ปรสิตภายใต้ทุนนิยมสัญญะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากที่ญี่ปุ่นชนะรัสเซียปี 1905 ญี่ปุ่นก็มีอำนาจเหนือเกาหลีโดยสมบูรณ์ พร้อมกับได้รับการยอมรับจากสหรัฐและอังกฤษ เกาหลีต้องทำสัญญาว่าจะไม่ทำข้อตกลงกับต่างประเทศโดยไม่ผ่านญี่ปุ่น นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังสามารถแต่งตั้งข้าหลวงมาตามดูจักรพรรดิเกาหลีได้ตลอดเวลา ต่อมาได้มีการลงสนธิสัญญาผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นโดยนายกยี วันยอง ถือเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์โชชอนที่ปกครองเกาหลีมา 518 ปี

เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นราว 35 ปี ในช่วงนั้นญี่ปุ่นแสวงหาผลประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานโดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจเกาหลีตกต่ำอย่างมาก เกาหลีได้เอกราชจากญี่ปุ่น หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ในปี 1945 แต่ตามมาด้วยการถูกแบ่งประเทศออกเป็นสองส่วน โดยใช้เส้นขนานที่ 38 ท่ามกลางการต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเกาหลีใต้ สหรัฐ และสหประชาชาติ

คิมอิลซองดำเนินแผนการรวมชาติเกาหลีโดยใช้กำลังทหารเกิดเป็นสงครามเกาหลี ปี 1950-1953 ด้วยความช่วยเหลือจากจีนอย่างออกหน้าออกตา โซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป จนเกาหลีเหนือรอดพ้นจากความพ่ายแพ้ จนกระทั่งถึงปลายทศวรรษ 1980 ที่มาถึงการล่มสลายของโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์สั่นคลอน แต่ระบอบการปกครองในเกาหลีเหนือกลับไม่ล้มพับตามกันไป ผู้นำยังคงผูกขาดอยู่ในครอบครัวตระกูลคิม

ในส่วนของเกาหลีใต้ หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ ประเทศทุนเสรีนิยมอย่างสหรัฐส่งทหารมาใต้เส้นขนานที่ 38 ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น จัดตั้งรัฐบาลทหารปกครองเกาหลี ปี 1945-1948 มีการคงกำลังกำลังทหารสหรัฐฯอยู่ในเกาหลีใต้ตั้งแต่สงครามเกาหลีจนถึงปัจจุบันกว่าสามหมื่นนาย ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจแทนที่เจ้าจักรวรรดิอาณานิคมเดิมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส อเมริกาสนับสนุนเจียงไคเช็คในจีน ในช่วงเดียวกันโซเวียตก็สนับสนุนกองกำลังคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ อย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ช่วยโฮจิมินต์ในการทำสงครามอิสรภาพปลดแอกจากฝรั่งเศส

ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีและสหรัฐฯแสดงออกอย่างเด่นชัดอีกครั้งเมื่อสหรัฐฯได้เข้าช่วยเหลือวิกฤตทางการเงินในปี 1997 ผ่านการเข้ามาของสถาบันด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และ IMF สหรัฐฯกลายเป็นทั้งแหล่งเงินทุนและแหล่งสนับสนุนเทคโนโลยีชั้นสูง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสังคม

การผงาดขึ้นของอิทธิพลของสหรัฐฯในยุคสงครามเย็นพร้อมกับการความพ่ายแพ้แตกกระเจิงของขบวนการฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 1980 ได้ก่อกำเนิดกลุ่มนักคิดสำนักออโตโนเมีย มีนักคิดที่สำคัญคือ Negri และ Hardt ที่เสนอว่าระบอบทุนนิยมในปัจจุบันอยู่ภายใต้จักรวรรดิ (empire) นักคิดยุคหลัง-ออโตโนเมียได้พยายามต่อยอดและโต้แย้งความคิด Bifo เสนอว่า Negri มองโลกในแง่ดีเกินไปและละเลยการมองไปถึงกลไกการควบคุมระบบทุนนิยม หรือระบบทุนนิยมสัญญะ (semicapitalism)

จากเดิมระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมวางอยู่บนระบบสายพานและการจ้างงานตลอดชีวิตแบบใน Modern Times (1936) ของ Charlie Chaplin ที่ล้อเลียนอุตสาหกรรมการผลิตแบบฟอร์ด แต่ระบบทุนนิยมสัญญะเป็นรูปลักษณ์ใหม่ของทุนนิยมที่กระจายแทรกซึมทั่วทั้งสังคม ทั้งชีวิตทีทำงานและบ้านจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ ผ่านรับระบบภาษาและสัญญะ

เครื่องจักรที่เคยเป็นวัตถุของการวิพากย์และจ้องมอง Bifo เสนอว่าจริงๆแล้ว เราไม่อาจแยกการวิเคราะห์ระหว่างมนุษย์และเครื่อจักรออกจากกันได้อีกต่อไป หรือเกิดสิ่งที่เรียกว่า ชีวะเครื่องจักร (biomachine) หากลองเทียบเคียงกับ Parasite ของ Bong Joon-ho ก็คงทำให้นึกถึง Geun-se สามีของ Moon-gwang อดีตแม่บ้านของคฤหาสน์ของครอบครัว Park โดย Geun-se หลบหนีการทวงหนี้อันโหดเหี้ยมของระบบการกู้เงินนอกระบบ มาอาศัยชั้นใต้ดินคล้ายกับแมลงสาบให้ภรรยาของเขาเลี้ยง Geun-se ตอบแทน Park ด้วยการเป็นระบบเซ็นเซอร์สัญญาณไฟให้กับทางเดินขึ้นบ้านผ่านเลขรหัสมอร์สฐานสอง (binary digits)

ระบบการเงินนี่เองที่เข้าเข้ามาเป็นกลไกนามธรรมที่คุมขังและขูดรีดมนุษย์ให้อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมสัญญะ ผู้ติดหนี้ถูกทำให้รู้สึกผิดภายใต้ระบบศีลธรรมที่ฝังลึกในระดับตัวตนภายใน ระบบการเงินนี่เองที่ทำให้เรารู้สึกว่าการทำงานเกิดขึ้นตลอดเวลาไม่มีขอบเขตของการหยุดพักหลัง 8 ชั่วโมงในตอนเช้าที่ทำงาน เพราะเราจะรู้สึกว่าต้องหาเงินมาใช้หนี้ตลอดเวลาแม้กลับมาที่บ้านแล้ว

ในระบอบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่ขับเคลื่อนผ่านโครงข่ายทางการเงินที่สหรัฐฯเข้าไปอุ้มชู มักเสนอว่าชนชั้นกรรมาชีพกำลังจะหมดไป (deproletarianization) ทุกๆคนกำลังกลายมาเป็นเจ้าของกิจการของเป็นผู้ประกอบการ แต่ความจริงแล้วก็มิได้ต่างอะไรไปจากชนชั้นกรรมาชีพในระบอบทุนนิยมแบบใหม่เท่านั้นเอง และรัฐภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือเผด็จการต่างก็คุ้มครองและสนับสนุนระบบการเงินทั้งสิ้น หรือพูดให้ง่ายหากมองผ่าน Parasite แล้ว ทั้งเกาหลีเหนือที่เป็นเผด็จการและเกาหลีใต้ที่เติบโตมาจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ของสหรัฐฯ ก็ต่างล้วนประสบความทุกข์ระทมจากระบบการเงินที่กดทับชนชั้นแรงงานไม่ต่างกัน

ระบบทุนนิยมสัญญะจึงมิได้มีโครงสร้าง คล้ายกับที่ Foucault เรียกว่า Govermentality ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อปกครองและควบคุมจากภายในของชิ้นส่วนที่แตกกระจาย ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ สลับสับเปลี่ยนหน้าที่ระหว่างส่วนอื่นๆ กลายเป็นสิ่งอื่นๆ (becoming) ภายในระบบได้ตามความต้องการของทุน

ทุนการเงินมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างระบบหนี้และระบบเครดิต ซึ่งมาพร้อมกับการลดสวัสดิการรัฐ ทำให้กลุ่มทุนลดภาระที่จะต้องจ่ายค่าสวัสดิการให้กับประชากรในรัฐผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) ระบบหนี้มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจแทนการแทรกแซงโดยรัฐ ประชากรส่วนใหญ่ล้มเหลวในการสร้างตัวตนของการเป็นผู้ประกอบการ เราต่างกลายเป็นลูกหนี้ โดยทั้งหมดแล้วรัฐไม่ว่าจะเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือเผด็จการล้วนแล้วแต่ผลักภาระการแบกรับความเสี่ยงให้กับประชาชน

ภาพที่ชัดเจนคงเป็นคำพูดของ Ki-taek คุยกับ Ki-woo ถึงชีวิตที่ไม่ต้องวางแผน เพราะชีวิตประชาชนชั้นแรงงานของเกาหลีใต้ไม่อาจคาดเดาอะไรได้ เต็มไปได้ความเสี่ยงในชีวิตที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา “ใครในโรงยิมนี้จะมีแผนว่า คืนนี้เราไปนอนที่โรงยิมเล่นกันดีกว่า” นั่นเพราะนี่คือรัฐที่ไม่เหลียวแลคนจน มองเห็นประชาชนไม่ต่างจากแมลงสาบ ผิดกับคนร่ำรวยชนชั้นกลางระดับสูงเจ้าของกิจการส่วนน้อยมากๆ ของประชากรที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองได้ อย่างครอบครัว Park และแขกเหรื่อที่มาร่วมงานวันเกิดที่สามารถเนรมิตขึ้นมาได้ดั่งใจฝันได้ทันตา แขกทุกคนพร้อมแต่งตัวงดงาม ร้องเพลงตะวันตก ในขณะที่ประชาชนข้างนอกหลายพันคนไม่มีที่อยู่อาศัย

แล้วความปรารถนาของชนชั้นแรงงานอย่างครอบครัวคิมถูกขับเคลื่อนได้อย่างไร นักคิดกลุ่มออโตโนเมียให้ความสนใจกับงานเขียนของ Deleuze และ Guattari เป็นอย่างมาก ซึ่งได้เสนอว่ารัฐ (State) คือระบบความคิดนามธรรมที่บริหารจัดการตัวตนของมนุษย์ทั้งความปรารถนาและศักยภาพ พวกเขาเปรียบเทียบรัฐกับปมอิดิปุส ด้วยแนวคิดของฟรอยด์ที่มองว่าความผิดปกติทางจิตถูกอธิบายได้ด้วยการขาด (lack) ความปรารถนาของมนุษย์จึงเป็นความปรารถนาที่ต้องการตามหาชิ้นส่วนมาเติมเต็มความขาดพร่องของตนเอง ซึ่งแนวคิดการกลับไปตามหาความสัมพันธ์แบบพ่อลูกเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์ของอำนาจที่ไม่เท่าเทียม Deleuze และ Guattari มองว่าทัศนะที่มองเรื่องการขาด (lack) เป็นแนวคิดแนวดิ่งแบบรัฐ

หากภายใต้ระบบทุนนิยมสัญญะนี้ประกอบไปด้วยการเข้ารหัสและแปลรหัส รัฐก็มีหน้าที่การยึดจับและบันทึกกระบวนการเหล่านั้น ควบคุมการสร้างความหมาย (overcoding) ไม่ให้สิ่งที่ไร้ความหมายปรากฏขึ้น (non-sense) Deleuze และ Guattari ยังเสนอไรโซมหรือรากไม้ที่เคลื่อนที่ในแนวระนาบ ต่างจากต้นไม้ใหญ่ที่ทำตนเป็นแก่นแท้ (essence) และแตกรากย่อยออกไปที่เป็นแนวคิดแบบรวมศูนย์และมีลำดับชั้นเหมือนแนวคิดรัฐ

ก้อนหินที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องรางนำโชค (ร้าย) มาแก่ครอบครัวคิม และการเห็น “ผี” ของลูกชายตระกูลพัคจะนำมาซึ่งกำไรบริษัทมหาศาล สองปรากฏการณ์นี้ชวนให้คิดถึงว่าก้อนหินที่ในตอนสุดท้ายถูกเอากลับไปวางไว้กับหินก้อนอื่นๆ ในลำธารตามธรรมชาติซึ่งไม่ได้ต่างอะไรไปจากก้อนหินก้อนอื่นๆ หินก้อนนี้เป็นมรดกจากปู่ของมินที่เคยรับราชการกองทัพ เพื่อนชายที่ Ki-woo ใฝ่ฝันจะไปให้ถึง หินที่ดูจะเข้ากันไม่ได้กับบ้านที่เหมือนท่อน้ำคล้ายที่อยู่แมลงสาบอย่างบ้านของ Ki-woo

เพราะการพยายามจะตีความก้อนหิน หรือการพยายามจะตีความรูปวาดของ Park Da-song มันคือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยแรงปรารถนาของชนชั้นล่างของ Ki-woo เพื่อจะก้าวข้ามชนชั้น มันคือการพยายามมองสิ่งที่ไม่มีความหมาย ให้มีความหมาย หรือกระบวนการสร้างความหมาย (overcoding) เช่นเดียวกับการแปลการเห็นผีและการเป็นลมของลูก เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและฟาดเคราะห์ นั่นแสดงถึงว่าชนชั้นพวกเขาครอบครองความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ของกระบวนการตีความและสร้างความหมายต่อสิ่งที่ไร้ความหมาย (non-sense) ให้เกิดความหมายตามที่เขาต้องการ (คือกล่าวได้ว่าพวกเขารวยอยู่แล้วจะตีความเหตุการณ์ลูกเป็นลมอย่างไรก็ได้) และพวกเขาทนไม่ได้ถ้าไม่จับยัดความหมายลงใส่เหตุการณ์ไร้สาระเช่นนี้

ไรโซมจึงเป็นการเชื่อมต่อและมีความแตกต่างหลากหลายสูงที่มาประกอบร่วมกัน (asemblage) ไรโซมจึงกลายเป็นเครื่องจักรแห่งความปรารถนา (desiring machine) ที่สร้างสิ่งไร้ความหมายและเป็นส่วนเกิน ระบอบฟาสซิสต์ในยุคนี้ที่อาจเป็นเกาหลีเหนือในรูปลักษณ์ของเผด็จการทหาร หรือเกาหลีใต้ที่ระบอบอำนาจนิยมและลำดับชนชั้นถูกจัดวางอำพรางตา ระบอบเหล่านี้ Deleuze และ Guattari เสนอว่ามันทำให้เราทั้งหลายกลายเป็นลูกกำพร้า ฟาสซิสต์คือระบบที่ทำงานในตัวตนความคิดของเรา ทำให้เราขาดพร่องและต้องการการเติมเต็มตลอดเวลา

เปรียบเทียบกับชีวิตของครอบครัว Park ที่ Ki-woo อยากได้อยากมี พยายาม “วางแผน” เอาสมาชิกในครอบครัวไปสวมทับกับครอบครัวไฮโซ หรือแม้แต่เพื่อนของ Ki-woo ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ มีชีวิตที่น่าใฝ่หาไปให้ถึง Ki-woo ถึงกับมีความปรารถนาใน Park Da-hye ผู้หญิงคนเดียวกัน รวมไปถึงความหลงไหลในหินปราชญ์ ของประดับบ้านที่ Park Yeon-kyo แม่ของเขามองว่าขอเป็นของที่กินได้ดีกว่า

อีกหนึ่งประเด็นใน Parasite ก็คงเป็นเรื่องของการล้ำเส้น Park ไม่ชอบให้แรงงานถามคำถามจุ้นจ้าน ซึ่งทั้งเรื่องก็ไม่เคยเปิดเผยว่าอะไรคือเรื่องที่ล้ำเส้น แต่มีจุดที่น่าสนใจคือทุกครั้งที่ Ki-taek ถามเรื่องความรัก เขาจะหยุดชะงักและดูไม่ค่อยพอใจเท่าไรนักที่แรงงานอย่างเขาถามคำถามเช่นนี้ออกมา แล้วความรักในโลกทุนนิยมเป็นอย่างไร

Alain Badiou เสนอว่าความรัก ภายใต้ระบบทุนนิยมที่ควบคุมจิตใจเราให้กลายเป็นพวกหลงและหมกมุ่นเรื่องของตัวเอง หลงในการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบและชีวิตที่จัดการควบคุม วางแผนได้ (narcissistic) หรือเราได้กลายเป็นตัวตนที่ชอบสร้างความสำเร็จ (achievement-subject) ซึ่งสุดท้ายทำให้เรากลายเป็นซึมเศร้าและหมดไฟ ความรักจึงกลายเป็นการสร้าง Two Scene หรือฉากที่ไม่ได้ถูกนำมารวมเป็นหนึ่งเดียว (one scene) เริ่มด้วยการลดความคลั่งไคล้ตัวเอง (de-narcissisification) และซับเจ็คที่แท้จริงของโลกแห่งความรักคือการเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่น (becoming) ที่เราคาดเดาไม่ได้ ต้องยอมเสี่ยง ต้องยอมออกจากโลกที่เราคุ้นเคย

Two scene จึงเป็นการรวมตัวกันของจิตใต้สำนึกของเราแต่ละคน จิตไร้สำนึกคือส่วนที่ไม่ใช่ตัวเรา คือพ้นวิสัยการรับรู้ของเรา แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเราอยู่ดี จิตไร้สำนึกคือส่วนที่ทำให้แผนการของเราไม่เป็นไปตามแผน Lacan มองว่าความสัมพันธ์ทางเพศนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะ หนึ่ง เซ็กส์คือการที่เรากระทำกับอีกฝ่ายในฐานะวัตถุ (partial object) เป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความใคร่และแรงปรารถนา มิใช่ความรัก เซ็กส์จึงมิได้ต่างอะไรจากการช่วยตนเอง และสองคือมนุษย์ไม่ได้มีความเป็นชายหรือหญงอย่างสมบูรณ์ ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามของกันและกันอย่างแท้จริง ไม่ได้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเติมเต็มให้ใคร

สังเกตได้จากฉากเซ็กส์ภายนอกของคุณหญิงคุณนาย Park ที่พวกเขาช่วยตัวเองให้กันและกันนี่จึงเป็นภาพของเซ็กส์ที่กระทำกันในฐานะวัตถุของกันและกัน เช่นเดียวกับความปรารถนาของ Ki-woo ที่มีต่อ Park Da-hye ก็เป็นเพียงความต้องการขยับชนชั้ตัวเองไปสู่ภาพฝันในจินตนาการที่ใฝ่หา มิใช่ความรัก เราชอบคนๆ เดียวกับเพื่อนที่จบการศึกษาระดับสูงกว่า มีอนาคตก้าวไกลกว่า เพื่อให้ตัวเขาไปสู่ตัวตนที่ขาดหาย (lack)

หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของคุณหญิงคุณนาย Park ที่ผู้เขียนไม่รู้สึกถึงความรักเลยแม้แต่น้อย เขาทั้งคู่ดูเป็นชิ้นส่วนที่เติมเต็มให้กันมากกว่า ยิ่งพ่อบ้าน Park ที่ดูสนใจลูกชายมากกว่าลูกผู้หญิง และขับเบียบบทบาทเพศหญิงให้กลายเป็นเพียง “แม่บ้าน” และ “เมีย” ทำให้นึกถึงแนวคิดกลุ่ม Autonomist Feminism ที่เสนอว่าผู้หญิงถูกสร้างภาพให้เป็นรองและด้อยกว่าเพศชาย ด้วยการให้อยู่กับบ้านและบริการให้ความสุขเพศชายด้วยงานบ้านที่เพรียบพร้อมและเซ็กส์

Federici ได้เสนอว่าระบอบค่าแรงนี่เองที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ (the patriarchy of wage) ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เน้นส่วนที่สำคัญคือการสร้างคุณค่า พร้อมกันก็ลดคุณค่าของกำลังแรงงาน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือระบบการแบ่งงานกันทำตามเพศ คืองานของเพศชายกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามีสิ่งตอบแทน แต่งานบ้านของเพศหญิงกลับเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีผลผลิตชัดเจน ไม่สร้างรายได้ งานบ้านจึงกลายเป็นการขูดรีดอย่างถึงที่สุดที่ทุนนิยมกระทำต่อเพศหญิง พอเพศชายไม่สามารถหารายได้เพียงพอกับครอบครัว เพศหญิงจึงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็คือการเกิดขึ้นของงานภาคบริการ เช่น แม่ครัว พนักงานเสิร์ฟ และคนทำงานความสะอาด ไปจนถึงแม่บ้านอย่าง Park Yeon-kyo ทำให้งานที่ผู้หญิงทำคือทั้งงานนอกบ้านและงานในครัวเรือน

ส่วนที่น่าสนใจใน Parasite คือฉากงานวันเกิดของ Park Da-song ครอบครัว Park เล่นเป็นอินเดียนแดง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อเมริกันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคจักรวรรดิ แต่คนเกาหลีทั้งชนชั้นกลางระดับสูงและชนชั้นแรงงานต้องมาแสดงปาหี่เล่นกัน รวมถึงวัฒนธรรมที่พวกเขารับมาทั้งการเรียนลูกเสือจาก Baden-Powell คนอังกฤษที่สร้างรากฐานของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่แบบวิคตอเรียน ดนตรีและการร้องเพลงคลาสสิค เสื้อผ้าเครื่องแต่ง พิซซ่า ไปจนถึงระบบความคิด เหล่านี้อาจกล่าวได้หรือไม่ว่าคือผลผลิตของการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอเมริกันในช่วงสงครามเย็น

การแบ่งทีมอินเดียนแดงเป็นฝ่ายชายคือคุณ Park Da-song และ Ki-taek อีกฝ่ายคือคนเชิญเค้กซึ่งประกอบไปด้วย Ki-jung และ Park Yeon-kyo ยังรวมไปถึงแม่ครัวทำเค้กคือ Chung-sook นี่คือการจำลองสงครามที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเพศภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ที่ปะทุดุเดือดอย่างซ่อนเร้นตลอดทั้งเรื่อง ไม่แพ้ประเด็นเรื่องความเคียดแค้นระหว่างชนชั้น ที่ถูกนำเสนอในเวลาต่อมาด้วยฉากที่คุณ Park พยายามช่วยลูกชายที่เป็นลม แต่กลับไม่แยแสชนชั้นแรงงานี่ทำงานรับใช้พวกเขากำลังตายต่อหน้าต่อตา

แล้วทางออกของออโตโนเมียต่อระบบทุนนิยมสัญญะคืออะไร Negri เสนอสิ่งที่เรียกว่า multitude ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับประชาชน (แน่นอนว่าคนละเรื่องกับราษฎร) ซึ่งเป็นผลผลิตของระบอบมีรัฐ แต่ multitude เป็นตัวตนที่รวมเอาความหลากหลายในพื้นที่รวม ซึ่งเป็นการสื่อสารในแนวราบ มีความเท่าเทียมและไม่ขึ้น กับศาสนา โดยไม่มีตัวกลาง (mediater, represent) ไม่ว่าจะเป็นรัฐ (แบบที่เราเห็นในเกาหลีเหนือ) หรือพรรคการเมือง (ที่เราเห็นในเกาหลีใต้)

ความหลากหลายไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมีรัฐหรือตัวกลาง การเชื่อมต่อต้องเกิดขึ้นผ่านการก่อรูปของความสร้างสรรค์และเสรีภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการปฏิวัติ ทั้งเป็นการสร้างและทำลายไปพร้อมๆกัน ซึ่งการสร้างส่วนร่วมนี่เองจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความรักหรือ amor ซึ่งเป็นความรักในแนวระนาบหรือ singularity ไม่ใช่จากข้างบนสู่ข้างล่าง ไม่ใช่การตามหาชิ่นส่วนที่ขาดหายของกันและกัน ความรักนี่เองจะทำให้เราลดความสุดโต่งและเป็นปัจเจกผู้หลงตัวเองลงได้

ความรักจะเป็นสิ่งที่เชื่อมศักยภาพหรือ conatus กับพลังแห่งการผลิตหรือ cupiditas เข้าด้วยกัน ความรักจึงเป็นการมุ่งสร้างส่วนรวมไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งความรักประเภทนี้จะไม่เหมือนกับความคลั่งไคล้ในความเหมือน (love of the same) เช่นความคลั่งชาติ (ทำให้นึกถึงฉากภรรยา Park ที่เกลียดญี่ปุ่นฝังใจจนจัดโต๊ะในงานวันเกิดเสียดสีญี่ปุ่น จนลืมสิ่งที่อเมริกันทำกับชาติตนเอง หรือป้า Moon-gwang ที่ล้อเลียนเกาหลีเหนือโดยที่หากมองไปแล้วสิ่งที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เผชิญแทบไม่ต่างกัน)

ความรักแบบ amor จึงเป็นความรักที่ยอมรับในความหลากหลาย เปิดไปสู่ความสัมพันธ์ที่คาดเดาอะไรไม่ได้ สร้างและพัฒนาศักยภาพตนเองไปในทิศทางที่แตกต่าง บนฐานที่พื้นที่ร่วมกัน

ในทางตรงกันข้าม ทุนนิยมสัญญะได้ทุบทำลายการรวมตัวของพลังแห่งการผลิตแตกออกเป็นชิ้นส่วนกระจัดกระจายจนอยากจะเชื่อมกลับมาให้เป็นรูปเป็นร่าง ดั่งตอนท้ายของ Parasite เป็นการเล่าเนื้อความในจดหมายของพ่อลูกที่ต่างคนต่างพูดถึงความหวังความปรารถนาของตนเอง ว่าวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถขยับเลื่อนตัวเองไปถึงชนชั้นที่สูงขึ้นตามลำดับชั้นของรัฐทุนนิยม อีกนัยหนึ่งก็คือการที่พวกเขาเลือกที่จะต่อสู้กันเพียงลำพัง ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าวันหนึ่งจะได้พบกันอีกสักครั้ง

พวกเขาต่างอ่านจดหมายของตนเองที่มิได้ต่างไปจากการสำเร็จความใคร่ของตนเอง ในบ้านที่แสงไฟกระพริบติดๆ ดับๆ ที่หากถอดความแล้ว ไม่ว่าจะในบ้านรูหนู หรือบ้านคฤหาสน์ ต่างถูกแปลความ (overcoding) ได้ว่า "ช่วยพวกเราด้วย" ทั้งนั้น

อ้างอิง
-เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, CONATUS ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21, ILLUMINATIONS EDITIONS, 2561
--เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, Autonomia : ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของการปฏิวัติ, ILLUMINATIONS EDITIONS, 2560
-สรวิศ ชัยนาม, ทำไมต้องตกหลุมรัก: Alain Badiou ความรัก และ The Lobster, ILLUMINATIONS EDITIONS, 2562

 

Parasite (Bong Joon-ho, 132 min, 2019)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท