Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์อัด 'ประยุทธ์' ชี้มีอคติ  ย้ำคนจนแบกทั้งภาษีทางตรงและทางอ้อม ด้าน 'ประยุทธ์' ยันไม่เคยไปดูถูก​ว่าคนจนไม่เคยเสียภาษี​

 

 

31 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับแจ้งจาก กองเลขานุการสมัชชาคนจน ว่า สมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ 2 เรื่อง อคติ กรอบคิดอันไร้ความรู้ เรื่องโครงสร้างทางภาษีที่เหยียดหยามคนจน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "..ทั้งหมดนี่อะไรที่เป็นของคนจน เราไม่ได้ภาษีหรอกครับ เราจะได้จากเขาอย่างเพียงอย่างเดียว คืออะไร ภาษี VAT.."

สมัชชาคนจน เห็นว่า ปัจจุบันคนจนคือ ผู้ที่ต้องแบกรับภาษี ทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม กล่าวคือ ภาษีทางตรง อาทิเช่น แม่ค้าพ่อค้าต้องเสียภาษีป้าย เกษตรกรที่มีที่ดินต้องเสียภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน เป็นต้น และภาษีทางอ้อม อาทิเช่น สินค้าที่ต้องใช้ในอุปโภคบริโภคคนจนก็ต้องเป็นผู้แบกรับภาระภาษีแทนผู้ผลิตและจำหน่าย เช่น ผงซักฟอก  สบู่ ยาสีฟัน น้ำมัน น้ำปลา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น หรือแม้แต่ปัจจัยการผลิตในด้านการเกษตรคนจนต้องแบกรับภาษี เช่น ค่าน้ำมันรถไถ ค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี เป็นต้น แต่ในทางกลับกันการที่มีรัฐบาลที่ไร้ซึ่งความสามารถในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งได้  จนทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนในประเทศไม่มีเงินที่จับจ่ายซื้อสินค้าได้ จึงกลายเป็นปัญหาที่มาของรายได้ประเทศที่เรียกว่า “ภาษี”  แล้วมาอ้างเหตุดังกล่าวว่า  อะไรที่เป็นของคนจน รัฐไม่ได้ภาษีนั้น เป็นการเหยียดหยามคนจน และทำให้คนจนเป็นแพะรับบาปจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาลเอง

นอกจากนี้ คนจนอีกกลุ่มคือผู้ใช้แรงงาน  ซึ่งผู้ใช้แรงงานในทุกวันนี้ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 13,000 – 18,000 บาท หมายรวมถึงค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และเงินพิเศษต่างๆ (รวมเงินโบนัสประจำปี) โดยกระบวนการจ่ายภาษีเงินได้ของผู้ใช้แรงงานนั้น หากมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษีก็จะถูกหักจากเงินเดือนโดยนายจ้างทุกเดือน  ซึ่งวิธีการคำนวณการเสียภาษี นายจ้างจะคำนวณรายได้ทั้งหมดของลูกจ้างในรอบปีนั้นๆ เพื่อนำมาเทียบกับอัตราการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของลูกจ้าง หากลูกจ้างมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นายจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่าย จากลูกจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการคำนวณภาษีดังกล่าว นายจ้างจะนำยอดการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของลูกจ้างของทุกเดือนในรอบปีที่ผ่านมา มาคำนวณ หากพบว่า ยอดภาษี หัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างในปีนั้นน้อยกว่ายอดภาษีที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย ลูกจ้างต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หากยอดภาษี หัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างทั้งปีสูงกว่ายอดภาษีที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย ลูกจ้างสามารถไปยื่นขอรับเงินภาษีคืนได้ที่กรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานในระบบประมาณ ๑๓ ล้านคน เกือบทุกคนมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทบทั้งสิ้น การชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริง และเป็นการดูถูกเหยียดหยามคนจนผู้ใช้แรงงานในระบบว่าไม่เสียภาษีอย่างไม่น่าให้อภัยต่อคำพูดที่มาจากปากคำผู้นำประเทศ

แถลงการณ์ของ สมัชชาคนจน ยังระบุด้วยว่า จากคำกล่าวข้างต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคำกล่าวที่มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดทิศทางและนโยบายของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพให้ประชาชน  แต่คำพูดดังกล่าวกลับสะท้อนให้เห็นถึงมุมมอง และกรอบคิด ของผู้นำประเทศที่มีอคติต่อคนจน คับแคบ เหยียดหยามคนจน ว่าเป็นพลเมืองที่ ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้น ภายใต้กรอบความคิดที่มีอคติของผู้นำประเทศเช่นนี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถเข้าใจมูลเหตุอันสำคัญของปัญหา ยิ่งตอกย้ำความเหลี่ยมล้ำทางสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซ้ำร้ายยังไม่สามารถนำไปสู่การกำหนดทิศทางและนโยบายของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาใดๆ ให้กับประชาชนได้  ซึ่งการกำหนดทิศทางและนโยบายรัฐดังกล่าวต้องเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ไร้ซึ่งอคติ  และตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่เห็นว่า จะมีหนทางใดที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาประเทศที่เห็นหัวคนจน และมองเห็นประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

รายละเอียดแถลงการณ์ 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๒ อคติ กรอบคิดอันไร้ความรู้ เรื่องโครงสร้างทางภาษีที่เหยียดหยามคนจน ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา ในตอนหนึ่งระบุว่า 

“ภาษีมาจากไหน ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสุทธิ ๓.๑๕๘ แสนล้าน ได้มาแค่ ๑๑ เปอร์เซ็นต์  มีคนเสียจริงๆ แค่ ๔ เปอร์เซ็นต์  ๔ ล้านคนที่เสียภาษี  ที่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีบุคคล กรมศุลกากรได้มา ๑ แสนล้าน สรรพสามิตได้มา ๖ แสนล้าน รายได้อื่นๆ มูลค่าเพิ่ม ทั้งหมดนี่อะไรที่เป็นของคนจน เราไม่ได้ภาษีหรอกครับ เราจะได้จากเขาอย่างเพียงอย่างเดียว คืออะไร ภาษี VAT  (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาซื้อของเขาถึงเสีย ด้านการเกษตร เรื่องน้ำ เรื่องต่างๆ ไม่มีการเสียภาษีสำหรับเกษตรกร ท่านต้องดูว่ารายได้ประเทศมันมาอย่างนี้”   

โดยในประเด็นดังกล่าวนี้  มีบุคลากรทางวิชาการ แสดงความเห็นต่อสื่อต่างๆ มากมาย อาทิ 

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในมุมมองที่ระบุว่า“คนจนไม่เสียภาษีจริงหรือ” โดย “ รายได้ของรัฐบาลใน ปี พ.ศ.๒๕๕๗ คือ ๒.๕ ล้านล้านบาท มาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ๒.๘ แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๑๑ ของรายได้รัฐทั้งหมด ภาษีเงินได้นิติบุคคล ๗ แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๘ ของรายได้รัฐทั้งหมด ส่วนที่เหลือราว ๑.๕ ล้านล้านบาท หรือร้อยละ ๖๑ มาจากภาษีบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพาสามิตร อากรขาเข้า-ขาออก ค่าธรรมเนียม”

“ที่ทุกคนต้องจ่ายไม่ว่าจะคนรวย หรือคนจน ผ่านการบริโภค ผ่านการซื้อของ คนรวยใช้จ่ายมาก ภาษีที่คนรวยต้องจ่ายก็มากตาม คนจนใช้จ่ายน้อย ภาษีที่คนจนต้องจ่ายก็น้อยตาม แต่รัฐต้องมีหน้าที่ใช้จ่ายภาษีเอื้อสวัสดิการแก่คนทุกกลุ่ม ตามความจำเป็นอย่างเสมอภาค โดยความเสมอภาคในที่นี้หมายถึง คนจนซึ่งอ่อนแอกว่า มีกำลังและทุนน้อยกว่า ต้องได้รับการดูแลจากรัฐมากกว่าในเรื่องที่ขาดแคลนกว่าคนรวย เช่น การศึกษาและสุขภาพ โอกาสในเข้าถึงงานและแหล่งทุน ฯลฯ”

หรือ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ มีความเข้าใจผิดว่าคนจนเสียภาษีน้อย หรือไม่เสียภาษี จริงๆ แล้วคนจนนั้นเสียภาษีมากอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาได้รับ กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีระบบข้อมูลที่ดีและมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี ”

ผศ. ดร. สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึง “รัฐบาลที่ประณาม หยามหมิ่น ผลักภาระให้คนจน” ว่า “ รายได้ของรัฐบาลไม่ได้มาจากแค่ภาษีทางตรง แต่ยังมีภาษีทางอ้อมด้วย โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นที่มาของรายได้อันดับหนึ่ง ทั้งคนจนและคนรวยก็มีส่วนเสียภาษีนี้เช่นเดียวกัน ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อเทียบกับภาษีเงินได้ของนิติบุคคล จะเห็นได้ชัดว่า บริษัทห้างร้าน นิติบุคคลนั้น จ่ายภาษีมากกว่าเกือบเท่าตัว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรายได้ของบริษัทห้างร้านก็มาจากการใช้จ่ายเงินของประชาชนคนธรรมดา ทั้งคนจน คนรวย แล้วนำเงินไปจ่ายภาษีให้รัฐ โดยถ้าคิดแบบพลเอกประยุทธ์ คนจนจ่ายภาษีน้อย แล้วไปตัดสวัสดิการการช่วยเหลือคนจน เพิ่มผลประโยชน์ให้คนรวย คนจ่ายภาษีเยอะ นิติบุคคล ห้างร้าน ธุรกิจ ที่จ่ายภาษีเยอะก็จะได้รับการตอบแทนทางนโยบายมากกว่า อย่างที่รัฐบาลพยายามจะทำอยู่ทุกวันนี้ แต่กลับไม่คิดว่ารายได้ของห้างร้านเหล่านี้มาจากการใช้จ่ายของประชาชนคนทั่วไปทั้งรวยจน ซึ่งโดยรวมๆ แล้ว คนจนอาจจ่ายภาษีมากกว่าคนรวยด้วยซ้ำ เมื่อเทียบเป็นร้อยละของภาษีที่จ่ายต่อการอุปโภคบริโภค”

สมัชชาคนจน เห็นว่า ปัจจุบันคนจนคือ ผู้ที่ต้องแบกรับภาษี ทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม กล่าวคือ ภาษีทางตรง อาทิเช่น แม่ค้าพ่อค้าต้องเสียภาษีป้าย เกษตรกรที่มีที่ดินต้องเสียภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน เป็นต้น และภาษีทางอ้อม อาทิเช่น สินค้าที่ต้องใช้ในอุปโภคบริโภคคนจนก็ต้องเป็นผู้แบกรับภาระภาษีแทนผู้ผลิตและจำหน่าย เช่น ผงซักฟอก  สบู่ ยาสีฟัน น้ำมัน น้ำปลา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น หรือแม้แต่ปัจจัยการผลิตในด้านการเกษตรคนจนต้องแบกรับภาษี เช่น ค่าน้ำมันรถไถ ค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี เป็นต้น แต่ในทางกลับกันการที่มีรัฐบาลที่ไร้ซึ่งความสามารถในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งได้  จนทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนในประเทศไม่มีเงินที่จับจ่ายซื้อสินค้าได้ จึงกลายเป็นปัญหาที่มาของรายได้ประเทศที่เรียกว่า “ภาษี”  แล้วมาอ้างเหตุดังกล่าวว่า  อะไรที่เป็นของคนจน รัฐไม่ได้ภาษีนั้น เป็นการเหยียดหยามคนจน และทำให้คนจนเป็นแพะรับบาปจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาลเอง

นอกจากนี้ คนจนอีกกลุ่มคือผู้ใช้แรงงาน  ซึ่งผู้ใช้แรงงานในทุกวันนี้  มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ ๑๓,๐๐๐ – ๑๘,๐๐๐ บาท หมายรวมถึงค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และเงินพิเศษต่างๆ (รวมเงินโบนัสประจำปี) โดยกระบวนการจ่ายภาษีเงินได้ของผู้ใช้แรงงานนั้น หากมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษีก็จะถูกหักจากเงินเดือนโดยนายจ้างทุกเดือน  ซึ่งวิธีการคำนวณการเสียภาษี นายจ้างจะคำนวณรายได้ทั้งหมดของลูกจ้างในรอบปีนั้นๆ เพื่อนำมาเทียบกับอัตราการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของลูกจ้าง หากลูกจ้างมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นายจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่าย จากลูกจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการคำนวณภาษีดังกล่าว นายจ้างจะนำยอดการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของลูกจ้างของทุกเดือนในรอบปีที่ผ่านมา มาคำนวณ หากพบว่า ยอดภาษี หัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างในปีนั้นน้อยกว่ายอดภาษีที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย ลูกจ้างต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หากยอดภาษี หัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้างทั้งปีสูงกว่ายอดภาษีที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย ลูกจ้างสามารถไปยื่นขอรับเงินภาษีคืนได้ที่กรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานในระบบประมาณ ๑๓ ล้านคน เกือบทุกคนมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทบทั้งสิ้น การชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริง และเป็นการดูถูกเหยียดหยามคนจนผู้ใช้แรงงานในระบบว่าไม่เสียภาษีอย่างไม่น่าให้อภัยต่อคำพูดที่มาจากปากคำผู้นำประเทศ

จากคำกล่าวข้างต้นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคำกล่าวที่มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดทิศทางและนโยบายของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพให้ประชาชน  แต่คำพูดดังกล่าวกลับสะท้อนให้เห็นถึงมุมมอง และกรอบคิด ของผู้นำประเทศที่มีอคติต่อคนจน คับแคบ เหยียดหยามคนจน ว่าเป็นพลเมืองที่ ไม่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้น ภายใต้กรอบความคิดที่มีอคติของผู้นำประเทศเช่นนี้  จึงสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถเข้าใจมูลเหตุอันสำคัญของปัญหา ยิ่งตอกย้ำความเหลี่ยมล้ำทางสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น  ซ้ำร้ายยังไม่สามารถนำไปสู่การกำหนดทิศทางและนโยบายของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาใดๆ ให้กับประชาชนได้  ซึ่งการกำหนดทิศทางและนโยบายรัฐดังกล่าวต้องเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ไร้ซึ่งอคติ  และตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่เห็นว่า จะมีหนทางใดที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาประเทศที่เห็นหัวคนจน และมองเห็นประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน

สมัชชาคนจน

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒

'ประยุทธ์' ยันไม่เคยไปดูถูก​ว่าคนจนไม่เคยเสียภาษี​

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตนไม่เคยไปดูถูก​ว่าคนจนไม่เคยเสียภาษี​ ขอให้จำไว้ด้วย​ ในวันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา​ ตนพูดว่า​ภาษีมีกี่ประเภท​ ภาษีบุคคลและคนที่มีรายได้น้อยก็ไม่ต้องเสียตรงนี้​ แต่ไปเสียตรงอื่น​ ตนไม่ได้บอกว่าคนจนไม่ได้เสียภาษี​ ก็มีการไปบิดเบือนคำพูด​ จึงอยากขอร้องให้ทุกคนฟังคำพูดที่เป็นข้อเท็จจริง​

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net