Skip to main content
sharethis

'อังคณา-เตือนใจ' ลาออกกรรมการสิทธิฯก่อนครบวาระ เนื่องจากระบบบริหารภายในกระทบการทำงานเพื่อภาคประชาชน  รวมทั้งระเบียบใหม่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นอิสระในการทำงานและไม่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประธาน กสม. และ กสม.ประกายรัตน์ แถลงข่าวชี้แจงสถานะของ กสม. และขั้นตอนการทำงานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลังจาก กสม. 2 คนลาออก

อังคณา นีละไพจิตร และเตือนใจ ดีเทศน์ (แฟ้มภาพ กสม.)

31 ก.ค.2562 ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันนี้ เวลา 10.30 น. อังคณา นีละไพจิตร และเตือนใจ ดีเทศน์ แถลงต่อสื่อมวลชน กรณีประกาศลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ก่อนครบวาระ ซึ่งมีผลในวันนี้

อังคณา เปิดเผยถึงสาเหตุการลาออกว่า ระบบการบริหารงานภายในองค์กร กระทบต่อการทำงานเพื่อประชาชน แม้จะยังลงพื้นที่พบปะประชาชนได้เหมือนในอดีต แต่ไม่สามารถรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนได้โดยตรง

“ทุกเรื่องร้องเรียนที่มาจากประชาชน ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ว่าจะรับเรื่องร้องทุกข์หรือไม่ ตามข้อระเบียบใหม่ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงอย่างที่เคยเป็น” อังคณา กล่าว

เตือนใจ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้พิจารณาเรื่องการลาออกก่อนครบวาระเช่นกัน ซึ่งมีเหตุผลสอดคล้องกับนางอังคณา โดยนับแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับและ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ฉบับใหม่ประกาศใช้ มีการกำหนดให้ กสม.สามารถตั้งอนุกรรมการได้ เท่าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แตกต่างจากในอดีตที่ กสม.ขณะนั้นจะตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมาหลากหลาย และมีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำให้การทำงานของ กสม.เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในทุกกลุ่มและทุกภาค บรรยากาศจึงเป็นไปอย่างสมานฉันท์ แต่เมื่อมีการการกำหนดให้ตั้งอนุกรรมการเท่าที่จำเป็น กสม.ชุดนี้จึงตีความว่าไม่ควรมีการตั้งคณะอนุกรรมการ เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย จึงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ กสม.เป็นผู้ตรวจสอบ ทำให้ความเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมลดลง หลายเรื่องที่มีการร้องเรียนต้องให้คณะกรรมการพิจารณาและไม่รับเป็นคำร้องมากกว่า ขณะที่การออกระเบียบต่างๆ รองรับกฎหมายใหม่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นอิสระในการทำงานและไม่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ประธาน กสม. แจงสถานะของ กสม. และขั้นตอนการทำงานตามรธน.

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังอังคณาและเตือนใจ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง 

วัส กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องการลาออกเมื่อเช้าวันนี้ (31 ก.ค.62) ตนได้แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ยกเลิกการประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง ที่จะมีขึ้นในเวลา 9.30 น. เนื่องจาก กสม. เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จากนั้นในเวลา 9.45 น. สำนักงาน กสม. ได้เชิญตนและนางประกายรัตน์ เข้าร่วมประชุมกับสำนักงานฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสำนักงานฯ ตั้งแต่เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมรับฟังสถานการณ์และข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

วัส กล่าวว่า กสม. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และเป็นองค์กรกลุ่มในลักษณะเดียวกับองค์กรอิสระอื่นอีกหลายองค์กร ซึ่งทุกท่านมีที่มาแตกต่างกันและมีความคิดที่หลากหลาย อันเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย และเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานขององค์กรกลุ่มที่ย่อมมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ทุกคนต้องเคารพเหตุผลซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องเคารพมติเสียงข้างมากเมื่อมีการลงมติตามกฎหมาย 

วัส กล่าวว่า ยอมรับว่าการทำงานภายใต้กติการัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะผู้ที่ยกร่างได้วางบทบาทหน้าที่และอำนาจของ กสม. ทั้งจากหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน และหน้าที่ที่เกินกว่าสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพึงกระทำ อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำองค์กรกลุ่มก็ได้พยายามประสาน กสม. ทุกคนให้สามารถทำหน้าที่ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหวังให้ กสม. ช่วยสร้างความผาสุกให้กับประชาชนชาวไทยและคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญด้วย ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานภายใต้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พ.ร.ป. กสม.) พ.ศ. 2560 และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทยอยออกตามมาด้วย เช่น ระเบียบ กสม. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561  

ประธาน กสม. กล่าวว่า เคารพการตัดสินใจของอดีต กสม. ที่ลาออกไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด อย่างไรก็ตาม สถานะของ กสม.ชุดที่ 3 ทั้ง 6 คนได้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.ป.กสม. นี้ใช้บังคับ คือ วันที่ 13 ธ.ค.2560 ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป. กสม. (มาตรา 60) แต่กระนั้น บทเฉพาะกาลมาตราดังกล่าวยังให้ กสม. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธาน กสม. และ กสม. ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และในชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. ซึ่งเมื่อได้รายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งแล้วก็จะส่งให้วุฒิสภาดำเนินการต่อไป 

ส่วนที่มีข้อสังเกตว่า การลาออกของ กสม. 2 ท่าน จะทำให้ กสม. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น วัส กล่าวว่า บทเฉพาะกาลมาตรา 60 วรรคสาม บัญญัติว่า กรณีมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา 22 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวให้ครบ 7 คน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จนกว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน และภายในวันนี้ (31 ก.ค.62) ตนจะลงนามในหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 22 ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net