Skip to main content
sharethis

คุยกับมาริโอ แบรนเดนเบิร์ก ส.ส. ฝ่ายค้านรัฐสภาเยอรมนี อดีตคนทำงานไอทีในเรื่องกฎหมายให้อำนาจ-หน้าที่เจ้าของแพลตฟอร์มลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายภายใน 24 ชม. ที่บังคับใช้ในเยอรมนีแล้ว 2 ปี พบปัญหาอย่างไรกับการกำกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตลักษณะนั้น ระบุ รัฐต้องโปร่งใส จับมือประชาสังคม ต้องให้แพลตฟอร์มส่งรายงาน-ช่องทางสื่อสาร

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้มีความเคลื่อนไหวของเฟสบุ๊คที่สะเทือนมายังไทยสองเรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. มีการบล็อกโพสท์เกี่ยวกับบันทึกของสัญญา ธรรมศักดิ์ โพสท์โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ทำให้โพสท์ไม่สามารถเข้าถึงได้ในประเทศไทย  จากการตรวจสอบ สมศักดิ์ไม่ได้รับจดหมายชี้แจงเหมือนครั้งที่โดนบล็อกในลักษณะเดียวกันเมื่อ 4 พ.ค. 2560 ที่มีจดหมายแจ้งจากเฟสบุ๊คขอจำกัดการเข้าถึงโพสท์ โดยอ้างหมายศาลระบุว่า โพสท์ดังกล่าวละเมิดมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

พบ 1 โพสต์ของ 'สมศักดิ์ เจียมฯ' ถูกเฟสบุ๊คบล็อคในไทย ขณะที่ 'ฝรั่งเศส-อังกฤษ' ยังเห็น

เรื่องที่สองเกิดขึ้นเมื่อ 25 ก.ค. เมื่อเฟสบุ๊คลบ 22 บัญชี และ 10 เพจในไทยภายใต้ปฏิบัติการจัดการเครือข่ายเพจปลอมกว่า 1,800 บัญชีในไทย รัสเซีย ยูเครนและฮอนดูรัส โดยมีตัวอย่างคือ New Eastern Outlook (NEO) และ The New Atlas และบัญชี Tony Cartalucci (โทนี่ คาตาลุชชี่) บัญชีเฟสบุ๊คที่วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยไทยมานาน

ทางเฟสบุ๊คให้เหตุผลในกรณีของไทยว่ามีการใช้ตัวตนปลอม “fictitious personas” เพื่อเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทย ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ การประท้วงในฮ่องกงและการวิพากษ์วิจารณ์นักกิจกรรมประชาธิปไตยในไทย โดยพบความเชื่อมโยงกับสื่อที่รัสเซียให้การสนับสนุนและเป็นพื้นที่เผยแพร่เนื้อหาที่ผลิตโดยโทนี่ คาตาลุชชี่ ในทางตัวเลข มีการปิด 12 บัญชี 10 เพจ มีผู้ติดตามประมาณ 38,000 บัญชีที่ติดตามเพจเหล่านั้นหนึ่งเพจหรือมากกว่า และเพจมีการซื้อโฆษณาในเฟสบุ๊คไปรวม 18,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

“เราสามารถระบุตัวได้โดยสรุปว่าเครือข่ายดังกล่าวมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับปัจเจกบุคคลที่มีฐานปฏิบัติการในไทย เชื่อมโยงไปถึงสื่อที่รัฐบาลมอสโกให้การสนับสนุนชื่อ New Eastern Outlook” แนธาเนียล กลีเชอร์ หัวหน้าด้านนโยบายความมั่นคงไซเบอร์กล่าวกับรอยเตอร์

สิ่งที่ต้องคำนึงจากการกระหน่ำบล็อกช่วงนี้คือการขาดกลไกการตรวจทานความเหมาะสมของมาตรการของเฟสบุ๊ค เราจะปล่อยให้การดำเนินการของเฟสบุ๊คเป็นไปตามกระแสเศรษฐกิจ-การเมืองโลกและกฎหมายท้องถิ่นเพียงเท่านั้นจริงหรือ ผู้ใช้งานชาวไทย รัฐบาล ประชาสังคมไทยมีส่วนอะไรกับการบอกให้เนื้อหาแบบไหนอยู่หรือไปบนเฟสบุ๊คหรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้บ้าง

ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีก็มีกระแสความกังวลลักษณะนี้ เมื่อมีการผ่านกฎหมาย Network Enforcement Act มอบหน้าที่และอำนาจให้โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มจัดการเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง หมิ่นประมาท ปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงหรือมีความผิดตามรัฐธรรมนูญหลังจากมีการตรวจพบและร้องเรียน 24 ชั่วโมง หากทำไม่ได้ จะมีโทษปรับ 5 ล้านถึง 50 ล้านยูโร กฎหมายผ่านรัฐสภาเมื่อ ก.ค. 2560 ในครึ่งปีแรกของปี 2562 มีผู้ร้องเรียนเนื้อหาในยูทูปไปราว 3 แสนกรณี มีการลบหรือบล็อกการเข้าถึงเนื้อหาไปราว 71,000 กรณี ในขณะที่บนเฟสบุ๊คมีการรายงานไป 674 กรณี ลบหรือบล็อกการเข้าถึงทั้งสิ้น 349 กรณี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีการปลอมแปลงตัวตน ปลอมแปลงข้อมูลบนโลกโซเชียลอย่างแพร่หลายและจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการจัดการกับมัน แต่ปัญหาคือ “ทำอย่างไร” ประชาไทคุยกับมาริโอ แบรนเดนเบิร์ก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้านของรัฐสภาเยอรมัน (Bundestag) ผู้เป็นอดีตคนทำงานในแวดวงไอทีมาก่อน ถึงปัญหาและบทเรียนของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งแนวทางที่ควรจะเป็นเมื่อพูดถึงการจัดการเนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ต

ประชาไท: รัฐควรจะจัดการกับข้อมูลปลอมบนโลกโซเชียลอย่างไร

มาริโอ แบรนเดนเบิร์ก

มาริโอ: แนวทางที่ดีที่สุดคือหลักความโปร่งใสและฐานข้อมูลแบบเปิด (โอเพ่นดาต้า) ถ้าข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ 10 ส่วน แต่คำโกหกมีแค่ส่วนเดียว ทุกคนก็จะสามารถหาข้อเท็จจริงได้อยู่แล้วโดยที่รัฐบาลไม่ต้องไปมีปฏิสัมพันธ์อะไร

(ควรจะ) ร่วมมือกับเอ็นจีโอหรือองค์กรที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอันใดก็ได้ อย่าไปกลัวการเป็นที่เปิดเผย ผู้คนเหล่านั้นเขาทำเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลก็ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา ท้ายสุด ถ้าคุณจำเป็นจะต้องออกกฎหมายเพราะเจ้าของแพลตฟอร์มไม่มีการตอบรับหรือไม่ได้ให้อะไร คุณควรจำเอาไว้ว่า โดยพื้นฐานแล้วเป็นหน้าที่ของพวกเขา (เจ้าของแพลตฟอร์ม) ที่จะต้องช่วยเหลือ แม้ว่าเขาจะพูดว่าเป็นเพียงผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แต่ถ้าพูดกันด้วยความสัตย์แล้ว แพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็นช่องทางเผยแพร่เนื้อหาขนาดใหญ่ในสังคม นั่นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องถามหาบุคคล (จากแพลตฟอร์ม) ที่จะสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าความเท็จมันอยู่ข้างนอกนั้น ความเร็วในการตอบสนองต่อข้อเท็จจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง ถ้าจะมีกฎหมายอย่าง Network Enforcement Act

ในด้านดีก็คือมันบังคับให้บริษัทออกรายงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลและบุคคลที่สามารถติดต่อได้ แต่ด้านอันตรายของกฎหมายนี้ ในมุมของเสรีนิยมก็คือเรื่องเสรีภาพในการพูด ถึงจุดหนึ่ง กฎหมาย Network Enforcement Act ของเราคือการมอบอำนาจและความรับผิดชอบ (outsource) ให้กับบริษัทเอกชนและตัวอัลกอริธึม (บริษัท) มีเวลา 24 ชั่วโมงในการตอบสนอง แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรในกรณีที่มันพิสูจน์ยาก ถ้ามันเป็นมุกตลกล่ะ หรือถ้ามันเป็นมุกตลกเกี่ยวกับศาสนาล่ะ คนในเฟสบุ๊คที่นั่งอยู่ในศูนย์ข้อมูลที่ห่างไกลจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องนั้นๆ เป็นที่ยอมรับในเยอรมนีได้หรือไม่

ถึงจุดหนึ่ง การถ่ายโอนระบบกฎหมายออกไปนั้นมีความอันตรายที่จะนำไปสู่การปิดกั้นเนื้อหามากจนเกินไป (Overblocking) และนั่นไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าคุณพูดบางอย่างที่ถูกต้องออกไปแต่มีคนบางกลุ่มที่ไม่อยากให้คุณพูดมัน ถ้าคุณมีสวิตช์ที่จะปิดทุกอย่างแล้วก็โยนความผิดไปให้กับอัลกอริธึม นั่นถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาธิปไตยแล้ว เมื่อจะผ่านกฎหมายนี้คุณต้องชัดเจนอยู่เสมอว่ามันไม่ทรงอำนาจจนเกินไปจนกลายเป็นการเซ็นเซอร์

กรณีเยอรมนี มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างไร

เราได้รับรายงานจากเฟสบุ๊ค จนถึงตอนนี้ (17 มิ.ย. 2562 วันที่ทำการสัมภาษณ์) ก็ได้มาสองเล่มแล้ว เรากำลังตรวจสอบมันอย่างใกล้ชิด และเนื่องจากผมมาจากพรรคฝ่ายค้าน พวกเรากำลังพยายามหากรณีที่บ่งชี้ว่าเป็นการปิดกั้นเนื้อหามากเกินไปจนใกล้จะเป็นการเซ็นเซอร์ พวกเราพบปัญหาในทวิตเตอร์ในช่วงการเลือกตั้งสภาอียู ที่มีชุมชนชาวยิวตอบสนองกับทวีตของกลุ่มฝ่ายขวา (อนุรักษ์นิยม) และด้วยเหตุผลประการหนึ่ง ทวิตเตอร์และอัลกอริธึมได้บล็อกคอมเมนท์ของกลุ่มชาวยิว ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องที่ผิดอย่างชัดเจน จึงได้มีการให้ทวิตเตอร์มาชี้แจงต่อรัฐสภา และพบว่ากรณีดังกล่าวถูกส่งต่อให้กับศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในอินเดีย

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีการทบทวนกฎหมายนี้ในส่วนต่างๆ เพราะว่าเราพบกับการปิดกั้นเนื้อหามากเกินไป เราไม่สามารถทำให้มัน (การปิดกั้นจนเกินไป) จบลง แต่อย่างน้อยการบังคับให้เฟสบุ๊คส่งรายงานให้เรา เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้ดูว่ามีปัญหาในระดับที่ช่วยเหลือเราได้หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ผมเองก็พูดกับประเทศอื่นๆ ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่ากฎหมายดีหรือไม่ หากเราไม่มีข้อมูล

ส่วนที่สำคัญคือการแก้ไขสิ่งที่ผิดในวิธีการที่ถูกต้อง อาจเป็นวิธีการพบเห็นและแจ้งเตือน หรือการพบเห็นแล้วก็กำจัด แต่ที่จำเป็นคือห้วงเวลาระหว่างการตอบสนองระหว่างฝั่งผู้ใช้งานและแพลตฟอร์ม บางครั้งคุณไม่รู้ว่าอะไรผิดหรือถูก หรืออะไรที่ถูกในประเทศหนึ่ง แต่ผิดในประเทศหนึ่ง ดังนั้นจะต้องมีข้อมูลให้ทั้งสองฝ่ายเพื่อใช้ในการยืนยัน

ตราบใดที่มัน (ข้อมูลปลอม) ยังอยู่บนนั้น มันอาจใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงในการที่ใครสักคนจะมาพบมัน กว่าจะมีใครที่ศูนย์ข้อมูลทราบเรื่องก็เสียเวลาไปแล้วครึ่งหนึ่ง แล้วคุณจะไปพิสูจนได้อย่างไรว่ามันเป็นการหลอกลวง ผมกำลังพูดถึงดีปเฟค (การใช้ปัญญาประดิษฐ์ตัดต่อเสียงพูดและภาพที่สมจริง) หรือวิดิโอที่ตัดต่อล่ะ คุณจะไปพิสูจน์ได้อย่างไรในเวลา 24 ชม. ในมุมแบบนี้มันก็ลำบากเกินไป

รัฐบาลเยอรมันกังวลกับข้อมูลเท็จแค่ไหน

ก็มีความกังวลอยู่ แต่หลังจากการเลือกตั้งสภาสหภาพยุโรป (อียู) เสร็จสิ้นโดยไม่มีการแทรกแซงใหญ่ๆ จากรัสเซียหรือประเทศอื่น มันก็มีแสงที่ปลายอุโมงค์ เราไม่พบความเคลื่อนไหวของข้อมูลเท็จระหว่างการหาเสียงของสภาอียูและการเลือกตั้งในเยอรมนีที่ผ่านมา ในช่วงที่มีความอ่อนไหวในเรื่องผู้ลี้ภัยก็มีปัญหาเรื่องข่าวปลอมอยู่ แต่ว่าตอนนี้ก็ดีขึ้นมาแล้ว เพราะส่วนหนึ่งผู้คนก็พยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

OOOOOOOOOO

แนวทางที่รัฐไทยกำลังเข้าหาโซเชียลมีเดียระดับโลกในวันนี้เป็นอย่างไร ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ ประชาสังคมมีส่วนร่วมแค่ไหนในการเข้าใจและตรวจสอบพฤติกรรมบริษัทเอกชนที่ทุกวันนี้เราใช้เวลาไปกับมันในแต่ละวันเยอะเหลือเกิน คำถามเหล่านี้ต้องมีคำตอบเร็ววัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net