Skip to main content
sharethis

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ร้อง สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตรวจสอบละเมิดสิทธิฯในพื้นที่ ขณะที่ส.ส.ชายแดนใต้ 4 พรรค ร่วมแถลงการณ์ ขอ รบ.ยกเลิกกฏหมายพิเศษ 

25 ก.ค. 2562 เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'The Federation of Patani Students and Youth - PerMAS' ซึ่งเป็นของสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. ตัวแทน PerMAS เดินเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมในปาตานี ณ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ UNOHCHR ประจำประเทศไทย

รายงานระบุว่า สืบเนื่องเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา อับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ได้ถูกนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ถัดจากนั้นหนึ่งวันทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งทางครอบครัวว่า อับดุลเลาะห์ หมดสติจนถูกนำตัวสู่โรงพยาบาล จนตอนนี้ก็ยังไม่ทราบสาเหตุว่าสรุปแล้วเกิดอะไรขึ้นกับ อับดุลเลาะห์ และใครเป็นคนทำ อีกทั้งกรณีในลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นในศูนย์ซักถามไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกกับพลเรือนปาตานี

ซูรัยยา วาหะ ฝ่ายการต่างประเทศ PerMAS กล่าวด้วยว่า พวกตนได้เข้าไปเรียกร้องมาตรการความปลอดภัยของพลเรือนรวมถึงเรียกร้องให้มีการเฝ้ามองสถานการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภายใต้กฏหมายพิเศษที่ถูกบังคับใช้ในพื้นที่ปาตานีจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรสหประชาชาติหรือ UN เนื่องจากเราไม่มีความเชื่อมั่นต่อกลไกความยุติธรรมของรัฐ(ทหาร)

ทั้งนี้ PerMAS เป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสันติภาพปาตานีโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทาง PerMAS มีความกังวลเป็นอย่างมากทั้งในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถี่ขึ้นและกระบวนการตรวจสอบที่มีปัญหาจนนำไปสู่การไม่สามารถที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในการนี้ทาง PerMAS จึงได้ร่างจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ และไปยื่นให้องค์การสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมเข้ามาตรวจสอบถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมต่อพลเรือนปาตานี

ส.ส.ชายแดนใต้ 4 พรรค ร่วมแถลงการณ์ ขอ รบ.ยกเลิกกฏหมายพิเศษ 

วานนี้ (24 ก.ค.62) The Reporters รายงานว่า ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ส.ส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 พรรคการเมือง เช่น แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย อับดุลบาซิม อาบู ส.ส.ปัตตานี พรรคภูมิใจไทย, อดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ, วัชระ ยะวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ, ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมาตรการด้านความมมั่นคง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในพื้นที่ ระบุว่า

จากกรณีเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ปฏิบัติการการปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งมักจะมีข้อร้องเรียนมาโดยตลอดว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

ล่าสุด กรณีการนำตัว อับดุลเลาะ อีซอมซอประชาชนในพื้นที่ตำบลตะบึงอำเภอสายบุรีจังหวัดปัตตานีไปกักไว้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 จนต่อมาปรากฏเหตุการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ต้องนำตัว อับดุลเลาะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี และถูกนำตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวที่ทราบโดยทั่วกันนั้น

เรื่องนี้ส่งผลกระทบและทำให้เกิดความแคลงใจของพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้างต่อการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษว่ามีการปฏิบัติการที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ 

ซึ่งความคลางแคลงใจดังกล่าว กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้เป็นเหตุผลในการก่อเหตุ ดังนั้น ในฐานะสภาผู้แทนราษฎรจึงมี ข้อเสนอต่อฝ่ายความมั่นคงเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในพื้นที่ ดังนี้ 

1. ขอให้พิจารณายกเลิกการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยขอให้พิจารณานำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรมาใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

2. สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้หนุนเสริมการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่

3. เพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวว่าตลอดระยะเวลาการควบคุมตัวไม่มีกรณีการกระทำที่ละเมิดสิทธิใดๆในการกักตัวและควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษให้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ของผู้ถูกกักตัวหรือควบคุมตัวตลอดเวลา (24 ชั่วโมง) โดยให้ผู้ถูกกักตัวหรือควบคุมตัวให้ความยินยอมโดยสมัครใจซึ่งปัจจุบันนี้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหว เฉพาะช่วงที่ซักถามและมีการรับสารภาพหรือการนำตัวไปสถานที่ต่างๆประกอบคำรับสารภาพเท่านั้น 

4. กรณีมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการควบคุมตัวบุคคลตาม พรก. ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวบุคคลที่ถูกควบคุมไปศาลด้วยเพื่อให้ศาลได้ไต่สวนผู้ถูกควบคุมตัวก่อนพิจารณาออกหมายควบคุม 

5. การตรวจร่างกายของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัยควรดำเนินการโดยแพทย์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงเพื่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนทั่วไป 

6. ยุติการจัดเก็บดีเอ็นเอของประชาชนที่ไม่สมัครใจและขอให้ทำลายดีเอ็นเอและฐานข้อมูลดีเอ็นเอของประชาชนตำบลบ้านแหรอำเภอธารโตจังหวัดยะลาที่ถูกเจ้าหน้าที่จัดเก็บโดยไม่สมัครใจเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 เพื่อลดความหวาดระแวงและสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม 

7. จากกรณีการบาดเจ็บของ อับดุลเลาะอีซอมูซอซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่นั้นฝ่ายความมั่นคงจะต้องเปิดโอกาสให้มีการรักษาตัวผู้เสียหายโดยแพทย์อย่างเป็นอิสระให้ความเป็นธรรมแก่ อับดุลเลาะและครอบครัวอย่างสุจริตและให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างสุจริตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาล 

8.ขอให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้ในประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันคืออนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีและขอให้รัฐบาลดำเนินการส่งมอบสัตยาบันสารให้กับเลขาธิการสหประชาชาติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับที่ประเทศไทยได้ลงนามแล้วแต่ยังไม่มีการมอบสารสัตยาบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net