ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมโชว์ รัฐบาลพม่ายังไล่รื้อทำลายที่อยู่อาศัยชาวโรฮิงญา

หลักฐานภาพถ่ายผ่านดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพม่ายังคงไล่รื้อทำลายบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง ขัดกับความพยายามเตรียมรับผู้ลี้ภัยที่เคยหนีตายการสังหารหมู่โดยกองทัพพม่าไปบังกลาเทศมากกว่า 745,000 ราย กองทัพพม่าขยายฐานทัพทหารหนาแน่นขึ้นในรัฐยะไข่ แต่ศูนย์รับผู้ลี้ภัยกลับคล้ายเรือนจำ

(ซ้าย) ภาพหมู่บ้านอองซานปี 2562 เทียบกับปี 2561 (ขวา) พบว่าหมู่บ้านถูกทำลายในเวลาต่อมา (ที่มา: ASPI)

26 ก.ค. 2562 ในหมู่บ้านอองซานทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ห่างจากเขตแดนบังกลาเทศไม่กี่กิโลเมตรเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวโรฮิงญามาก่อน แต่จากหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นว่าสิ่งปลูกสร้าง 50 หลังในหมู่บ้านถูกเผาวอดเกือบทั้งหมดหลังจากที่ทางการพม่าใช้กำลังทหารสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

องค์กรที่เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมชุดล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมาคือศูนย์นโยบายไซเบอร์นานาชาติของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (ASPI) จากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทางการพม่ามีการเตรียมการน้อยมากในการที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับเข้าประเทศ 

ASPI ระบุว่าจากภาพถ่ายดาวเทียมปัจจุบันเปิดเผยให้เห็นว่า นอกจากจะมีการทำลายเขตที่อยู่อาศัยของประชาชนอย่างต่อเนื่องแล้วยังมีการเพิ่มสถานทำการของทหารในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ด้วย ASPI เปิดเผยว่ามีการทำลายอาคารที่พักอาศัยแหล่งสุดท้ายขอหมู่บ้านอองซานในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ของปีนี้ ในขณะที่อาคารของฝ่ายความมั่นคงมีการขยายพื้นที่และเสริมความมั่นคงมากขึ้น

ASPI ระบุว่าพวกเขาทำการศึกษาสภาพปัจจุบันของแหล่งที่อยู่อาศัยในรัฐยะไข่โดยอาศัยข้อมูลแบบโอเพนซอร์สที่ใช้ได้อย่างอิสระและข้อมูลการวิเคราะห์ที่รวบรวมจากรูปถ่ายผ่านดาวเทียม ทำให้พวกเขาสรุปผลได้ว่า "งานวิจัยของพวกเราไม่สนับสนุนการกล่าวอ้างยืนยันว่ารัฐยะไข่มีสภาพที่ปลอดภัย ยั่งยืน มีเกียรติ์ ศักดิ์ศรีมากพอสำหรับให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับไปได้"

APSI ระบุอีกว่าการที่รัฐบางพม่ากล่าวอ้างว่ามีการเตรียมการให้ผู้ลี้ภัยกลับมาอยู่อาศัยได้นั้นฟังดูน่าเป็นห่วงในเรื่องสภาพที่ผู้อพยพจะต้องอาศัยอยู่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีทั้งความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความไร้เสถียรภาพ การชะงักงันของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงการขาดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในรัฐยะไข่

นอกจากหมู่บ้านอองซานแล้ว แหล่งที่อยู่ของชาวโรฮิงญา 392 แห่งยังตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่มีการเก็บรวบรวมในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค. 2561 ถึง มิ.ย. 2562 พบว่ามีหมู่บ้านร้อยละ 40 ที่เคยได้รับการสำรวจจากระบบดาวเทียม UNOSAT ของสหประชาชาติว่าอยู่ในสถานะถูกเผา ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายในช่วงปี 2560 ในปัจจุบันนั้นถูกรื้อทำลายไปไปหมดแล้ว และมีหมู่บ้านอีก 58 แห่งที่ตกเป็นเป้าหมายการรื้อทำลายครั้งใหม่นี้

ในพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกรื้อทำลายก็มีการสร้างค่ายทหารของพม่าขึ้นใหม่ 45 ค่ายทั่วรัฐยะไข่ มีที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นสถานทำการของทหาร 6 แห่ง โดยมีการวางสนามเพลาะ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และการคุ้มกันทางเข้าออก

อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ออสเตรเลียกล่าวว่าหลักฐานที่ ASPI ค้นพบในครั้งนี้เป็นไปในแบบเดียวกับที่มีเอกสารบันทึกไว้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการพม่าพยายามยึดครองที่ดินที่ถูกรื้อทำลายในตอนเหนือของยะไข่ รวมถึงรัฐบาลพม่ายังสร้างสิ่งก่อสร้างทับพื้นที่เดิมที่เคยเป็นบ้านชาวบ้านถึงแม้ว่าชาวบ้านผู้ลี้ภัยที่อพยพไปบังกลาเทศจะแสดงเอกสารระบุความเป็นเจ้าของบ้านเรือนเหล่านั้น

ทั้งนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องกระบวนการรับคืนผู้ลี้ภัยกลับประเทศ จากที่ ASPI มองว่าศูนย์รับผู้ลี้ภัยมีลักษณะคล้ายสถานกักกัน มีทั้งส่วนที่เป็นอาคารที่พักล้อมด้วยรั้วและมีการวางป้อมสังเกตการณ์โดยรอบ จอห์น ควินลีย์ ที่ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากฟอร์ติฟายไรท์ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่าศูนย์รับผู้ลี้ภัยมีลักษณะคล้ายเรือนจำและอาจจะยิ่งทำให้เกิดระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวหนักขึ้นในส่วนอื่นๆ ของรัฐยะไข่

เคยมีรายงานที่รั่วไหลจากทีมโต้ตอบและประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN-ERAT) ระบุให้เห็นแผนการรับผู้ลี้ภัยกลับพม่าภายในช่วงเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีการตั้ง "ศูนย์รับ" และ "ศูนย์ส่งตัว" ผู้ลี้ภัยกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ซึ่งผู้ที่อยู่ในขั้นตอน "ศูนย์ส่งตัว" จะถูกส่งไปอยู่ในที่พักชั่วคราวที่มีลักษณะคล้ายตู้คอนเทนเนอร์และให้อาศัยอยู่รวมกันตู้ละ 8 ครอบครัว โดยครอบครัวเหล่านี้จะต้องอยู่ในศูนย์ส่งตัวเป็นระยะเวลา 30 วัน หลังจากนั้นผู้ลี้ภัยจะมีทางเลือก 3 ทางคือ หนึ่ง ถ้าหากบ้านเดิมยังคงอยู่พวกเขาสามารถกลับไปอยู่อาศัยได้ทันที สอง พวกเขาสามารถย้ายไปอยู่ในที่ตั้งใหม่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ได้ สาม พวกเขาสามารถร่วมโครงการทำงานแลกเงินเพื่อสร้างบ้านของพวกเขาเองในสถานที่ๆ รัฐบาลจัดไว้ให้ได้

อย่างไรก็ตามรายงานของ ASEAN-ERAT ก็ถูกวิจารณ์จากนักกิจกรรมและผู้เชี่ยวชาญว่าเน้นเรื่องโครงสร้างการเตรียมการของรัฐบาลพม่ามากเกินไปโดยไม่พูดถึงเรื่องที่ชวนให้กังวลในด้านสิทธิมนุษยชน

อับดุล รูฮิม ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศก็พูดถึงเรื่องนี้โดยลังเลว่าพวกเขาควรจะกลับไปยังพม่าหรือไม่หลังจากรับรู้เรื่องการวิเคราะห์ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมล่าสุด เขาบอกว่าในตอนนั้นทหารทำลายบ้านของเขาแต่ยังไม่ได้เผา อย่างน้อยก็ในตอนที่เกิดเหตุครั้งแรก รูฮิมบอกอีกว่าถ้าหากทางการพม่าให้สัญชาติแก่ญาติๆ ของเขาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในซิตตเว เขาจะพิจารณากลับไปยังพม่า แต่จะไม่นำลูกๆ ของพวกเขากลับไปอยู่ในค่ายอีกเป็นอันขาด

เรียบเรียงจาก

Satellite images show ongoing destruction of Rohingya settlements, Aljazeera, Jul. 25, 2019

Mapping conditions in Rakhine State, Australian Strategic Policy Institute

รายงานฉบับเต็ม Mapping conditions in Rakhine State, Australian Strategic Policy Institute

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท