Skip to main content
sharethis

‘อนุทิน’ เล็งบรรจุแพทย์จบใหม่ประจำ รพ.สต. เพิ่มค่าตอบแทน อสม. 2,500-10,000 บ.

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 ที่หอประชุมทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ภายหลังจากที่มีการอภิปรายถึงนโยบายระบบสาธารณสุขไทยว่า ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนพร้อมกับ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เราทั้งสองคนมีความเห็นตรงกันว่า ต้องเพิ่มคุณภาพการให้บริการของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ไทยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบาล (รพ.สต.) ประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในคำจำกัดความของตนเองนั้น โรงพยาบาลต้องมีแพทย์ ต้องมีพยาบาล ไม่ใช่มีเพียงเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่นั้น

ด้วยเหตุนี้ การยกระดับจากสถานีอนามัยเป็น รพ.แม้จะมีสภาพเหมือนสถานีอนามัย แต่ต้องยกระดับให้เป็นเหมือนคลินิก ซึ่งการมี รพ.สต.จะทำให้เพิ่มแพทย์จบใหม่มาประจำอยู่ตามสถานที่แห่งนั้นได้ เพื่อช่วยลดภาระของประชาชนในการเข้ารับการบริการตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น รพ.ชุมชน, รพ.อำเภอ หรือ รพ.จังหวัด ซึ่งจะทำให้ปัญหาความแออัดของผู้ป่วยใน รพ.ต่าง ๆ ลดน้อยลง รวมถึงภาระของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการยกระดับและเพิ่มผลตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการให้บริการทางด้านสุขภาพกับประชาชนนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะมีหน้าที่เพิ่มศักยภาพ ประสบการณ์ ความชำนาญ และความรู้ให้ อสม.เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องยุติธรรม ถ้าทำงานเพิ่มมากขึ้น ให้บริการประชาชนมากขึ้น ให้บริการบำบัดรักษาขั้นปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการสมควรต้องดูแลผลตอบแทนให้แก่ อสม.ตามความสามารถแต่ละคน

ทั้งนี้ การเพิ่มผลตอบแทนนั้น เป็นไปตามความชำนาญความสามารถแต่ละคน ซึ่งตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทย มีค่าตอบแทนตั้งแต่ 2,500 - 10,000 บาท เป้าหมายให้ อสม.เป็นส่วนเติมเต็มระบบสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลอีกทางหนึ่ง

นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้คือเรื่องกัญชาทางการแพทย์ เมื่อเราสนับสนุนให้ใช้สาร CBD(Cannabidiol) และ THC (Tetrahydrocannabinol) จากกัญชาและกัญชงได้แล้ว มั่นใจว่าจะลดผู้ป่วยที่ไปใช้บริการจากทางภาครัฐ และการใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชายังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนรวมไปถึงภาครัฐที่เคยซื้อยาในราคาแพง เชื่อว่ารัฐบาล จะทำนโยบายเหล่านี้ จนได้ผลเป็นรูปธรรม

ที่มา: Hfocus, 27/7/2562

ปั้นหุ่นยนต์รับสังคมสูงอายุ-ลดนำเข้ากว่า 2 แสนล้าน

26 ก.ค. 2562 นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติคาดการณ์ว่าความต้องการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมของโลกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 15% ต่อปี และจะมีการใช้หุ่นยนต์มากกว่า 5 แสนตัวในปี 2563 ขณะที่ประเทศไทยยังมีระดับการใช้หุ่นยนต์ไม่ถึง 10% ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกเมื่อเทียบกับประเทศสำคัญ ในภาวะที่ประชากรไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 โดยประชากรในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ อัตราแรงงานขั้นต่ำมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้มีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ดังนั้นการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและสามารถช่วยลดต้นทุนแรงงานระยะยาว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างก้าวกระโดด โดยกระทรวงได้คัดเลือกผู้ประกอบการต้นแบบดีเด่น เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและพัฒนาต้นแบบต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้มีผู้ประกอบการได้รับคัดเลือกต้นแบบดีเด่น 8 ต้นแบบ จาก 85 ต้นแบบ แบ่งเป็นด้านนวัตกรรม 3 ต้นแบบ ได้แก่ บริษัท อาตาปี จำกัด, พีทีดับบลิว เทคโนโลยี, ทรัพย์ไพศาลรีไซเคิล ด้านการขยายผลเชิงพาณิชย์ 3 ต้นแบบ ได้แก่ เจ็นเชิฟ, มหาธานีอุตสาหกรรม, ฟิโก้ โรโบติก และด้านการนำไปใช้ประโยชน์ 2 ต้นแบบ ได้แก่ ไดมอน ไดเมนชั่น, มารีน ไบโอ รีซอสเซส และการพัฒนาส่งเสริมกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนหุ่นยนต์สำหรับผู้ประกอบการใหม่ดีเด่น 6 กิจการ จาก 35 กิจการได้แก่ โคแทงค์, เอ็นเนอร์จี้ เรสปอนส์, พี.เค.แอนด์ เค.เอส. คอนซัลแทนท์, ซิมเพล็กซิตี้(ประเทศไทย), สืบพงษ์ มาตรเลี่ยม และ ออโตเมชั่น เครซี่

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าเบื้องต้นปี 2563 ตั้งเป้าหมายส่งเสริมกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนหุ่นยนต์สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ 300 ราย จากปัจจุบันมี 571 ราย 85 ต้นแบบ และปี 2565 มีผู้ประกอบการรายใหม่ 1,400 ราย 2,500 ต้นแบบ คาดผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ต่ำกว่า 30% ภายใน 6 ปี ช่วยลดมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนหุ่นยนต์ได้ 200,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามทำให้เกิดการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ที่ 75 ตัวต่อจำนวนแรงงานภาคอุตสาหกรรม 10,000 คนให้ได้โดยเร็วที่สุด ตั้งเป้ากระตุ้นอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้ 8% ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติชั้นนำของประเทศ 15 เครือข่ายดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์กรวิชาชีพเพื่อส่งเสริมเสริมสร้างปกป้องอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทั่วโลก(IFR) พบว่าประเทศไทยยังมีการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 50-60 ตัวต่อจำนวนแรงงานภาคอุตสาหกรรม 10,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีอัตราการใช้หุ่นยนต์อยู่ที่ 74 ตัวต่อจำนวนแรงงานภาคอุตสาหกรรม 10,000 คน ไทยจึงมีความต้องการที่จะใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ

ที่มา: ไทยโพสต์, 26/7/2562

สำนักงานประกันสังคม แจงผู้ประกันตนไม่ต้องกังวล หากเจ็บป่วยเรื้อรัง ขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์เป็นเวลานานหลายวัน ทำให้สูญเสียรายได้ เช่น ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง เส้นเลือดสมอง หรือกระดูกสันหลังเป็นเหตุให้อัมพาต ความผิดปกติของกระดูกหักที่มีภาวะแทรกซ้อน และโรคหรือการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินกว่า 180 วัน ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ที่ขาดหายไปจากการที่ไม่ได้ทำงาน สำนักงานประกันสังคมพร้อมดูแลเต็มที่ โดยผู้ประกันตนสามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคมในอัตรา 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 365 วัน ใน 1 ปี นอกจากนี้ ผู้ประกันตนยังสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จากข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2562 พบว่ามีผู้ประกันตนมาขอรับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนแทนการขาดรายได้จำนวน 33,417 ราย คิดเป็นเงินที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 27,289,370.45 บาท ทั้งนี้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ผู้ประกันตนยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในระหว่างหยุดงานจากการเจ็บป่วยไม่เนื่องจากการทำงานที่นายจ้างต้องจ่ายให้เต็มตามที่กำหนดอยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือมีสิทธิตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน สัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วแต่กรณี

อย่างไรก็ตาม การขอรับสิทธิดังกล่าวนายจ้างต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนเพื่อให้ได้ความคุ้มครองทั้ง 7 กรณี คือกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือโทร 1506

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 26/7/2562

นักวิจัยฯ ชี้ค่าจ้างหญิงชายไทยไม่ต่าง จ้างคนมีลูกถูกกว่าคนโสด

ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าจากงานวิจัยความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) พบว่ามีแนวโน้มลดลงทั่วโลก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนทางการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คุณลักษณะของผู้หญิงมีการยกระดับขึ้น ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกีดกันทางเพศที่ลดลง ทำให้ค่าจ้างของผู้หญิงโดยเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทยกล่าวได้ว่ามีปัญหาการกีดกันทางเพศ (gender discrimination) ที่ค่อนข้างน้อยมาก จะเห็นได้จากการลงทุนทางการศึกษาของครอบครัวไทย ที่ไม่มีปัญหาอคติในการให้การศึกษากับลูกสาวหรือลูกชาย ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า ทำให้ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น และค่าจ้างของผู้หญิงก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ค่าจ้างเฉลี่ยของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมากถึง 20 % แต่ปัจจุบันช่องว่างลดลงแทบไม่มีความแตกต่างกัน

นอกจากนี้ ในงานวิจัยพบว่าความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูก และไม่มีลูกทั้งชายและหญิงในประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าแรงงานชายที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายที่ไม่มีลูก 17% ส่วนแรงงานหญิงที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานหญิงที่ไม่มีลูก 22% เนื่องจากต้องจัดสรรเวลาไปเลี้ยงลูกทำให้มีเวลาทำงานลดลง

ทั้งนี้เห็นว่าภาครัฐอาจสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการแบกรับต้นทุนนี้และมีการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 26/7/2562

โพลหอการค้าผู้ประกอบการ 93.9% ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ประจำปี 2562 พบว่า จากผู้ประกอบการ จำนวน 1,355 กลุ่ม ซึ่งแบ่งเป็นธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.9 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงมีความผันผวนยังไม่ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและหากปรับควรเป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทหรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จะส่งผลต่อการคำนวณฐานเงินเดือนของพนักงานเก่า ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระได้ทั้งหมด ค่าครองชีพสูงขึ้น SMEsไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

และการปรับค่าแรงนั้นควรปรับขึ้นตามทักษะฝีมือและปรับตามพื้นที่แต่ละจังหวัด โดยให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้เสนอตามข้อเท็จจริง และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแรงงานในประเทศไทยถือว่ามีค่าแรงสูงกว่าหลายประเทศ โดยมาเลเซียกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 241-260 บาทต่อวัน อินโดนีเซีย 99-271 บาทต่อวัน เวียดนาม 156-173 บาทต่อวัน ฟิลิปปินส์ 197-341 บาทต่อวัน สปป.ลาว 125 บาทต่อวัน กัมพูชา 162 บาทต่อวันและ เมียนมา 90 บาทต่อวัน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 26/7/2562

ไทยติดหนึ่งในประเทศที่มีระดับสิทธิแรงงานย่ำแย่ลง เพราะไม่รับรองเสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วมกัน ทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีชี้วัดด้านสิทธิแรงงานสากล ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกปี 2019 โดยกล่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงานทั่วโลก ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศทั่วโลกที่สิทธิแรงงานย่ำแย่ลงจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 5 เช่นเดียวกับบราซิล อิรัก เซียร์ราลีโอน เวียดนาม เป็นต้น และมีการยกกรณีตัวอย่างการละเมิดสิทธิในไทย อย่างกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย (กบท.)

ดัชนีสิทธิแรงงาน ITUC ได้เก็บข้อมูลในช่วงเดือน เม.ย. - มี.ค.ของอีกปี โดยมีตัวชี้วัดในการประเมินระดับสิทธิแรงงานของแต่ละประเทศทั้งหมด 97 ข้อ ซึ่งอ้างอิงถึงอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Conventions) กฎหมาย และข้อมูลการละเมิดสิทธิแรงงานตามกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ แล้วจึงนำมาจัดระดับการเคารพสิทธิแรงงานเป็นระดับ 1 ถึง 5+ โดยระดับ 1 แสดงว่ามีการเคารพสิทธิแรงงานดีมาก ส่วน 5+ คือไม่เคารพสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง

ITUC ได้กล่าวถึงกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) หลังเกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2552 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 88 คน ส่งผลให้สร.รฟท.รณรงค์ให้มีการเดินรถไฟอย่างปลอดภัย พร้อมประกาศว่าจะไม่เดินรถไฟ หากรถไฟไม่สมบูรณ์และอาจเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร

การรณรงค์เรื่องการเดินรถไฟอย่างปลอดภัย กลับทำให้นายจ้างกล่าวหาสร.รฟท.ว่า การกระทำดังกล่าวทำให้รฟท.ได้รับความเสียหาย และเลิกจ้างพนักงานรวมทั้งหมด 13 คนในช่วงปี 2553-2554 แต่สร.รฟท.ได้ร้องไปยังองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อขอความช่วยเหลือจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อมีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีมติรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 13 คนกลับเข้าทำงานโดยไม่มีความผิด

อย่างไรก็ตาม คดีในชั้นศาลฎีกาออกมาว่า พนักงาน 7 คน ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้รฟท.เป็นจำนวน 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ซึ่งนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสร.รฟท. เปิดเผยว่า พนักงานถูกหักเงินเดือนเพื่อชดใช้ค่าเสียหายจนเหลือเพียง 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

นายสาวิทย์ย้ำว่า พนักงานมีสิทธิที่จะไม่ทำงาน หากประเมินแล้วว่าสภาพการทำงานไม่ปลอดภัยพอ พร้อมย้ำว่า สหภาพแรงงานในไทยจำเป็นต้องร่วมกันต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เพราะแม้ต่างชาติจะช่วยกดดันรัฐบาลไทยให้ปรับปรุงสิทธิแรงงานได้ แต่แรงผลักดันภายในประเทศเป็นพลังที่สำคัญกว่า

ด้านนางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย (สร.กบท.) กล่าวว่า กรณีการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทการบินไทยเกิดขึ้นหลังจากที่พนักงานทักท้วงแผนฟื้นฟูหนี้ที่มีมาตรการห้ามขึ้นเงินเดือนพนักงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งผิดระเบียบการทำงาน อีกทั้งการขาดทุนก็ไม่ได้เกิดจากพนักงาน แต่เกิดจากการคอร์รัปชันในการจัดซื้อ จึงมีการเจรจาประนีประนอมกัน เพื่อให้มีการลดโบนัส และค่าล่วงเวลาแทนการไม่ขึ้นเงินเดือน

อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยกล่าวหาว่าสร.กบท.ทำให้บริษัทเสื่อมเสียด้านภาพลักษณ์ เนื่องจากสื่อได้ลงข่าวนี้จนโด่งดังไปทั่ว โดยคำนวณค่าเสียหายออกมาได้ 326 ล้านบาท แม้พนักงานการบินไทยไม่ได้นัดรวมตัวกันหยุดงานประท้วง ไม่มีไฟลท์ดีเลย์แต่อย่างใด แต่ศาลชั้นต้นตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเต็มจำนวน ไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และจะต้องสู้คดีกันต่อไปอีก ซึ่งนางแจ่มศรีแสดงความเห็นว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ไม่ได้มาสาเหตุมาจากความเสียหายด้านภาพลักษณ์ แต่ฟ้องเพื่อขัดขวางการทำงานของสหภาพ

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า ก่อนปี 2534 สหภาพแรงงานของไทยสามารถรวมกันเป็นหนึ่งได้ แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ไม่ต้องการให้แรงงานรวมกันเป็นสหภาพใหญ่ได้ และจนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยก็ยังไม่แก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับที่จำกัดสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วมกัน สะท้อนให้เห็นว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการปรับปรุงสิทธิแรงงานไทยเลย

โรเบิร์ตสันกล่าวว่า กฎหมายไทยก็ยังไม่ครอบคลุมการปกป้องแรงงานจากการถูกไล่ออกหลังจากรวมกลุ่มประท้วง ซึ่งบริษัทมักมีวิธีกลั่นแกล้งอื่นๆ หรือเลิกจ้างด้วยเหตุผลอื่นๆ ให้ดูเหมือนว่าการไล่ออกไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประท้วง และหากตกงานแล้วก็จะสูญเสียตำแหน่งในสหภาพแรงงานด้วย ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่แปลกมาก

กฎหมายไทยยังกำหนดไว้ว่า ข้าราชการไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ รวมถึงครูด้วย ทั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ควรมีสิทธิในการรวมกลุ่มกันต่อรองเรื่องสภาพการทำงานหรือสิทธิแรงงานอื่นๆ ของตัวเองได้ นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติก็ไม่สามารถตั้งสหภาพได้ และไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพได้ด้วย เพราะกฎหมายไทยระบุว่า สมาชิกสหภาพจะต้องเป็นพลเมืองไทยเท่านั้น ทั้งที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก

ด้านชาราน เบอร์โรว เลขาธิการ ITUC กล่าวว่า คนไทยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียงร้อยละ 1.5 ของประชากร ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนเข้าร่วมสหภาพแรงงานเป็นอัตราส่วนน้อยที่สุดในโลก เธอย้ำว่า รัฐบาลและนายจ้างจะต้องทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานมากกว่านี้ ไม่ใช่มองว่าสหภาพแรงงานเป็นศัตรู และควรมีการค่าเงินเยียวยาให้กับพนักงานที่ได้รับความอยุติธรรมจากนายจ้าง

เบอร์โรวกล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่พยายามแก้ไขปัญญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงเลย เมื่อมีคนร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานถูกกดขี่ แต่รัฐบาลกลับมุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้ เมื่อบริษัทส่งออกกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกกีดกันจากคู่ค้าต่างชาติ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลฟังเสียงของนายทุนมากกว่าฟังเสียงประชาชน นอกจากนี้ เบอร์โรวยังระบุว่า รัฐบาลไทยพยายามจะเข้าไปร่วมกับคณะกรรมการด้านสิทธิแรงงานของสหประชาชาติ แต่ไทยเองกลับไม่พยายามแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานก่อน

ส่วนแกรม บัคลีย์ ผู้อำนวยการ ILO ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาวกล่าวว่า แม้การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานจะมีมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าแรงก็ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร และปีนี้ครบรอบ 100 ปี ILO ซึ่งไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ILO หลังการปฏิวัติรัสเซีย แต่ไทยกลับไม่รับสิทธิแรงงานพื้นฐานในอนุสัญญา ILO เรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมกัน โดยอ้างว่าเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

นายสาวิทย์เสริมว่า อุปสรรคในการแก้ไขกฎหมายแรงงานที่รัฐบาลมักอ้างก็คือเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยกลัวว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ อีกทั้งยังกลัวแรงงานข้ามชาติแย่งงานคนไทย และอุปสรรคอีกข้อก็คือ ความเกรงใจที่รัฐบาลมีต่อนายทุน นอกเสียจากว่าจะถูกกดดันจากองค์กรต่างประเทศ หรือการตั้งเงื่อนไขให้ปรับปรุงสิทธิแรงงาน เพื่อทำการค้ากับต่างชาติได้

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศกว่าร้อยละ 85 ของ 145 ประเทศทั่วโลกที่มีการเก็บข้อมูลมีการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยจำนวนประเทศที่ไม่ยอมให้พนักงานเข้าถึงสิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพก็เพิ่มจาก 92 ประเทศในปี 2018 มาเป็น 107 ประเทศ ในปี 2019 และประเทศที่แรงงานถูกจับกุมหรือควบคุมตัวก็เพิ่มขึ้นจาก 59 ประเทศในปี 2018 มาเป็น 64 ประเทศในปี 2019

ขณะเดียวกัน ร้อยละ 80 ของประเทศทั้งหมดละเมิดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกัน ส่วนประเทศที่มีแรงงานที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือถูกห้ามเข้าถึงความยุติธรรมมีถึงร้อยละ 72 ของทั้งหมด และมีร้อยละ 59 ของทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ขัดขวางการการขึ้นทะเบียนสหภาพ

ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีสิทธิแรงงานย่ำแย่ที่สุดอันดับที่ 2 ในโลก โดยระดับสิทธิแรงงานเฉลี่ยสูงถึง 4.05 เพิ่มจากปีที่แล้วที่เฉลี่ย 3.95 ถือเป็นภูมิภาคที่ระดับสิทธิแรงงานย่ำแย่ลงมากที่สุดในโลกในปีนี้ โดยประเทศในเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด 22 ประเทศล้วนละเมิดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกันของแรงงาน ขณะที่ 21 ประเทศจากทั้งหมด 22 ประเทศละเมิดสิทธิในการนัดหยุดงานประท้วง และร้อยละ 91 ของประเทศในเอเชียแปซิฟิกไม่ยอมให้พนักงานเข้าถึงสิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพ นอกจากนี้ ในปี 2018 มีสมาชิกสหภาพแรงงานถูกฆาตกรรมถึง 10 ราย

รายงานฉบับนี้ระบุว่า การนัดหยุดงานประท้วงมักถูกกดขี่อย่างหนักมาก และมีการลงโทษอย่างรุนแรงจากรัฐบาลบังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย เมียนมา และไทย และในหลายประเทศก็มีมาตรการในการทลายสหภาพแรงงาน แม้แรงงานจะพยายามตั้งสหภาพ แต่ก็มีกระบวนการขัดขวางการรวมกลุ่มตั้งสหภาพอย่างเป็นระบบ

ในเวียดนาม คนงาน 50,000 คนจากโรงงานผลิตรองเท้า Pou Chen ในเขตอุตสาหกรรมของนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ได้ร่วมกันเดินขบวนเมื่อวันที่ 9 - 10 มิ.ย. 2018 เพื่อประท้วงกฎหมายที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ๆ แต่ถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ

บริษัท Jasic Technology ในจีนปลดพนักงานในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากพวกเขาพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงาน และพนักงานมากกว่า 40 คนยังถูกจับกุมและกล่าวหาว่ารวมกลุ่มกันก่อกวนความสงบเรียบร้อยของสังคม

ชาราน เบอร์โรว เลขาธิการ ITUC กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของโลก แต่ระดับสิทธิแรงงานกลับย่ำแย่มาก เธอกล่าวว่า “ฉันรู้สึกขยะแขยงที่จีดีพีของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ค่าแรงของแรงงานยังถูกกดขี่” รัฐบาลและนายทุนหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต่อต้านการก่อตั้งสหภาพ กดขี่สิทธิในการนัดกันหยุดงานประท้วงสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยหรือความไม่ยุติธรรมอื่นๆ รวมถึงยังมีการจ้องเล่นงานแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

ที่มา: VoiceTV, 26/7/2562

ตม.เปิดตัวแอป 'Section38' ช่วยแจ้งที่พักรับต่างด้าว

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รรท.ผบช.สตม.) เชิญผู้ประกอบการโรงแรม สถานศึกษา สมาคม มูลนิธิ และบริษัทต่าง ๆ รวม 400 คน เข้าร่วมประชุมอบรมพร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน “section38” แจ้งที่พักอาศัยคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตาม มาตรา 38 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน

โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ขั้นตอนการแจ้งที่อยู่อาศัยให้กับคนต่างด้าวหรือนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย สามารถแจ้งได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ การแจ้งด้วยตนเองที่ สตม., แจ้งผ่านไปรษณีย์ และผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ แอปพลิเคชัน “section38” ซึ่งขั้นตอนการแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน จะมีการกรอกข้อมูลเอกสารแสดงตน ประกอบด้วย บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง และสำเนาทะเบียนบ้านหรือที่พักอาศัย

จากการทดสอบ จนถึงขณะนี้ มีผู้ประกอบการดาวน์โหลดทดลองใช้รวมเกือบ 20,000 คน ซึ่งยังไม่พบว่ามีการแจ้งข้อมูลเท็จ พร้อมยอมรับว่า ยังมีความล่าช้า ในการอนุมัติ เนื่องจากต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบรายชื่อเจ้าของบ้านว่าตรงกับผู้ที่แจ้งข้อมูลจริงหรือไม่ โดยหลังจากนี้จะมีการพัฒนาระบบให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 25/7/2562

บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ (TFI) ประกาศหยุดการผลิตทั้งหมดชั่วคราว เริ่มตั้งแต่ต้น ก.ย. 2562 นี้ พร้อมปลดพนักงาน 30% เพื่อปรับแผนธุรกิจใหม่หลังขาดทุนต่อเนื่อง

บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TFI เปิดเผยว่าเนื่องด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจทำให้มีการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมผู้ผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์ โดยสินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์นี้อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงด้านราคาขาย เป็นผลให้ราคาขายฟิล์มบรรจุภัณฑ์ในตลาดใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตของบริษัทอย่างเป็นนัยสำคัญ ส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทขาดทุนติดต่อกันหลายปี

ทั้งนี้จากสภาวการณ์ข้างต้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 จึงได้มีมติให้บริษัทหยุดการผลิตทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ประมาณต้นเดือน ก.ย. 2562 เป็นต้นไป พร้อมกับปรับลดจำนวนพนักงานโดยเลิกจ้างพนักงานประมาณ 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัทฯ

โดยจ่ายชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2562 เพื่อให้บริษัทปรับปรุงสายการผลิตและพัฒนาการผลิตฟิล์ม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากอะไหล่เครื่องจักรบางรายการต้องสั่งทำจากต่างประเทศ โดยบริษัทจะทำการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่สามารถเริ่มการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพบางสายการผลิตก่อน และขยายไปสายการผลิตต่อไปเป็นลำดับ ซึ่งบริษัทจะปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับชนิดฟิล์มบรรจุภัณฑ์และกำลังการผลิตต่อไป

ที่มา: ข่าวหุ้น, 25/7/2562

ประกันสังคม เอาจริงนายจ้างเมินค้างชำระเงินสมทบ โดนมาตรการเด็ดขาด ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าการดำเนินงานติดตามกรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทั่วประเทศ ในปี 2562 (ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.) ว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของสถานประกอบการที่ค้างชำระกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน โดยอายัดทรัพย์สินจำนวน 8,700 ราย ถอนยึดอายัดทรัพย์ 180 ราย ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 67 ราย แบ่งเป็น กรณีพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 66 ราย กรณีฟื้นฟูกิจการ 1 ราย มีจำนวนหนี้ที่สำนักงานประกันสังคมติดตามมาได้ทั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน รวมเป็นจำนวนเงิน 70,015,257.96 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เหตุเกิดจากนายจ้างหักเงินสมทบในส่วนของ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน แต่ไม่ยอมนำส่งสำนักงานประกันสังคม เมื่อลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไปขอรับประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม กลับไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ได้มีแนวทางมาตรการดำเนินการกับนายจ้างที่ติดค้างชำระหนี้ตามขั้นตอน คือ แจ้งเตือนและเชิญพบกรณีนายจ้างมาพบจะได้รับหนังสือรับสภาพหนี้ โดยมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน หากผิดนัดไม่ชำระจะดำเนินการกับบุคคลหรือหลักทรัพย์ทันที

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า หากในกรณีนายจ้างไม่มาพบตามหนังสือเชิญ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้จะจัดส่งรายชื่อนายจ้างชำระหนี้และประวัติไม่ดีให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยกัน ในกรณีที่นายจ้างต้องการความช่วยเหลือทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ทางสำนักงานประกันสังคมจะจัดส่งคณะทำงานเข้าช่วยเหลือ สำหรับนายจ้างที่มีเจตนาไม่ชำระเงิน หรือไม่ใส่ใจในข้อกฎหมายใดๆ เลย จะใช้มาตรการดำเนินการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน และหากมีมูลหนี้สูงจะทำการฟ้องล้มละลาย สำหรับนายจ้างที่ปิดกิจการไปแล้ว สำนักงานประกันสังคมก็มีมาตรการเร่งติดตามนายจ้าง เพื่อจะดำเนินการเช่นเดียวกับสถานประกอบการที่มีสถานะยังดำเนินกิจการอยู่เช่นกัน จึงขอฝากนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม อย่าปิดบังซ่อนเร้น ไม่ยอมจ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้าง หากสำนักงานประกันสังคมตรวจพบ นายจ้างจะต้องจ่ายทั้งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่ง หรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือไปยัง ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน หรือผู้ที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว แจ้งข้อมูลเบาะแสได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก

ที่มา: ข่าวสด, 24/7/2562

จับต่อเนื่องแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย เผยยอดทะลุแล้ว 7,553 คนแล้ว

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่ากรมการจัดหางานมีนโยบายกวาดล้างแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยได้สั่งการให้กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร อาทิ เขตห้วยขวาง เขตสุขุมวิท เป็นต้น ซึ่งมีสถิติการลักลอบทำงานสูง ให้จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และฝ่ายปกครองตรวจเข้มการทำงานของแรงงานต่างด้าวและดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ซึ่งตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 – 22 ก.ค. 2562 ได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวไปแล้ว จำนวน 554,270 คน และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือขายสินค้า ขายอาหารตามแผงต่างๆ ขายของหน้าร้าน รวมทั้งเร่ขายสินค้า และงานอื่นๆ ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัย วินมอเตอร์ไซต์ นวดแผนไทย และเสริมสวย ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมาย จำนวน 7,553 คน โดยได้เปรียบเทียบปรับแรงงานต่างด้าว คิดเป็นเงินค่าปรับ จำนวน 34,648,900 บาท ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางแล้ว จำนวน 7,234 คน ขณะที่ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการไปแล้ว 40,190 ราย/แห่ง ดำเนินคดี 1,686 ราย/แห่ง คิดเป็นเงินค่าปรับ จำนวน 14,145,700 บาท รวมค่าปรับทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 48,794,600 บาท

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/7/2562

ก.แรงงาน นำคณะไอแอลโอเยี่ยมศูนย์ PIPO ดูสถานประกอบการมีมาตรฐาน

24 ก.ค. 2562 ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) เขต 1 อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นำ นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และคณะ เข้าเยี่ยมชมศูนย์ PIPO โดยมี นายพิริยะ ฉันทดิลก รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนกองทัพเรือ ร่วมให้การต้อนรับ โดยได้รับฟังบรรยายสรุปความเป็นมาของ ศปมผ. และศูนย์ PIPO ภารกิจของศูนย์ การปฏิบัติงานของศูนย์ รวมทั้งรับฟังสถานการณ์ด้านการประมงในจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับศูนย์ฯ แห่งนี้มีภารกิจตรวจการแจ้งเข้า – ออกของเรือประมงพาณิชย์ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป และต่ำกว่า 30 ตันกรอสในเครื่องมือ 3 ประเภท คือ อวนลาก อวนล้อมจับ และอวนครอบปลากะตัก โดยเน้นการตรวจเรือกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับแจ้งจากศูนย์ ส่วนการปฏิบัติของศูนย์ ได้แก่ การตรวจเอกสารเรือที่มาแจ้งเข้า - ออก ตรวจเรือและคนประจำเรือที่ท่าเทียบเรือ บันทึกข้อมูลลงในระบบ Fishing Information : FI และการอนุญาตให้ออกไปทำการประมง หรือกลับเข้าเทียบท่าและขึ้นสัตว์น้ำ โดยเน้นการตรวจคุ้มครองแรงงาน เพื่อป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ปัจจุบันมีศูนย์ PIPO ทั่วประเทศจำนวน 30 แห่ง สำหรับสถานการณ์ด้านการทำประมงของจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มีเรือประมงที่แจ้งเข้า - ออก จำนวน 384 ลำ มีลูกเรือประมงจำนวน 5,472 คน โดยทั้งหมดเป็นแรงงานในระบบ ไม่มีแรงงานผิดกฎหมาย ประชาชนมีความเข้าใจในนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจนทำให้การแก้ไขปัญหาการประมงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

จากนั้นรองปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะของนายกาย ไรเดอร์ ได้ไปตรวจเยี่ยมบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทบรรจุกระป๋องและแช่แข็ง ปัจจุบันมีลูกจ้าง 8,678 คน เป็นชาย 2,972 คน หญิง 5,706 คน เป็นคนไทย 1,667 คน เมียนมาร์ 7,011 คน ซึ่งสถานประกอบการแห่งนี้ได้รับมาตรฐานการรับรองหลายด้าน ได้แก่ มาตรฐานแรงงานไทย (TLS) ระดับพื้นฐาน ปี 2560 - 2562 มีการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) มาใช้ในการบริหารจัดการแรงงานให้เป็นที่ยอมรับ เป็นสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานระดับประเทศ ปีที่ 4 เป็นต้น

การลงพื้นที่สมุทรสาคร ของนายกาย ไรเดอร์ในครั้งนี้ เป็นการเยี่ยมชมความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการขจัดการใช้แรงานเด็ก แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและห่วงโซ่อุปทานในภาคประมง การคุ้มครองแรงงานประมงและแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจว่าสินค้า อุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทย ผลิตโดยมีธรรมาภิบาล มีมาตรฐานแรงงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: ไทยโพสต์, 24/7/2562

'วินมอเตอร์ไซค์' บุกร้อง 'เพื่อไทย' ช่วยคัดค้าน 'แกร็บไบค์'

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2562 ที่บริเวณหน้าพรรคเพื่อไทย กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างในนาม ชมรมเพื่อนแท้ชาววิน นำโดย น.ส.ปัทมศรี ไกรรส พร้อมกับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง จากหลายสิบเขตทั่วกทม. ประมาณ 300 คนเดินทางมายังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบแกร็บไบค์และแกร็บคาร์ ที่เข้ามาแย่งอาชีพ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยฝ่ายพรรคเพื่อไทย มีนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.กทม. นายวัน อยู่บำรุง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ นายอนุสรณ์ ปั้นทอง ส.ส.กทม. เป็นตัวแทนมารับเรื่องร้องเรียน โดย ชมรมเพื่อนแท้ชาววิน ต่างตะโกนให้กำลังใจพรรคเพื่อไทยสู้ๆ เป็นระยะ

น.ส.ปัทมศรี กล่าวว่าชมรมเพื่อนแท้ชาววิน มายื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเอกสารที่เคยยื่นฟ้องศาลปกครองไว้แล้ว ครั้งนี้มาขอให้พรรคเพื่อไทยนำเรื่องนี้เข้าสภาฯเพื่อคัดค้านพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลที่จะให้แกร๊บคาร์ ถูกกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ขอให้พรรคเพื่อไทยเป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทนวินสาธารณะทุกคน ขอให้นำข้อเสนอเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ให้บริษัทแกร็บคาร์ปฎิบัติตามข้อกฎหมาย เพราะความเดือนร้อนของพวกเราทุกวันนี้ได้รับความเดือดร้อนมากจนกลายเป็นความขัดแย้งแล้ว

นายวิชาญ กล่าวว่า ส.ส.ของพรรคได้รับเรื่องจากทุกท่าน ก่อนหน้าได้ศึกษาส่งเป็นญัตติไปให้สภาฯแล้ว เราเห็นความเดือดร้อนผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ จะนำไปหารือกันในส่วนของส.ส. อาจจะมีการขอเลื่อนญัตติดังกล่าวเป็นญัตติเร่งด่วนเพื่อบรรจุเข้าสู่สภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ชมรมเพื่อนแท้ชาววินยื่นหนังสือเสร็จ นายวัน อยู่บำรุ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ได้มาร่วมรับหนังสือด้วย ได้ตะโกนถามกลุ่มวินว่า ในนี้มีใครเป็นสมาชิก "ใจถึงพึ่งได้มั้งไหม" กลุ่มวินดังกล่าวได้ส่งเสียงเฮพร้อมกับยกมือขึ้น นายวันจึงตะโกนตอบพร้อมชี้นิ้วว่า "งั้นไปอยู่บางบอนกันให้หมด" ภายหลังคณะ ส.ส.เพื่อไทย รับเรื่องร้องเรียน ชมรมเพื่อนแท้ชาววิน หลายคนได้เข้ามาเซลฟี่ ขอถ่ายรูปกับนายวันอย่างคึกคัก

ที่มา: เดลินิวส์, 23/7/2562

กต. ยืนยันข่าวแรงงานไทยเสียชีวิตเหตุรถตู้พลิกคว่ำที่เกาหลีใต้

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารแรงงาน ที่เดินทางเพื่อไปทำงานหว่านเมล็ดต้นหอม ที่ จ. คังวอนโด สาธารณรัฐเกาหลี เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำนั้น กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับรายงานจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ว่า มีแรงงานไทยเสียชีวิต 2 ราย โดย สอท. ได้ติดต่อกรมการกงสุลให้แจ้งญาติของผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 2 คนแล้ว รอญาติตัดสินใจเรื่องการดำเนินการศพ นอกจากนี้ มีผู้บาดเจ็บที่เป็นคนไทยอีก 4 ราย เป็น ชาย 2 รายและหญิง 2 ราย แต่ยังไม่มีการยืนยันตัวบุคคลจากฝ่ายตำรวจเกาหลีใต้

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/7/2562

นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เผยมาตรการช่วยเหลือคนข่าวหลังตกงาน โดนเตรียมประสานของพื้นที่ MBK ให้ขายของพร้อมจัดหลักสูตรวิชาชีพออนไลน์

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย (TBJA) กล่าวถึงกรณีการเลิกจ้างพนักงานโทรทัศพ์ 7 ช่อง โดยหารือกับกสทช.เพื่อขอให้จ่ายเงินชดเชยแก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างมากกว่าที่กฏหมายแรงงานชดเชย แต่กสทช.อ้างว่าไม่มีอำนาจไปบังคับนายทุนทำได้แค่ขอความร่วมมือให้ดูแลพนักงานตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น

ซึ่งสมาคมฯ ตระหนักว่าต้องมีมาตราการเร่งด่วนช่วยเหลือคนข่าวเร็วที่สุด จึงประสานขอพื้นที่ในห้างมาบุญครองเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนข่าวขายของสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว เหมือนปี 2540 และทางสมาคมฯ ประสานกับ กองทุน USO กสทช. เตรียมจัดคอร์สอบรมวิชาชีพ ออนไลน์ ให้กับคนข่าวที่ตกงาน ให้เป็นเจ้าของสื่อด้วยตัวเอง โดยจัดหลักสูตรเรียนรู้สื่อออนไลน์ เน้นการทำอินโฟกราฟฟิก หลักการตลาดในสื่อออนไลน์ มอบหมายให้ทางสำนักข่าวอิศราเป็นผู้ขียนหลักสูตร ระยะเวลา 3 เดือน

นายพีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าทางสมาคมฯ ยังได้เปิดศูนย์ประสานงานและติดตามอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน หรือ ศตส. มีหน้าที่ในการรับข้อมูลทั้งหมดและช่วยเหลือคนข่าวที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หากมีปัญหาเลิกจ้างไม่ถูกต้องทางกฏหมาย

ทางสมาคมฯ จะเป็นศูนย์กลางประสานไปที่สภาทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้ โดยนายกสมาคมฯ เป็นห่วงคนข่าวที่อยู่ในส่วนโปรดักชั่น และสตูดิโอมากที่สุด ส่วนคนข่าวด้านคอนเทนต์ยังมีโอกาสเปลี่ยนทิศทางไปในสื่อดิจิทัลได้

สำหรับสถานการณ์คนข่าวที่ถูกเลิกจ้าง ปัจจุบันพบว่า สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จำนวนเกือบ 200 คนส่วนใหญ่เป็นลูกหม้อช่อง 3 ระดับกองบรรณาธิการและนักข่าว ไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกาศข่าว เช่น กฤต เจนพานิชการ พิธีกรรายตู้ปณ.3, อรรินทร์ อมาตยกุล ผู้ประกาศข่าว, ศศิชา รัตนถาวร ผู้ประกาศข่าวราชสำนัก และนพขวัญ นาคนวล นักข่าวสายสังคม เจ้าของฉายาจุ๋มปอยเด้ง

ส่วนสถานีโทรทัศน์ไบร์ททีวี ช่อง 20 เลิกจ้างพนักงานในรูปแบบโครงการลาออก ชดเชยให้เพิ่มจากกฎหมายแรงงานเพียง 1 เดือนจำนวน 130 กว่าคน โดยออกไปแล้วจำนวน 2 ล๊อต เหลือล๊อตสุดท้าย 30 กรกฎาคมนี้ ตั้งแต่ระดับฝ่ายบริหารจนถึงระดับปฎิบัติการ ผู้ประกาศข่าว นักข่าวและสตูดิโอ อาทิ นุสรา สายเพ็ญ ผู้อำนวยการฝ่ายรายการ, รัชนีวรรณ ดวงแก้ว บรรณาธิการบริหาร , อรวรัญ นันทปัตตะ ผู้ประกาศข่าว รวมทั้งสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ และ Now 26 จำนวนอีก 100 กว่าคน และ MCOT ที่กำลังอยู่ในช่วงโครงการสมัครใจลาออกเช่นกัน

ที่มา: Springnews, 22/7/2562

ไทยพร้อมร่วมมือ ILO ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล

22 ก.ค. 2562 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายกาย ไรเดอร์ (Mr. Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทย สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับผู้อำนวยการใหญ่ ILO พร้อมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 100 ปี ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในปี 2562 ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ มีบทบาทสำคัญในด้านแรงงานและด้านสังคมของประชาคมโลก ผ่านการกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศและการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และส่งเสริมการเจรจาทางสังคม เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงาน และสร้างงานที่มีคุณค่า

ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความร่วมมือ และสนับสนุน ILO ตลอดมา โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือทางวิชาการต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมแรงงานของไทยให้มีพัฒนาการที่ดีมากยิ่งขึ้น พร้อมชื่นชมการดำเนินการของไทยที่สามารถยกระดับการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง และพัฒนาแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ. 2007 เป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิกทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่ามีระบบมีมาตรการที่ดีต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้า การส่งออก และการสร้างรายได้ ตลอดจนการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการใหญ่ ILO เห็นพ้องที่จะยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเป็นไปตามกรอบวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (2030 Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมุ่งสนับสนุนให้คนไทยมีงานทำอย่างทั่วถึง มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับแรงงานสตรี ผู้ด้อยโอกาส และแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับ ILO ในทุกมิติ

ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 22/7/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net