Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้นโยบายต่างๆของรัฐบาลใหม่ต้องใช้งบฯจำนวนมาก ต้องขยายฐานภาษีและเก็บภาษีเพิ่ม แต่เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินเพื่อไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง ชี้คนจนนั้นเสียภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับรายได้ แนะเก็บภาษีลาภลอยเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ด้านนักวิชาการTDRI แนะรัฐเพิ่มภาษี ขึ้นแวตไม่สะเทือนคนจนใช้บัตรสวัสดิการอุ้ม

29 ก.ค.2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า นโยบายต่างๆของรัฐบาลใหม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รัฐจำเป็นต้องขยายฐานภาษีและเก็บภาษีเพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลัง เสนอเพิ่มเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ภาษีธุรกรรมออนไลน์และทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางแบกรับภาระภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ มีความเข้าใจผิดว่าคนจนเสียภาษีน้อยหรือไม่เสียภาษี จริงๆแล้วคนจนนั้นเสียภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาได้รับ การจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้หรือภาษีเงินได้และฐานการบริโภคหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีระบบข้อมูลที่ดีและมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี  อย่างไรก็ตาม สัดส่วนภาษีต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 17-19% เท่านั้น เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ไทยมีฐานภาษีแคบ ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ที่เสียภาษีอยู่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป สัดส่วนของภาษีต่อจีดีพีของประเทศต่ำกว่าประเทศอื่นที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทจำกัดขนาดกลางและขนาดเล็กต้องจ่ายภาษีมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่โดยสัดส่วนรายได้ เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่มากกว่ารวมทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

ผู้มีรายได้สูงหรือมีฐานะร่ำรวยได้ประโยชน์จากสังคมและระบบเศรษฐกิจมากย่อมมีหน้าที่ต้องสละรายได้ให้แก่สังคมในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำรายได้มาเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศและนำไปจัดสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย ระบบภาษีในประเทศไทยขณะนี้มีผลให้ผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางต้องเสียภาษี

มากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวยเมื่อเทียบสัดส่วนของรายได้ นอกจากนี้ระบบภาษีของไทยยังมีข้อกำหนดเรื่องการลดหย่อนจำนวนมากและสลับซับซ้อน ไม่มีการเสียภาษีส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (Capital-gain Tax) ภาษีมรดกก็จัดเก็บไม่ค่อยได้ ฐานข้อมูลการถือครองทรัพย์สินไม่สมบูรณ์และไม่สามารถบูรณาการข้อมูลทรัพย์สินได้ทั้งระบบ          ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ กล่าวอีกว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาและในอนาคต มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบคมนาคมจำนวนมาก การเก็บภาษีลาภลอยมีความจำเป็นและต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายฐานรายได้ภาษี มีการจัดเก็บภาษีตามประโยชน์จากการลงทุนของรัฐที่ได้รับอย่างเป็นธรรม ในเบื้องตันจะมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ การเก็บภาษีลาภลอยจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจเพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการลงทุนต่างๆของรัฐ สังคมไทยนั้นอาจจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐในการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ไม่สูงนัก จึงไม่เอื้อให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษีมากนัก ทั้งที่การเสียภาษีเป็นหน้าที่และผู้จ่ายภาษีมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรทำประมาณการรายได้จากภาษีลาภลอยเพื่อสามารถวางแผนงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ดีขึ้น โดยสามารถลดการกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น หน่วยงานจัดเก็บภาษีควรดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายได้จากภาษีลาภลอยควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้บำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง เก็บรายได้เข้ารัฐบาลกลางเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการพัฒนา เพื่อให้ความความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนากระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบท ไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล การเก็บภาษีแบบนี้เป็นไปตามหลักผลประโยชน์ (the benefit principle) คือ บุคคลหรือนิติบุคคลควรจะจ่ายเงินให้รัฐในส่วนที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนหรือการใช้จ่ายของรัฐ และ หลักการนี้ยังอ้างอิงความเท่าเทียม คือ การใช้ประโยชน์จากบริการของรัฐ โดยคิดว่าการบังคับเก็บภาษีจากผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์ไม่น่าจะเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ภาษีลาภลอยนี้ก็ควรดูหลักความสามารถที่จะจ่าย (the ability-to-pay principle) ด้วย การปรับโครงสร้างภาษีหรือการปฏิรูปภาษีต้องเป็นกระบวนการเปิดเผยและให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆตรวจสอบถ่วงดุลกันเองผ่านกลไกรัฐสภา

 

นักวิชาการTDRI แนะรัฐเพิ่มภาษี ขึ้นแวตไม่สะเทือนคนจนใช้บัตรสวัสดิการอุ้ม

ขณะที่วานนี้ (28 ก.ค.62) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการจิวัยและพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีสำนักงบประมาณประเมินว่าหากรัฐบาลมีการดำเนินตามที่พรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงไว้อาจจะต้องใช้เงินประมาณเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาทนั้น ว่า แนวทางการหารายได้เพิ่มของรัฐบาลคือต้องมีการจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น โดยแนวทางแรกที่อยากจะให้เกิดขึ้นแต่อาจจะเป็นไปได้ยากทางการเมือง คือ การเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้นหรือการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งกฎหมายภาษีมรดกหรือภาษีการรับให้ เสร็จเรียบร้อยแล้วรอบังคับใช้จริงซึ่งต้องติดตามว่าเมื่อจัดเก็บจริงจะมีรายได้เข้ามามากน้อยเพียงใด

นณริฏ กล่าวว่า แนวทางที่สองซึ่งอาจจะทำได้ง่ายกว่า คือ การขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลของธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างการหลีกเลี่ยงภาษีได้อยู่ อยากให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) เป็นอีกทางที่ทำได้ เพราะจะมีผลในวงกว้าง และปัจจุบันอัตราภาษีแวตของไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่ 7% โดยมีประเทศที่ภาษีแวตใกล้เคียงกัน คือ ญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดญี่ปุ่นได้มีการปรับขึ้นไปที่ 10% แล้ว โดยขณะนี้รัฐบาลมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้วหากปรับเพิ่มแวตกลุ่มนี้มากนัก ทั้งนี้ อาจจะมีการเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตในสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้อีก เช่น ภาษีรถยนต์ ภาษีเรือยอร์ช ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว และขณะนี้มีการเก็บเพิ่มภาษีความหวาน ภาษีความเค็มมากขึ้น ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะหากในอนาคตผู้บริโภคเจ็บป่วยจากการบริโภคสินค้าเหล่านี้ภาครัฐก็จะต้องมีงบประมาณด้านสาธารณสุขของรับ เช่น ผ่านโครงการบัตรทอง เพิ่มมากขึ้น ส่วนการใช้การกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายนั้น มองว่าปัจจุบันมีกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำกับดูแลอยู่ทำให้ต้องมีการพิจารณาอย่างเคร่งครัดในการใช้เงินกู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net