'อยู่กับบาดแผล' - ความทรงจำที่ถูกลืมของเหยื่อเหลือง-แดง ผู้เขียนหวังหนังสือไปอยู่โรงเรียนนายร้อย 

จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองสู่ชนวนเหตุการณ์ความรุนแรงของผู้ที่ออกมาชุมนุม เหตุการณ์ความรุนแรงนำมาซึ่งความสูญเสีย เวลาผ่านมาไม่กี่ปี ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ค่อยเลือนหายไป เหยื่อจากความรุนแรงยังไร้คนรับผิดชอบ อยู่กับบาดแผลจะทำให้เราตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่พึงปฏิบัติต่อกัน แม้ประเทศจะเดินไปข้างหน้าแต่อย่าทิ้งเหยื่อทางการเมืองไว้ข้างหลัง

งานเปิดตัวหนังสือ “อยู่กับบาดแผล” ของ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา พร้อมเสวนาประเด็น ‘อยู่กับบาดแผล’ : เสียงจากเหยื่อสามัญชนในความรุนแรงทางการเมืองเหลือง-แดง โดยมี อินทิรา เจริญปุระ เป็นผู้ดำเนินรายการ และ ดร.ธร ปิติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2 สมัย และผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ร่วมเสวนา เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

"อยู่กับบาดแผล" มาจากงานวิจัยที่จะแสดงถึงอีกแง่มุมหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ในช่วงปี 2553-2557 เป็นเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมาจากสองฟากฝั่งการเมือง ทั้งเหลือง-แดง ในช่วงปีที่กล่าวมานั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองมีความแตกต่างจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยนำเสนอมุมมองทางมานุษยวิทยาในการรับฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง นั่นคือ ความทุกข์ทนทางสังคม โดยหนังสือเล่มนี้นำเสนอเสียงเหยื่อสามัญชนในความรุนแรงทางการเมืองเหลือง-แดง ที่หวังให้ทุกฝ่ายได้ยิน ไม่ว่าจะสมาทานตนอยู่ฟากฝั่งใดของการเมืองเรื่องสีเสื้อก็ตาม เพื่อที่จะนำพาสังคมไทยออกจากหล่มหลุมปัญหาของความขัดแย้ง และก้าวเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด

ดร.ธร ปิติดล กล่าวว่า งานนี้เป็นงานที่เปิดเสียงของคนที่ถูกลืม คนที่เรามักจะมองข้ามไป รวมถึงคนที่เราอาจจะมองด้วยอคติ บางคนในสังคมก็จะมองผู้ที่เป็นผู้ชุมนุมที่อยู่แนวหน้าก็จะถูกมองด้วยอคติ แต่อาจารย์บุญเลิศช่วยให้เรามองในฐานะความเป็นมนุษย์ ช่วยคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับคนจำนวนมาก การอ่านเล่มนี้จบทำให้เราไม่ลืมพวกเขา สิ่งที่อาจารย์บุญเลิศถ่ายทอดไม่ใช่บาดแผลทางกายแต่มันคือบาดแผลทางใจ บาดแผลทางใจมันโยงอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ ซึ่งจะโยงถึงอาชญากรรมโดยรัฐที่ไม่ต้องรับผิด ในประเทศไทยจะเห็นกรณีแบบนี้เยอะ การฆ่า สังหารผู้คนจำนวนมากในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ การสังหาร 6 ตุลา ซึ่งมีประเด็นคล้ายกันที่หนังสือเล่มนี้ต้องการเล่าถึง

การพยายามทำให้คนมารับผิดกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็จะมีเสียงหนึ่งบอกว่า มันจะเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเหตุการณ์มันผ่านไปแล้วหรือจริงๆ เราควรจะลืม ผู้คนถูกกระทำจะมีบาดแผลทางความรู้สึก ซึ่งบาดแผลนี้มันไม่สามารถเยียวยาได้ สิ่งที่สำคัญที่หนังสือเล่มนี้ต้องการเล่าถึงคือ ความทุกข์ทนซึ่งมันเชื่อมโยงกับความทรงจำ ในแง่หนึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วคือความทรงจำ แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกคือความสัมพันธ์ของเขา เมื่อมองย้อนกลับไปถึงความทรงจำนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จบ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตเรา เราจะรู้สึกอย่างไรกับความทรงจำมันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตามมามากมาย ตรงนี้มันก็ย้อนมาสิ่งที่อาจารย์บุญเลิศให้ ความสำคัญมากก็คือ การซ้ำเติม หรือการบอกผู้ถูกกระทำเหล่านี้ว่าเขาเป็นใคร อะไร อย่างไร เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจารย์บุญเลิศเปรียบเทียบผู้ถูกกระทำทั้งสองฝ่ายกับสิ่งหนึ่งที่เป็น Message ชัดเจนซึ่งผู้ถูกกระทำทั้งสองฝ่ายไม่ได้รู้สึกกับความทรงจำที่เกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาของพวกเขาไม่เหมือนกัน ในขณะที่อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชนะ แต่อีกฝ่ายถูกซ้ำเติมตลอดเวลา เป็นคนไร้ค่า เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญของผู้ถูกกระทำไม่ใช่การลืม มันคือการดูแลเส้นทางที่เกิดขึ้นกับเส้นทางนั้น มันถึงนำมาซึ่งประเด็นที่ว่าเราไม่ควรจะมองว่ามันจบแล้ว มันมีกระบวนการมากมายที่ต้องคืนความยุติธรรม คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับบุคคลเหล่านี้  

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า ความทรงจำทำให้มนุษย์สามารถสร้างศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ขึ้นมาได้ ความทรงจำร่วมมันคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ก้าวเดินไป หากมนุษย์ไม่มีความทรงจำร่วมก็จะไม่มีการพัฒนา ซึ่งมาถึงเรื่องความทรงจำร่วมที่เชื่อมโยงกับบาดแผล พอเราพูดถึงความทรงจำร่วมมันจะมีทางแยกระหว่างการระลึกถึงบาดแผลและการก้าวเดินต่อไป ในฐานะความทรงจำร่วมของสังคม ในแง่หนึ่งการระลึกถึงความเลวร้ายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญเพราะมันทำให้เรารู้ถึงบทเรียน เราถึงจะก้าวเดินอย่างไม่ผิดพลาด แต่อีกแง่หนึ่งการระลึกถึงบาดแผลก็จะทำให้รู้สึกทรมานในสังคม ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะหาจุดสมดุลของความทรงจำร่วมได้อย่างไร ความทรงจำร่วมของสังคมไทยไม่ได้มีแค่ความทรงจำของผู้ถูกกระทำอย่างเดียว ความทรงจำของผู้กระทำก็มี ความทรงจำของผู้กระทำก็ไม่ได้มีแค่ผู้ถูกกระทำ ยังมีความทรงจำของผู้สนับสนุนด้วย ในสังคมที่ต้องก้าวเดินต่อไปพร้อมกับ ความทรงจำร่วมนั้นมันเป็นประเด็นที่ต้องถูกสะสาง เราจะดึงผู้กระทำเข้ามาสร้างความทรงจำใหม่อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก ไม่ใช่แค่ยอมรับผิด แต่สุดท้ายต้องมีการทบทวนหรือรื้อความทรงจำในอดีตด้วย   

วีรพร นิติประภา กล่าวว่า เราเห็นคนในหลายมิติมากไม่ใช่แค่มิติทางด้านการเมืองในด้านความฝัน ครอบครัว ความขัดแย้งมันไม่ได้ทำลายแค่คนๆ เดียวที่เผอิญไปอยู่ตรงนั้น คนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นก็สั่นสะเทือนด้วย แต่เราจะไม่ได้มองในแง่นั้น เราจะมองแค่คนที่โดนกระทำ การที่มีทั้งสองขั้วสีซึ่งมีจุดประสงค์เหมือนกัน  คือหวังสิ่งเดียวกันทั้งคู่แล้วก็เจ็บเหมือนกัน ไมได้ต่างกันเลย ตอนที่เหตุการณ์เกิดขึ้นก็คือ สิ่งที่เราจะรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีก การเกิดขึ้นซ้ำของเหตุการณ์แบบนี้คือการไม่มีความทรงจำของสังคม เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ใช้ชีวิตกันอย่างไร หรือผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นอย่างไรกันบ้าง ผู้ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นคนไม่สำคัญ สามัญชนธรรมดา ซึ่งทำให้ถูกลืม มันไม่เคยเกิดขึ้นกับแกนนำ หรือบุคคลสำคัญต่างๆ ตามข่าวก็มีแค่คนที่ถูกยิงแล้วก็จบไป สังคมต้องการความทรงจำนี้ไหมเพื่อที่ต่อไปนี้จะทำแบบนี้อีกไหม  

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ผู้เขียนกล่าวว่า ตอนนี้ตนเขียนงานชิ้นนี้ ตนก็นึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาอยู่ ตลอดเวลา เราไม่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพราะว่าผู้กระทำความรุนแรงยังเป็นผู้ใช้อำนาจอยู่ กรรมการก็อยู่ในโครงสร้างอำนาจเพราะฉะนั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงมันจึงไม่เกิดขึ้น ผู้ถูกกระทำหลายคนที่เจ็บตัวแล้วยังเจ็บใจอยู่ จะมีความรู้สึกที่ต้องการให้ความจริงเปิดเผย เช่น เสื้อแดง ถูกประณามว่าเผาบ้านเผาเมือง ถึงแม้จริงๆ ศาลพิพากษาคดีนี้แล้วแต่ยังโดน มันคือการ Hate speech ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สังคมไทยเรายังไม่เคยเดินไปสู่การยอมรับเหยื่อ ถึงจุดหนึ่งแล้วเหยื่อไม่ต้องการชีวิตใครคืน อย่างน้อยคุณค่าที่เขาถูกกระทำจะได้ความเคารพ ถึงที่สุดสังคมจะได้เรียนรู้ว่าเราจะไม่ผลักสังคมไทยไปยังความรุนแรงแบบนั้น สิ่งที่ตนอยากถ่ายทอดคือเรื่องแบบนี้ เราต้องเคารพผู้ที่ถูกกระทำ คนที่เป็นเหยื่อ ซึ่งตนสัมภาษณ์เหยื่อทั้ง 2 สี ตนคิดว่าทุกคนควรได้รับความเคารพ สร้างความทรงจำเพราะเราไม่จำสักที ผู้ถูกกระทำจะรู้สึกว่าถูกกระทำอยู่เสมอ ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้เชื่อว่าทั้งเสื้อเหลือและเสื้อแดงต้องไม่ชอบ สิ่งที่น่าสนใจคือ เหยื่อของเสื้อเหลือง-แดงต่างเป็นชนชั้นกลางระดับล่างและคนชั้นล่าง และส่วนมากเป็นสามัญชนธรรมดา แต่สิ่งที่ต้องการนำเสนอไม่ใช่เหลืองแดงแต่คือความเป็นมนุษย์

“ดังนั้น ใครควรอ่านหนังสือเล่มนี้บ้าง อยากให้หนังสือเล่มนี้ไปอยู่ในโรงเรียนนายร้อย จปร.ก่อนที่คุณจะเป็นนายร้อยนายพันขอให้อ่านหนังสือเล่มนี้บ้าง” ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าว

 

สำหรับ ภูมิรพี โรจนะบุรานนท์ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท