Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีการออกมาไลฟ์สด ‘’อีช่อ’’ ของนักการเมืองชื่อดัง อย่างปารีณา ไกรคุปต์ สะท้อนสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนี้ที่มีความสอดคล้องกับสื่อทางเลือก (Alternative media) อย่างเช่น เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ซึ่งผู้เขียนให้นิยามว่าเป็นสื่อทางเลือกแม้ว่าตามความหมาย คือ สื่อที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเพื่อ ต่อสู้ ต่อรอง และต่อต้านกระแสหลัก ทำให้สื่อกระแสหลักสูญเสียอำนาจการผูกขาดข่าวสาร ซึ่งในสมัยนี้แม้ว่าจะมีคนใช้งาน เฟสบุ๊ค จำนวนมากจริง แต่คนบางกลุ่มที่สนใจการเมือง อาจมีจำนวนหนึ่ง ส่วนคนที่ใช้เฟสบุ๊คแต่ไม่สนใจการเมืองและไม่ใช่เฟสบุ๊คก็ยังคงมี ดังนั้นผู้เขียนจึงยังนิยามว่าเฟสบุ๊คยังเป็นสื่อกระแสรอง หรือสื่อทางเลือก


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค ปารีณา ไกรคุปต์ 

ปรากฏการณ์ของ นักการเมืองคนนี้ มีความน่าสนใจ ตรงที่การสร้างตัวแบบ บ้านๆ ใช้ชีวิตติดดิน ใช้คำพูดแถวบ้านจนเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างได้ ถือว่าเป็น นักการเมืองที่ไม่ได้สร้างช่องว่างกับประชาชนมากนัก อีกทั้งเรียกกระแสได้อย่างดี ซึ่งทางการเมืองอาจจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังได้ หากการกระทำปั่นป่วน หรือเกิดกระแสในช่วงเวลาที่สื่อกระแสหลักกำลังให้ความสนใจกับประเด็นอื่น อย่างเช่น กรณีการเลือกประธานสภา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ทางกระแสหลัก และประชาชนให้ความสนใจกับเรื่องราวเหล่านั้น ในขณะที่สื่อกระแสรอง อย่างเฟสบุ๊ค มีคลิปเสียง และข่าวของนักการเมืองบางคน ซึ่งทำให้คนกลุ่มหนึ่งเบี่ยงประเด็นความสนใจไปกับเรื่องเหล่านี้ 

น่าสังเกตมากว่า ข่าวกระแสรองในเฟสบุ๊คกลับถูกไปแสดงซ้ำอีกบนสื่อกระแสหลัก ช่องโทรทัศน์หลัก ทำให้ นักการเมืองบางคนได้รับความสนใจทั้งในกระแสลบและกระแสบวก บนคำด่าทอ และคำชื่นชม ผ่านการโฆษณาหรือมีเนื้อหาพาดพิงเสียดสี ถือเป็นการสร้างโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบหนึ่งของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ที่ นักการเมืองผันตัวเองไปเป็นเน็ต ไอดอล (ดารา คนมีชื่อเสียง ที่เป็นที่ชื่นชอบจากการโพสต์ข้อความลองสื่อสังคมออนไลน์ หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่สื่อ ได้นำเสนอ ออกมา) ยิ่งมียอดไลค์ยอดแชร์มาก อาจจะเป็นตัวชี้วัดหรือวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำเนื้อหา (content) ซึ่งอาจจะไม่ได้คาดหวังแต่คนชื่นชม และแน่นอนว่า ยิ่งดราม่าก็ยิ่งสร้างชื่อเสียงให้คนลง content เพราะจริงๆแล้วสมองชอบและรับรู้เรื่องดราม่าได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้การโฆษณาชวนเชื่อ หมายถึง รูปแบบของการติดต่อสื่อสาร ที่พยายามสร้างอิทธิพล เหนือความคิดเห็นและการกระทําของผู้อื่น โดยไม่คํานึงถึงความเป็นจริงของเนื้อหาของข่าวสารที่ โฆษณา (irrespective of the truth message) การโฆษณาชวนเชื่อมักถูกมองว่าเป็นการเผยแพร่ ข่าวสารที่ขาดความสุจริตใจ อาจมีการบิดเบือนความจริง (distortion) หลอกลวง (deceptive) และ ปิดบังอําพรางบางสิ่งบางอย่างไว้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้โฆษณาชวนเชื่อ หรือเพื่อให้ ได้ผลประโยชน์บางประการตามที่ตนได้คาดการณ์หรือคาดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ( บุญรอด ศรีสมบัติ, “การโฆษณาชวนเชื่อ,” ใน เอกสารประกอบวิชาการปฏิบัติการ จิตวิทยาสนับสนุนการปฏิบัติการพิเศษ, ชุดที่ 23 (กรุงเทพมหานคร: โรงเรียนเสนาธิการทหารบก, 2545), น. 59-60.)

ดังจะเห็นได้ว่าข่าวจำนวนมากที่ไม่เป็นความจริงหรือบิดเบือนเผยแพร่จำนวนมากทั้งในสื่อออนไลน์หรือ สื่อโทรทัศน์บางช่อง ทั้งๆที่เรื่องราวเหล่านี้ผู้รับสารควรตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อ แต่ในอีกมุมหนึ่งข้อมูลบางชุดยากแก่การตรวจสอบ เพราะอาจถูกครอบงำจากนายทุนผู้มีอิทธิพล และรัฐบาล ในเชิงของวัฒนธรรมและค่านิยมตลอดเวลา การที่คนบริโภคข่าวกระแสหลักแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเกิดความเชื่อกับข่าวนั้น และในมุมของนักข่าวเองก็จะต้องมาจรรยาบรรณสื่อ แต่ในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่แบบนั้น 

เอส ดับบลิว วิลเลียม แพททิส (S. W. William Pattis) นักวิชาชีพโฆษณา ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการโฆษณาในลักษณะที่แตกต่างกับคนอื่นว่าเป็น “การสื่อสารในรูปแบบ ใดๆ ซึ่งเจตนาที่จะกระตุ้นผู้มีศักยภาพในการซื้อ (potential buyer) และการส่งเสริมในด้านการ จําหน่ายสินค้าและบริการ (promote the sales of a product) รวมทั้งการสร้างประชามติ การ กระทําเพื่อก่อให้เกิดการสนับสนุนทางการเมือง (political support) การขายความคิดเห็นหรือเสนอ ความคิดเห็นหรือสาเหตุต่างๆ และการกระทำ เพื่อให้ประชาชนเห็นคล้อยหรือปฏิบัติไปในแนวทาง หนึ่ง แนวทางใดที่ผู้โฆษณาประสงค์( บุญรอด ศรีสมบัติ, “การโฆษณาชวนเชื่อ,” น. 58-59.)

วิธีการโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐได้ใช้มาในอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ 

1. การให้ข้อเท็จจริง (News & Information) ออกมาในรูปของการรายงานข่าว

2. การบิดเบือนข่าวที่ได้เลือกสรรแล้ว (Distortion through Selection) โดยการตัดต่อ เสริมแต่ง

3. การโกหก (False Propaganda) เทคนิคนี้ใช้ได้ผลแต่ต้องควบคู่ไปกับการกล่าวซ้ำ แล้วซ้ำเล่าเพราะหลักความจริงมีอยู่ว่า “repetition makes belief”

4. การล้างสมอง (Thought Reform) หมายถึง วิธีการใส่ความคิดใหม่ๆ ให้กับบุคคล ทั้งหลายที่ต้องการโฆษณาชวนเชื่อ อาจจะออกมาในรูปของการอบรม การสัมมนา เป็นต้น

5. การโฆษณาชวนเชื่อซ่อนเร้น(Covert Propaganda) หมายความถึงการไม่ทำ อย่าง เปิดเผย แต่อาศัยวิธีการที่แยบยล 

6. การอ้างเอาสิ่งดีงามอุดมคติมาเป็นเครื่องล่อ (Appeal to Idealism) เช่น การมีชีวิต ที่ดีงามกว่าความยุติธรรมในสังคม

ปรากฏการณ์ปารีณา จึงน่าสนใจในเชิงของการส่งต่อข่าวซ้ำๆ และการออกจากสื่อออนไลน์ไปยังสื่อกระแสหลัก ซึ่งหากมอง ปารีณา ในมุมของนายทุน ปารีณาคือคนขาย เนื้อหา (content) ทั้งการแสดงออกทางเฟสบุ๊คส่วนตัว หรือไลฟ์สดนั้น ผ่านไปยังช่องทางสื่อกระแสรอง ปารีณาอาจจะมีความคาดหวัง หรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอยู่ในใจ แต่เมื่อส่งสารผ่านช่องทางดังกล่าว ผู้บริโภคของเขาก็คือ คนกลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจในการเมือง และคนกลุ่มนั้นคือลูกค้าใหญ่ของปารีณา ซึ่งการที่คนเข้ามาดูไลฟ์ ไลค์รูปภาพ หรือแชร์ ก็แสดงว่า    ปารีณาสามารถขายสินค้าออกได้ โดยอาจจะไม่รู้สึกสนใจคำด่าทอต่างๆนั้นเพราะถ้าใส่ใจมากเกินไปก็ไม่น่าจะสร้างคอนเทนท์ใหม่ๆได้ แต่ผู้บริโภคซื้อคอนเทนท์ไปจำนวนมาก และกำไรของปารีณาก็คือ ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของเขา การสร้างความรู้จักจากการแชร์ต่อๆกัน และเกิดกระแส ทั้งยังได้อีกอย่างคือ การที่สื่อกระแสหลักเชิญไปออกรายการ ข่าวไปออกซ้ำ จนเป็นที่รู้จัก และสร้างอัตลักษณ์ให้กับตัวเอง ว่า นักการเมืองคนนี้เป็นแบบนี้ ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งชื่นชมและรอคอยคอนเทนท์ของปรีณา และคนอีกกลุ่มก็รอด่าทอ ซึ่งยิ่งแชร์ ยิ่งไลค์ กระแสหลักนำไปทำข่าวต่อ ก็ยิ่งสร้างกำไรให้ปารีณา ดังนั้น การลงทุนของปารีณาอาจจะไม่คุ้มค่าในมุมมองของคนกลุ่มหนึ่ง แต่คนกลุ่มหนึ่งก็ยังบริโภคคอนเทนท์ของปารีณา ทั้งๆที่ตำแหน่ง เงินเดือน ของปารีณายังคงอยู่ แม้ว่าจะแลกมาด้วยภาพลักษณ์ แต่นั่นแปลว่าความคุ้มค่ากับ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) คือคนวิจารณ์การแสดงออกของปารีณาแบบนั้น แต่ก็ยังคุ้มค่าเพราะ มีผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง และยิ่งทำให้เขามีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะเวทีการอภิปราย เพราะ เขามีภาพลักษณ์และอัตลักษณ์แบบนั้นก็ยิ่งผลักดันให้เขามีโอกาสมากขึ้นเช่นกัน และคนจำนวนหนึ่งก็รอสร้างคอนเทนท์ด่าทอ ชื่นชม ทางโลกออนไลน์ ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา 

ดังนั้นแม้ว่าสื่อกระแสรองมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากจริง การโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ก็ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย แต่สิ่งสำคัญการกลั่นกรองข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็สร้างกำไรให้ผู้ผลิตมากเช่นกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net