Skip to main content
sharethis

งานเปิดตัวหนังสือ ‘ศาสนากับความรุนแรง’ ชวนทำความเข้าใจคานธี มองศาสนาในหลากหลายมิติ และตั้งคำถามว่าหรือศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับความรุนแรง

  • ทำความเข้าใจหลักอหิงสาของคานธี
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเกลียดกลัวอิสลามหรือ Islamophobia ในสังคมไทย
  • ศาสนากับความรุนแรงเป็นเนื้อเดียวกันในโครงสร้างที่รัฐกับศาสนาไม่ได้แยกออกจากกัน

นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ศาสนาเป็นอีกหนึ่งปมที่ทำให้ผู้คนไม่เข้าใจและขัดแย้งกัน กระทั่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในนามของศาสนา

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สำนักพิมพ์ Illuminations Editions และปาตานี ฟอรั่ม ได้ร่วมกันจัดงานเปิดตัวหนังสือ ‘ศาสนากับความรุนแรง’ ในงานดังกล่าว ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นว่าต้องการสนทนากับ อาจัน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai) ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขาเห็นว่าความเข้าใจของ อาจัน มีปัญหาต่อการเข้าใจอินเดีย คานธี และสันติวิธี

อหิงสาของคานธี

ชัยวัฒน์กล่าวว่า บทสนทนาของ อาจัน ในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ non-violence แต่เป็นการสนทนากับอหิงสาของคานธี ซึ่งสำหรับตัวชัยวัฒน์เห็นว่าอหิงสาเป็นเพียงซับเซ็ทของ non-violence เขากล่าวต่อว่า อาจัน ให้ความสำคัญกับการอ่านมหาภารตะของคานธี คำถามทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือคานธีอ่านมหาภารตะครั้งแรกเป็นภาษาอะไร เขาอธิบายว่าคานธีอ่านภควัทคีตาครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้งความเข้าใจภควัทคีตาของคานธีก็ไกลไปจากสิ่งที่ อาจัน เข้าใจ เพราะคานธีไม่ได้มองว่าฉากที่พระกฤษณะสอนอรชุนเรื่องหน้าที่ไม่ใช่การต่อสู้จริงๆ แต่เป็นการต่อสู้ภายในจิตใจของเราเอง คานธีจึงได้รับอิทธิพลจากอังกฤษมากกว่าฮินดูในอินเดีย ทั้งแนวทางอหิงสาของคานธีก็ไม่ได้เริ่มที่อินเดีย แต่เริ่มที่แอฟริกาใต้

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชัยวัฒน์อธิบายต่อว่าจุดแบ่งประเด็นสันติวิธีของคานธีคือสิ่งที่เรียกว่า action กับ inaction เพราะ inaction ต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหา หมายความว่าถ้าคุณเห็นคนถูกทำร้ายแล้วคุณไม่ทำอะไรเลยโดยบอกว่าฉันเป็นสันติวิธี คานธีไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ คานธีเห็นว่าสันติวิธีในอินเดียเป็นสันติวิธีของคนอ่อนแอ ส่วนสันติวิธีของคนเข้มแข็งคือแบบที่ปาทานและมุสลิมใช้อยู่ทางพรมแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย

อาจัน เห็นว่าคานธีได้รับอิทธิพลจากมหาภารตะ แต่ความจริงคือคานธีได้รับอิทธิพลจากงานอีกหลายชิ้นที่ผู้เขียนไม่ใช่คนอินเดีย เช่น The kingdom of God within you ของตอลสตอย Unto this last ของจอห์น รัสกิน และ Civil disobedience ของธอโร เหล่านี้ต่างหากที่มีอิทธิพลต่อคานธีในการวางกรอบการต่อสู้

สันติวิธีของคานธีมีหลักการอะไรบ้าง ชัยวัฒน์อธิบายว่ามี 4 ประการคือ ไม่มีความเกลียดชัง เป้าหมายต้องเป็นความเป็นธรรม ตนเองต้องยอมรับความทุกข์ และการภาวนา เขาขยายความต่อว่าวิธีการของคานธีคือการทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิ่งสำคัญต่างๆ เบลอ เช่น เวลาสอนเรื่องไม่เกลียดคือการทำให้เส้นแบ่งระหว่าง agency ( ผู้กระทำการ) และ structure (โครงสร้าง)เบลอ เพราะคานธีไม่ได้บอกว่าไม่ให้เกลียด แต่บอกว่าอย่าเกลียดคน ให้เกลียดระบบ เพราะคนคือผลของระบบ การเกลียดคนไม่ช่วยแก้ปัญหา ประการต่อมาคานธีทำให้เห็นความสำคัญระหว่าง end (เป้าหมาย) กับ mean (วิธีการ) เรามักคิดว่าเป้าหมายสำคัญโดยจะใช้วิธีการอะไรก็ได้ แต่คานธีเห็นว่าไม่ใช่ เพราะวิธีที่เราเลือกส่งผลต่อเป้าหมาย การยอมทนทุกข์คือการบอกว่าเราไม่สามารถแยกตัวเองออกจากคนอื่นได้ เพราะเวลาที่เราเห็นมนุษย์ เราสามารถเห็นพระเจ้าในตัวมนุษย์ทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราย่อมไม่สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ ดังนั้น เราจึงต้องยินยอมรับผลของความทุกข์ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ อาจัน ยังไม่ได้แยกว่าคานธีใช้วิธีการอดอาหารเมื่อไหร่ ชัยวัฒน์กล่าวว่าคานธีไม่เคยใช้การอดอาหารกับอังกฤษ เพราะคานธีกำลังต่อสู้กับระบบอาณานิคม แต่คานธีใช้ตอนที่กัลกัตตากำลังลุกเป็นไฟเมื่อคนฮินดูกับมุสลิมกำลังฆ่ากัน จนผู้นับถือศาสนาทั้งสองฝ่ายยอมหยุดการทำร้ายกัน คานธีจึงตั้งหลักการในการอดอาหารประท้วงไว้ 7 ข้อ แต่ข้อสำคัญที่สุดคือข้อ 1 ที่ว่าระหว่างผู้อดอาหารกับผู้ถูกประท้วงต้องมีความรักเป็นตัวเชื่อมร้อย

ในตอนท้าย ชัยวัฒน์ ตั้งคำถามว่าเวลาคิดเรื่องศาสนากับความรุนแรง ศาสนาอยู่ตรงไหนในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความรุนแรง เนื่องจากมีตัวแปรหลายระดับที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งๆ ตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ระดับโครงสร้าง และระดับที่อยู่ลึกลงไปอีกคืออวัฒนธรรม ซึ่งศาสนาอยู่ในชั้นนี้และทำงานกับชั้นนี้ ศาสนาจึงเป็นตัวให้ความชอบธรรมกับระดับอื่นๆ

รับชมวิดีโอ

ศาสนาและความรุนแรงในประวัติศาสตร์

ในช่วงต่อมา ชาญณรงค์ บุญหนุน จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เล่าตัวอย่างในประเทศศรีลังกาและพม่ายุคหลังอาณานิคม ที่แต่ละกลุ่มการเมืองต่างแสวงหาอำนาจโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ซึ่งในยุคสมัยนั้นพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับอาณานิคมและการรวมชาติ โดยทั้งสองประเทศล้วนมีความพยายามทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผลที่ตามมาคือการจบลงด้วยความรุนแรง

ชาญณรงค์แสดงความเห็นว่า กลุ่มคนในไทยที่พยายามผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ควรศึกษาประวัติศาสตร์ของพม่าและศรีลังกา เพราะหลายอย่างมีส่วนคล้ายกัน อย่างการโยงพุทธศาสนาเข้ากับประวัติศาสตร์ชาติ เขายังกล่าวอีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามให้สิทธิและเสรีภาพกับศาสนาอื่นเท่ากับชาวพุทธซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ทำให้กลุ่มชาวพุทธรู้สึกกังวลและต้องการเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ผลักดันไม่สำเร็จ

“ผมจึงตั้งคำถามว่าสำนึกความเท่าเทียมกัน มันมีปัญหาในสังคมเถรวาทหรือเปล่า”

ด้านพระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงบทแปลของ อาจัน ในหนังสือว่า หากผู้อ่านไม่มีความรู้ปรัชญาอินเดียและบาลี-สันสกฤตอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เนื่องจากผู้เขียนมีความเห็นว่าการไม่ใช่ความรุนแรงหรืออหิงสาของคานธีที่ผู้แปลแปลว่าสันติวิธี คำว่าอหิงสาเป็นคำเชิงปฏิเสธซึ่งหมายถึงการกระทำอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้แปลแปลว่าสันติวิธีทำให้ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้เขียนที่ใช้คำว่า moral of refuser หรือศีลธรรมแห่งการปฏิเสธ

เดิมทีเชื่อว่าแนวคิดแบบอหิงสาของคานธีเป็นการบูรณาการความเชื่อแบบฮินดูเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่ แต่ อาจัน แย้งว่าความจริงแล้วมาจาก 2 กระแสทางความคิดคือความคิดของผู้สละละโลกกับความคิดของโลกฆราวาส การไม่กระทำความรุนแรงจึงเป็นการกระทำอย่างหนึ่ง

ส่วนประเด็นว่าควรสถาปนาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ พระมหาสมบูรณ์เห็นว่าจุดนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่การกระทำ ดังนั้น การเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยจึงดีกว่าการเขียนเป็นกฎหมาย

Islamophobia

ด้านเอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงกระแสความเกลียดกลัวอิสลามว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มต้นอีกครั้งในปี 2547 มีการพูดถึงมุสลิมและศาสนาอิสลามมากขึ้น ทำให้ตนเองอยากรู้ว่าสังคมไทยคิดอย่างไรกับมุสลิมและศาสนาอิสลาม ซึ่งจากการลงพื้นที่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศพบว่า แต่ละคนที่ให้ข้อมูลมีความเข้าใจอิสลามที่หลากหลายแล้วแต่ประสบการณ์ของตน

เอกรินตร์กล่าวว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเกลียดกลัวอิสลาม หนึ่งคือเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญคือการฆ่าพระ ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของผู้คน ทำให้เกิดความไม่พอใจและเกลียดชังมุสลิม สองคือเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของมุสลิมที่เกิดขึ้นในยุโรปและตะวันออกกลาง และสุดท้ายคือเหตุการณ์โรฮิงญาในพม่า

ขณะเดียวกัน ปัญหาในสังคมมุสลิมที่ส่งผลให้เกิดกระแสดังกล่าวก็มีด้วยเช่นกัน เอกรินทร์กล่าวว่ามีอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือกระแส islamization ที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้น ตีความพระคัมภีร์แบบเคร่งครัดมากขึ้น บางเรื่องก็ขัดแย้งกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทย ประการที่ 2 คือการที่สังคมมุสลิมไม่ได้ปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ ดังนั้น สังคมมุสลิมเองก็ต้องปรับตัว

เอกรินทร์ยังยกตัวอย่างชุมชนมุสลิมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นซึ่งสามารถอยู่ร่วมกับชาวพุทธได้ เนื่องจากชาวมุสลิมเข้าไปอยู่ก่อนและมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนจนเกิดความเข้าใจวิถีชีวิตกัน ในที่สุดจึงมีการสร้างมัสยิดในภายหลัง แต่ปัญหาที่เจอเวลานี้คือการไหล่บ่าของเงินทุนจากตะวันออกกลางที่สนับสนุนให้มีการสร้างมัสยิดในที่ต่างๆ โดยที่ไม่มีคนอยู่ก่อน ซึ่งเขามองว่ากรณีแบบนี้เป็นตัวสร้างความขัดแย้งอย่างมากในชุมชน

แต่แนวทางที่มักใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านศาสนามาตลอดคือใช้การอำนาจจากส่วนกลางลงมาจัดการ การใช้กฎหมาย และการใช้ผู้มีอำนาจในพื้นที่เป็นจัดการ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ในระยะยาว แต่ควรสร้างให้ชุมชนได้เกิดการสื่อสารกันมากกว่า

หรือศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับความรุนแรง?

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา กล่าวว่าศาสนามี 2 แบบคือศาสนาแบบที่น่ารักกับศาสนาแบบที่น่าโกรธ เขาอธิบายต่อว่าศาสนาที่น่ารักคือศรัทธาที่มาจากอิสรภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเลือก ส่วนศาสนาที่น่าโกรธคือศาสนาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ที่อธิบายว่าศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงอย่างไร

สุรพศตั้งคำถามว่า เราโกรธพุทธแบบรัฐน้อยไปหรือเปล่า พุทธแบบรัฐที่ล็อกชาวพุทธไม่ให้ไปสู่อิสรภาพ เขามองว่าศาสนาไม่ได้อยู่แค่ระดับวัฒนธรรมแล้วกำหนดโครงสร้าง แต่ดูเหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง เขาอ้างอิงคำพูดของสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ว่า มีพุทธอยู่ 2 แบบคือพุทธที่เขียนด้วย B เป็นศาสนาที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐเป็นศาสนาที่สนับสนุนความรุนแรง ความอยุติธรรม กับพุทธที่เขียนด้วย b ซึ่งเป็นส่วนของคำสอนในพุทธศาสนา

สุรพศ กับหนังสือ "ศาสนากับความรุนแรนแรง"

สุรพศ กล่าวว่าวิธีการอธิบายศาสนามักเป็นไปในลักษณะนี้คือมีศาสนาที่บริสุทธิ์อยู่ เป็นประโยชน์กับชีวิตของเรา กับสังคม ซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นจริงในด้านหนึ่ง แต่อีกด้านศาสนาไม่ได้ทำหน้าที่โดยเป็นอิสระจากมนุษย์ จากชุมชนศาสนา จากโครงสร้างสังคมที่ศาสนานั้นๆ ดำรงอยู่ เขายกตัวอย่างสันติอโศกและธรรมกายว่าในแง่ชุมชนศาสนาถือเป็นมุมที่น่ารัก แต่การที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองหรือการอิงอำนาจมหาเถรสมาคมเพื่อประโยชน์ของตน จุดนี้เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม

สุรพศเห็นว่าศาสนามีมิติที่สัมพันธ์กับอำนาจอย่างลึกซึ้งและไม่เป็นอิสระจากอำนาจ เขายกตัวอย่างวัดโคกพระยาที่ใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตกษัตริย์และบริวารในสมัยอยุธยา ประเด็นคือที่ประหารชีวิตนี้อยู่ในวัด นั่นหมายความว่าในโครงสร้างของรัฐแบบนั้น ศาสนากับความรุนแรงได้เป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ขณะที่ผู้ที่ออกคำสั่งให้ประหาชีวิตก็เป็นธรรมราชา ซึ่งการที่ศาสนาต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในหลายประเทศ คำตอบหนึ่งที่ชัดเจนและปรากฏอยู่ในหนังสือ เป็นเพราะศาสนาพยายามเข้าไปผูกโยงกับอำนาจรัฐ พยายามเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นชาตินิยมและชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของศาสนาในเอเชียที่ไม่รู้ว่าตำแหน่งแห่งที่ของตนควรอยู่ตรงไหน เป็นการถูกสั่งสอนจากประวัติศาสตร์ที่ทำให้เชื่อว่าศาสนาจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดการอุปถัมภ์จากรัฐ

เมื่อศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันกับรัฐ ผู้ที่นับถือศาสนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ก็มักอ้างสิทธิ์ในทางศาสนาเพื่อให้ตนเองมีอภิสิทธิ์เหนือคนศาสนาอื่นที่เป็นคนกลุ่มน้อย แต่ในไทยนั้นไม่เพียงแต่กับศาสนาอื่นเท่านั้น แม้แต่กับพุทธด้วยกันเองก็ถูกกีดกัน เช่น สันติอโศกหรือภิกษุณีที่ไม่ได้รับการยอมรับจากมหาเถรสมาคม ความเสมอภาคและเสรีภาพทางศาสนาจึงไม่มีจริง

สุรพศย้อนกลับไปหาคำกล่าวของสุลักษณ์ที่แยกระหว่างพุทธที่รับใช้อำนาจรัฐกับพุทธที่เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เขาแย้งว่าในความเป็นจริงแล้วแยกไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะพุทธแบบรัฐอ้างว่าตนเองกำลังปกป้องคำสอนศาสนาที่ถูกต้องและพยายามขจัดพวกที่ถูกมองว่าผิดเพี้ยน

สุรพศกล่าวว่าหากดูในประวัติศาสตร์ของศาสนาต่างๆ จะพบว่า ศาสนากับอำนาจและความรุนแรงไม่เคยแยกขาดจากกันเลย คำถามที่ตามมาคือผู้มีอำนาจใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ แต่สุรพศเห็นว่าไม่ใช่เพียงการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ตัวศาสนาเองเป็นผู้สถาปนาการเมืองขึ้นมา เช่น ศาสนาพรามหณ์สถาปนะวรรณะ 4 ขึ้นมาที่กำหนดว่าใครจะเป็นชนชั้นปกครองหรือเป็นชนชั้นผู้ถูกปกครอง เขาตั้งคำถามว่านี่คือความรุนแรงหรือไม่ ขณะที่ศาสนาอ้างว่านี่คือความยุติธรรมที่แบ่งคนให้มีหน้าที่แตกต่างกัน แล้วศาสนาเมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงที่รัฐเป็นผู้กำหนด ศาสนาให้ความชอบธรรมหรือต้องการเปลี่ยนแปลงมัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net