Skip to main content
sharethis

เสวนาการป้องกันยับยั้งอาชญากรรมความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ผ่าน การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และการจัดการความทรงจำ นักวิชาการชี้ประวัติศาสตร์ไทยถูกกำกับด้วยความรัก-กลัว เป็นประวัติศาสตร์แบบทวงบุญคุณ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม แนะการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ต้องนึกถึงสิทธิมนุษยชน

 

 

26 ก.ค. 2562 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Asia Pacific Centre for Responsibility to Protect, University of Queensland จัดเสวนาวิชาการว่าด้วยแนวทางป้องกันยับยั้งอาชญากรรมความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์: การป้องกันยับยั้งอาชญากรรมความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์ผ่าน การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และการจัดการความทรงจำ โดยส่วนของงานเสวนามีวิทยากรได้แก่ พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และวัชรฤทัย บุญธินันท์

 

ประวัติศาสตร์ไทยถูกกำกับด้วยความรัก-กลัว แยกไม่ออกจากความมั่นคงของชาติ

 


พวงทอง ภวัครพันธุ์ ภาพโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประวัติศาสตร์สำคัญต่อการสร้างความทรงจำสังคม ทำให้เข้าใจสังคมตัวเอง อัตลักษณ์ความเป็นชาติ ไม่ว่าจะมากน้อยประวัติศาสตร์ก็มุ่งให้คนรักประเทศตัวเอง อยากเห็นมันพัฒนา แต่อะไรคือสิ่งที่ดี บางคนอาจเห็นว่าการดำรงอยู่ขอองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสิ่งดีก็ได้ มองว่าเป็นแนวทางที่ลูกหลานจะมีความมั่นคง แต่ต้องแยกให้ออกว่านั่นคือการรักษาอำนาจของผู้มีอำนาจหรือไม่ เพราะฉะนั้นบางความทรงจำจึงศักดิ์สิทธิท้าทายไม่ได้ เพราะเป็นการท้าทายอำนาจ แง่นี้ประวัติศาสตร์จึงแยกไม่ออกกับความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่วางอยู่บนคนไม่กี่คน

ประวัติศาสตร์แบบนี้จึงต้องถูกกำกับด้วยความรักหรือความกลัว การตั้งคำถามอาจเสี่ยงถูกฟ้องมาตรา 112 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคง การท้าทายประวัติศาสตร์ชาติคือทำลายความมั่นคงของชาติ

ตรงกันข้ามหลายสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เคารพความหลากหลาย ประวัติศาสตร์อาจทำให้ตระหนักว่าการทำให้สังคมดีขึ้นได้อาจไม่ใช่การเขียนประวัติศาสตร์เพื่อให้รักหรือกลัว แต่ย้อนกลับมามองว่าที่ผ่านมาทำอะไรผิดพลาดบ้าง และจะไม่ทำแบบเดิม คนยุคหลังของเยอรมันได้เรียนรู้ว่าคนรุ่นก่อนปล่อยให้เกิดความรุนแรงต่อคนยิวได้อย่างไร

สังคมไทยจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เน้นความหลากลหายได้หรือไม่ หรือเราจะบรรจุประวัติศาสตร์อาชญากรรมขนานใหญ่ที่รัฐกระทำกับประชาชนเข้าไปในแบบเรียนได้หรือไหม คำตอบตอนนี้อาจเป็นว่าทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายคามว่าไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในแบบเรียนแล้วเราจะทำอะไรไม่ได้

เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้แพ้หรือประชาชนก็สามารถเขียนประวัติศาสตร์ได้ รัฐไม่สามารถผูกขาดแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตได้ นั่นเป็นที่มาของโครงการบันทึก 6 ตุลา ซึ่งเกิดขึ้นจากเงินบริจาคส่วนตัวในตอนแรก เป็นแหล่งข้อมูล 6 ตุลา (2519) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความเคารพต่อชีวิตของเหยื่อ ทำให้สังคมเห็นคุณค่าของปัจเจกชน เพื่อให้คนรุ่นหลังเห็นด้านที่น่ากลัวของสังคมไทยและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ในอนาคต แสดงให้เห็นผลการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ การทำลายความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง ทำไมประชาชนจึงกลายเป็นอาวุธทำลายล้างของรัฐได้ รวมถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และความอยุติธรรม

ประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่อยากเอ่ยถึง เราสามารถทำให้มันปรากฎในโลกอินเตอร์เน็ตได้ และเราพยายามทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้น ตอนนี้ก็ยังเกิดซ้ำกันอยู่ เช่น เราลงเรื่องความรุนแรงและการลอบสังหารนักกิจกรรมก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หลังจากที่จ่านิวถูกทำร้าย ผลตอบรับของบางโพสต์ในเฟสบุ๊คก็ค่อยข้างกว้างขวาง หรือตัวอย่างล่าสุดเหตุการณ์เคลื่อนย้ายประตูแดง ก็มีข่าวสดซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ก็ได้ลงคลิปวิดีโอนี้ เพียงแค่วันเดียวก็มีคนคลิกดูถึง 5.5 แสนคน

หลังจากนี้ก็มีแผนในอนาคตว่าจะทำหอจดหมายเหตุสิทธิมนุษยชนและศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่เหตุการณ์ 6 ตุลา แต่รวมทั้ง 14 ตุลา พฤษภา 35 พฤษภา 53 รวมถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะไทยมีความรุนแรงเกิดขึ้นมาก แต่ไม่มีใครเก็บบันทึก นานเข้าก็จะหาย ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐซึ่งคิดว่ารัฐไทยไม่น่ายินยอม

 

ประวัติศาสตร์ไทย-ประวัติศาสตร์ทวงบุญคุณ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม

 


จากซ้ายไปขวา อัครพงษ์ ค่ำคูณ, เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ภาพโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ความรุนแรง ถูกครอบด้วยประวัติศาสตร์แบบทวงบุญคุณ แบบประวัติศาสตร์ของผู้ยิ่งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีแพรวาที่ขับรถชนจนมีคนตาย 9 ศพ ข้ออ้างที่ครอบครัวของแพรวาใช้คือ เขาควรได้รับลดหย่อนโทษ เนื่องจากญาติเขาเคยทำความดีมาก่อน ซึ่งเป็นลักณะโครงสร้างสังคมไทยที่ต้องตอบแทนผู้มีพระคุณหรือผู้กระทำความดีในมุมมองของสังคม

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ยังมีแนวคิดความเชื่อเรื่องศาสนาเป็นตัวผลักดัน เช่น ศาสนาพุทธ เกิดมาชาตินี้เป็นคนแบบนี้เพราะชาติที่แล้วทำอะไรมา เป็นการย้อนการกระทำในอดีตที่ห้ามโต้แย้ง ต้องประนีประนอมกับมัน ต้องทำดีชาตินี้แล้วอย่างหวังว่าจะเกิดอะไร เพราะผลจะเกิดในอนาคต ในชาติหน้า

อีกทั้งยังเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ยิ่งใหญ่ เราจะจำแต่ประวัติศาสตร์ของผู้กระทำ เราจะได้ยินน้อยมากเรื่องประวัติศาสตร์ของเหยื่อ ต่างจากประวัติศาสตร์ของละตินอเมริกา ซึ่งมีเผด็จการเหมือนกัน แต่ขบวนการพลเมืองนำไปสู่ขบวนการสันติภาพโดยรื้อฟื้นสิ่งเป็น Micro History หรือประวัติศาสตร์ของประชาชนคนเล็กคนน้อย ที่เมื่อต่อจิ๊กซอว์จะนำไปสู่ Public Memory หรือความทรงจำสาธารณะ

นอกจากนี้ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น จะมีการสร้างสวนสาธารณะ ห้องสมุด เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาเจอกัน ทำให้ความเชื่อมโยงเกิดระหว่างคน ได้พูดคุย เกิดจากการต่อจิ๊กซอว์ สร้างพื้นที่ให้คนเป็นเหยื่อ นำไปสู่การแก้ปัญหา

แต่การเรียนการสอนประเทศไทยกลับหัวกลับหาง ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ถูกตีตราเป็นคอมมิวนิสต์ เสื้อแดง ล้มเจ้า เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในสังคมไทย เป็นแนวคิดที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทย แก้ไม่ได้

ประวัติศาสตร์ไทยไม่ว่าภูมิภาคไหน คนสอนถูกครอบงำด้วยกรอบนี้ คุณจึงสอนได้แต่เรื่องของผู้นำทำอะไร ท้าทายไม่ได้เพราะเขาทำกรรมดีมาในอดีต ไม่สอนเรื่องประชาชน สอนไม่ได้ เวลาไม่มี พื้นที่ไม่พอ นี่คือการสอนประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความเข้าใจเรื่องความรุนแรง เพราะเท่ากับไปตอกให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ

ละตินอเมริกาเหลื่อมล้ำสูง แต่การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นอุปสรรค แต่ไทยเรียนประวัติศาสตร์แบบตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ โครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม ไม่เอื้ออำนวยต่อความเข้าใจต่อการศึกษาเรื่องความรุนแรง

ปัจจุบันการรื้อถอน ทำลายประวัติศาสตร์ภาคประชาชน มีความเข้มข้นมากขึ้นภายใต้ยุคเผด็จการ เช่น หมุดคณะราษฎรหาย ทุกคนไม่กล้าพูด แม้กระทั่งจุดที่เป็นพื้นที่ของคณะราษฎร์ ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล สังคมเข้าไปไม่ได้

หรือประวัติศาสตร์ภาคใต้ เราไม่ได้ฟังเสียงเหยื่อ เสียงเหยื่อไม่สะท้อนมาสู่สังคม กลายเป็นเรื่องเฉพาะรัฐกับผู้ก่อการร้าย ไม่ก้าวมาเป็นส่วนหนนึ่งของสังคมไทย เพราะโครงสร้างการเรียนประวัติศาสตร์เราไม่เคยสอนให้ขุดคุ้ย

เชาวฤทธิ์เสนอว่า การทำเป็นหนังสืออย่างเดียวอาจไม่สามารถสร้างอิมแพค ต้องทำเป็นสื่อภาพยนตร์ หรือสถานที่ ให้เข้ามาสู่สังคมส่วนกลาง ให้คนได้แชร์ความทรงจำร่วมกัน

ทั้งนี้เชาวฤทธิ์ไม่เห็นด้วยกับการจัดการประวัติศาสตร์ให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ควรปล่อยให้ทุกคนตีความ ให้ทุกคนมีอิสระในการคิด ตีความผ่านหลักฐาน เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีความเข้าใจร่วมกัน ไม่ต้องเข้าใจร่วมกัน แต่อยู่ร่วมกันได้

 

ประวัติศาสตร์ไทยคือการรวมศูนย์ เลือกที่จะจำและไม่จำ

อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไทยมักเป็นประวัติศาสตร์ของชนชั้นสูง หรือเพศชาย ถึงมีเพศหญิงก็เป็นเรื่องของ ‘เธอ’ เพื่อ ‘เขา’ แต่ข้อสังเกตก็คือประวัติศาสตร์มักเกี่ยวกับสงคราม ดังนั้นตัวเดินเรื่องคือทหารและพระราชา เราเรียนว่าการทำสงครามคือการฆ่าคนอื่นเพื่อชาติ

ประวัติศาสตร์ไทยในการเรียนการสอนคือความจำกับความไม่จำ ไม่ใช่ความลืม เพราะบางคนไม่ลืม แต่แค่ไม่อยากจำ

ถ้าเราถือว่าชาติคือโครงเรื่องหลักของเรื่องราวของสังคม ชาติจึงเป็นลัทธิของสังคมไทย ไม่ใช่สิ่งผิด เราต้องรักชาติ แต่ชาติต้องน่ารักด้วย ชาติที่ใช้ในปัจจุบัน อาจไม่ใช่ราชาชาตินิยม แต่เป็นเสนาอมาตย์นิยมมากกว่า

ประวัติศาสตร์ไทยดำเนินเรื่องแบบค้ำจุนลัทธิชาตินิยม สนับสนุนอำนาจรัฐ ชาติไม่ใช่รัฐบาล ชาติก็คือชาติ ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย แต่จริงๆ แล้วเราไทยกันทั้งหมดหรือไม่ พ่อแม่ตนเป็นคนศรีสะเกษ พูดลาว เขมร คนไทยกลายเป็นคนแปลกแยกที่นั่น ดังนั้นทำไมเราไม่เริ่มต้นว่าเรามีความแตกต่างกัน

อีกประการประวัติศาสตร์นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ เวลาพูดถึงวัฒนธรรมจะเป็นของภาคกลาง แต่ภาคอื่นก็มีวัฒนธรรมของเขา แต่ถูกเรียกเป็นวัฒนธรรมรอง ทั้งที่คนอยู่ประเทศไทยหลายที่คือคนของประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่าง เลขไทยจริงๆ คือเลขเขมร เราเอาของเขามาทั้งดุ้น หรือเหตุการณ์ที่ตนเคยเห็น คือทหารชายแดนไทยเขมร จันทร์ถึงศุกร์ยืนเอาปืนเล็งกัน เสาร์อาทิตย์มานั่งกินเหล้าด้วยกัน

เราสอนว่าเราเสียดินแดน แต่เราลืมสอนว่าเราได้ดินแดนด้วยก่อนเสียดินแดน การเสียดินแดนถูกโยนความผิดให้เป็นของคณะราษฏร ในยุคที่มีการต่อต้านคณะราษฏร

หรือเพลงไทยเดิม ทำไมช้า เพราะฟังก์ชั่นคือเครื่องราชูปโภคให้กษัตริย์ทรงพระบรรทม ฟังแล้วต้องหลับ ตกลงประวัติศาสตร์ที่เราใช้คือประวัติศาสตร์สำหรับใคร

ดังนั้นเราควรเอาความรู้ของเรามาจัดหมวดหมู่ เมื่อเราสอนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าเราจะชำระหรือไม่ เราต้องบอกเด็กเสมอว่านี่คือประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่มีประวัติศาสตร์ทางเลือกอื่นๆ ที่เราต้องเรียนรู้

 

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ต้องนึกถึงสิทธิมนุษยชน

 


วัชรฤทัย บุญธินันท์ ภาพโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งคำถามว่า พลเมืองแบบไหนที่ระบบการศึกษาไทยสร้าง การศึกษามีบทบาทกล่อมเกลาทางการเมือง วิชาหน้าที่พลเมือง มีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เริ่มสอนปี 2477

แบบเรียนหน้าที่พลเมือง พูดคุณลักษณะพึงประสงค์ของพลเมืองไทย ถึงแม้คำพูดรูปแบบจะต่าง แต่จริงๆ คือเน้นความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ เป็นคนดี มีคุณธรรม สามัคคี เสียสละ รักชาติ

สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน คือหลักสูตรแฝง ทำอย่างแยบยล เช่น การเข้าแถวทุกเช้า การมีระเบียบการแต่งกาย ทำไมต้องเข้มงวด เพราะเราต้องการพลเมืองมีระเบียบวินัย วัดจากภาพลักษณ์ภายนอก การอบรมกล่อมเกลาผ่านกระบวนการแบบนี้ ทำให้เรามีพลเมืองส่วนใหญ่ที่มีความรู้และมุมมองชุดเดียว ไม่ตั้งคำถาม เพราะถูกสอนให้ทำอะไรเหมือนๆ กัน ไม่มีใครคิดว่าเราทำต่างได้ไหม คนเหล่านี้ถูกสอนให้ตัดสินคุณค่า เป็นการสร้างอคติโดยตัวมัน และเป็นชุดคุณค่าที่ทำให้เรายอมรับความไม่เท่าเทียมของสังคม

อีกประการคือศาสนาพุทธได้แทรกซึมในทุกมิติของสังคมไทย กฎแห่งกรรม ทำให้คนยอมรับความไม่เท่าเทียมในสังคม มีความเป็นเขา เรา ความเป็นอื่น เอื้อต่อการสร้างภาพเหมารวม สร้างอคติต่อคนคิดต่าง สอนให้ตัดสินคน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทย

ทำอย่างไรให้การศึกษาเป็นเครื่องมือป้องกันการสร้างความรุนแรง เท่าทันกระบวนการสร้างความเกลียดชัง รุนแรง อคติ การสอนให้คนตั้งคำถามและตรวจสอบด้วยตัวเอง ไม่เคยเกิดในสอนไทย ทำอย่างไรให้พูดเรื่องสิทธิหน้าที่ยึดกับหลักสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่การสอนทำได้ยากเมื่อไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง เช่น เหตุการณ์ในภาคใต้

การศึกษาอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่มันเป็นการแลกเปลี่ยน สร้างความเข้าใจในมุมมองต่างๆ เหตุผลให้ฟังแล้วมีน้ำหนักมากกว่า ต้องทำให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นให้ได้ อาจไม่หวังกับกระทรวงและภาครัฐเรื่องตำราเรียนมากนัก แต่จะทำกระบวนการอย่างไรกับผู้สอน จะนำพากระบวนการเรียนรู้ไปอย่างไร นอกจากนี้เชื่อว่าการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่ห้องเรียนอย่างเดียว แต่พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ก็สามารถให้การศึกษาได้เช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net