Skip to main content
sharethis

ในสังคมออนไลน์ เราแทบไม่เคยจะได้เห็นหน้าคนที่เราด่าทอเขา เรามองเขาเป็นเพียงแอคเคาท์ที่ไม่มีหน้าตาแต่ไม่ได้มองว่าเขาก็มีชีวิตในมิติอื่น ๆ แม้ว่าเราจะเกลียดที่เขาเห็นต่าง แต่เรายังมีบางสิ่งร่วมกันที่คอยดึงความเป็นมนุษย์ของเราไว้ไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง สังคมควรพูดคุยกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อหาทางออก รวมถึงรัฐและทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างปัจจัยที่ช่วยเพิ่มขันติธรรม

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัด เวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 21 เรื่อง “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย” โดยมี ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV  และรศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว ร่วมอภิปราย

“เราต้องเห็นอกเห็นใจ ลดความหยาบคายลงบ้าง แค่นั้นเอง มันถึงจะอยู่กันได้ ไม่ว่าในนามขออะไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านน่าอยู่และอยู่ได้” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าว

มองคนอื่นด้วยภราดรภาพ

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเติบโตของกลุ่มเกลียดชังไม่ใช่แค่ประเทศไทย แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาก็เกิดขึ้นและเติบโตขึ้นด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเกลียดคนเอเชีย เกลียดคนมุสลิม เกลียดผู้หญิง หลายกลุ่มเป็นคนติดอาวุธ ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่ง เรากำลังเผชิญสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ที่มันไม่ใช่เรื่อง คนจำนวนหนึ่งคิดว่าผมเข้าข้างสิรวิชญ์(จ่านิว)เสรีธิวัฒน์ ซึ่งมันมีอะไรมากกว่านั้น เช่น คนกลุ่มหนึ่งก็จะมองจ่านิวเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว หรืออีกกลุ่มจะมองจ่านิวว่าเป็นฮีโร่ที่เป็นคนยอมเสียสละ อีกฝ่ายหนึ่งก็มองอีกอย่าง มองว่าพวกนี้รับเงิน ถามว่าผมเห็นอะไร ผมชื่อชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งผมสอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจ่านิวเป็นนักศึกษาของคณะรัฐศาสตร์และเป็นนักศึกษาในชั้นเรียนของผมด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมเห็นเขา ผมไม่ได้เห็นเขาเป็นนักกิจกรรม ผมเห็นเป็นหนูคนหนึ่งที่น่ารักซึ่งนั่งอยู่ในห้องเรียนแล้วก็นั่งยิ้มๆ และมีคำถามที่น่าสนใจ แต่ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในชั้นเรียน เขาสุภาพ อ่อนโยน แต่เวลาเขาอ่อนโยนที่สุดส่วนหนึ่งคือเวลาเขาพูดถึงแม่เขา นี่ก็คือจ่านิวที่ผมเห็น เพราะฉะนั้นข้อตินั้นก็ถูก แต่ผมไม่ควรพูดถึงเขาอย่างเดียว เพราะมันมีคนอีกจำนวนมากที่โดน เมื่อเราเห็นคนถูกทำร้ายขนาดนี้การเมืองในที่แจ้ง ในที่สาธารณะเช่นนี้ เราเห็นอะไร สิ่งที่ผมเห็นคือ เห็นความป่าเถื่อน มันไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแต่กับจ่านิว มันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ บ้านเมืองของเราเดินมาถึงจุดนี้คือความป่าเถื่อน

คำถามต่อไปคือว่า เราอยู่กับมันหรือเปล่า ถ้าเราอยากอยู่กับมันเราก็ต้องหาคำอธิบายว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างไร แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ถูก ผมคิดว่าโลกในตอนนี้มันทอนทุกอย่างจนเห็นภาพอะไรก็ไม่รู้ซึ่งไม่มีความจริงเหลืออยู่เลย เช่น อาจารย์พรรษาสิริ กุหลาบ บอกว่าผมเป็นนักสันติวิธี ซึ่งคนก็ติดว่าผมเป็นอย่างนั้น แต่จริงๆผมทำหลายเรื่อง ผมเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ ผมก็สอนปรัชญาการเมือง ผมสอนวิชาการไม่ใช้ความรุนแรงในทางการเมือง แต่ผมก็ไม่เคยเรียกตัวผมว่าเป็นนักสันติวิธี มีแต่คนอื่นเรียก ผมเป็นอย่างอื่นด้วย ผมเป็นมุสลิม เป็นนักเรียนคาทอลิค เรื่องทั้งหมดนี้เวลาคนเราเห็นยังไง ถ้าเราเห็นความจริงก็แปลว่าเราเห็นคนต่อหน้าเราเป็นองค์ประกอบของความซับซ้อนหลายอย่าง อาจารย์ฉันทนาเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อาจารย์ฉันทนาก็เป็นผู้หญิงด้วย เป็นนักวิชาการด้วย ทำไมถึงเห็นแกเป็นอย่างเดียว เราอยู่ในโลกที่ซึ่งทำลายของพวกนี้หมดทำให้เหลือมิติเดียว ปัญหาของมันคือมันไม่จริง ถามว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร มันเกิดขึ้นทุกครั้งเวลาเราจะทำสงคราม เวลาเราทำสงครามกับคนเราไม่เห็นอย่างอื่นเลยต้องลดทอนสภาพของความจริงเหล่านั้นให้เห็นมิติเดียว เห็นคนอื่นเป็นคนยิว เป็นมุสลิม มันอยู่ในบริบทความขัดแย้งในสังคมไทยซึ่งความขัดแย้งของไทยมาถึงจุดที่ยืดเยื้อ ความขัดแย้งยืดเยื้อมีลักษณะที่มีอำนาจที่เหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน ทำรังแกกันง่าย ประเด็นที่เถียงกันมันไม่ใช่แค่ประเด็นเดียวแต่มองเป็นหลายประเด็น

สรุปแล้วความขัดแย้งยืดเยื้อ ผลของมันคือทำให้เราออกไม่ได้ มันเหมือนความสัมพันธ์สามี-ภรรยา เช่น ภรรยาถูกทำร้ายโดยสามีตลอด คนก็บอกทำไมไม่ไปแจ้งตำรวจ แต่ความสัมพันธ์มันมีมากกว่านั้นทำให้ภรรยาติดอยู่อย่างนั้น ออกจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ซึ่งสังคมไทยก็เป็นเช่นนั้น ผลคือเต็มไปด้วยความทุกข์ พอมีความทุกข์ก็ต้องระบายก็คือการด่า แสดงความหยาบคาย แสดงความป่าเถื่อน แล้วทำไมถึงปรากฏชัดในโลกเวลาเราเจอกันซึ่งหน้าเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะว่าพอเราเห็นหน้าเรามองเข้าไปถึงในดวงตามันเป็นความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นมนุษย์จะเด่นชัดในสิ่งเหล่านี้  พอมันเป็นออนไลน์ทำให้ไม่มีส่วนนั้นอยู่ มันไม่จำเป็นต้องมีเลยทำให้มีทัศนะอย่างอื่นเกิดขึ้น ความหยาบคายทุกชนิดก็แสดงได้ มันทำได้ง่ายมากออนไลน์ พอตัวตนอยู่ในออนไลน์ก็จะมีอีกลักษณะหนึ่ง  และโลกมันเปลี่ยนไปในลักษณะนี้ Speed ในโลกออนไลน์ หลายคนชื่นชม กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแต่คนที่เป็นนักทฤษฎีในเรื่อง Speed สำหรับเขา Speed เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งที่คนจะต้องก้มลงกราบและนั่นคือที่มาของลัทธิฟาสซิสต์ในยุโรป สิ่งที่เราเห็นคือปรากฏการณ์ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นเมื่อ Speed มากขึ้น

คำถามต่อไปคือทำอย่างไรดี ผมได้เข้าร่วมเสวนาและมีการพูดถึงเรื่องการคุ้มครองพลเรือนโดยการไม่  ใช้อาวุธและความรุนแรง (civilian protection) ในอดีตเกิดขึ้นหลายพื้นที่ เช่น ศรีลังกา มีการลงพื้นที่ไปอยู่หรือคุ้มครองคนนั้นๆ ด้วย ในเคสเรามีตำรวจเข้าไปคุ้มครองแต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าเรามี civilian protection จะเกิดอะไรขึ้น หน่วยไหนที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ เราควรมอง Activism เป็นลูกหลานของพวกเรา ซึ่งเขาถูกทำร้าย   เราไม่ต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้ในบ้านเมืองของเรา เมื่อไม่ต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้ก็ควรทำอะไรบางอย่าง ซึ่งสภาก็มีหน้าที่ตรวจสอบคนกระทำความผิดซึ่งเป็นหน้าที่อยู่แล้ว แต่คำถามคือจะปกป้องสังคมอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในอนาคตกับใครก็ได้ที่เดินอยู่บนถนนที่เขามีความเชื่ออะไรบางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกันกับเขาก็ได้ แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปทำร้ายเขา

ในสิงคโปร์มีการออกกฎหมายควบคุม Fake news ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ ความรู้สึกของมนุษย์มีหลายอย่าง ความรัก ความกลัว ไม่เห็นด้วย แต่ความเกลียดมีคุณสมบัติพิเศษซึ่งสามารถส่งต่อผ่านกันได้ อาการของสังคมนี้มันน่าสนใจคือสามารถแพร่ออกไปในลักษณะเหมือนโรคหรือมากกว่านั้น ความเกลียดชังของผมเปรียบเหมือนยาพิษเพราะมันทำให้สายสัมพันธ์ที่เรามีในสังคมกร่อนเข้าไปทุกที สังคมมันเป็นนามธรรม คือมันเป็นบ้านเรา ถ้าเรารู้สึกว่ามันเป็นยาพิษเราควรจะทำอย่างไร

โทษประหาร

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ความกลัวกับความเกลียดนั้นต่างกัน เราอาจจะกลัวผี กลัวสิ่งที่เราไม่รู้ แต่มันต่างจากการที่เราเกลียดแมลงสาบ ความเกลียดมันวางสิ่งที่ถูกผิดออกไปจากเรา ซึ่งนำมากับเรื่องสิทธิ์ เพราะมันทำให้เรามองคนอื่นอย่างไม่เป็นมนุษย์ ในรวันดา สื่อมักจะผลิตภาพเผ่า Tutsi แบบลดความเป็นมนุษย์ เวลาพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมกับเรื่องความยุติธรรม มันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ยกตัวอย่าง การที่ แอมเนสตี้ฯ ออกมาแถลงการณ์คัดค้านโทษประหาร คนที่คัดค้านการรณรงค์ของแอมเนสตี้ฯ ก็เพราะหลักของเขาวางอยู่บนฐานความยุติธรรมแบบ ตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งมาจากวิชาบัญชี ที่เชื่อว่าของที่เอาออกมา ต้องคืนกลับไปเท่ากัน ในโลกปัจจุบัน ความยุติธรรมมันไม่ได้นิยามแบบนั้น (แบบวิชาบัญชี) เราจะอธิบายผลของ อาชญากรที่ฆาตกรรมคนไป 70 กว่าคน แล้วติดคุก 20 ปี ด้วยแนวคิดแบบบัญชีไม่ได้ เพราะความคิดเรื่องการลงโทษของเราเชื่อว่ามนุษย์มันเปลี่ยนได้ พัฒนาได้ การใช้โทษประหารจึงแปลว่า เราหมดหวังในตัวเขาแล้ว ใครเป็นคนทราบว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (เปรียบว่า) พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นคนทราบ และรู้ทุกอย่าง เราเป็นเพียงแค่คนธรรมดา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาหมดสิทธิ์แล้ว เรามีสิทธิ์อะไรไปตัดสินชีวิตเขา เราเป็นพระเจ้าหรืออย่างไร ที่จะทราบว่าอนาคตของคน ๆ นี้มันเลวไปทั้งหมดแล้ว

มารยาทในฐานะมนุษย์

ศาตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า ทุกอย่าง ทั้งกลไก กระบวนการ การปฏิบัติล้วนมีปัญหา สิ่งที่เราต้องมุ่งแก้ไขนั้น ไม่ได้ไปเรียกร้องที่รัฐ แต่ต้องไปที่รัฐสภา เป็นไปได้ไหมที่จะมีความคิดที่ว่า “สิ่งนี้ (สิ่งต่างๆ )” มันไม่ถูกในสังคมไทย สังคมไทยทนกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ไม่ว่ายืนอยู่ข้างไหนก็ตาม เวลาเรามองเรื่องการกล่าวถึง (อย่างยินดีกับการเสียชีวิต)คุณเปรม มันเป็นเรื่องสิทธิ เพราะคนก็มีสิทธิ์ที่จะพูด แล้วเรามีข้อจำกัดในการพูดถึงเรื่องสิทธิ์ไหม เพราะมันไม่พอ การจัดการความสัมพันธ์ของมนุษย์มันซับซ้อนกว่านั้น เอาแค่เรื่องสิทธิ์มาอธิบายไม่ได้หรอก Albert Camus เขียนหนังสือชื่อ กาฬวิบัติ เป็นหนังสือต่อต้านฟาสซิสม์ ช่วงนั้นมีโรคระบาด พาหะของมันคือหนู นำมาซึ่งกาฬโรค เขาว่าเมืองที่ว่า มันเสื่อมไปหมดแล้วตั้งแต่ราก แล้วเราจะอยู่ยังไง การ์มูส์ ตอบว่า สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้คือ ‘act of decency’ หรือการทำต่อกันอย่างที่มี ‘มารยาทในฐานะที่เป็นมนุษย์’ เราไม่เห็นด้วยกับใคร เราสามารถใช้ความรุนแรงได้ แต่ควรทำหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันมีบางอย่างที่เชื่อมร้อยเราไว้ในตัวมนุษย์ และสิ่งนี้กำลังหายไป หากเราลดทอนทุกอย่างให้พูดในภาษาของสิทธิ์อย่างเดียว การเคลมสิทธิ์ทุกอย่างยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงได้ คนเราถึงเวลาตาย เราให้เกียรติคนตายบ้าง ทุกคนที่มีชีวิตและเคยมีชีวิต ไม่มีใครไม่เคยทำบาป ทำผิด เขาอาจตายในฐานะบุคคลสาธารณะ เราวิจารณ์เขาได้ ด่าเขาได้ แต่ควรจะทำหรือไม่ ในศาสนาอิสลามมีการยืนให้เกียรติศพคนต่างศาสนา มารยาทในฐานะมนุษย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของภูมิคุ้มกันของสังคม เราเห็นคนอื่น เราเห็นคนต่างเป็นอย่างไร เราเองมีสิทธิ์จะกล่าวร้ายเขาขนาดไหน หากเราไม่อยากเห็นการควบคุมจากรัฐ แล้วเราควรจะสื่อสารกับคนที่เราไม่เห็นด้วยแบบไหน ยกตัวอย่าง คนที่ดูแลด่านผ่านทางบริเวณชายแดน เขาเห็นผู้อพยพ สิ่งที่เขาเหลืออยู่คือมารยาทในฐานะมนุษย์ เขารักษากฎหมาย จริง ๆ เขาจะจับคนจับยังไงก็ได้ถูกไหม แต่เขาเลือกได้ว่าจะจับอย่างไร ที่สำคัญสังคมไทยต้องไม่โทษเหยื่อ คนที่ถูกกระทำ เขาเป็นเหยื่อ เราต้องเห็นอกเห็นใจ ลดความหยาบคายลงบ้าง แค่นั้นเอง มันถึงจะอยู่กันได้ ไม่ว่าในนามของอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านน่าอยู่และ ‘อยู่ได้’ 

ความรุนแรงในอดีต

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวช่วงเปิดงานว่า โจทย์สำคัญที่ชวนให้วิทยากรทั้ง 4 ท่านรวมถึงผู้เข้าร่วมงานเสวนาให้ช่วยกันคิด วิเคราะห์ หาคำตอบ ประเด็นแรกคือ ปมที่เป็นต้นแบบของคนรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของคำขัดแย้งที่นับวันมันยิ่งจะร้าวลึก ยืดเยื้อและแยกขั้ว มันต้องอาศัยการมองเหตุการณ์ในอดีตเพื่อจะมองให้เห็นว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร ซึ่งถ้ามองถึงอดีตในทีนี้ อดีตของแต่ละท่านก็ต่างกัน  บางท่านอาจจะมองอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี การเตรียมการเลือกตั้งเพื่อโยงไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาคือการทำร้ายจ่านิว หรือ สิรวิชญ์  ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องมาคุยกันในวันนี้ หรือท่านอาจจะมองไปไกลถึง 5-6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่อยไปจนถึงการชุมนุมทางการเมืองในต้นปีนั้น ซึ่งเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้น บางท่านอาจมองไปไกลกว่านั้นถึงการปราบปรามและการชุมนุมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นพฤษภา ปี 53 หรือว่าตุลาคมปี 51 ก็ตาม เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาจะมีความรุนแรงและการเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นดีกรีที่เข้มข้นหรือเบาๆ ก็ตาม บางท่านอาจมองว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาอาจไม่ใช่ต้นเหตุของเหตุการณ์ในปัจจุบัน แต่จะเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงและความเกลียดชังมีอยู่ตลอดในสังคมไทย โจทย์ที่สองคือมองว่าเราจะเดินไปอย่างไร เพราะเรื่องที่ควรเป็นเรื่องที่คุยได้ แต่ก็ไม่สามารถคุยกันได้ เกิดการอยู่ด้วยกันอย่างอึดอัดเพราะมองคนเห็นต่างเป็นศัตรู โดยให้วิทยากรทั้ง 4 ท่านรวมถึงนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและสันติวิธี มาลองคุยกันเรื่องการคลี่คลาย แบ่งขั้วเลือกข้างได้อย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทุเลาความเกลียดชังที่เกิดขึ้น

“เราเปิดรับการถกเถียงเพื่อหารือกัน หาทางออกร่วมกัน ในสถานการณ์ต่าง ๆ นี่ยังไม่ใช่จุดที่แย่ที่สุด ที่ผ่านมามนุษยชาติผ่านความรุนแรงอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือสงครามโลกมาแล้ว เมื่อเจ็ดสิบปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อันเป็นสัญลักษณ์ว่าคนในโลกไม่ต้องความรุนแรงอีกแล้ว” ปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ฯ กล่าว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า เราเข้าใจว่าทำไมถึงมีเสวนาครั้งนี้เกิดขึ้น มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงนี้อาจรวมถึงเหตุการณ์จ่านิวด้วย โดยฐานะที่เป็นองค์กรแอมเนสตี้ฯ ที่มีคนเกลียดอันดับต้นๆ ของประเทศ เราขอแบ่งปันประเด็นที่ทำให้รู้ว่าเราเป็นอย่างไรและสิ่งที่เราจะทำมันเป็นอย่างไร แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่เราจะเห็น คือ คนจะมองว่าองค์กรแอมเนสตี้ฯ เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่จริงๆ เรามองตัวเราเป็นคนธรรมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเราอยากเห็นโลกที่มีการเคารพสิทธิ์กัน เรามองตัวเองเป็นกระบวนการที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ถูกคนถามว่าองค์กรแอมเนสตี้ฯ เป็นใครถึงออกมาพูดเรื่องคนนู้นคนนี้ ทำไม่ถูก ซึ่งตัวเราเป็นคนธรรมดาเหมือนทุกคนแต่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน อยากจะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เราทำกระบวนการผลักดันด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดระบบปกป้องคุ้มครองสิทธิ์โดยร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ซึ่งเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ระดับ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะถูกมองว่า เราเป็นพวกประท้วง แม้เราจะพยายามทำการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรื่องที่องค์กรเราทำ

ไม่โต้ตอบความเกลียดชังแต่เผชิญหน้ากับความต่าง

ผอ.แอมเนสตี้ฯ กล่าวถึงกรณีตัวอย่างที่แอมเนสตี้ฯ โดนเกลียดชัง คือ การต่อต้านโทษประหาร ทำให้ถูก Hate speech การโจมตี การข่มขู่ ซึ่งตอนนั้นใครมาพูดเข้าข้างแอมเนสตี้ฯ  ก็จะโดนด้วยกันหมด เราก็เลยมาตั้งข้อสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมกำลังโกรธ หวาดกลัวและต้องการสังคมที่ปลอดภัย แต่สิ่งที่เราทำเหมือนไปช่วยโจรหรือเปล่า โลกสวย แต่เราพยายามอธิบายให้สังคมเข้าใจแต่ไม่มีใครรับฟังในตอนนั้น ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้นทำอะไรก็ผิด หายใจก็ผิด มีการสร้างเพจต่างๆ เพื่อมาล้อเลียน ซึ่งนำมาสู่ความวิตกกังวลในเรื่องความรุนแรงคือความเข้าใจผิดและการชี้นำไปยังความรุนแรง เราเลยตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เรานำเสนอประเด็นต่างๆ แน่นอนว่ามีคนเห็นต่าง ซึ่งเราเห็นด้วยว่าการเห็นต่างก็ดีแต่ควรมีการถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างถูกต้อง แต่ในปัจจุบันการมีความเห็นต่างจะโดนด่าทอ สาดโคลน และชักชวนให้ทำอะไรบางอย่างบนโลกออนไลน์ และยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงลุกขึ้นมาพูดจะโดนหนัก ไม่ว่าจะเรื่องความรุนแรงและเรื่องทางเพศด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องประหารแต่เรื่องผู้ลี้ภัยองค์กรเราก็โดนด้วย ไม่ใช่โดนแค่ในโลกออนไลน์ ในทางสื่อก็โดนด้วย แต่เราเลือกที่จะไม่โต้ตอบ เราเลือกที่จะพยายามศึกษาวิธีการสื่อสาร ปรับวิธีการสื่อสาร ซึ่งสิ่งที่เราทำจริงๆคือ เราต้องการเป็นแรงบันดาลใจให้คนเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เรื่องของสิทธิมนุษยชน ใครจะเกลียดเรา เราก็ไม่ห้าม ทุกคนเห็นต่างได้ แต่ยังไงขอให้มองเราเป็นมนุษย์ สามารถมาดีเบตกันได้

ความรุนแรงตั้งแต่ต้นปี 61 มีถึง 15 ครั้ง เอกชัย หงส์กังวาน โดนถึง 9 ครั้งทั้งเผารถและรวมถึงการทำร้ายร่างกาย ซึ่งมาพูดถึงเรื่องจ่านิวที่เคสล่าสุด เขาไม่ได้โดนทำร้ายแค่กายภาพและเขาโดนในทางออนไลน์อีก นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็โดนไปด้วย เรื่องของอคติ ความไม่ไว้วางใจ ข่าวลวงก็จะเกิดขึ้น จะสังเกตได้ว่าเขาโดนทำร้ายไม่ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งแต่เขาก็ยังยืดหยัดลุกขึ้นเพื่อจะพูดแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เขาเชื่อ แม้ว่าตอนนี้พื้นที่การแสดงออกหรือเสรีภาพการแสดงออกมันน้อยลงๆทุกที ช่วงนี้เราจะเห็นกระแสคนรุ่นใหม่ ‘โตแล้ว เลือกเองได้’ จริงๆแล้วเรามองว่าความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติและตั้งแต่รัฐประหารมา มันเกิดการเห็นต่างค่อนข้างมาก แม้กระทั่งโต๊ะกินข้าวที่บ้าน ยังมีความเห็นต่างกันจนไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้เลย

สิ่งที่อยากเห็นในฐานะองค์กรสิทธิ์ก็คือ เสรีภาพการแสดงออกเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเห็นต่าง ถ้ามองเห็นถึงสิทธิ์และเสรีภาพจะทำให้เรามองกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เริ่มรับฟังกัน สิ่งที่แอมเนสตี้ฯ พยายามทำก็คือว่า เราไม่รู้ต่อไปว่าจะมีความหวังแค่ไหน เทียนมันก็มีแค่แสงริบหรี่ อย่างน้อยก็ทำให้คนเห็นคุณค่ามนุษย์ ก็หวังว่ามันจะเป็นแสงริบหรี่ที่จะนำไปสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ผอ.แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า แอมเนสตี้ฯ เห็นว่าความเกลียดชังที่สะสมกันมามากขนาดนี้ สามารถสร้างความรุนแรงได้ยิ่งกว่าไม้ตีเบสบอลเสียอีก องค์กรเองมักจะโดนกำแพงอคติ ความคลางแคลงใจ โดนเสมอจากทุกฝ่าย และทุกรัฐบาล องค์กรไม่ได้อยู่ข้างการเมืองใด แต่อยู่ข้างมนุษยธรรม และ สิทธิมนุษยชน แม้ที่ผ่านมาจะถูกเกลียดทุกยุคทุกสมัย แต่ในยุคปัจจุบันจะอินเทรนขึ้นจาก Social Media บางทีโดนคนเข้ามาด่า แต่ก็ดีที่มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น บางทีก็มีเรื่องที่ฝั่งอื่นเห็นด้วยแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเห็นต่างกันในอีกเรื่องหนึ่ง เขาก็จะมากดไลค์หรือแสดงความคิดเห็น ในยุคที่ยังไม่มี Social Media หรือ Social Media ยังไม่ค่อยเป็นเทรน สิ่งที่ต้องการสื่อสารมักจะไม่ได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญ แถลงการณ์อะไรไปมักจะถูกเบี่ยงเบนประเด็นที่ต้องการนำเสนอ และถูกกล่าวหาว่าช่วยโจร โจทย์การทำงานของแอมเนสตี้ฯ คือการเป็นนักปกป้องสิทธิ์ ที่ใครก็เป็นได้ การเรียกร้อง เป็นปากเป็นเสียง นำมาซึ่งประโยชน์ของคนในสังคม ซึ่งคนที่โดนโจมตีคุกคาม คนเล็กคนน้อย ถูกคดีมักจะถูกเพิกเฉย หรือถูกคุกคาม กระแสโดนกลบ เพราะเขาเห็นต่าง ในไต้หวัน ออสเตรเลีย มีเคลื่อนไหวการแต่งงานเพศเดียวกัน และมีการถกเถียง หรือ ไอร์แลนด์ มีการถกเถียงเรื่องการทำแท้ง หน้าทางเข้างาน มักจะมีกลุ่มศาสนามาตั้งป้ายประท้วงเพราะไม่เห็นด้วย แต่องค์กรไม่ได้ไปด่าทอ แต่เราเปิดรับการถกเถียงเพื่อหารือกัน หาทางออกร่วมกัน ในสถานการณ์ต่าง ๆ นี่ยังไม่ใช่จุดที่แย่ที่สุด ที่ผ่านมามนุษยชาติผ่านความรุนแรงอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือสงครามโลกมาแล้ว เมื่อเจ็ดสิบปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อันเป็นสัญลักษณ์ว่าคนในโลกไม่ต้องการความรุนแรงอีกแล้ว การปกป้องสิทธิ์เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ ไม่ใช่แค่สื่อ หรือ รัฐ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน แอมเนสตี้ฯ เป็นองค์กรสิทธิ์ การทำงานจึงอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เรื่องของสิทธิ์เป็นสิ่งสากล การจะอ้างว่าสิทธิ์แบบไทยๆ มันไม่เหมือนสิทธิ์แบบตะวันตกจึงทำไม่ได้ คนต้องมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องในสิทธิ์ของตนเองได้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบ กฎหมายก็ต้องออกมาเพื่อคุ้มครองคนในสังคม ในความเห็นต่าง แม้จะไม่เห็นด้วยต่อกันก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ ในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามเกิดเสียชีวิตขึ้น ก็ยังสามารถวิจารณ์ในการกระทำของเขาในอดีตได้ แต่เป็นการกล่าวถึงผู้ตายในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่ควรละเมิดตรงนั้น

“ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนรู้สึกได้ แม้ว่าทุกคนมีความหลากหลายทางการเมือง” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ กล่าว

เมื่อสื่อแสดงความรับผิดชอบช่วยลดความเสียหายต่อภาพลักษณ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพาและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV กล่าวว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในทางการเมือง เรามีทางเลือก 2 ทาง ฆ่าความจริงกับพูดความจริง ในทั่วโลกถ้าเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง สังคมหรือเศรษฐกิจก็ตามจะทำให้ทั้ง 2 อย่างนั้นคือฆ่าความจริงหรือจะพูดความจริง ยกตัวอย่างคือ มีเครื่องบินตกที่เยอรมันโดยกัปตันประมาทเลินเล่อ ซีอีโอของสายการบินนั้นออกมารับผิดชอบก่อนที่สื่อจะกระพือข่าว ช่วยลดทอนความเสียหายต่อองค์กรนั้นแต่ที่สำคัญคือสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรนั้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นให้ยอมรับความจริง และอีกเหตุการณ์คือมีอุบัติเหตุทางเรือครั้งใหญ่ในประเทศไทย ซีอีโอออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่หลังจากนั้น 7 วันก็ต้องออกมายอมรับความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสาเหตุมาจากบริษัทนั้น ทำให้ความน่าเชื่อถือน้อยลงแม้จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ตาม ในโลกของสื่อ สื่อมีหน้าที่ค้นหาความจริง หรือทำให้ความจริงเปลี่ยนแปลงไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันมาจากสิ่งเหล่านี้

วัฒนธรรมที่ขัดขวางการเรียนรู้

วันชัย กล่าวต่อว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดวิกฤติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมันก็จะมีสื่อที่ฆ่าความจริงและสื่อที่เสนอความจริงโดยพยายามจะสร้างเรื่องขึ้น เพราะคนไทยชอบดราม่า คนไทยชอบเรื่องเล่า อีกด้านหนึ่งคือคนไทยถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆให้เชื่อฟัง เชื่อกับฟังคนละความหมาย สังคมไทยถูกสอนมาตลอดให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ตั้งคำถาม แต่เป็นที่น่าสลดใจก็คือทุกวันนี้ไม่ได้ฟังก็เชื่อแล้ว และเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางสังคม การเมือง คนไทยก็จะพยายามสร้างเรื่องราวต่างๆ เพื่อมายืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าถูกแล้วแทนที่จะไปหาว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ใหญ่หรือผู้มีชื่อเสียงบางคนพยายามสร้างสตอรี่เพื่อยืนยันความเชื่อและส่งต่อ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่สื่อคาบข่าวแบบนี้ไปใช้ต่อ ในวงการสื่อมวลชนมีคำว่า ‘Goal keeper’ สิ่งที่เราฟังมามันน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นข่าวได้หรือเปล่า ถามว่าวิชาชีพของสื่ออยู่ตรงไหน สื่อมวลชนมีหน้าที่ 3 อย่าง 1.รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2.วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่มีอำนาจและปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า 3.การให้ข้อมูลทั่วไป หน้าที่ 3 อย่างนี้คือหน้าที่ของสื่อสมัยก่อนแต่สมัยนี้มันไม่ใช่แบบนี้แล้ว ข่าวทุกข่าวที่เกิดขึ้นต้องผ่านการชี้นำของคนในสำนักข่าว เวลาพูดถึงสื่อมันมีองค์ประกอบเยอะ เรามีสื่อมืออาชีพเยอะ เรามีสื่อที่มีจรรยาบรรณเยอะ สุดท้ายความน่าเชื่อถือของสื่อก็คือความเชื่อถือของสื่อเอง ทุกวันนี้เรามีสื่อเลือกข้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสื่อเลือกข้างเกิดขึ้นทั่วประเทศ ในอเมริกาสื่อบอกชัดเจนว่าเลือกพรรคอะไร แต่ในเนื้อข่าวเขาแฟร์พอที่จะนำเสนอความจริงออกไป    หัวใจของสื่อคือความน่าเชื่อถือ ยิ่งสื่อมีความน่าเชื่อถือมากเท่าไร บรรดาสื่อปลอมจะหายตัวไป ผมเชื่อว่าคนที่ต้องการให้บ้านเมืองอยู่อย่างสงบ ให้บ้านเมืองอยู่ได้ ผมเชื่อว่าสื่อที่น่าเชื่อถือจะขยายตัวขึ้น โดยสามัญสำนึกของความเป็นสื่อ สามัญสำนึกของความเป็นคนในศักดิ์ศรีของคนทำข่าวคืออะไร คือความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เรื่องของอภิสิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องขอเข้าพบนายกฯ เข้าพบรัฐมนตรี สุดท้ายสื่อมีศักดิ์ศรีของมัน ผมเชื่ออย่างนั้น

บทบาทสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

สมัยทำ PPTV นั้นผมมักจะได้รับความคิดเห็นทั้งเชิงให้กำลังใจและด่าทอต่อว่า ซึ่งเห็นว่ามาถูกทางแล้ว ไม่เสนอข่าวที่ถูกใจ แต่เราเสนอข่าวที่ถูกต้อง มันเป็นคนละสิ่งกัน สื่อทุกวันนี้เน้นไม่เหมือนกัน ความรุนแรงในสังคมเกิดขึ้น เพราะขาดความยุติธรรม สมมติว่าเราเป็นแฟนคลับของสโมสรฟุตบอลทีมหนึ่ง และคุณเห็นกรรมการเป่าเข้าข้างทีมคุณอย่างชัดเจนจนทีมตรงข้ามแพ้ เชื่อเถิดว่าแฟนคลับของทีมนั้นจะรู้สึกได้ว่ามันไม่ถูกต้องยุติธรรม กับเรื่องการเมืองก็เหมือนกัน ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนรู้สึกได้ แม้ว่าทุกคนมีความหลากหลายทางการเมือง เจ้าของสื่อทำหน้าที่สื่อ หรือเจ้าของสื่อที่มีเป้าหมายแฝงก็มี สื่อไม่ใช่อาชีพสื่ออีกต่อไป นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ มักจะเข้ามาครอบครองสื่อ โดยทำสื่อเพื่อที่จะสนองบางสิ่งที่ต้องการ เวลาที่นักข่าวอยากทำข่าวสืบสวน ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่ตัวนักข่าวเอง แม้กระทั่งนักข่าวทำงาน ทุกคนก็มีอคติของตนเอง มันควบคุมกันยาก ข่าวการเมืองจึงไม่ค่อยมีข่าวสืบสวน เพราะมันมีผลประโยชน์ ต่างจากข่าวฆาตกรรม ใครเป็นคนฆ่า แต่การเมืองมันซับซ้อน สื่อที่แท้จริงจะเสนอข้อเท็จจริง สื่อเทียมจะทำลายข้อเท็จจริง ความหลากหลายเป็นสิ่งที่ดี และเราต้องให้สิ่งที่ถูกต้อง ยุติธรรมกับสังคม เราจะฝากความหวังกับสื่อไปทั้งหมดไม่ได้

"ขันติธรรม ความอดทนอดกลั้น ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด แต่ขึ้นอยู่กับจากการสร้างเงื่อนไข การสร้างเงื่อนไขอยู่ในมือของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมาใช้ทรัพยากร ทั้งบางครั้งยังเป็นผู้ให้ใบอนุญาตการทำร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจ” รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กล่าว

ความทนกันได้สิ้นสุดที่การทำร้ายร่างกาย

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กล่าวว่า สนใจเรื่อง ความทนกันได้ อาจเริ่มจากเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจมาด้วยเงื่อนไขของความต่างทางศาสนาและมาตอกย้ำอีกทีเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองจึงเห็นว่าเรื่องนี้ยังสำคัญอยู่ และปัจจุบันมีแนวโน้มและความจำเป็นขึ้น ถ้าเราศึกษาเรื่องความขัดแย้ง เราจะเริ่มเห็นสถานการณ์ที่เราติดตากันอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องเสื้อสีหรือเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเริ่มเห็นแบบแผน แบบแผนที่เห็นคือการทำร้ายร่างกายของคนที่แสดงความเห็นแตกต่างจากตัว เราอาจจะพบการโต้ตอบกันด้วยภาษาที่รุนแรง ซึ่งในระดับนั้นทางการเมืองยังพอรองรับได้แต่ถ้ามันถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือมุ่งหมายชีวิต อันนี้ถือว่าเป็นความรุนแรง และเริ่มมีหลายกรณีเกิดขึ้นในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ฉะนั้นผู้มีอำนาจต้องให้ความสนใจ

ในทุกๆ ความขัดแย้งจะมียาดำ คือมี 4 เรื่องที่ต้องสำนึกไว้ 1.การไม่ใช้ความรุนแรง 2.การสร้างความไว้วางใจ 3.ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 4.ความอดทนอดกลั้น ซึ่งเราจะมาพูดเรื่องนี้ ความเกลียดเป็นอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ไม่ใช่เหตุผล อารมณ์มาจากประสบการณ์ตรง ความเกลียดอันเนื่องมาจากการกลัวถูกคุกคามอาจมาจากมายาคติหรือจินตนาการ ทำให้เกิดการหวาดระแวงและวิตก เราหลีกเลี่ยงกับความหลากหลายมากขึ้น ความอดทนอดกลั้นคือการอดทนต่อสิ่งที่เราไม่ชอบด้วยการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพ ความทนได้เป็นสิ่งทีจะวัดผู้มีอำนาจด้วย หลักการคือว่ามนุษย์มีอิสระ เชื่อที่แตกต่าง ซึ่งถ้าเราไม่ยอมรับหลักการนี้แปลว่าเราไม่ทน ในสังคมที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทน โดยสรุป คนไม่ได้มีอคติเกี่ยวกับชาติพันธุ์แต่คนมีอคติเกี่ยวกับการแสดงความเห็นที่แตกต่าง กลุ่มที่คิดเห็นไม่ตรงกัน และเกลียดกัน เราสามารถยอมรับให้เขาได้มีเสรีภาพได้เท่าเราหรือไม่

ปัจจัยชีวิตส่งผลต่อระดับขันติธรรม

รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวถึงงานวิจัยของตนเอง พบว่า คนในกลุ่มสามจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ มีความทนได้ต่ำมาก คือมีกลุ่มคนที่สามารถทนได้เพียง 20 % เท่านั้น จากการวิจัยพบว่า สิ่งที่เป็นตัวกำหนดความอดทน ระดับขันติธรรม หรือ ความเปิดกว้าง จะมีความเกี่ยวข้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง เนื่องจากว่าคนมีอคติมาตั้งแต่ต้น จากการรับรู้ข่าวสารและประสบการณ์ โดยสิ่งที่เป็นตัวกำหนดระดับขันติธรรม ได้แก่ ความรู้สึกถูกคุกคาม ความไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง คือยิ่งมีความไม่มั่นใจในความปลอดภัย หรือยิ่งกลัวมากเพียงใดก็จะปิดกั้นต่อความแตกต่างมากเท่านั้น โดยจะไม่ยอมรับ อดทนอดกลั้น สิ่งสำคัญคือสิ่งแวดล้อม ถ้าบุคคลมีความไว้วางใจในระบบที่เป็นอยู่ เขาก็จะเปิดกว้างต่อความหลากหลาย ผลการศึกษาวิจัยจึงนำไปสู่การหาทางแก้ไขในระสั้นและระยะยาว ซึ่งทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ และไม่มองว่ามันเป็นเพียงความโลกสวย เพราะแท้จริงแล้ว เรื่องเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ การจะสร้างสังคมที่รองรับทุก ๆ คน ซึ่งทุกคนก็ต้องเจอ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับบุคคลหรือองค์กร ยกตัวอย่างเช่น การที่องค์กรแอมเนสตี้ฯ อดทนต่อคำวิจารณ์ อาจารย์มีข้อเสนอว่า การไปสู่ทางออกนั้นแยกออกเป็นสองระยะ คือระยะสั้นกับระยะยาว ในระยะสั้น ถ้ามีการทำร้าย สิ่งเหล่านี้นั้นเรียกได้ว่าเกินขีดความอดทนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการทำร้ายร่างกายถือเป็นอาชญากรรม ต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และผู้รักษากฎหมายหรือมีส่วนเกี่ยวข้องต้องสนใจเรื่องนี้ เพราะมันทำให้คนเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของรัฐ และยิ่งคนเชื่อมั่นในระบบของรัฐ เขาจะเพิ่มความอดทนมากขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นก็จะเกิดศาลเตี้ยขึ้นในที่สุด กระบวนการยุติธรรมจึงต้องชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ควรต้องมีหน่วยมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งภาคประชนชน และ ภาครัฐ ต้องร่วมมือกัน เช่น หน่วย civilian ในระยะสั้น อ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับที่มาของความเกลียดชังและระดับขันติธรรม ซึ่งมีข้อเสนอว่า เราต้องพยายามไม่ให้เกิดความเกลียดชัง ใบอนุญาตให้ทำร้ายคนอื่นได้ license to attack หรือ to kill ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการควบคุม hate speech กำกับไม่ให้คนรู้สึกถูกคุกคาม เป็นเรื่องของทั้งสองฝ่ายต้องปรับให้ทันสถานการณ์ การสนับสนุนชาตินิยมจึงสามารถนำไปสู่ความรู้สึกถูกคุกคามได้ง่ายขึ้น จึงต้องหาว่าขีดความอดทนอดกลั้นนั้นมีจุดสิ้นสุดที่ใด และเรายอมเสียอะไรได้แค่ไหน เช่น เสรีภาพ เราต้องใช้ มนุษยธรรม เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องเจอความหลากหลาย เราจำเป็นต้องเรียนรู้ แม้ว่ามันจะเป็นธรรมเนียมที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยก็ตาม ที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะคิดว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องแปลก เราจึงต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่ ให้มันเป็นเรื่องปกติ เพื่อเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน แต่จะไม่ข้ามเส้นจนเป็น hate speech ยกตัวอย่างกลุ่มในสวีเดน มีขบวนการของผู้หญิงที่ทำงานเกี่ยวกับ hate speech โดยกลุ่มคนที่กลาง ๆ เหล่านี้จะเข้าไปอธิบายเพิ่มเติม หรือให้ความเห็นเพื่อลดความสุดขั้ว ส่วนในระยะยาว ต้องมีการมอนิเตอร์ หรือ เฝ้าระวัง เพราะ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มันมีรากจากสิ่งเหล่านี้ การเฝ้าระวังจึงต้องมีเพื่อไม่ให้มีการสะสมบานปลายของความเกลียดชัง อยากชวนมหาวิทยาลัยและสื่อให้มีการติดตามเรื่องนี้ และส่งเสริมเรื่องการสร้างความเชื่อเรื่องความเสมอภาค แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันอย่างเช่น ความพอใจในชีวิต หรือการที่รัฐเข้ามาดูแลประชาชนดีขึ้น

สื่อควรฉายไฟไปยังภาครัฐให้แสดงความรับผิดชอบ

รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยได้มีข้อค้นพบว่า ขันติธรรมจะสูงขึ้นถ้าคนมีความพอใจในชีวิตที่สูง ถ้าคนทุกข์ยากยิ่งก็จะยิ่งปิดประตูการทำความเข้าใจยอมรับคนอื่น ความเสี่ยงด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือเมื่อมีต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น จะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ความไว้วางใจ และข้อค้นพบที่ค่อนข้างแปลกและตรงกันข้ามกับความเข้าใจก็คือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ยิ่งทำให้มีขันติธรรมมากขึ้น ทนกันได้มากขึ้น ดังนั้นเราไม่ควรจำกัดการแสดงออก แต่กลับกันมันทำให้คนได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารซึ่งกันและเข้าใจกัน เนื่องจากขันติธรรม ความอดทนอดกลั้น ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด แต่ขึ้นอยู่กับการสร้างเงื่อนไข การสร้างเงื่อนไขอยู่ในมือของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมาใช้ทรัพยากร ทั้งบางครั้งยังเป็นผู้ให้ใบอนุญาตการทำร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นหากจะเริ่มต้นทุเลาความรุนแรงในสังคม ก็ต้องเริ่มจากการติดตามเฝ้าระวัง hate speech และส่งเสริมทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับการศึกษา โดยตัวแสดงหลักคือภาครัฐ ในการดำเนินการต่าง ๆ รัฐไม่ต้องอาศัยประชาชนด้วยซ้ำในสภาวะแบบนี้ (เผด็จการ) เราต้องพูดเรื่อย ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นว่าความชอบธรรมของเขาลดลง เมื่อดูแลประชาชนไม่ได้ ภาคประชาสังคมและสื่อต้องช่วยกันฉายไฟไปยังผู้มีอำนาจ และต้องส่องให้แสงนั้นสว่างต่อไปได้ตลอดเวลาให้ฝ่ายที่มีอำนาจในการดูแลประชาชนออกมารับผิดชอบ ส่วนเรื่องการด่าทอกับการวิจารณ์มันไม่เหมือนกัน บุคคลสาธารณะแน่นอนว่า ต้องถูกวิจารณ์ได้ 100 % ส่วนการด่าทอก็มีเส้นแบ่ง เรายังอดทนได้ ตราบเท่าที่มันไม่ไปก้าวล้ำมนุษยธรรม เช่น การพูดถึงคนเป็นหรือคนตายในสิ่งที่เขาทำ (ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมร้ายหรือดี) จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ใช่ทำให้เขาต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ การด่ากันมันมีแต่จะขยายวงของความเกลียดชัง

 

ภัคจิรา กีรติวิบูลย์วงศ์ และภูมิรพี โรจนะบุรานนท์ ผู้รายงานเสวนาชิันนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ส่วน ณัฐธร เจริญลาภกุล ผู้ทำภาพประกอบรายงานปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับ thisable.me

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net