Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดยปกติอำนาจในการควบคุมตัวพลเรือนเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความาอาญาว่า การควบคุมตัวบุคคลนั้น ต้องไม่เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี 

รวมถึงในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปขออำนาจศาลฝากขังภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่ถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน

เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีการคุ้มครองไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ

แต่ทว่า ในประเทศไทยมี 'กฎหมายพิเศษ' ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลได้นานกว่าประมวลกฎหมายอาญา เช่น พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ที่ให้อำนาจหน้าที่ทหารกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน 

หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน ในสถานที่ทางการที่เปิดเผย การจะคุมตัวต่อ จะต้องไปขอศาล ครั้งหนึ่งไม่เกิดเจ็ดวัน และคุมตัวต่อเนื่องได้สูงสุด 30 วัน

จนกระทั้งมีการรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 และ 13/2558 โดยสาระสำคัญของคำสั่งทั้งสองฉบับ คือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า, ควบคุมตัว, ค้น ยึด อายัด, หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน เช่นเดียวกับกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

ปัญหาของการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวได้โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองโดยอำนาจศาล และมีการควบคุมตัวในระยะเวลาที่นานกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงตามมา เช่น 


(1) ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน

ข้อมูลจาก 'รายงานเงา' ที่จัดทำโดยภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม พบว่า มีการซ้อมทรมานบุคคลระหว่างการจับกุมและมีคนที่ถูกซ้อมทรมานในช่วงสามวันแรกของการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษไปจนถึงการซ้อมทรมานต่อเนื่องเป็นสัปดาห์

โดยรูปแบบของการซ้อมทรมานมีพัฒนาการอยู่ตลอดตั้งแต่การใช้กำลังชกต่อย เตะ ต่อยท้อง ตบหน้า และมีพัฒนาการมากขึ้นเป็นแบบ “การทรมานสะอาด” (Clean torture) หรือการทรมานที่ทิ้งร่องรอยน้อย เช่น "วอเตอร์บอร์ดดิ้ง" หรือการทรมานด้วยการทำให้หายใจไม่ออกในลักษณะเหมือนจมน้ำ

หลังรัฐประหารมีกรณีที่พลเรือนให้ข้อมูลว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว เช่น ชัชวาล ปราบบำรุง ที่ระบุว่า เขาถูกถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว และเขากล่าวว่า ถูกนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก และอีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด


(2) ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว

หลังการรัฐประหารมีการการจับกุมและควบคุมตัว “หมอหยอง” หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ และ “สารวัตรเอี๊ยด” หรือ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และ “อาท” จิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขาฯคนสนิทหมอหยอง เป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดย ควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (เรือนจำพิเศษภายในมทบ.11) 

ต่อมาไม่นานนักก็มีข่าวและคำชี้แจงจากราชทัณฑ์ว่า พ.ต.ต.ปรากรม พยายามผูกคอตายในห้องขัง เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือแล้วแต่สุดท้ายไปเสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยที่ไม่มีการชันสูตรศพและทำพิธีศพเพราะญาติไม่ติดใจ 

จากนั้นไม่นาน สุริยัน ก็กลายเป็นคนถัดไปที่ต้องเสียชีวิตในเรือนจำในค่ายทหาร หลังสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ชันสูตรศพแล้วลงความเห็นว่า สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากติดเชื้อในกระแสโลหิต

*หมายเหตุ: “สารวัตรเอี๊ยด” หรือ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และ “หมอหยอง” หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ เสียชีวิตหลังเจ้าหน้าที่ขออำนาจศาลฝากขังต่อ โดยพวกเขาไม่ได้ประกันตัวและอยู่ในเรือนจำพิเศษ มทบ.11 


(3) ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหาย 

หลังการรัฐประหารมีการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหารโดยไม่มีการขอหมายจับ และไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวที่แน่ชัดให้สาธารณะรับทราบ ผลที่ตามมาคือ ทำให้มีบุคคลหายตัวไปเป็นเวลา 28 วัน ยกตัวอย่าง กริชสุดา คุณาแสน ที่ถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 แต่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 

ทั้งนี้ กฎอัยการศึกที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้อำนาจควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน และแม้ว่าทางการจะเปิดเผยและยอมรับในภายหลังว่าเธออยู่ในการควบคุมตัวของรัฐและตัวเธอยินยอม แต่จากการให้สัมภาษณ์ภายหลัง เธอก็บอกว่าเธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกาย โดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวให้ขาดอากาศหายใจ 


อ่านเพิ่มเติมได้ที่:  https://www.ilaw.or.th/node/4085

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net