Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา สื่อบลูมเบิร์กรายงานว่าถึงแม้ประเทศไทยจะยังนับเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็มีปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแบบเดียวกับปัญหาโลกที่ 1 คือปัญหาอัตราการเกิดใหม่ของประชากรต่ำ และเสี่ยงต่อการเกิดสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นถ้าเป็นคนจน

จากข้อมูลของสหประชาชาติที่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า อัตราการเกิดของไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศร่ำรวยอย่างสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งที่ประเทศไทยไม่มีอะไรที่เหมือนสองประเทศนี้เลย และจากตัวเลขของสหประชาชาติทำให้ประเมินได้ว่าภายในปี 2573 คนไทยจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 จะกลายเป็นคนสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และส่วนใหญ่แล้วจะยากจน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ระบุว่าการลดลงของแรงงานจะส่งผลทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า

บลูมเบิร์กระบุว่าถ้าไม่นับจีนที่เคยมีนโยบายลูกคนเดียวซึ่งยกเลิกไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศส่วนใหญ่ที่มีอัตราการเกิดต่ำมักจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว ยกเว้นแต่ไทยที่จะกลายเป็นประเทศใหญ่ๆ ประเทศแรกที่เผชิญปัญหาสังคมผู้สูงวัยก่อนที่จะมีโอกาสได้มั่งคั่ง การที่ประชากรน้อยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในด้านการมีผู้บริโภคน้อยลง มีแรงงานน้อยลง มีผู้จ่ายภาษีน้อยลง และมีคนดูแลผู้สูงอายุน้อยลงด้วย

Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์จากหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ผู้วิเคราะห์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกว่า ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญอย่างแน่นอน เขาบอกว่าประเทศไทยจะติดอยู่ตรงกลางในฐานะประเทศที่กำลังจะผงาดแต่ก็เจอกับอุปสรรคด้านประชากร

บลูมเบิร์กระบุอีกว่าตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงจาก 6.6 จุด เหลือ 2.2 จุด จนถึงปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 1.5 จุด โดยนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาประเทศไทยก็มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าการทำให้กลายเป็นเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดลดลง อีกทั้งก่อนหน้านี้เมื่อราว 30-40 ปีที่แล้วก็เคยมีโครงการ "แก้ไขปัญหาความยากจน" ด้วยการสนับสนุนให้มีลูกลดลง จากความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยที่เป็นนักบัญชีของบริษัทโฆษณาในกรุงเทพฯ บอกว่าไม่ต้องการจะมีลูกมากถ้าหากไม่สามารถการันตีว่าจะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้

ชรีปาด ตุลจาปูร์การ์ นักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่าประเทศไทยมีเวลาไม่มากที่จะแก้ไขปัญหานี้ พวกเขาต้องหาทางเพิ่มผลผลิตแรงงานให้ได้ไม่เช่นนั้นการลดจำนวนลงของแรงงานจะไม่สามารถรองรับวัยเกษียณได้

ทั้งนี้บลูมเบิร์กยังระบุถึงอีกสาเหตุหนึ่งคือการรัฐประหาร 2 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงตอนนี้ รัฐบาลที่นำโดยทหารก็แทบไม่ได้มีอะไรที่จะแก้ปัญหานี้เลย อย่างไรก็ตามบลูมเบิร์กเสนอแนะว่าประเทศไทยมีความหวังจากการเปิดรับผู้อพยพเพื่อเพิ่มแรงงาน ปัญหาที่เหลือหลังจากนั้นคือปัญหาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำและปัญหาเรื่องราคาค่าใช้จ่ายในทางสาธารณสุข ซึ่งในไทยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 12 ทุกปีตลอด 12 ปีที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net