Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเคยพบ “สุทิน คลังแสง” ตัวเป็นๆ ครั้งเดียว ตอนที่เราถูกเผด็จการควบคุมตัวในค่ายทหารที่จังหวัดราชบุรี หลังเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เขาเล่าว่าก่อนที่จะถูกควบคุมตัว บ้านของเขาถูกทหารพังประตูและยึดคอมพิวเตอร์ไป แต่อยู่ด้วยกันเพียงวันสองวันเขาก็ถูกนำตัวไปที่กองทัพภาคที่ 2 จากนั้นคนอื่นๆ ก็ทยอยกลับบ้านวันละคนสองคน คงเหลือผมกับเพื่อนอีกสองคนที่ถูกควบคุมตัวจนครบ 7 วัน

ได้เห็นสุทินอีกครั้งทางทีวีผ่านการอภิปรายในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและวันแถลงนโยบายของรัฐบาล หลายคนชื่นชมการอภิปรายของเขา สำหรับผมเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันบ้านเราต้องการนักการเมืองและพรรคการเมืองที่แสดงออกให้ประชาชนประจักษ์อย่างชัดแจ้งว่า ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย, ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และต่อสู้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งสุทินแสดงให้เป็นประจักษ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ และหวังว่าเขาจะมั่นคงในจุดยืนนี้ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุด แต่พูดได้อย่างจำกัดและน้อยมากคือ ประเด็นที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล”อภิปรายนโยบายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่า ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ต้องสอดคล้องกับความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย, อำนาจ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องไม่มีที่อยู่ที่ยืนให้กับรัฐประหารอีกต่อไป

และต้องนำ “ผู้ลี้ภัยการเมือง” ในต่างประเทศกลับบ้านโดยไม่ถูกดำเนินคดี เหมือนที่รัฐไทยเคยคืนอิสรภาพให้กับนักศึกษาและประชาชนที่เข้าป่าต่อสู้ด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม ได้กลับบ้านเพื่อร่วมพัฒนาบ้านเมือง

ผมคิดว่าในทางหลักการแล้ว เรื่องนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องคดีการเมืองและ 112 และนำผู้ลี้ภัยการเมืองกลับบ้าน ควรเป็น “เรื่องเร่งด่วน” ที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องทำ มันควรจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ

การสร้างประชาธิปไตยจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าเราไม่เริ่มจากการคืนเสรีภาพแก่คนเหล่านี้ เพราะคนเหล่านี้ต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ ไม่ได้ฆ่าใคร ไม่มีผลประโยชน์หรือตำแหน่งทางการเมืองเป็นเป้าหมาย เพียงแต่ต้องการให้ประเทศนี้มีเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้น ในเมื่อวันนี้มี “ผู้แทนของประชาชน” แล้ว เราจึงฝากความหวังไว้กับผู้แทนของประชาชนที่ต้องทำเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน

กลับมาที่ประเด็นการอภิปรายของสุทิน เรื่องอื่นๆ มีคนพูดถึงกันมากแล้ว ที่ผมจะพูดถึงคือ “การอภิปรายประเด็นศาสนา” ซึ่งเป็นเพียงการพูดสั้นๆ อย่างระมัดระวัง แต่มันมี “นัยสำคัญ” ที่สะท้อนว่าเขาอาจไม่ได้ทำการบ้านในเรื่องนี้มาดีพอ

สุทินกล่าวว่า ประเด็นศาสนาเป็น “เรื่องที่ชาวพุทธฝากมา” เท่าที่จับใจความจากคำอภิปราย (เพราะสุทินไม่ได้พูดตรงๆ แต่พูดให้คนฟังเข้าใจโดยนัยมากกว่า) ที่จริงก็คือเรื่องที่ผมและเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้อ่าน ได้ยินได้ฟังกันโดยทั่วไปในยุค คสช.นั่นคือ มันมี “เรื่องเล่า” ปากต่อปากที่ทำให้เกิดความแคลงใจว่า “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นับถือศาสนาอะไรแน่ เป็นมุสลิมหรือไม่ และมีกระแสวิจารณ์ว่า รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 และ 2557 ผ่านกฎหมายและงบประมาณให้แก่ชาวมุสลิมง่ายกว่ากฎหมายและงบประมาณของคณะสงฆ์

พูดง่ายๆ คือ จากเรื่องเล่าปากต่อปากตามที่ชาวพุทธฝากข้อกังวลให้สุทินพูดแทน พวกเขามองว่ารัฐบาลยุค คสช.เอาใจมุสลิมมากกว่า ซึ่งทำให้สุทินอภิปรายในเชิงเป็นกังวลว่า อาจทำให้ศาสนาต่างๆ ที่เคยอยู่ร่วมกันดีๆ มาตลอดนั้นเกิดความไม่เข้าใจกันหรือบาดหมางกันได้หากรัฐบาลไม่ระมัดระวังเกี่ยวกับนโยบายทางศาสนาดีพอ

ถามว่า ข้อกังวลของชาวพุทธดังกล่าว มีข้อเท็จจริงรองรับหรือไม่ คนที่ติดตามปัญหานี้อยู่บ้างคงพอจะทราบว่าเรื่องเล่าปากต่อปากเหล่านั้น มีทั้งเรื่องจริงเรื่องเท็จปนเปกัน บางเรื่องก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ แต่มันก็ถูกทำให้กลายเป็น “ความเชื่อ” ที่สร้างความระแวงระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมบางกลุ่มอยู่จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด[1]

แต่หากดูเฉพาะการแต่งตั้ง 250 ส.ว.ที่มีการกำหนดโควต้าให้มีตำแหน่ง ส.ว. 1 ตำแหน่ง ในฐานะเป็น “ตัวแทน” คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ก็ถือว่า คสช.ได้ให้อภิสิทธิ์แก่องค์กรศาสนาอิสลาม[2] นี่อาจเป็นเหตุให้มีพระสงฆ์บางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งตัวแทนฝ่ายสงฆ์เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี[3]

แต่ถ้าถามว่า ประเด็นปัญหาว่ารัฐบาลสนับสนุนหรือให้อภิสิทธิ์แก่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากหรือน้อยกว่ากัน หากนำมาอภิปรายในสภาถือเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” ที่อาจส่งผลต่อความขัดแย้งทางศาสนาหรือไม่ คำตอบก็คือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนั้นจริง แต่สาเหตุของการมีเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ เกิดจาก “ตัวระบบ” ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่กำหนดให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นมาเอง

กล่าวคือ การที่รัฐไทยไม่เป็น “รัฐโลกวิสัย” หรือ “secular state” [4] คือไม่ได้แยกศาสนจักรจากโครงสร้างอำนาจรัฐ จึงทำให้องค์กรศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะคณะสงฆ์ และองค์กรอิสลามพยายามที่จะเข้ามามีอภิสิทธิ์ต่างๆ ภายในรัฐมากขึ้น เช่น การเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาประจำชาติในรัฐธรรม ให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา ให้บัญญัติกฎหมายด้านศาสนา สนับสนุนงบประมาณด้านศาสนา ให้บังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียนของรัฐเข้มข้นมากขึ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกันรัฐก็ใช้ศาสนาเป็นกลไกครอบงำและสนับสนุนอุดมการณ์รัฐ และสนับสนุนอำนาจนำทางวัฒนธรรม (cultural hegemony) ของชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ภายใต้สภาพการไม่แยกศาสนาจากรัฐดังกล่าว ทำให้ศาสนาตกเป็นเครืองมือทางการเมือง และเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในทางตอบสนองอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเป็นด้านหลัก แต่บุคคลหรือกลุ่มทางศาสนาที่วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือถูกผู้มีอำนาจรัฐมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับขั้วการเมืองตรงข้ามก็จะถูกเล่นงานจากภาครัฐ เป็นเช่นนี้มายาวนาน ไล่มาตั้งแต่กบฎผู้มีบุญ พระที่ถูกมองว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” สมัยเผด็จการสฤษดิ์, พระฝ่ายซ้ายช่วง 14 ตุลา, 6 ตุลา จนกระทั่งพระที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเสื้อแดงในช่วงกว่าสิบปีมานี้

ขณะที่รัฐเองก็อาจกลายเป็น “เวทีขัดแย้ง” ระหว่างศาสนาต่างๆ ที่พยายามผลักดัน “วาระทางศาสนา” ของพวกตนผ่านสภา เช่น ให้รัฐออกกฎหมายทางศาสนา, สนับสนุนงบประมาณทางศาสนา, ให้มีตำแหน่งตัวแทนทางศาสนาในโครงสร้างอำนาจรัฐ เป็นต้น

ในขณะที่เราเชื่อกันว่าเรื่องศาสนา หรือประเด็นอะไรที่อาจเกิดความขัดแย้งทางศาสนาเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” ไม่ควรนำมาอภิปรายในสภา แต่ปัญหาต่างๆ ภายใต้ระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐก็ยังคงมีอยู่และดูเหมือนจะขยายไปเรื่อยๆ โดยไม่มีคำตอบว่าจะแก้อย่าไร และอันที่จริงการนำปัญหาแบบที่สุทินนำมาอภิปรายในสภามาพูดในเวทีไหนๆ หรือถึงจะอภิปรายมากขึ้นในสภาเองก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาได้เลย

เพราะรากฐานของปัญหาอยู่ที่ตัวระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่ไม่ได้แยกจากกัน ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็ต้องแก้ที่ระบบ คือต้องแยกศาสนาจากรัฐ

ถามว่าเรื่อง “แยกศาสนาจากรัฐ” ควรนำมาอภิปรายในสภาหรือไม่ คำตอบคือควรอย่างยิ่ง แต่ดูแล้วช่วงเวลานี้คงไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองพรรคไหนกล้านำมาอภิปราย เหมือนกับที่ไม่กล้านำเรื่องแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ขึ้นมาอภิปราย เพราะถือกันว่าเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” และอาจเสียคะแนนนิยมจากประชาชน

แต่เรื่องที่ถือกันว่าละเอียดอ่อนดังกล่าว เป็นเรื่องเกี่ยวข้องอย่างสำคัญต่อการสถาปนาหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ยั่งยืนขึ้นในสังคมไทยไหม ก็ต้องตอบว่าเกี่ยวข้องมากที่สุด เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางศาสนาได้อย่างแท้จริง ประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนย่อมเกิดขึ้นจริงไม่ได้ 

 

 

โปรดอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

[1] ดูเพิ่มเติม เอกรินทร์ ต่วนศิริ และอันวาร์ กอมะ, กระแสหวาดกลัวอิสลามในประเทศไทย: ข้อสังเกตเบื้องต้น, ในปรีดี หงษ์สต้น และอัมพร หมาดเด็น (บรรณาธิการ) “ศาสนากับความรุนแรง” (กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2562), 364-398

[2] ซากีย์และปัญหาศาสนากับประชาธิปไตย https://prachatai.com/journal/2019/06/83068

[3] มมร.เล็งเสนอรัฐบาลตั้งฝ่ายสงฆ์ที่ปรึกษานายกฯ-ครม. https://www.dailynews.co.th/education/720378?fbclid=IwAR0QSDxi6-l0lFjTIVqf2ibcRY_m6q9h--uKGhI71ouLHDDMvmsWVaYa3fY

[4] รัฐโลกวิสัยคืออะไร https://prachatai.com/journal/2018/03/75771, Secularism ไม่ใช่การละทิ้งศาสนา https://prachatai.com/journal/2019/07/83275

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net