

อะไรคือข้อดีที่ทำให้คุณเลือกหนังในการสื่อสาร?

ในประเทศที่อัตราการอ่านหนังสือไม่สูงแบบอินเดีย การมีสื่อภาพเคลื่อนไหวจะสามารถสื่อสารได้ผลมากกว่า ในสังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะอย่างรุนแรง คนต่างวรรณะไม่ค่อยพูดคุยกันเท่าไหร่ แต่สารคดีเป็นสื่อที่บังคับให้คนต่างวรรณะหันมาพูดคุยกันได้

 

คุณเชื่อในศาสนาไหม หรือเชื่อในอะไร?

ผมไม่ได้เป็นคนเคร่งศาสนา แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านศาสนา เราไม่รู้ว่าพระเจ้ามีหรือไม่มี รู้ก็คือตายไปแล้ว สวรรค์หรือนรกอาจจะมีจริงก็ได้ แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็น แต่ผมเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิจะเลือกนับถือศาสนาได้

สิ่งที่ผมต่อต้านคือคนที่นำศาสนาไปใช้เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง  ศาสนาควรเป็นกิจกรรมส่วนบุคคล เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ไม่ควรนำความเชื่อเหล่านั้นมาใช้ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในอินเดียที่มีความหลากหลายทางความเชื่อศาสนา ศาสนาบางอันไม่เคยถูกบันทึกไว้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนักที่จะนำศาสนาใดศาสนาหนึ่งไปครอบและบังคับให้ทุกคนทำตาม

จริงๆ แล้วศาสนาเกิดมาจากเจตนาที่ดีก่อน เช่น พระเยซูก็เป็นผู้นำที่ปกป้องคนยากจนจากอาณาจักรโรมัน แต่พอมันกลายเป็นสถาบันมันก็เริ่มกลายเป็นการกดทับกดขี่ผู้คน เมื่อเป็นสถาบันก็เริ่มพยายามแสวงหาอำนาจให้ตัวเอง ศาสนาคริสต์เองก็กระทำการรุนแรงต่อคนในหลายรูปแบบ หรือศาสนาพุทธในพม่าหรือศรีลังกาก็เป็นต้นเหตุของความรุนแรงเช่นกัน 

สิ่งที่ผมเชื่อคือความเป็นเหตุเป็นผล ความเปิดกว้าง ในการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ศรัทธาอย่างโงหัวไม่ขึ้นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผมเชื่อว่าแค่เป็นมนุษย์ที่ดีก็เพียงพอแล้ว นั่นหมายความว่าคุณใส่ใจมนุษย์คนอื่น สิ่งมีชีวิตอื่น โลก และคุณไม่จำเป็นต้องไปวัดหรือโบสถ์เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนดี

ผมเชื่อในสันติวิธี ไม่ว่าจะเป็นของคานธีหรือพุทธศาสนา เพราะเชื่อว่าวิธีแบบสันติให้เวลาคนในการเข้าร่วม ในขณะที่การใช้อาวุธไม่ได้มีเวลาให้คนขนาดนั้น เราจับอาวุธแล้วทุกอย่างก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มันอาจนำความเปลี่ยนแปลงมาได้ไว แต่ไม่มีเวลาให้คนได้คิด จึงไม่น่าใช่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตย 

 

ในสังคมที่มีความแตกต่าง ความคิดตรงข้ามอย่างสุดขั้ว เราจะอยู่ร่วมกันยังไง?

คนอยู่ร่วมกันมานานแล้ว แต่เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันมันมีความอยุติธรรมเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสังคมของอินเดียคือระบบวรรณะ ศาสนาฮินดูนำระบบวรรณะมาครอบคน ทำให้มีบางคนถูกกำหนดให้ทำงานต่ำต้อย คนเหล่านี้ถูกกดขี่มาตลอด โดยวรรณะพราหมณ์หรือกษัตริย์ ส่วนตัวผมเองไม่เชื่อในระบบนี้ 

จริงๆ มีคนหลายคนพยายามจะสู้กับระบบนี้ เช่น พระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดในวรรณะสูง แต่ก็ตระหนักและเข้าใจระบบวรรณะจึงพยายามสู้กับระบบวรรณะนี้ นอกจากพระพุทธเจ้าก็ยังมีอีกหลายคนในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา 

 

คุณคิดว่าสิทธิมนุษยชนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม?

สิทธิมนุษยชนช่วยได้ แต่สิทธิมนุษยชนเองก็ถูกควบคุมโดยคนมีอำนาจที่เลือกจะทำเพื่อเหตุผลทางความเชื่อบางอย่าง และคนเหล่านั้นไม่ได้มองเห็นเรื่องราวทั้งหมดจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น หนังเรื่องล่าสุดของผมเกี่ยวกับการฆาตกรรมนักสิทธิมนุษยชน แต่ปรากฎว่าหนังของผมก็ถูกปฏิเสธจากเทศกาลหนังที่โฟกัสในประเด็นสิทธิมนุษยชนเสียเอง 

ในช่วงสงครามเย็น กิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนก็จะโฟกัสไปที่ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโซเวียต ในคิวบา ในจีน แต่ไม่มีใครไปโฟกัสการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอเมริกา อิสราเอล หรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศคอมมิวนิสต์

ยกตัวอย่างเช่นสารคดี The Act of Killing หนังที่พูดถึงการฆ่ากวาดล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนิเซีย หนังให้ภาพเหมือนกับว่าคนในพื้นที่ฆ่ากันเอง มีคนตั้งตนขึ้นมาเพื่อฆ่าคอมมิวนิสต์ในประเทศ แต่หนังไม่ได้พูดว่าจริงๆ แล้วซีไอเอของอเมริกาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง บอกให้คนในพื้นที่จัดการคอมมิวนิสต์ เพราะตัวอเมริกาเองอยากจะควบคุมคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดนิเซีย  ดังนั้นแม้หนังจะได้รางวัลมากมายในระดับนานาชาติ แต่ก็ไม่ได้ให้ภาพเต็มๆ ของสิ่งที่เกิดขึ้น มันละบางอย่างไว้ไม่พูดถึง

หรือเวลาดูหนังอิสลามหลายเรื่องที่เกี่ยวกับไอซิส (ISIS) ไม่ได้บอกว่าจริงๆ แล้วไอซิสเกิดจากอะไร ไอซิสเกิดจากการที่อเมริกาไปบุกอิรักหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ทั้งที่อิรักไม่ได้เป็นคนก่อเหตุ และการไปบุกอิรักทำให้ต่อมาเกิดไอซิส แล้วอเมริกาก็ใช้ไอซิสเป็นข้ออ้างในการไปบุกซีเรีย บุกที่อื่นๆ ต่อ แต่หนังเหล่านี้ไม่ได้ให้ภาพว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ใครเป็นคนที่ควรรับผิดชอบ 

สิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่คนมีอำนาจใช้จัดการกดปราบผู้คน หรือกรณีที่มีนักข่าวถูกฆ่าในสถานทูตซาอุดิอาระเบีย อเมริกาก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะผู้มีอำนาจในซาอุดิอาระเบียตอนนั้นก็เป็นมิตรสหายของทรัมป์ 

หรือในกรุงเฮก เนเธอแลนด์ ซึ่งมีศาลสิทธิมนุษยชนนานาชาติ กรุงเฮกก็ไม่เคยเอาอิสราเอลขึ้นศาลในความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม 

 

ดังนั้นสิทธิมนุษยชนโดยตัวมันเองดี แต่คนเลือกใช้ต่างหากที่ทำให้มันไม่ดี?

เราควรมองสิ่งสิ่งหนึ่งจากหลายมุมมอง เวลาพูดถึงสิทธิมนุษยชนก็ต้องดูว่าใครพูด ใครใช้ แต่มันเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันนำสิ่งที่เลวร้ายเปิดเผยออกไปในพื้นที่นานาชาติให้คนเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น

 

สถานการณ์ปัจจุบันในอินเดียเรื่องระบบชนชั้นวรรณะดีขึ้นไหม?

ระบบชนชั้นไม่ดีขึ้น คนรวยก็รวยไป คนจนก็จนลง แต่ถ้าระบบวรรณะ มีสัญญาณที่ดี วรรณะล่างมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีปากมีเสียง ต่อสู้มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือพอสู้มากขึ้นก็มีเสียงต่อต้านมากขึ้น 

 

เป็นไปได้ไหมที่ที่คนในวรรณะต่ำจะรวยได้?

มี แต่นานๆ ที อาจจะมีดาลิต (วรรณะต่ำสุด) ที่รวย อาจจะเข้าสังคมกับชนชั้นสูงได้ แต่ถึงที่สุดเวลาแต่งงานก็จะมีคนไปเช็คประวัติ ในทางประวัติศาสตร์ระบบวรรณะอยู่ได้เพราะไม่อนุญาตให้คนต่างวรรณะแต่งงานกัน คนวรรณะสูงอาจไปนอนกับคนวรรณะต่ำได้ แต่ไม่สามารถแต่งงานกันได้ เพราะถ้าอนุญาตก็จะไม่มีระบบวรรณะอีกต่อไป เพราะทุกวรรณะก็จะผสมปนเปกันไปหมด จนคนก็ไม่รู้ว่าคุณมาจากวรรณะไหน

แม้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การแต่งงานในอินเดียยังเป็นการคลุมถุงชนอยู่ พ่อแม่จะเลือกให้จากสายตระกูล ความรักอาจจะตามมาหลังจากนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ปัจจุบันก็มีความเปลี่ยนแปลง คนในเมืองที่ต่างวรรณะมีโอกาสได้เจอกันจากการไปเรียน ไปทำงาน 

 

แล้วถ้างั้นในหนังโรแมนติกของอินเดียทำไมจึงพูดเรื่องความรักได้อย่างเสรี?

มีหนังโรแมนติกในอินเดียมากมายที่เป็นความรักข้ามวรรณะ และคนจะสนใจเพราะมันเป็นข้อห้าม แต่มันเป็นแค่แฟนตาซี คนมองมันในฐานะความแฟนตาซี และถ้าในหนังไม่ได้พูดถึงระบบวรรณะคนดูก็อาจจะคิดเองว่าสองคนนี้มาจากวรรณะเดียวกัน

 

ถ้าไม่มีวรรณะจะแก้ปัญหาหลักๆของอินเดียได้ไหม?

ก็ใช่ วิธีออกที่ดีที่สุดของระบบวรรณะคือการแต่งงานข้ามวรรณะ พอผ่านไปสองสามเจเนเรชั่นคนก็คงไม่สามารถจำได้ว่าใครมาจากวรรณะไหน และพอผสมกันไปแล้วจะทำให้คนวรรณะสูงยากที่จะกดขี่คนวรรณะต่ำได้ แนวคิดที่ว่าคนบางคนเกิดมาเพื่อทำงานสกปรก งานต่ำต้อย เกิดมาเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างเท่านั้นก็จะถูกสั่นคลอนและหายไป 

 

แล้วคุณมาจากวรรณะไหน?

พ่อแม่ของผมมีแนวคิดแบบสังคมนิยม ไม่เชื่อระบบวรรณะ พ่อของผมมาจากวรรณะพราหมณ์ชั้นสูง แม่มาจากวรรณะแพศย์ พอแต่งงานในยุคนั้นก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าถือตามพ่อผมก็เกิดในวรรณะสูง ส่วนผมเป็นเหมือนรุ่นสองที่่มีแนวคิดสังคมนิยม ทำให้ผมรู้สึกเป็นอิสระ ผมอาจจะไม่ได้เข้าใจเรื่องวรรณะขนาดนั้นในตอนแรก การเกิดในวรรณะสูงเหมือนคุณได้รับสิทธิพิเศษ คุณจะรู้สึกว่าวรรณะไม่ใช่ปัญหาอะไร ต้องใช้เวลาสักพักกว่าผมจะเห็นว่าวรรณะมันกระทบคนที่ไม่ได้มาจากวรรณะสูงยังไง

 

กระแสตอบรับของคนอินเดียต่อหนังของคุณเป็นยังไง?

จริงๆ กระแสตอบรับดี แต่ปัญหาคือคนดูไม่เยอะ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรอินเดียก็มีคนดูน้อยมาก ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างหนัง War And Peace ได้ไปฉายปากีสถาน ได้รางวัลจากมุมไบ จากคาราจี ดังนั้นประเทศที่กำลังทำสงครามกันก็มองเห็นสารัตถะที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ต้องต่อสู้มากคือต่อสู้ให้หนังได้ฉาย เรื่องนี้รอบแรกกองเซ็นเซอร์ขอให้ตัด 6 ซีน ก็อุทธรณ์ไป ปรากฎว่าต่อมาถูกขอให้ตัด 21 ซีน แต่เกิดกลายเป็นข่าวขึ้นมา กองเซ็นเซอร์รู้สึกอับอาย พออีกรอบหนึ่งก็เลยให้ผ่าน แต่ขอตัดแค่ 2 ซีน ผมก็สู้ในศาลต่อจนไม่ต้องตัด และหนังก็ได้ฉายโดยที่ไม่ต้องตัดทอนอะไร แต่ผมคิดว่าหากจะให้คนได้ดูเยอะจริงๆ ก็ต้องไปฉายช่องทีวี จึงไปขอให้ช่องทีวีฉาย แต่เขายอมฉาย จึงต้องขึ้นศาลอีกครั้ง สู้ชนะและได้ฉาย แต่ก็เป็นการฉายแค่รอบเดียว 

 

ในอินเดียศาลโดนแทรกแซงไหม?

ถ้าผมตอบจริงๆ อาจจะต้องติดคุก แต่ตอนนี้ยังมีผู้พิพากษาดีๆ อยู่ เพราะอย่างที่เห็นว่าผมสู้ในศาลก็ชนะมาทุกรอบ แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป ถ้ายิ่งรัฐบาลขวาจัดฮินดูนิยมสุดโต่งยึดอำนาจได้นานแค่ไหน พวกเขาก็จะมีอำนาจที่จะตั้งผู้พิพากษาที่โน้มเอียงไปทางฝั่งนั้นได้ 

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดียนิยมลัทธิชายเป็นใหญ่ ต้องมีอาวุธ ต้องก่อสงคราม และตอนนี้ตัวนายกฯ และพรรคบีเจพีก็พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะล้มล้างมรดกของคานธีและเนรูห์ เพราะเขาคิดว่าทั้งคานธีและเนรูห์พาประเทศหลงทางในยุคเป็นเอกราช ดังนั้นแนวคิดแบบสังคมนิยม ความเท่าเทียมทางสังคม รัฐฆราวาส เป็นสิ่งที่ต้องถูกรื้อถอน 

 

ปัจจุบันพอมีโซเชียลมีเดียแล้วคุณได้รับผลกระทบยังไงบ้างไหม?

ตอนที่หนังยังฉายทีวีไม่ได้ ผมก็เอาหนังลงยูทูบใส่ซับฮินดู ก็ทำให้มันแพร่กระจายไปได้กว้างขวาง หรืออย่างกระแสต่อต้านในโซเชียล ถ้าเป็นในเฟสบุ๊คก็ง่ายนิดเดียว ผมยอมให้คนมาด่าผมได้ 3 ครั้ง ถ้ามีครั้งที่ 4 และเป็นการด่าที่ไม่สร้างสรรค์ก็จะอันเฟรนด์ทิ้งไป เพราะจริงๆ แล้วผมอยากมีบทสนทนากับคนที่มาโจมตีผม คนบางคนเปลี่ยนความคิดได้ เขาเพียงแค่เชื่อในสิ่งที่เขารับรู้มา แต่ถ้าเขาได้ข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งเขาก็อาจจะเปลี่ยนความคิดได้

 

การถูกเซ็นเซอร์เป็นปัญหาใหญ่สำหรับหนังคุณไหม?

กลไกเซ็นเซอร์ที่มีผลจริงๆ ไม่ใช่การเซ็นเซอร์โดยรัฐ แต่เป็นการเซ็นเซอร์โดยตลาด คนคุมตลาดเป็นคนเลือกว่าผู้บริโภคจะดูหนังแบบไหน แล้วคนคุมตลาดก็ไม่เปิดโอกาสให้มีหนังหลากหลายเข้ามาเพื่อให้ผู้บริโภคพัฒนารสนิยมตัวเอง หนังที่ได้ฉายในโรงพาณิชย์จึงเป็นหนังที่ไม่ได้ให้ผู้ชมพัฒนารสนิยมและกระตุ้นให้ผู้ชมใช้ความคิด

 

ตอนทำหนังและเห็นผลกระทบและความเจ็บปวดมากมายของผู้คน คุณร้องไห้ไหม?

พ่อผมก็ร้องไห้ง่าย ดังนั้นผมไม่ได้ถูกสอนมาว่าเด็กผู้ชายห้ามร้องไห้ ในกระบวนการทำผมเหมือนเป็นพยานให้กับความเจ็บปวดของคนอื่น ดังนั้นมันจึงเจ็บปวดมาก  แต่สิ่งที่ผมยึดมั่นคือเชื่อว่าหนังที่ทำจะมีประโยชน์ต่อคนที่ได้รับความรุนแรง แม้เราจะไม่รู้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในทางรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน แต่ในใจก็ยังเชื่อเสมอว่ามันจะมี

 

ครั้งนี้มาเมืองไทยมีเรื่องไหนที่คุณสนใจเป็นพิเศษไหม?

ผมมาแค่ 2 วันเอง แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่สนใจ แต่เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้

 

*ขอขอบคุณ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ในการแปลระหว่างการสัมภาษณ์

*บางส่วนของบทสัมภาษณ์มาจากการตอบคำถาม Q&A หลังชมหนังสารคดี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net