Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ร่วมขอให้ตรวจสอบกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เวียงแหง วิสามัญฆาตกรรม นายจะจือ จะอ่อ ที่บ้านห้วยไคร้ใหม่ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคม 

27 ก.ค. 2562 ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ร่วมขอให้ตรวจสอบกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เวียงแหง วิสามัญฆาตกรรม นายจะจือ จะอ่อ โดยระบุว่าตามที่ได้ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 17.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เวียงแหง ได้ออกตรวจพื้นที่บริเวณบ้านห้วยไคร้ใหม่และพบชายต้องสงสัยสองคนขับรถจักรยานยนต์มา เมื่อเจ้าหน้าที่ขอให้หยุดเพื่อตรวจสอบ ชายต้องสงสัยกลับใช้ปืนยาวยิงเจ้าหน้าที่จนเกิดการต่อสู้กันขึ้น และนายจะจือ จะอ่อ อายุ 26 ปี ชาวบ้านห้วยไคร้ใหม่ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุมีประชาชนจากชุมชนชาวห้วยไคร้ใหม่ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า หลังเกิดเหตุแม่ของผู้เสียชีวิตได้พยายามเข้าไปกอดร่างลูกชาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย ทำให้ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ไม่พอใจ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562  มีประชาชนจากชุมชนชาวห้วยไคร้ใหม่ได้ออกแถลงการณ์ขอความเป็นธรรม และแสดงความวิตกต่อการวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าว โดยได้อ้างว่า นายจะจือ จะอ่อ ไม่ได้ค้ายาเสพติดและไม่มียาเสพติดไว้ในครอบครอง และมีพยานเห็นเหตุการณ์ว่าในระหว่างการจับกุมนายจะจือ จะอ่อ ไม่ได้มีอาวุธปืน แต่อาวุธปืนนั้นถูกนำมาวางหลังจากนายจะจือ จะอ่อ ได้เสียชีวิตแล้ว

จากกรณีดังกล่าว เมื่อเกิดกรณีการที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารบุคคลโดยไม่ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาล หรือเรียกว่าการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม (Extra-judicial Killing) อาจเกิดเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติข้อ 11 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อมีผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดแล้วว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้กระทำผิดจริง ดังนั้น ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยไม่ว่าจะเป็นคดีใดๆ จะถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม (Extra-judicial Killing) ไม่ได้  และย่อมมีสิทธิที่จะได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ (Rights to Defense) ตามกระบวนการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial)

ในส่วนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้กำลังหรืออาวุธพอสมควรแก่เหตุ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเกินกว่าเหตุอาจเข้ากรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐต้องสอบสวนข้อเท็จจริง นำตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทั้งทางวินัยและในทางอาญา และชดใช้เยียวยาให้ครอบครัวผู้ถูกละเมิดอย่างเพียงพอ การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมจะส่งผลให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ประชาชนขาดความเชื่อถือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่สังหารประชาชนนอกกระบวนการยุติธรรม รัฐจะต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ทั้งในทางวินัยและในทางอาญา และชดใช้เยียวยาครอบครัวผู้ถูกละเมิดอย่างเพียงพออีกด้วย จากกรณีดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุการณ์ความตายผิดปกติ ต้องมีการไต่สวนการตายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ศาลสั่งว่า ว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และแสดงถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้

ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ขอเน้นย้ำว่า นายจะจือ จะอ่อ มิได้เป็นชนเผ่าพื้นเมืองคนเดียวในประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อของการวิสามัญฆาตกรรม ตั้งแต่ช่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติดในปี 2546 ชนเผ่าพื้นเมืองได้ตกเป็นเหยื่อของอคติทางเชื้อชาติ โดยถูกมองอย่างเหมารวมในแง่ลบว่าเป็นพวกป่าเถื่อน ชอบค้ายาเสพติดและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทัศนคติดังกล่าวแทรกซึมลึกเข้าไปในนโยบายของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฏหมาย จึงทำให้คนชนเผ่าพื้นเมืองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่านอกระบบ การซ้อมทรมาน หรือการบังคับให้สูญหาย ยกตัวอย่างเช่นในกรณีการสังหารชาวเมี่ยนหกคนที่ตำบลห้วยชมพู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในปี 2546 และกรณีการวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่และอาเบ แซ่หมู่ ชายชาวลีซูในปี 2560 เป็นต้น โดยในทุกกรณี เจ้าหน้าที่ได้กล่าวหาผู้ถูกสังหารว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและตัดสินใจใช้ความรุนแรงมากเกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน บนพื้นฐานของข้อสันนิษฐานที่อาจเป็นผลจากอคติทางเชื้อชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายจะจือ จะอ่อ จึงถือเป็นผลจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบที่ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองมากเป็นพิเศษ หากเหตุการณ์ในลักษณะเดิมยังเกิดขึ้นซ้ำ อาจทำให้ประชาชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองสูญเสียความไว้วางใจในรัฐและนำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติได้

องค์กรภาคประชาสังคมที่มีรายชื่อด้านล่างนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคม เพื่อตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของนายจะจือ จะอ่อ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมครบถ้วน และหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดตามข้อเท็จจริง รัฐต้องลงโทษผู้กระทำผิดทั้งทางวินัยและในทางอาญา และชดใช้เยียวยาครอบครัวของนายจะจือ จะอ่ออย่างเหมาะสม 2. ขอให้คุ้มครองประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์การตรวจค้น จับกุมและสังหาร นายจะอือ จะอ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้พยานถูกข่มขู่ คุกคาม จากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด เพื่อให้พยานสามารถให้ข้อเท็จจริง พยานหลักฐานแก่คณะกรรมการตรวจสอบได้อย่างอิสระ ปราศจากแรงกดดันหรือความหวาดกลัว

3. ขอให้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารนายจะอือ จะอ่อ ออกจากพื้นที่ ในระหว่างการตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนคดี เพื่อเป็นหลักประกันว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 4.ในการทำสำนวนไต่สวนการตายนั้น ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลตามหลักการในพิธีสารมินนิโซตา ว่าด้วย การสืบสวนสอบสวน กรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็ น การเสียชีวิตที่มิชอบ ด้วยกฎหมาย (ค.ศ. 2016) กล่าวคือ ต้องกระทำอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและละเอียดถี่ถ้วน เป็นอิสระและเป็นกลาง และโปร่งใส โดยต้องคำนึงถึงพยานหลักฐานทุกชิ้นในคดีไต่สวนการตาย เพื่อให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้สังหารนายจะอือ จะอ่อ ตายที่ไหน เมื่อใด และแสดงถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็น และ 5. ผู้กระทำรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจัดการฝึกอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในการเข้าถึงความยุติธรรมและขจัดอคติทางเชื้อชาติ โดยมีมาตรการให้ตำรวจชุมชน เจ้าหน้าที่ความมั่นคง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน และหน่วยงานอื่นๆที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆต้องเข้าร่วมการอบรมดังกล่าว

อนึ่งองค์กรผู้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ประกอบไปด้วย 1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 3. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 4. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น 5. เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดเชียงใหม่ 6. สมาพันธ์เพื่อช่วยเหลือมอญชายแดน 7. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตระนาวศรี 8. ศูนย์กฏหมายสิทธิชุมชน 9. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 10. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 11. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net