Skip to main content
sharethis

บังกลาเทศกำลังประสบปัญหาโรคไข้เลือดออกระบาดหนัก เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขเผย ติดเชื้อแล้วมากกว่า 1,000 คน ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ถือเป็นการระบาดของไข้เลือดออกครั้งเลวร้ายที่สุดในบังกลาเทศ ไม่นานนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่าโลกร้อนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยุงมีจำนวนมากขึ้นด้วย อีกงานวิจัยหนึ่งระบุถึงการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ภาพยุงลาย (ที่มา:วิกิพีเดีย)

1 ส.ค. 2562 อายชา อัคตาร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของกองอำนวยการสาธารณสุขบังกลาเทศกล่าวว่า ในบังกลาเทศกำลังเกิดการระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดของไข้เลือดออกนับตั้งแต่ที่มีการเริ่มต้นติดตามผลมาตั้งแต่ปี 2543 ขณะนี้มีมากกว่า 50 เขตพื้นที่ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไข้เลือดออก พื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบหนักสุดคือกรุงธากา เมืองหลวงที่มีประชากรอยู่มากกว่า 20 ล้านคน เรื่องนี้กระทบหนักระดับที่โรงพยาบาลบางแห่งมีพื้นที่ไม่พอสำหรับคนไข้

จากสถิติของทางการบังกลาเทศระบุว่ามีประชาชนเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8 รายนับตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงปัจจุบัน มีคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกในปีนี้รวมแล้วมากกว่า 13,600 ราย โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมาสื่อซีเอ็นเอ็นระบุว่ามีจำนวนผู้เป็นโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 รายภายใน 24 ชั่วโมง และในช่วงตลอดเดือน ก.ค. เดือนเดียวมีกรณีผู้เป็นโรคไข้เลือดออกถึง 8,348 กรณี ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดือนอื่นๆ มาก

อัคตาร์เปิดเผยอีกว่าทางการบังกลาเทศกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องโรงพยาบาลไม่พอและพยายามใช้ทรัพยากรทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดนี้ รวมถึงมีการเปิดพื้นที่ส่วนพิเศษในโรงพยาบาลวิทยาลัยแพทย์ธากาสำหรับคนไข้ไข้เลือดออกโดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขของบังกลาเทศได้พัฒนาแนวทางการรักษาและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้คน ขณะที่หน่วยงานควบคุมโรคของบังกลาเทศก็ได้ขอความช่วยเหลือไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อขอให้ช่วยเหลือในด้านการควบคุมประชากรยุงซึ่งเป็นสัตว์ที่แพร่เชื้อไวรัสไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกหรือเดงกิเป็นโรคที่มาจากการติดเชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคหวัด ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อในแบบเสียดแทง มีไข้ และมีผื่นขึ้นทั่วตัว อาการอาจลุกลามจนเป็นอันตรายต่อชีวิต เพราะอาการป่วยทำให้มีเลือดออกง่าย เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำ

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีประชาชนหลายล้านคนติดเชื้อไข้เลือดออกทุกปี มีประมาณ 500,000 คนที่จะเกิดอาการระดับร้ายแรงที่จำเป็นต้องให้นอนโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยราว 12,500 คน ต่อไป

ทั้งนี้ยังมีเรื่องน่ากังวลเกี่ยวว่าภาวะโลกร้อนมีโอกาสทำให้โรคระบาดที่มาจากยุงแพร่สะพัดหนักขึ้นและก่อให้เกิดโรคอื่นๆ นอกจากไข้เลือดออกไม่ว่าจะเป็นชิคุนกุนยา ซิกา มาลาเรีย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากโรงพยาบาลเด็กบอสตันและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดออกมาเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าภายในปี 2583 ยุงสายพันธุ์หลักๆ ที่ก่อโรคจะแพร่สะพัดและกลายเป็นภัยต่อผู้คนบนโลกร้อยละ 49 ทำให้กังวลว่าโรคจากยุงที่เคยเกิดขึ้นส่วนมากกับประเทศแถบร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้นอาจจะแพร่กระจายไปยังประเทศอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นส่งผลให้ยุงลายบ้านที่เป็นพาหะของโรคเหล่านี้อพยพไปอยู่ในที่อื่นๆ ของโลก

งานวิจัยชิ้นอื่นที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซตระบุถึงการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียสายพันธุ์ที่ดื้อยาหลายชนิดแพร่ออกไปในประเทศเอเชียอาคเนย์ ทั้งในไทย กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ซึ่งการดื้อยา DHA-PPQ ที่ใช้กันมากนี้ส่งผลให้การรักษาล้มเหลวในอัตราสูง

ในฟิลิปปินส์ได้ประกาศเตือนภัยฉุกเฉินด้านไข้เลือดออกในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่มีกรณีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกราว 100,000 กรณีในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 85

องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง แต่การตรวจพบแต่เนิ่นๆ และเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมจะทำให้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตเหลือน้อยกว่าร้อยละ 1 ได้

เรียบเรียงจาก

Bangladesh hit by worst dengue outbreak on record, CNN, Jul. 30, 2019

Climate Change Will Expose Half of World’s Population to Disease-Spreading Mosquitoes By 2050, Yale Environment 360, Mar. 5, 2019

Accelerated evolution and spread of multidrug-resistant Plasmodium falciparum takes down the latest first-line antimalarial drug in southeast Asia, The Lancet, Jul. 22, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net