44 ปีลอบสังหาร "อินถา ศรีบุญเรือง" ผู้นำชาวนาภาคเหนือ-ต่อสู้เพื่อสิทธิชาวนาไทย

เยี่ยมเยือน "เรือนคำ ศรีบุญเรือง" คู่ชีวิตของ "อินถา ศรีบุญเรือง" 44 ปีภายหลังการลอบสังหารรองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และบรรณาธิการ "ชาวนาไทย" ในช่วงการต่อสู้ของชาวนาเพื่อเรียกร้องให้เจ้าที่ดินปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา ด้วยการลดค่าเช่านา จนเป็นเหตุขัดแย้งและลอบสังหารผู้นำชาวนาทั่วประเทศก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ครอบครัวของพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง (จากซ้ายไปขวา) เรือนคำ ศรีบุญเรือง ภรรยาของอินถาวัย 85 ปี, อุทัย  ลูกชายคนโต และสารภี ลูกสาวคนรอง

เช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 2518 หรือวันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว เกิดเหตุลอบสังหาร "อินถา ศรีบุญเรือง" หรือ "พ่อหลวงอินถา" รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ วัย 45 ปี ที่บ้านพักซึ่งเป็นร้านขายของชำภายในชุมชนใกล้วัดร้องดอนชัย ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่

รายงานในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2518 ระบุว่า วันเกิดเหตุเมื่อ 31 กรกฎาคม อินถาขายของชำแทนภรรยาที่ไปอบรมวิชาอนามัยที่อำเภอ ต่อมาเวลาประมาณ 09.45 น. ชายสองคนขับขี่จักรยานยนต์ยามาฮ่าสีแดงมาที่ร้านขายของชำ คนหนึ่งติดเครื่องจักรยานยนต์รออยู่ ส่วนชายคนแต่งชุดสากลสีเข้มที่นั่งซ้อนท้ายเดินเข้ามาหาอินถาทำทีขอซื้อบุหรี่ แต่ไม่มีขาย จึงขอซื้อลูกอมฮอลล์ เมื่ออินถายื่นลูกอมฮอลล์ ชายผู้นั้นควักธนบัตรใบละ 5 บาท ยื่นให้อินถา แต่พออินถาเบี่ยงตัวจะหยิบเงินทอน ชายผู้นั้นก็ชักปืนพก .22 แม็กนั่มติดกระบอกเก็บเสียง จ่อยิงศีรษะด้านขวา กระสุนทะลุออกแก้มซ้ายเสียชีวิตคาที โดยชายผู้เป็นมือปืนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์หลบหนีไป

รายงานข่าวลอบสังหารอินถา ศรีบุญเรือง ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ วันที่ 1 สิงหาคม 2518

รายงานข่าวลอบสังหารอินถา ศรีบุญเรือง ในหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ฉบับวันที่ 1-4 สิงหาคม 2518

การลอบสังหารอินถานับเป็นเหตุความรุนแรงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับผู้นำชาวนาในช่วงก่อนเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 โดยในภาคผนวกของหนังสือ "การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย" โดยไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ซึ่งอ้างถึงงานของกนกศักดิ์ แก้วเทพ (2530) และนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ (2542) ระบุว่าระหว่างเดือนมีนาคม 2517 ถึงกรกฎาคม 2522 เกิดเหตุลอบสังหารและเหตุความรุนแรงต่อผู้นำชาวนาทั่วประเทศอย่างน้อย 46 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตและหายสาบสูญ 36 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2518 มีผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ถูกลอบสังหาร 21 ราย

ข้อมูลจากหนังสือ "การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน" อินถา ศรีบุญเรือง เกิดในปี 2473 ที่บ้านร้อง ปัจจุบันคือ หมู่ 3 บ้านศรีคำชมภู ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ภรรยาของเขาคือเรือนคำ ศรีบุญเรือง (ปัจจุบันอายุ 85 ปี) มีลูก 5 คน เป็นชาย 2 หญิง 3 อินถามีสวนผลไม้เล็กๆ และเปิดร้านขายของชำที่บ้าน โดยเขาไม่มีนาเป็นของตัวเองเนื่องจากขายเพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนของลูกๆ

อินถาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วบวชเป็นเณรตั้งแต่อายุ 12-16 ปี เขามีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนมาก่อนที่จะมีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ เขาตั้งกลุ่มละครหมู่บ้าน ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2512 ชาวบ้านจึงติดปากเรียกเขาว่า "พ่อหลวงอินถา" นอกจากนี้เขายังเป็นคณะกรรมการตำบล และผู้นำสหกรณ์ชาวนาระดับอำเภอ แม้จะไม่ได้รับการศึกษาในระบบ แต่อินถาเป็นคนสนใจเรื่องราวชีวิตของกรรมกรและชาวนา โดยฟังวิทยุตลอด เคยร่วมกับนักศึกษาประท้วงฐานทัพสหรัฐอเมริกาในปี 2516 และเมื่อชาวนาทั่วประเทศชุมชนประท้วงในปี 2517 อินถานำชาวนาจากอำเภอสารภีเข้าร่วมการประท้วงที่เชียงใหม่ เขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ และเมื่อมีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2517 อินถาได้รับเลือกเป็นรองประธานภาคเหนือ โดยหลังได้รับตำแหน่งเขาได้ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน

นอกจากนี้อินถา ยังเป็นบรรณาธิการนิตยสาร "ชาวนาไทย" ซึ่งอาศัยห้องว่างในตึกซึ่งเป็นที่พักของอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสำนักงาน นอกจากนี้เขายังทำงานใกล้ชิดกับอินสอน บัวเขียว และบุญสนอง บุณโยทยาน ผู้นำพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยด้วย

เรือนคำ ภรรยาของอินถาซึ่งปัจจุบันอายุ 85 ปี เล่าว่า อินถาเป็นคนพูดจาดีและขยันทำงานช่วยเหลือครอบครัว ตอนที่บ้านขาดสตางค์จะให้ลูกไปโรงเรียน เขาก็บอกภรรยาว่า "ไม่ยากแม่ เดี๋ยวพ่อไปเสาะหามา" จากนั้นเขาก็ออกไปตัดไม้ไผ่มาสานตระกร้าหลายใบ ตอนเช้าก็ส่งไปขายตลาดในเมืองก็ทำให้ได้ค่าขนมให้ลูกไปโรงเรียน

ส่วนบทบาทของเขาในฐานะผู้ใหญ่บ้านถ้าราชการมอบความช่วยเหลือ มอบสิ่งของอะไรมา เขาจะรีบนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือก่อน โดยแจกไว้จนหมดไม่เก็บไว้กับตัวเอง เรือนคำเล่าพลางหยิบภาพถ่ายของอินถา ตอนที่เป็นผู้ใหญ่บ้านกำลังแจกจ่ายข้าวสารที่ได้รับมาจากอำเภอให้ชาวบ้าน

เรือนคำ ศรีบุญเรือง เปิดดูภาพถ่ายเก่าของอินถา และภาพสมาชิกครอบครัว

ภาพอนุเคราะห์จากเรือนคำ ศรีบุญเรือง เป็นภาพถ่ายก่อนปี พ.ศ. 2517 ในภาพคนที่ 2 จากซ้ายคืออินถา ศรีบุญเรือง เมื่อครั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำลังแจกจ่ายข้าวสารที่ได้รับจากอำเภอให้กับชาวบ้าน

เมื่ออินถาเคลื่อนไหวร่วมกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ เรือนคำระบุว่าสามีของเธอเคลื่อนไหวเดินทางขึ้นลงกรุงเทพฯ อยู่ตลอด "เดี๋ยวก็ไป เดี๋ยวก็ไป ขึ้นล่อง ขึ้นล่อง ช่วยชาวนา ช่วยคนทุกข์คนยาก" พอตกกลางคืนที่บ้านหลังเล็กๆ ก็มีชาวนาทั่วเชียงใหม่เดินทางมาหาตลอด "คนก็มากันซุบๆ ซาบๆ หมู่คนทุกข์คนยากมาปรึกษากัน" เรือนคำกล่าว

"พ่อว่า ไม่ให้มีสูงมีต่ำ อยากให้พร้อมเท่ากัน พ่อจะได้สบายใจ ที่พ่อทำไปนะ แม่ไม่ต้องห่วง" อินถามักกล่าวเช่นนี้กับภรรยา

ในช่วงเวลาที่พ่อหลวงอินถาเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน เป็นช่วงที่ขบวนการชาวนาโดยเฉพาะในภาคเหนือร่วมกับ "สามประสาน" หรือนักศึกษา-ชาวนา-กรรมกร ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 รวมทั้งต่อสู้ผลักดันให้เจ้าที่ดิน หรือเจ้าของที่นาที่ให้ชาวนาไร้ที่ดินเช่าทำนา ยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ครอบคลุมถึงภาคเหนือ ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ที่ไม่ครอบคลุมภาคเหนือ นอกจากนี้กฎหมายฉบับใหม่ยังรัดกุมขึ้น มีการกำหนดคณะกรรมการระดับจังหวัดและอำเภอเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีการกำหนดเพดานค่าเช่านา ซึ่งมีผลทำให้ค่าเช่านาลดลง เจ้าที่ดินในภาคเหนือไม่สามารถเก็บค่าเช่านาเป็นผลผลิตครึ่งหนึ่ง หรือผลผลิตสองในสามได้อีกต่อไป

ข้อมูลจากหนังสือ "การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน" ในปี 2516 เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีอัตราเช่านาสูงที่สุดในภาคเหนือ โดยพื้นที่เกษตร 353,221 ไร่ จากทั้งหมด 1,005,468 ไร่ หรือร้อยละ 35.13 เป็นนาที่มีผู้เช่านาใช้อยู่ โดยเชียงใหม่มีครัวเรือนผู้เช่านาสูงที่สุดในประเทศคือ 54,225 ครัวเรือน

โดยในช่วงแปดเดือนหลัง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาผ่านในเดือนธันวาคม 2517 จนถึงการลอบสังหารเขาในเดือนกรกฎาคม 2518 อินถาเดินทางไปทั่วทุกอำเภอในเชียงใหม่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับสิทธิภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ที่จะทำให้ชาวนาที่เช่านาจากเจ้าของที่ดินได้รับส่วนแบ่งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งอินถาและบรรดาสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ต้องเผชิญการขัดขวางจากผู้นำอิทธิพลในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่นอกจากไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ให้ชาวบ้านรับรู้แล้ว ยังโกหกเรื่องสถานการณ์เช่านา รังแก จนถึงขั้นขับไล่สมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ที่เข้าไปให้การศึกษากับชาวนาอีกด้วย

ในวันลอบสังหารเมื่อ 31 กรกฎาคม 2518 เป็นวันที่เรือนคำ ต้องไปอบรมอนามัยที่อำเภอ เรือนคำรื้อฟื้นความทรงจำเล่าว่าอินถาบอกให้ไปอบรมก่อน "พ่อว่า แม่ไปเถอะช่วยบ้านช่วยเมือง ไม่ได้อะไรช่างมัน เขาว่าอย่างนั้น ไม่ได้อะไรช่างมัน ช่วยบ้านช่วยเมือง แม่มันไปเถอะ พ่อจะไปซื้อของมาขาย"

เรือนคำเล่าว่าวันที่อินถาเสียชีวิต ก็ยังได้พูดคุยกันอยู่ ตอนเช้าอินถาไปตลาดสันป่าข่อย เพื่อเอาสินค้ากลับมาขายที่ร้านชำ ลูกๆ ทั้ง 5 คน ไปโรงเรียนกันหมด ส่วนเรือนคำเดินทางไปอบรมอนามัย และก่อนจะเริ่มการอบรม ก็มีเมียหมอที่อำเภอ อายุใกล้เคียงกันเข้ามากวักมือเรียก "เราก็แปลกใจ สภาพมันเหมือนวุ่นวาย เราก็คิดในใจว่า พ่อเป็นอะไรหรือเปล่า?"

เมียหมอเรียกเรือนคำว่า "แม่หลวงมานี่ก่อน เรากลับบ้านกันนะ" เรือนคำกล่าวและเล่าต่อว่า "ตอนนั้นเราก็ตามเขากลับบ้านเลย ไม่ได้ถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้าน" จนเรือนคำมาถึงเห็นคนเป็นร้อยยืนมุงที่หน้าบ้านก็รู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับอินถา

สารภี ศรีบุญเรือง ลูกสาวคนรอง ดูแลร้านขายของชำแทนเรือนคำ โดยจะรับของมาจากตลาด โดยเน้นพวกอาหารปรุงสุก แกงถุง ขนม น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ฯลฯ คนจะมาซื้อเป็นอาหารเช้าก่อนออกไปทำงานหรือไปโรงเรียน โดยช่วงเช้าเป็นช่วงที่ขายดีที่สุด

อุทัย ศรีบุญเรือง ลูกชายคนโตของอินถา ซึ่งปัจจุบันอายุ 66 ปี ในเวลานั้นเขาเพิ่งจบการศึกษาในระดับ ปวช. สาขาช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และเป็นผู้ช่วยเวลาที่พ่อต้องเขียนหนังสือ บอกว่าบทบาทของพ่อกับเขามีทั้งห้ามทั้งหนุน "บางครั้งพ่อก็ห้าม บ้างครั้งก็ให้ไปช่วย บางครั้งก็ให้เราไป พ่อเขาไม่อยากให้เราพัวพันมาก คล้ายๆ ให้เราสนับสนุนอยู่ข้างหลัง"

ทั้งนี้หลังอินถาเสียชีวิต เรือนคำก็เป็นคนดูแลร้านขายของชำเป็นหลัก เธอบอกว่าสภาพลำบากมากแต่ยังดีที่ลูกๆ เป็นคนเชื่อฟังอยู่ ส่วนอุทัย ลูกชายคนโต ซึ่งเป็นคนเดินเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้กับพ่อ หลังจากที่เขาจบการศึกษาระดับ ปวช. ก็มีโอกาสได้ทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในตัวเมืองเชียงใหม่จนกระทั่งเกษียณอายุ โดยเขามีบทบาทหลักช่วยเหลือพี่น้องคนอื่นๆ ในครอบครัวหลังจากพ่อเสียชีวิต ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ หลังจากเรียนจบชั้นประถมสี่ ก็ออกมาช่วยแบ่งเบาภาระแม่เรือนคำ โดยปัจจุบันสารภี ศรีบุญเรือง ลูกสาวคนรองวัย 60 ปี เป็นคนดูแลร้านขายของชำเป็นหลัก

อนึ่งนับตั้งแต่การสังหารพ่อหลวงอินถาจนถึงปัจจุบัน กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถเอาผิดคนลงมือ รวมทั้งไม่สามารถสาวไปถึงคนบงการจ้างวาน โดยในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยจับกุมวิฑูรย์ ธรรมชัย อายุ 24 ปี ชาว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่เมื่อ 10 สิงหาคม 2518 ที่ย่านถนนท่าแพ

สำหรับวิฑูรย์เขามีประวัติก่ออาชญากรรมและเคยติดคุกที่พิษณุโลกในข้อหาร่วมกันฆ่าคนตายและค้ายาเสพติด อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พบปืนของกลางที่เขาใช้ ในชั้นสอบสวนของตำรวจเขารับสารภาพว่าเป็นคนก่อเหตุ โดยได้รับค่าจ้าง 5,000 บาท ทั้งนี้ก่อนคดีขึ้นศาลมีพรรคพวกของวิฑูรย์วิ่งเต้นพยานสำคัญของคดีให้ถอนคำให้การว่าวิฑูรย์เป็นมือปืนโดยเสนอแลกกับเงินอามิสสินจ้าง แต่พยานสำคัญปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 ตุลาคม 2518 เมื่อเริ่มไต่สวนนัดแรก วิฑูรย์ก็กลับคำให้การในชั้นศาล และอีกหลายเดือนต่อมาคดีนี้ก็ถูกยกฟ้อง

 

อ่านประกอบ

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย. -- นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2560.

ขอขอบคุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ที่เอื้อเฟื้อแฟ้มหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์และหนังสือพิมพ์รายวันช่วงปี 2518-2519 มา ณ ที่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท