ย้อน 26 ปี แถลงนโยบาย 11 รัฐบาล สถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน?

ย้อนทบทวนการแถลงนโยบาย 11 รัฐบาลว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่ปลูกฝังและยึดมั่น ธำรงไว้ “มิให้ล่วงละเมิดได้” จนถึงการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “รักษา สืบสาน ต่อยอด”

ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงในเอกสารแถลงนโยบายมาตลอด ไม่ว่าจะถูกพูดถึงในฐานะส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือในฐานะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง จากการสืบค้นเอกสารย้อนหลัง 26 ปี 12 รัฐบาล เท่าที่มีข้อมูลอยู่ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย (ยกเว้นรัฐบาลสุจินดา คราประยูร เนื่องจากไม่มีข้อมูล) พบว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการแถลงนโยบายสูงขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่เคยมีการแถลงนโยบายว่าจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและจะเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบดังกล่าวในระดับประชาชน ในช่วงหลังการปกป้องสถาบันกษัตริย์ถูกบรรจุเป็นนโยบายความมั่นคงรัฐที่นำไปสู่การจับกุมปราบปราม นอกจากนี้ ในการแถลงนโยบายยังมีการน้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติในนโยบายด้านต่าง ๆ มากขึ้นด้วยในช่วงที่ผ่านมา

ปลูกฝังและยึดมั่น 

ใน พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา รัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุน ได้บรรจุนโยบายไว้ว่ารัฐบาลจะสร้างและปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนมีความเข้าใจใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แม้จะดำรงตำแหน่งในระยะเวลาจำกัด รัฐบาลสมัยชวน หลีกภัย ได้รับนโยบายดังกล่าวมาทำต่อ โดยขยายการ สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจดังกล่าวเข้าไปในการศึกษาระดับเยาวชน รัฐบาลสมัยชวน หลีกภัยได้ริเริ่มเขียนใจความที่ระบุว่า “จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ไว้ในส่วนแรกของเอกสารแถลงนโยบายด้วย โดยข้อความที่ว่านี้มีบรรจุอยู่ในเอกสารแถลงนโยบายส่วนใหญ่เรื่อยมา

ต่อมารัฐบาลของบรรหาร ศิลปอาชาได้ดำเนินนโยบายบรรจุความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้ในหลักสูตรสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่นกัน พร้อมทั้งระบุว่าจะดำเนินการปฏิรูปการเมือง เพื่อยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย แม้ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในเวลาต่อมาจะไม่ได้ระบุนโยบายการสร้างจิตสำนึกตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยผ่านสถาบันการศึกษาไว้ในคำแถลงนโยบาย แต่ยังคงระบุว่าจะธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ด้วยการปฏิรูปการเมืองในประเด็นต่าง ๆ

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สู่ “รักษา สืบสาน ต่อยอด”

หลังวิกฤติการเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่บรรจุหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในนโยบายเศรษฐกิจชองรัฐบาล มีการบรรจุนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเนื้อหาในสถาบันการศึกษา ในรัฐบาลสมัยสุรยุทธ์ จุลานนท์มีการระบุว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งระบุว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” เอกสารแถลงนโยบายยุคหลังจากนั้นชี้ให้เห็นว่ามีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากรัฐบาลประยุทธ์ 2 ซึ่งพัฒนาการประยุกต์ใช้ไปอีกขั้นโดยระบุไว้เป็นหลักการของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ส่วนที่น่าสนใจเช่นกันคือการนำพระราชดำรัสมาเป็นส่วนหนึ่งของการดับไฟใต้ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช โดยมีเนื้อหานโยบายว่าจะใช้พระราชดำริเรื่องการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นหลักการสำคัญของการแก้ไขความไม่สงบ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรับนโยบายนี้มาดำเนินการต่อ จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2557 ขึ้น รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงขยับขยายไปถึงการนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางของการดำเนินนโยบายทั้งหมด ทั้งยังนำหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาประยุกต์ใช้ในนโยบายด้านต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย ยิ่งกว่านั้น ในรัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 เอกสารแถลงนโยบายยังระบุด้วยว่าจะ “น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการบริหารประเทศ” โดย “สืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักสําคัญในการบําบัดทุกข์และบํารุงสุขให้ประชาชน”

ธำรงไว้ “มิให้ล่วงละเมิดได้”

ตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาลที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญ 2 ประการ ประการแรก มีการเปลี่ยนแปลงระบุถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรงมากขึ้น แทนจะที่ระบุว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลสมัยอานันท์ ปัญญารชุนด้วย กล่าวคือ เปลี่ยนจากส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกลายเป็นการปกป้องสถาบันโดยระบุว่าเป็นนโยบายความมั่นคงของรัฐ

รัฐบาลแรกที่มีการพูดถึงนโยบาย “ธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้ใครล่วงละเมิดได้” คือรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์หลังการรัฐประหาร 2549 ผู้ที่รับช่วงนโยบายนี้ต่อมาอย่างไม่ขาดสายคือรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช โดยเป็นครั้งแรกที่ระบุว่าการปกป้องสถาบันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงรัฐ และสมชาย วงศ์สวัสดิ์รับนโยบายที่ว่านี้มาปฏิบัติต่อในฐานะนโยบายความมั่นคงรัฐ จนกระทั่งหลังจากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในเอกสารแถลงนโยบายจึงมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำชัดเจนขึ้นจาก “มิให้ล่วงละเมิดได้” เป็น “ป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ”

เนื้อหานโยบายในเรื่องนี้มีความเข้มข้นมากขึ้นอีกหลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยแรกได้แยกนโยบายดังกล่าวเป็นเอกเทศจากนโยบายความมั่นคงของรัฐ แต่ก็ยังระบุเนื้อหาเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์ไว้ในส่วนนโยบายความมั่นคงเหมือนเดิมด้วย รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยแรกระบุว่า “จะใช้มาตรการ ทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการดำเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจหรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สำนึกและความผูกพันภักดีของคนอีกเป็นจำนวนมาก”

สำหรับข้อความทั้งหมดที่มีการอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในเอกสารแถลงนโยบายตลอด 26 ปี 12 รัฐบาล สามารถอ่านได้ตามด้านล่าง:

อานันท์ ปัญญารชุน

แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2535 

มีการระบุว่าจะปลูกฝังประชาชนให้เข้าใจและมีจิตสำนึกต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และระบุว่าจะยึดมั่นและรักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

  • “ส่งเสริมและปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักในความสำคัญและบทบาทของตนใน ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
  • “คณะรัฐมนตรีจะบริหารราชการแผ่นดินโดยยึดมั่นและรักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

พล.อ.สุจินดา คราประยูร (ไม่มีข้อมูล)

ชวน หลีกภัย

แถลงต่อรัฐสภา วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2535

มีการระบุว่าจะปลูกฝังประชาชนให้เข้าใจและมีจิตสำนึกต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยขยายนโยบายไปสู่ระดับเยาวชนและสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะ ทั้งนี้ระบุด้วยว่ารัฐบาลมุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปการเมืองด้วย 

  • “รัฐบาลนี้ มุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะพัฒนาสถาบันการเมืองทั้งหลายให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจอย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาประโยชน์สุขของประชาชน”
  • “ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาทุกระดับและสื่อสารมวลชนของรัฐและเอกชนมีบทบาทในการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ และความศรัทธาในวิธีการและเนื้อหาสาระของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าในด้านทฤษฎีหรือการปฏิบัติ”
  • “เร่งอบรมปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตสำนึกถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนในด้านคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่เน้นประโยชน์ส่วนรวม โดยเน้นความร่วมมือย่างจริงจังและใกล้ชิดของสถาบันการศึกษา ศาสนา สังคม และ ครอบครัว”
  • “ปลูกฝังค่านิยมพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในเรื่องความมีเหตุผล การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ความมีน้ำใจนักกีฬา ความมีระเบียบวินัย การประหยัด ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การพึ่งตนเอง และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ให้มากขึ้น”

บรรหาร ศิลปอาชา

แถลงต่อรัฐสภา วันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2538

มีการระบุว่าจะปลูกฝังประชาชนให้เข้าใจและมีจิตสำนึกต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการขยายนโยบายไปสู่เยาวชนและสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะ มีการระบุว่ารัฐบาลจะมุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในส่วนทั่วไป มีการระบุถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในส่วนของแผนการปฏิรูปการเมือง เริ่มมีการพูดถึงพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักชาติ

  • “รัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
  • “จัดทำแผนพัฒนาการเมืองที่สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
  • “ส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการ ศึกษาทุกระดับสื่อสารมวลชนทุกแขนง และองค์กรประชาชน ให้มีบทบาทในการถ่ายทอดและการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ และความศรัทธาในกระบวนการ เนื้อหาสาระ และบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

แถลงต่อรัฐสภา วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2539

เอกสารแถลงนโยบายระบุว่ารัฐบาลจะมุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในส่วนทั่วไป มีการระบุถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในส่วนของแผนการปฏิรูปการเมือง แต่ยกเลิกส่วนที่เกี่ยวกับการปลูกฝังจิตสำนึกและการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา

  • “คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายหลักของการบริหารราชการแผ่นดินที่จะเทิดทูนและยึดมั่นในการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข“
  • “รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะดำเนินการ
    • 1.1 เร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยสนับสนุนให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
    • 1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน องค์กรเอกชน และสื่อสารมวลชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
    • 1.3 เร่งรัดผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้มีศาลปกครองขึ้นเป็นเอกเทศจากระบบศาลยุติธรรมโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
    • 1.4 ส่งเสริมและสนับสนุนรัฐสภาและพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน”

ทักษิณ ชินวัตร

แถลงต่อรัฐสภา วันพุธที่ 23 มีนาคม 2548

เอกสารแถลงนโยบายระบุว่ารัฐบาลจะมุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในส่วนทั่วไป ไม่ได้มีการพูดถึงเฉพาะอยู่ในหมวดการปฏิรูปการเมือง หรือการปฏิรูปการศึกษา แต่มีการพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรกหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540

  • “คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบอบการปกครองและสถาบันที่พึงปรารถนา และเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนชาวไทยอย่างแท้จริง”
  • “สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำไปสู่สังคมและเศรษฐกิจบนฐานความรู้ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อนำประเทศไปสู่โครงสร้างที่มีความสมดุล มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน”

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

แถลงต่อรัฐสภา วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2549 

หลังรัฐประหาร 2549 มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเฉพาะเจาะจง และแถลงนโยบายธำรงสถาบัน “มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้” เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นอย่างน้อย มีการพูดว่าจะปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่ได้ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการพัฒนาเศรษฐกิจ

  • “ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2549 นั้น ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดนโยบาย การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อนำเรียนท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ทรงเกียรติได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ และนโยบายของรัฐบาล ในประการสำคัญในอันที่จะธำรงพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้”
  • “รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มกำลังความสามารถให้ลุล่วงภายในเวลาอันจำกัด โดยยึดมั่นและรักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่เข้ารับหน้าที่ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่แท้จริง”
  • “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

สมัคร สุนทรเวช

แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 

ระบุว่ารัฐบาลจะมุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในส่วนทั่วไป มีการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงกลับมาอีกครั้งในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายปรองดองสมานฉันท์ การธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ “มิให้ผู้ใดละเมิดได้” กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงรัฐเป็นครั้งแรก เริ่มมีการน้อมนำแนวทางพระราชทานมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นครั้งแรก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็น "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" และเริ่มมีการพูดถึงเนื้อหาละเอียดขึ้น

  • “คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
  • “สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมาน สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
  • “เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกประชาชนในชาติให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เกิดความรัก ความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในชาติ”
  • “แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาดำเนินภารกิจในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา โดยให้มีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของประชาชน”
  • “รัฐบาลนี้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นรากฐานสำคัญในการวางระบบการบริหารประเทศให้เกิดความมั่นคงและสร้างเสริมหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้อง”
  • “การเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์และต่อยอดเทคโนโลยีให้เข้ากับ ภูมิปัญญาไทยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมและสร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของรัฐบาลตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ“
  • “พัฒนาและวิจัยพลังงานทดแทนทุกรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการตัดสินใจพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและพลังงานที่สอดคล้องกับท้องถิ่น“

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

แถลงต่อรัฐสภา วันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2551 

ระบุว่ารัฐบาลจะมุ่งเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในส่วนทั่วไป มีการพูดถึงนโยบายสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในฐานะส่วนช่วยสร้างความปรองดอง นโยบายธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ “มิให้ผู้ใดละเมิดได้” ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงรัฐ มีการน้อมนำแนวทางพระราชทานมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือการบอกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักลงทุน

  • “คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข“
  • “รัฐบาลจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยสร้างความมั่นใจของนักลงทุนจากทั้งภายใน และจากภายนอกประเทศให้เชื่อมั่นในประเทศไทยว่าเป็นแหล่งลงทุนที่มีความมั่นคง ระบอบการปกครองของประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดมั่นในหลักนิติธรรม“
  • “แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาดำเนินภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ด้านการพัฒนาเพื่อปรับปรุงส่งเสริมธรรมาภิบาล ซึ่งรวมถึงการอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรม“
  • “สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมาน สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มุ่งสร้างจิตสำนึกพลเมืองที่คำนึงถึงหลักเหตุผลเพื่อคนส่วนใหญ่ แสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์อย่างสันติ ประนีประนอม และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยยึดหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย“
  • “เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงรักษาไว้ซึ่งพระบรม เดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกประชาชนในชาติให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์และป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือใช้แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เกิดความรัก ความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในชาติ“
  • “การเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์และต่อยอดเทคโนโลยีให้เข้ากับ ภูมิปัญญาไทยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมและสร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของรัฐบาลตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ“

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แถลงต่อรัฐสภา วันอังคารที่ 30 ธันวาคม 2551 

การปกป้องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เป็นแนวทางเพื่อ “ยุติวิกฤติทางการเมือง” และ “ปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคง” มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปประเทศตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นโยบายธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ “มิให้ผู้ใดละเมิดได้” มีการระบุเนื้อหาชัดเจนขึ้นและยังคงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงรัฐ โดยแก้ไขวิธีการใช้คำเปลี่ยนเป็น "ป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ" เศรษฐกิจพอเพียงยังคงเป็นหลักนโยบายของรัฐ

  • “คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข“
  • “รัฐบาลถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องนำประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน แก้ไขวิกฤตทางสังคมที่มีความแตกแยกและพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยุติวิกฤตทางการเมืองและปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคงตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการนี้รัฐบาลจะดำเนินการให้บรรลุภารกิจดังกล่าวภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 4 ประการคือ หนึ่ง ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือความขัดแย้งทุกรูปแบบ พร้อมทั้งดำเนินการทุกวิถีทางอย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ“
  • “จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูป โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ในแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย รวมทั้งสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง“
  • “ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ โดยการเสริมสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งป้องกันอย่างจริงจังมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ“
  • “รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการใช้คุณธรรมนำความรู้“

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แถลงต่อรัฐสภา วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554

การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปรองดอง มีการน้อมนำแนวทางพระราชทานมาแก้ไขปัญหาในภาคใต้ และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักนโยบาย

  • “สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข“
  • “เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่ไปกับการขจัดความยากจนยาเสพติด และอิทธิพลอำนาจมืด โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักปฏิบัติในแนวทางสันติวิธี“
  • “มีการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง“

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยแรก

แถลงต่อรัฐสภา วันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 

แยกนโยบายปกป้องและเชิดชูสถาบันกษัตริย์ออกจากนโยบายความมั่นคงรัฐ โดยมีเนื้อหาละเอียดขึ้น นโยบายทั้ง 11 ด้านอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นไปตามแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจัดการที่ดิน

  • “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยตามประเพณีการปกครองของไทย รัฐบาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งยวดในอันที่จะเชิดชูสถาบันนี้ไว้ด้วยความจงรักภักดีและปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ โดยจะใช้มาตรการ ทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการดำเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจหรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สำนึกและความผูกพันภักดีของคนอีกเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเผยแพร่ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจ เพื่อประชาชน ทั้งจะสนับสนุนโครงการทั้งหลายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ สถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานทั้งหลายของรัฐเรียนรู้เข้าใจหลักการทรงงาน สามารถน้าหลักดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการและการพัฒนา ตลอดจนเร่งขยายผลตามโครงการและแบบอย่าง ๔ ที่ทรงวางรากฐานไว้ให้แพร่หลายเป็นที่ประจักษ์และเกิดประโยชน์ในวงกว้างอันจะช่วยสร้าง ความสมบูรณ์พูนสุขแก่ประชาชนในที่สุด“
  • “ในด้านการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลมีนโยบายในเรื่องต่าง ๆ จำแนกเป็น ๑๑ ด้าน ซึ่งรัฐบาลได้น้ายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักสำคัญ“
  • “ในระยะต่อไป พัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดิน และแก้ไขการบุกรุก ที่ดินของรัฐโดยยึดแนวพระราชด้าริที่ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ เช่น กำหนดเขตป่าชุมชน ให้ชัดเจน พื้นที่ใดที่สงวนหรือกันไว้เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ก็ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด พื้นที่ใดสมควรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ก็จะผ่อนผันให้ตามความจ้าเป็นโดยใช้มาตรการ ทางการบริหารจัดการ มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และการปลูกป่าทดแทนเข้าด้าเนินการ ทั้งจะให้เชื่อมโยงกับการส่งเสริมการมีอาชีพและรายได้อื่นอันเป็นบ่อเกิดของเศรษฐกิจชุมชนที่ต่อเนื่อง เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยที่ดินยังเป็นของรัฐ จะจัดท้าฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ จัดท้าทะเบียนผู้ถือครองที่ดินในที่ดินของรัฐ ปรับปรุง กลไกการบริหารจัดการที่ดินของรัฐและเอกชนให้มีเอกภาพเพื่อท้าหน้าที่กำหนดนโยบายด้านที่ดิน ในภาพรวม และปรับปรุงกลไกภาษีเพื่อกระจายการถือครองที่ดิน เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ ผู้ยากไร้โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์แต่รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน กำหนดรูปแบบ ที่เหมาะสมของธนาคารที่ดินเพื่อให้เป็นกลไกในการน้าทรัพยากรที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด“

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยสอง

แถลงต่อสภา 25 กรกฎาคม 2562 หลักการนโยบายทั้งหมดมาจากการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นหมวดนโยบายหลัก 1 ใน 12 ด้าน แยกจากนโยบายความมั่นคงของรัฐซึ่งมีการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

  • “การบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 4 ปีของรัฐบาลจะยึดหลักการ สําคัญสี่ประการ
    • 1. น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการบริหารประเทศ
    • 2. ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข
    • 3. พัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร....“
  • “การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสําคัญยิ่งต่อประเทศและประชาชนชาวไทย รัฐบาลถือเป็นหน้าที่สําคัญที่จะเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์และปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ ด้วยความจงรักภักดีซึ่งรัฐบาลมีนโยบายดําเนินการ ดังนี้
    • 1.1 สืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาและโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักสําคัญในการบําบัดทุกข์ และบํารุงสุขให้ประชาชน และพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้ง ส่งเสริมการเรียนรู้หลักการทรงงาน การนํามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการและการพัฒนา ประเทศ เพื่อประโยชน์ในวงกว้าง รวมทั้งเผยแพร่ศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงไปสู่เวทีโลกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    • 1.2 ต่อยอดการดําเนินการของหน่วยพระราชทานและประชาชน จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดําริให้เป็นแบบอย่างการบําเพ็ญสาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน และพัฒนาความเป็นอยู่ ของประชาชน โดยระดมพลังความรัก ความสามัคคีทั้งของหน่วยงานในพระองค์หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และชุมชน
    • 1.3 สร้างความตระหนักรู้เผยแพร่และปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจ เพื่อประชาชน ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เพื่อก่อให้เกิด การมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในบริบทของไทย“
  • “การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุข ของประเทศพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีธรรมาภิบาล ความรักชาติ และความเป็นน้ําหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักการเมืองมีคุณภาพ เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าส่วนตน เพื่อให้การบริหาร ราชการแผ่นดินเอื้ออํานวยต่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง"
  • “ขับเคลื่อน การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นฐานสําคัญ ในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ 20 ปี ข้างหน้าตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป“

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท