Skip to main content
sharethis

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ 7 ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมยืนยันว่ามาตการเหล่านี้ วางอยู่บนพื้นฐานที่ถูกกฎหมาย เช่น 1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 2. ยกเลิก ม.112 ฯลฯ

29 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 ก.ค.62) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศนั้น โพสต์ 7 ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมยืนยันว่ามาตการเหล่านี้ วางอยู่บนพื้นฐานที่ถูกกฎหมาย

สำหรับ 7 ข้อที่สมศักดิ์เสนอนั้นประกอบด้วย 1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพิ่มเติมมาตราในลักษณะเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาฯพิจารณาความผิดของกษัตริย์) 2. ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน (ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง) 4. ยกเลิก ส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่ขาดความจำเป็นให้ยกเลิก (องคมนตรี), หน่วยงานที่มีหน้าที่ (หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์, ฯลฯ) ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น

5. ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด 6. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความเห็นการทางการเมือง และ 7. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันฯทั้งหมด

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 6 ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน สมศักดิ์ เคยเผยแพร่ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิริูปฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเดียวกัน แต่เปลี่ยนจาก มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญปี 50 รวมทั้ง เสนอยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491 และยกเลิก พระราชอำนาจ ในเรื่อง โครงการหลวง ทั้งหมด เป็นต้น

ในครั้งนั้น ผู้จัดการออนไลน์ โดย คำนูณ สิทธิสมาน รายงานด้วยว่า สมศักดิ์ ระบุไว้ตอนต้นว่าถ้าปฏิบัติตาม 8 ข้อนี้ ผลลัพธ์ไม่ใช่การล้มสถาบันกษัตริย์ แต่ทำให้สถาบันมีลักษณะเป็นสถาบันสมัยใหม่ ในลักษณะไม่ต่างจากยุโรป เช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประชาไทได้นำเสนอข่าวว่า โพสต์ของ สมศักดิ์ เมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับบันทึก 'สัญญา ธรรมศักดิ์' ไม่สามารถเข้าถึงได้ในประเทศไทยแล้ว ขณะที่ต่างประเทศ อย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสวีเดน ยังสามารถเห็นได้นั้น จากการตรวจสอบสมศักดิ์ไม่ได้รับจดหมายชี้แจงเหมือนครั้งที่โดนบล็อกการเข้าถึงในลักษณะเดียวกันเมื่อ 4 พ.ค. 2560 ที่มีจดหมายแจ้งมาจากเฟสบุ๊คว่า ขอให้จำกัดการเข้าถึงกระทู้ของตนกระทู้หนึ่ง จดหมายระบุว่า  กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ส่งหมายศาลซึ่งออกโดยผู้พิพากษาทัศนีย์ ลีลาภร และผู้พิพากษาสมยศ กอไพศาล ศาลอาญาแห่งประเทศไทย ระบุว่าโพสต์บนเฟสบุ๊คต่อไปนี้ของคุณ ละเมิดมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (2007) พร้อมระบุว่า เมื่อบรรดารัฐบาลเชื่อว่า บางอย่างบนอินเทอร์เน็ตละเมิดกฎหมายของประเทศของเขา พวกเขาอาจจะติดต่อกับบริษัทเช่น เฟสบุ๊ค และขอให้เราจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้น เราได้พิจารณาทบทวนคำขอของรัฐบาลเหล่านั้น ตามระเบียบของเราและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net