Skip to main content
sharethis

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนาที่ ม.อุบลฯ ชี้ภาคอีสานเป็นภาคที่มีความเป็นพลเมืองสูงมาก ชูทวงการเมืองภาคพลเมือง ระบุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ย้ำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาขนมีสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเท่านั้น

25 ก.ค.2562 ทีมสื่อสารพรรคอนาคตใหม่ รายงานว่า ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “การเมืองของพลเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน” ท่ามกลางนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเนืองแน่นห้องประชุม

ธนาธร กล่าวถึงความสำคัญของสิทธิพลเมือง ระบุว่า สิทธิต่างๆ ที่ประชาชนได้รับมาในทุกวันนี้ ล้วนแต่มาจากการต่อสู้ของภาคพลเรือนทั้งสิ้น โดยยกตัวอย่างถึงสิทธิประกันสังคม และสิทธิลาคลอด 90 วัน ที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคแรงงาน รวมถึงสิทธิการเข้าถึงยารักษาโรคเอดส์ จากการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมเช่นกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่เกิดจากการรณรงค์ของภาคประชาสังคมทั้งนั้น ดังนั้น การเมืองภาคพลเมืองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาขนมีสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเท่านั้น และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนอย่างลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจตอนนี้สภาพพังไปหมด ช่วงหาเสียงที่ผ่านมาตนได้ไปพบกับประชาชนในหลายท้องที่ ขอยกตัวอย่าง เช่น ในหมู่บ้านชาวประมงที่ไปมาแห่งหนึ่ง ได้เจอประชาชนที่สามีผูกคอตายเพราะผลกระทบจากกฎหมายประมงฉบับใหม่ เรือประมงถูกล็อคไม่สามารถเอาออกทะเลได้ จนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา แต่แล้วก็ไม่สามารถออกเรือประมงได้จนต้องผูกคอตาย ตนถามว่าทำไมไม่ชุมนุม ชาวบ้านก็บอกว่าพวกเขาได้ลองแล้ว แต่เพียงแค่คิดจะชุมนุมทหารก็มาหาถึงหมู่บ้านเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่แค่กับชาวประมง แต่เกิดขึ้นกับประชาชนทุกคนที่ต้องการเรียกร้อง ไม่ว่าจะชาวสวนยาง หรือเกษตรกร หรือหาบเร่ต่างๆ

"แน่นอนว่าแม้สิ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาตลอดทุกยุคสมัยก็จริง แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้าการรัฐประหาร ยังมีพื้นที่ให้ประชาชนได้ชุมนุม มีพื้นที่ให้ต่อรองกันได้ ลดผลกระทบลงได้ระดับหนึ่ง แต่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทหารเป็นผู้ลงมาสั่งการทุกอย่าง จัดการทุกอย่างโดยไม่มีพื้นที่เหลือให้ต่อรองได้เลย ผมคิดว่านี่คือเรื่องเดียวกันกับปัญหาเศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจของประชาชนตกต่ำขนาดนี้ เพราะทุกอย่างไม่เหลือพื้นที่ให้ประชาชนได้ต่อรองเลย" ธนาธร กล่าว 

ธนาธร กล่าวอีกว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่มีความเป็นพลเมืองสูงมาก ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ใหม่ๆ เราจะพบว่าอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นที่นี่หลายแห่ง ก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพเสียอีก โดยเกิดขึ้นจากการร่วมกันสร้างของประชาชน และนี่คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ (modernity) และความเป็นพลเมือง ก่อนหน้าปี 2475 เราไม่มีพลเมืองในประเทศไทย เรามีแต่ความเป็นไพร่ ชีวิตอยู่ภายใต้มูลนาย ไม่มีสิทธิเสรีภาพที่เป็นของตนเอง แต่ความเป็นพลเมืองคือคนที่เป็นเจ้าของอำนาจ มีสิทธิเสรีภาพและสำนึกหน้าที่ในความเป็นเจ้าของอำนาจ และการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในหลายจังหวัดภาคอีสานคือสิ่งที่บ่งบอกว่าชาวอีสานตอบรับการเปลี่ยนแปลงจากไพร่มาเป็นพลเมืองสูงมาก หากแต่เมื่อมาดูในสภาพปัจจุบัน ภาคอีสานกลายเป็นภาคที่ได้รับการพัฒนาน้อยมาก และเรามักจะได้เห็นวาทกรรมว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนอีสานโง่และขี้เกียจ ซึ่งตนไม่เคยเชื่อในเรื่องเหล่านี้เลย เราเห็นคนอีสานที่มีศักยภาพเยอะแยะไปหมด มีคนทำหนังมือรางวัลระดับโลกหลายคน มีดารานักแสดงที่มีความสามารถจำนวนมาก ส่วนที่ว่าขี้เกียจนั้น คนอีสานจำนวนมากเป็นเกษตรกรที่ทำงานอยู่กลางไร่กลางนาทั้งวัน คนที่ตื่นแต่เช้าออกทำงานทั้งวันจนมือหยาบกร้านผิวตัวดำเพราะตรากตรำตากแดดอยู่กลางนาไม่ใช่คนขี้เกียจแน่ๆ 

"คนอีสานไม่ได้เป็นอย่างที่วาทกรรมนี้พยายามสร้างให้เป็นแน่นอน แต่สาเหตุที่ภาคอีสานไม่ได้รับการพัฒนา เป็นเพราะคนอีสานไม่มีอำนาจต่างหาก การตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อคนอีสานหลายอย่าง ตั้งแต่ยุคของการสร้างเขื่อนปากมูล ล้วนมาจากการตัดสินใจที่ศูนย์กลาง เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ้มอภิสิทธิชน โดยผู้ที่ต้องรับกรรมคือชาวบ้านในภาคอีสานเอง รถไฟฟ้าหนึ่งเส้นในกรุงเทพใช้เงินประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท เงินเหล่านั้นคือเงินบาทเดียวกันที่ไม่ได้เอามาพัฒนาอุบลราชธานี ไม่ได้เอามาพัฒนาภาคอีสาน หรือส่วนอื่นๆของประเทศ คำถามก็คืออำนาจอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนมีอำนาจมีสิทธิเกลี่ยทรัพยากรเหล่านั้น มันถึงเวลาจริงๆที่เราต้องมาสำรวจว่าสิทธิพลมืองอยู่ที่ไหน” ธนาธร กล่าว

ธนาธร กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจพังจนถึงทุกวันนี้คือการดึงอำนาจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดย คสช. งบประมาณต่างๆ ที่เคยลงไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น อิสระในการใช้งบประมาณและออกแบบงบประมาณของตัวเองหายไปหมด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ นี่คือลักษณะของรัฐบาลที่ยึดอำนาจมา คือต้องการกดไว้ไม่ให้ท้องถิ่นลุกขึ้นมาท้าทาย ทำยังไงได้ให้ทุกคนจนแต่ไม่ตาย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐเป็นเรื่องการอุปถัมภ์ ต้องพึ่งพารัฐ ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดประชาธิปไตยที่อยากให้ชุมชนเข้มแข็งเติบโต เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งออกแบบให้มีองค์กรพิเศษอยู่เหนือทุกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เช่นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ได้ หรือสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ที่สามารถกลั่นกรองกฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร และอาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ของอภิสิทธิชนที่แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้ขึ้นมาได้ รวมถึงองค์กรอิสระอย่าง กกต.หรือ ป.ป.ช.ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน เพื่อกดอำนาจที่มาจากประชาชนให้อยู่หมัด

"ดังนั้น เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า พวกเราในฐานะประชาชนเจ้าของอำนาจจะทำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่า เรามีภารกิจต้องนำเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรวมตัว แสดงออก การพูด การชุมนุมกลับมา ก่อนหน้านี้การชุมนุมของประชาชน ไม่ว่าจะภาคแรงงานหรือภาคเกษตรเป็นเรื่องปกติมาก แต่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สิทธินี้ถูกริดรอนไม่ให้เป็นเรื่องปกติ เราต้องดึงเอาสิทธิการรวมตัวการแสดงออกของประชาชนกลับมา สิทธิเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของนักเคลื่อนไหวหรือภาคประชาสังคม เราอาจจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ความจริงมันเป็นเรื่องของเราทุกคน ถ้าเราเอาสิทธินี้กลับมาไม่ได้ ไม่มีทางเลยที่เราจะชนะ” ธนาธร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net