Skip to main content
sharethis

รายงานสรุปวงเสวนา แพลทฟอร์มดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์ ถกประเด็นประเภทของแพลทฟอร์ม บทบาทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ในการรับมือข่าวลวง บทเรียนจากอดีตและสากลสู่สังคมไทย พร้อมประเมินระดับความอันตรายของข้อมูลลวง รวมทั้งผลกระทบสื่อต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในอนาคต
 

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมเสวนา แพลทฟอร์มดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์ (What digital platforms should do in handling fake news, hate speech and dark side of online world?) ที่ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ศ.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ สุนิตย์ เชรษฐา เข็มพร วิรุณราพันธ์ อ.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ ธีรมล บัวงาม สุภิญญา กลางนรงค์ สุชัย เจริญมุขยนันท เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว สถาพร อารักษ์วทนะ วิชาญ อุ่นอก และอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ร่วมเสวนา

ผู้สื่อข่าวได้สรุปภาพรวมจากวงเสวนานี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจประกอบด้วย บทบาทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ในการรับมือข่าวลวง บทเรียนจากสากลสู่สังคมไทย การใช้เทคโนโลยีเพื่อสู้กับข่าวลวง ความเกลียดชัง และด้านมืดยุคดิจิทัล

ที่ผ่านมาแพลทฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญกับชีวิตคนอย่างมาก เพราะมันกลายเป็นพื้นที่สื่อสารหลักของคนในสังคม การเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้สื่อต้องปรับตัวและย้ายตนเองมาอยู่ในแพลทฟอร์มดังกล่าว และทำให้บทบาทของสื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและเผยแพร่มันได้ แต่สิ่งที่สื่อมีต่างจากคนทั่วไปและต้องยึดไว้ให้มั่นคือ ความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นความสำคัญและคุณค่าของสื่อในยุคปัจจุบัน เพื่อต่อสู้กับยุคข่าวปลอมครองเมือง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับทั่วโลก

บทบาทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ในการรับมือข่าวลวง บทเรียนจากสากลสู่สังคมไทย

ในปัจจุบันสื่อและองค์กรสื่อหลายสำนักในประเทศไทยได้มีความร่วมมือกันเพื่อหาวิธีการต่อสู้กับข่าวปลอม โดยศึกษาแนวทางและนโยบายจากต่างประเทศ และนำมาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือ มีอาวุธทางปัญญา ในการแยกแยะข่าว โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ข่าวปลอมมีจำนวนลดลง แต่ไม่ถึงกับกำจัดข่าวปลอมจนหมด เนื่องจากข่าวปลอมถูกผลิตขึ้นใหม่ตลอดในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะข่าวปลอมเกี่ยวกับอาหาร และสุขภาพ มีปริมาณข้อมูลข่าวปลอมมากกว่าเรื่องการเมืองเสียอีก ปัจจุบันคนจำนวนมากถูกหลอกเรื่องสุขภาพ และถึงขั้นเสียชีวิตอยู่หลายราย และหากสังเกตจะพบว่าความคิดเห็นต่อข่าวปลอมในสังคมออนไลน์มักจะมีการเห็นต่างและถกเถียงเสมอ แสดงให้เห็นว่าคนก็ไม่ใช่เชื่อข่าวปลอมไปเสียทั้งหมด การที่รัฐ สื่อ และภาคประชาสังคมช่วยกันสร้างอาวุธในการต่อสู้กับข่าวปลอมให้ประชาชนนั้นจึงไม่ใช่การเข้าไปปิดกั้นหรือกำจัดข่าวปลอมจนหมด แต่เป็นการช่วยกันตรวจสอบและเรียนรู้ร่วมกัน

ข่าวสารในสังคมออนไลน์ปัจจุบันมักจะอยู่ในรูปแบบของข้อความสั้น ๆ และคนก็มักจะไม่ได้หาข้อมูลหรือตรวจสอบมัน หรือแม้แต่สื่อจากโทรทัศน์ในปัจจุบัน หลายครั้งไม่ได้ใช้แหล่งข่าวของตนเอง แต่มักจะนำข่าวจากสังคมออนไลน์มาอ่านให้ผู้ชมฟังแทน ซึ่งบางครั้งแหล่งข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้น่าเชื่อถือนัก สื่ออย่างวิทยุชุมชนในอดีต ก็ได้รับบทเรียนจากการที่มีกลุ่มธุรกิจเข้ามาใช้วิทยุชุมชนในการโฆษณาสินค้าสรรพคุณเกินจริง จนทำให้ความน่าเชื่อถือของกลุ่มวิทยุชุมชนลดลง รวมถึงการชี้นำทางการเมืองของผู้จัดรายการ ในวันนี้วิทยุชุมชนถูกปลดระวาง และย้ายไปทำสื่อออนไลน์ สื่อออนไลน์ในปัจจุบัน มีผลต่อทัศนคติของผู้ฟังอย่างมาก และคนก็มักจะฟังแต่ข่าวของฝั่งที่ตนเองชอบจนกลายเป็นเหมือนว่าเราอยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo chamber) อยู่แต่ในโลกออนไลน์ที่มีแต่คนคิดเหมือนเรา

ผลกระทบสื่อต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในอนาคต

ในอนาคตประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย จะมีการเลือกตั้งบ่อยขึ้น นักการเมืองก็จะมาลงพื้นที่กับสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น พรรคต่างๆ ก็จะมีฝ่ายที่ทำหน้าที่เรื่องดิจิทัล-ออนไลน์โดยเฉพาะ สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือ การกำหนดกติกาหรือกฎในการใช้สื่อดิจิทัลจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด จะเน้นความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของคนกลุ่มใด มีคำถามมากมายที่ประชาชนต้องศึกษาค้นคว้าและใช้วิจารณญาณและตัดสินใจด้วยตนเอง

แม้แต่การถ่ายทอดสดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ คนในเฟรมกล้องก็ต้องควบคุมพฤติกรรมตนเองตลอดเวลา เพราะมีสายตาของคนจำนวนมากจับจ้องอยู่ ความสะดวกสบายของผู้คนที่ต้องการชมจึงเป็นสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ที่อยู่ในเฟรมกล้องถ่ายทอดสด หรือกล่าวคือ พื้นที่ออนไลน์กำลังรุกล้ำชีวิตของเรา แม้เราอาจเปิดเผยหรือตั้งค่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเราได้ เช่น Facebook Twitter Instagram แต่ทุกอย่างยังไม่มีข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับกฎการใช้ เพราะเปิดเผยมากไปก็รุกล้ำความเป็นส่วนตัว หากจำกัดการเปิดเผยมากไปก็อาจจะเป็นการไปรุกล้ำเสรีภาพ

ประเภทของแพลทฟอร์มในปัจจุบัน

สื่อออนไลน์ในปัจจุบันนั้น ต่างจากสื่อในอดีต เนื่องจากในอดีตเป็นการสื่อสารทางเดียว ผู้รับสารไม่สามารถโต้ตอบกับผู้ผลิตสื่อได้ ในประเทศเพื่อนบ้าน (อาเซียน) ลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนมากนั้น คือการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ก็สามารถเรียกว่าเป็น Global platform เพราะนับจากจำนวนประเทศที่มาใช้ ไม่ได้นับจากจำนวนผู้ใช้งาน อย่างประเทศจีนก็จะมีแอปพลิเคชันของจีนเอง คนปัจจุบันมีแนวโน้มจะใช้แอปน้อยลง ไม่ได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มบ่อย และแอปพลิเคชันเดิมก็มักจะมีส่วนขยาย เช่น ไลน์ มีกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากตนเองทำ เช่น ไลน์ทีวี ไลน์เรียกแท็กซี่ ไลน์ส่งอาหาร ฯลฯ แอปพลิเคชันเกี่ยวกับสังคมออนไลน์สามารถแบ่งการใช้งานได้ 4 ด้าน คือ public (เน้นให้มีคนรับสารจำนวนมากจากเจ้าของบัญชี) private (มักเป็นแอปพลิเคชันสำหรับแชทส่วนตัว) global (ใช้ในระดับโลก) local (ใช้เฉพาะในท้องถิ่น)

แม้คำว่าข่าวปลอมอาจเป็นคำที่คุ้นหู แต่นักข่าวต่างประเทศมีความเห็นว่า ข่าว ควรเป็นคำแทนข้อเท็จจริง ควรใช้คำว่าข้อมูลที่ผิดพลาดอาจจะตรงกว่า ข่าวปลอมเหล่านี้เกิดขึ้นและแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วมากในยุคที่เจ้าของบัญชีสังคมออนไลน์สามารถผลิตข้อมูลเองได้ (User Generate Content) หรือ รับผ่านผู้มีอิทธิพลในสังคม เช่น ดาราหรือเน็ตไอดอล และ เพจชื่อดัง ซึ่งแม้จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ดูน่าเชื่อถือ ประชาชนก็ควรจะตรวจสอบอีกครั้ง หรือใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารด้วย

ระดับความอันตรายของข้อมูลลวง

ในต่างประเทศจะพิจารณาการจัดการข่าวปลอมตามลำดับความสำคัญของความสร้างอันตรายและผลกระทบของมัน เช่น พิจารณาว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่ โดยแบ่งระดับ ความผิดปกติของข้อมูล (Information Disorder) เป็น 3 ระดับ ระดับแรก คือ Misinformation เป็นข้อมูลที่ผิดโดยผู้สร้างข้อมูลไม่ได้มีเจตนาให้เกิดความผิดพลาด ระดับสอง คือ Disinformation คือข้อมูลที่ไม่จริงหรือจริงเพียงบางส่วน ทั้งนี้ผู้สร้างข้อมูลมีเจตนาจะทำให้เกิดผลร้ายแก่คนกลุ่มหนึ่ง ส่วนระดับสาม Mal-information คือข่าวรั่ว เป็นความจริงที่ถูกใช้โจมตีหรือคุกคาม มักจะมีผลต่อความมั่นคงของบุคคล องค์กร หรือประเทศชาติ  ดังนั้นไม่ใช่แค่รัฐ แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเฝ้าระวัง เพราะระดับการภูมิคุ้มกันในการรับข้อมูลของคนแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ในหลายประเทศ ประชาชนอาจไม่ค่อยให้ความเชื่อถือข่าวในสังคมออนไลน์ เกิดคำถามที่นำไปสู่คำถามวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมคนไทยคือ เพราะเหตุใดคนไทยจำนวนมากจึงเชื่อข่าวที่ถูกแชร์ในอินเทอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์

เรียนรู้จากอดีต

เมื่อหลายปีก่อน ได้มีคลิปวิดีโอกลุ่มก่อการร้ายที่ใช้ YouTube เผยแพร่วิดีโอที่แสดงถึงความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเวลาต่อมาคลิปดังกล่าวก็ถูกนำออกจากสารบบ ปัจจุบันแพลทฟอร์มสังคมออนไลน์มีการควบคุมเนื้อหาของตนเอง (Self-regulation) แพลทฟอร์มสังคมออนไลน์ได้สร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม และช่วยจับตาเฝ้าระวัง ในต่างประเทศ ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง จะมีปริมาณการแพร่กระจายของข่าวปลอมสูงมาก และถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ วิธีที่แพลทฟอร์มของสังคมออนไลน์สร้างขึ้นมาต่อสู้กับข่าวปลอมนั้นมีหลายวิธี เช่น นำบัญชีผู้ใช้นั้น ๆ ออก ลบข้อมูลนั้นออก ทำการแจ้งแก่สมาชิกในชุมชนออนไลน์ ใช้ AI ในการตรวจจับข้อมูลที่ผิดพลาด อบรมนักผลิตเนื้อหา นักข่าว สำนักข่าว โดยเฉพาะการให้ทุนกับสำนักข่าวในท้องถิ่น รวมถึงการนำเสนอเนื้อหาคุณภาพไว้ก่อน และลดการนำเสนอข่าวปลอม ทำให้ข่าวปลอมนั้นไม่ปรากฏ หรือยากต่อการค้นหาและเข้าถึง ในกลุ่มสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ต้องสามารถตรวจสอบได้ถึงที่มาของเนื้อหาและผู้ที่จ่ายเงินเพื่อโฆษณาเนื้อหาดังกล่าว ซึ่งจะมีการตรวจสอบเป็นพิเศษในช่วงเลือกตั้ง

ข่าวปลอมถูกมองในระบาดวิทยา (Epidemiology) เป็นไวรัสทางสังคม ทั้งยังเคลื่อนที่ได้เร็ว ลึก และกว้างขวางกว่าข่าวปกติ มันทำให้ภูมิต้านทาน (ทางไซเบอร์) ต่ำลง จึงต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่เสมอ แต่มันก็แก้ได้เพียงบางส่วน เช่น เคยมีการศึกษาการรับรู้ข่าวปลอม โดยให้ผู้ทดลองได้รับข่าวปลอม และในเวลาต่อมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องไป ค่าความเชื่อมั่นต่อข้อมูลที่ถูกต้องของพวกเขาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นกลับมาเท่าเดิม  ในเชิงวิธีแก้ไขที่ทำได้ในขณะนี้ คือการส่งต่อการสร้างภูมิคุ้มกันไปให้ผู้มีอิทธิพลในสังคมออนไลน์

เรียนรู้จากสากล

ในไต้หวัน มีมาตรการเชิงรับ คือ Collaborated Checking (CoFacts) เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ต้องสงสัย ซึ่งจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและตอบสนองต่อข้อมูลใหม่ภายใน 60 นาที ขณะเดียวกันก็จะมี Bot (โปรแกรมแชท) เมื่อพิมพ์ข่าวที่สงสัยส่งไป Bot จะตอบกลับมาว่าเป็นข่าวจริงหรือเท็จ โดยเบื้องหลังจะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานตรวจสอบข่าวปลอม และส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้งาน ผู้ที่ทำงานมักจะเป็นอาสาสมัคร และหากว่าข่าวปลอมที่ได้รับมา มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น ข่าวต้องสงสัยดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปตรวจสอบอย่างเจาะลึกโดยผู้เชี่ยวชาญในข่าวด้านนั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการดำเนินการในลักษณะนี้ ผู้ที่ทำโปรแกรมเหล่านี้ไม่ควรมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล และต้องปฏิเสธเงินทุนจากรัฐบาล การรับเงินบริจาคต้องเปิดเผยว่ารับมาจากที่ใดบ้าง ต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ทั้งในด้านแหล่งทุน งบประมาณ และ การดำเนินการ เพื่อป้องกันการครหาว่าฝักใฝ่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

การสร้างภูมิคุ้มกันต่อข่าวปลอมควรจะสร้างตั้งแต่การศึกษาชั้นประถม แต่ไม่มองข้ามช่วงวัยอื่น ๆ ด้วย เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่เรียกร้องต้องการ การตรวจสอบ คิดก่อนแชร์ ในสหรัฐฯ มีการสร้างเกม Factitious โดยให้ผู้เล่นตรวจสอบข่าวปลอม ซึ่งจะมีระดับความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เกมนี้ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเปิดให้ทุกคนเข้าไปเล่นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผลสำรวจพบว่า ผู้ที่เข้าไปเล่นเกมนี้เพียง 15 นาที มีค่าความเชื่อต่อข่าวปลอมลดลงถึงร้อยละ 20

แม้ว่าวัยรุ่นและวัยทำงานปัจจุบันจะมีความเข้าใจในข่าวปลอมมากขึ้น แต่ผู้ที่อยู่คนละช่วงวัย หรือต่างเจนเนอเรชั่นกัน มักจะมีการเรียนรู้ทางดิจิทัล และ ระดับภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ต่างกัน เราควรเข้าอกเข้าใจ และทำงานร่วมกันกับคนหลากหลายกลุ่ม ปัจจุบันยังมีคนอีกมากที่ยังเข้าใจอยู่ว่า ข่าวทุกอย่างถูกต้องทั้งหมด เพราะคนจำนวนมากยังเข้าใจว่าข่าวต้องผ่านรัฐ ข่าวผ่านการตรวจสอบจากรัฐแล้ว เขาคิดว่าข่าวจากรัฐนั้นถูกต้องและน่าเชื่อถือที่สุด แม้แต่โฆษณาอาหารหรือยาที่มีสรรพคุณเกินจริง เป็นเพราะเขาเชื่อว่าถ้ามันไม่ดี รัฐจะไม่ปล่อยให้มี ดังนั้นเราต้องไม่ทิ้งคนในเจนเนอเรชั่นก่อนหน้า ชุมชนต้องช่วยกันติดอาวุธทางปัญญา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชน ไม่ต้องปิดกั้นข่าวปลอม แต่เราต้องสร้างภูมิต้านทาน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

 

สำหรับ ภัคจิรา กีรติวิบูลย์วงศ์ ผู้เขียนสรุปวงเสวนานี้ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net