ในลาวกำลังเกิดปัญหาภัยแล้งหนักกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่การที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศลาวและจีนไม่จ่ายน้ำยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง ส่งผลกระทบหนักต่อประชาชนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมและประมงในแม่น้ำนานาชาติสายนี้
ภาพแม่น้ำโขงแห้ง (ที่มา:flickr/Joaquin uy)
24 ก.ค. 2562 ภาวะอุณหภูมิสูงและภัยแล้งส่งผลให้เกษตรในลาวประสบปัญหาพืชผลเสียหาย ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิเคราะห์มองว่าการที่ฝนตกน้อยในช่วงฤดูฝนไม่เพียงแค่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารด้วย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ประเทศลาว) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียว่าปีนี้แล้งกว่าปีที่แล้ว (2561) โดยที่สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ฝนตกน้อยลง แต่นั่นก็ไม่ใช่แค่สาเหตุเดียวเท่านั้นที่ทำให้เกิดปัญหานี้ เจ้าหน้าที่ทางการลาวเปิดเผยว่าอีกสาเหตุหนึ่งมาจากเขื่อนจิ่งหงของจีนซึ่งเป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ต้นทางน้ำปิดประตูระบายน้ำเพื่อกักน้ำไว้เองด้วย ต้นเหตุอาจจะเป็นเพราะว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของจีนเองก็ลดลงเหลือน้อยเกินไปเช่นกัน
การประเมินระดับน้ำจากกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ระบุว่าระดับแม่น้ำโขงในตอนนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 เมตรเล็กน้อย ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเดิมราว 7 เมตรเมื่อเทียบกับระดับความลึกของน้ำในช่วงเวลาเดียวกันในปีอื่นๆ วิดีโอของเรดิโอฟรีเอเชียยังเคยแสดงให้เห็นว่าระดับแม่น้ำโขงในเวียงจันทน์มีระดับต่ำมากถึงขนาดที่ไม่มีการไหลของน้ำและมีลักษณะเป็นแอ่งที่เห็นพื้นใต้น้ำได้อย่างชัดเจน
หนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งคือเกษตรกรในจังหวัดไซยะบุรีที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ในฤดูนี้เพราะน้ำไม่เพียงพอ เกษตรกรประเมินว่าภัยแล้งในปีนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างน้อย 300 ครัวเรือน เพราะไม่มีน้ำเพื่อใช้ในการชลประทาน
ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของลาวเปิดเผยว่าการที่ฝนตกน้อยทำให้การเพาะปลูกข้าวช่วงฤดูฝนรวมแล้วราว 5 ล้านไร่ประสบความล่าช้า จนถึงตอนนี้มีการเพาะปลูกข้าวของฤดูฝนเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น แต่ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจนด้านความเสียหายทางพืชผลการเกษตร เจ้าหน้าที่กรมการเกษตรและป่าไม้ของลาวยังกล่าวว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยแล้งคือเรื่องการออกแบบระบบชลประทานที่ทำขึ้นมาจากดินนั้นเก็บกักน้ำได้ไม่ดี
นอกจากเรื่องเขื่อนของจีนแล้ว ก่อนหน้านี้ยังเคยมีการพูดถึงปัญหาน้ำแล้งที่มาจากการปิดประตูระบายน้ำตามเขื่อนต่างๆ ที่สร้างบนแม่น้ำโขง หนึ่งในนั้นคือเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนแม่น้ำโขงแห่งแรกของลาว ส่งผลให้คนที่อยู่ในพื้นที่ปลายน้ำต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหาเอง
หนึ่งในผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่าสะหว่างของจังหวัดไซยะบุรีเปิดเผยว่าคนในแถบนั้น 3-4 หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากการปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนจนทำให้เกิดภาวะน้ำแล้งมากเกินไป มีชาวบ้านอีกรายหนึ่งบอกว่าการที่ระดับน้ำลดลงต่ำกว่า 9 เมตรส่งผลให้เรือจำนวนมากติดอยู่ริมตลิ่งเพราะแล่นไม่ได้
เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้เคยมีการพยายามแก้ปัญหาด้วยการปล่อยน้ำบางส่วนจากเขื่อนระหว่างวันที่ 17-20 ก.ค. และประกาศให้ผู้อยู่อาศัยปลายน้ำเตรียมรับกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น 75 ซม. แต่ชาวบ้านปลายน้ำก็บอกว่าระดับน้ำสูงขึ้นแค่ 40-50 ซม. เท่านั้นในช่วงสองวันหลังจากมีการปล่อยน้ำ
บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแถลงว่าพวกเขากำลังพยายามทดลองเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยน้ำและโต้แย้งว่าการสร้างเขื่อนไม่ได้เป็นสาเหตุของเรื่องภัยแล้ง ผู้ประสานงานของบริษัทเขื่อนพลังงานน้ำไซยะบุรีแถลงต่อผู้อาศัยในท้องถิ่นเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าการปล่อยน้ำจะไม่ส่งผลกับผู้อาศัยในพื้นที่มากนัก ขณะที่ตัวแทนของซีเอชการช่างซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเขื่อนบอกว่าพวกเขากำลังการทดลองเรื่องการปล่อยน้ำ และการทดลองของพวกเขาก็ใกล้จะเสร็จแล้ว นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าการสร้างเขื่อน "จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเลย" เพราะพวกเขา "ผ่านมาตรฐานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว"
เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานขององค์กรจับตามการลงทุนเขื่อนลาว (LDIM) กล่าวว่าภัยแล้งในลาวเป็นผลมาจากทั้งเรื่องวิกฤตโลกร้อนและเรื่องเขื่อน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีฝนตกในทางตอนเหนือน้อยลง ผู้คนที่อยู่แถบปลายน้ำแม่โขงก็บอกว่าเขื่อนทำให้ปัญหาภัยแล้งเลวร้ายลง เปรมฤดีกล่าวว่าประเทศจีนเองก็ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้พวกเขาสั่งเปิด-ปิดการระบายน้ำจากเขื่อนซึ่งส่งผลกระทบมาถึงปลายน้ำ
ข้อมูลขององค์กรอินเตอร์เนชันแนลริเวอร์ เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่ามีเขื่อนอย่างน้อย 7 แห่ง ตามแม่น้ำโขงในประเทศจีน อีกทั้งจีนยังมีทั้งแผนสร้างเขื่อนและที่กำลังสร้างอีกรวม 20 แห่งทั้งในมณฑลยูนนาน มณฑลชิงไห่ และในเขตปกครองทิเบต
ในพื้นที่น้ำโขงตอนล่าง (ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม) มีเขื่อนที่ใช้งานแล้ว 11 แห่ง และมีแผนที่จะสร้างอีก 11 แห่ง ในลาวเองก็มีแผนการสร้างเขื่อนใหม่อีกกว่า 72 แห่ง รัฐบาลลาวอ้างว่าเขื่อนเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและส่งเสริมโครงการด้านสวัสดิการสังคม แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมก็บอกว่าพลังงานที่ผลิตในลาวจะถูกส่งขายออกไปให้ประเทศใกล้เคียงและถูกซื้อกลับมาในลาวด้วยราคาแพง
ผลการศึกษาการจัดการอย่างยั่งยืนและการพัฒนาแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ที่ประกอบขึ้นจากรัฐบาลอาเซียนสี่ประเทศลุ่มน้ำโขงรายงานว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักแม้มีผลดีกับการสร้างกำลังผลิตไฟฟ้า แต่จะมีผลกระทบกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างมาก เมื่อเทียบกับปีฐาน (พ.ศ. 2540) การศึกษาพบว่าเขื่อนบนลำน้ำสายหลักทั้งหมด 11 เขื่อนจะมีอิทธิพลถึงร้อยละ 50 จากทั้งหมดผลผลิตของภาคเกษตรบริเวณลุ่มน้ำโขงลดลงราว 0.6-1 ตัน/เฮกตาร์ ผลผลิตในส่วนที่ห่างไปจากแม่น้ำโขงกระแสหลักลดลงกว่า 0.5 ตัน/เฮกตาร์
การศึกษาคาดการณ์ว่า ในปี 2583 กระแสน้ำที่ไหลมากขึ้นในหน้าแล้งและภาวะดินเค็มที่ลดลงจะทำให้ผลผลิตนาปรังเพิ่มขึ้นสูงสุดราว 0.2 ตัน/เฮกตาร์ แต่ในบางพื้นที่จะเสียจำนวนผลผลิตลงสูงสุด 2.4 ตัน/เฮกตาร์ เนื่องจากประสบปัญหาการไหลของกระแสน้ำที่ซับซ้อน และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น
ตะกอนดินต่างๆ ที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกถูกกั้นไว้โดยเขื่อนตั้งแต่ที่จีน ถ้ายังสร้างเขื่อนถึงปี 2040 จะเหลือแค่ ร้อยละสามเท่านั้นที่จะไหลถึงปากแม่น้ำโขง นอกจากนั้นปลาในแม่โขง ปลาธรรมชาติจะสูญพันธุ์ จะมีปลานอกท้องถิ่นเข้ามาแทนที่ เมื่อคำนวณประโยชน์จากหลายๆ ด้านก็พบว่าผลกระทบด้านเกษตรกับประมงจะทำให้ประชาชนไม่ได้ผลประโยชน์ซึ่งกระจุกอยู่กับผู้ลงทุน ตัวรายงานจึงแนะนำให้ประเทศสมาชิก MRC หาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าอื่นๆ มาแทนที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
การใช้ปี 2540 เป็นปีฐานเนื่องจากเป็นปีก่อนที่โครงการเขื่อนไซยะบุรีบนลำน้ำสายหลักจะเกิดขึ้น และการคาดการณ์ก็มองไปในปี 2563 จะมีโครงการไซยะบุรี ดอนสะโฮง และคาดการณ์ต่อไปจนถึงปี 2583 ในเงื่อนไขว่าโครงการเขื่อนเหล่านั้นปฏิบัติการไปตามปกติ
เรียบเรียงจาก
Rural Laotians Suffer as Drought in Mekong Region Worsens, Radio Free Asia, Jul. 22, 2019
Drought destroying the future of Lao farmers, Vientiane Times, Jul. 24, 2019