Skip to main content
sharethis

‘อนุทิน’ ตั้งเป้า 5-6 เดือนผลิตสารสกัดกัญชา 1 ล้านขวด ขวดละไม่เกิน 5 ซีซี ทดลองกับผู้ป่วยในโครงการ และภายใน 3 อาทิตย์ ร.พ. เครือ สธ. ต้องสั่งจ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ ขณะที่ องค์การเภสัชฯ เตรียมน้ำมันกัญชาล็อตแรก 4,500 ขวด ให้ สธ. 7 ส.ค.นี้ กรมการแพทย์คาดผู้ป่วยกว่า 14 ล้านคนใช้กัญชารักษาได้

1 ส.ค.62 วันนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ว่า เป็นลำดับแรกของนโยบายกัญชาเสรี ที่ต้องนำมาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยก่อน นับจากนี้

“นโยบายมีความคืบหน้าแน่นอน ภาครัฐทยอยให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ทดลองปลูก และวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ทำการทดลองเรื่องนี้ หน่วยงานอื่นเช่นกัน เพราะเราต้องการผลการวิจัยที่ยืนยันได้ว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ จะได้เดินหน้าขั้นตอนอื่นๆ” นายอนุทิน กล่าว

แผนการคือภายใน 5 - 6 เดือน ภาครัฐจะผลิตสารสกัดจากกัญชาประมาณ 1 ล้านขวด ขวดละไม่เกิน 5 ซีซี ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ไว้ใช้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ หากผลการใช้เป็นที่น่าพอใจ จะนำไปสู่การผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและใช้อย่างกว้างขวาง เมื่อทางการแพทย์ยอมรับ จะนำไปสู่การพัฒนาในขั้นต่อไป

อนุทิน กล่าวว่าระหว่างที่รอผลิตภัณฑ์ ได้สั่งให้แก้กฎหมายรองรับภารกิจนี้ โดยภายใน 2-3 อาทิตย์ โรงพยาบาลในเครือของกระทรวงสาธารณสุข ต้องสั่งใช้ยาที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ จากนั้นเมื่อผลการรักษาออกมาดี นโยบายกัญชาจะก้าวสู่ขั้นตอนต่อไป

อนุทิน ยังอธิบายถึงแนวทางการควบคุมการใช้กัญชา จากนโยบายให้ปลูกบ้านละ 6 ต้นว่า อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จะเป็นกลุ่มแรกที่มีสิทธิในการปลูก โดยผ่านการลงทะเบียนภายใต้การควบคุมโดยรัฐ มุ่งเน้นให้เป็นพืชสมุนไพรประจำบ้านเท่านั้น ห้ามซื้อขายกันเอง และห้ามนำมาใช้นอกบ้าน ถ้าจัดการ อสม.ได้จะนำไปสู่การเปิดให้ใช้อย่างเสรีมากขึ้น

อนุทิน กล่าวถึงกรณีการรับรองหมอพื้นบ้านว่า เป็นอีกเรื่องที่ยืนยันว่าเราเร่งผลักดันนโยบาย จากนี้ เมื่อหมอพื้นบ้านได้รับการรับรอง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเร็ววัน หมอพื้นบ้านที่มีสูตรยา ซึ่งมีส่วนผสมทางกัญชา สามารถใช้รักษาคนได้ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วย

 “ส่วนเรื่องของ อ.เดชา ศิริภัทร กำลังดำเนินการคืนสถานะของหมอพื้นบ้านแก่ อ.เดชา เพื่อให้สามารถกลับมาจ่ายยารักษาผู้ป่วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว

เมื่อถามถึง กรณีหากกัญชาได้รับความนิยม ใช้กันอย่างแพร่หลาย จะควบคุมผลข้างเคียงจากการใช้อย่างไร อนุทิน ตอบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การใช้อย่างไม่มีความรู้ เอาของใต้ดิน ซึ่งไม่รู้กรรมวิธีมาใช้ ภาครัฐต้องทำความเข้าใจกับประชาชน

 

อภ. เตรียมน้ำมันกัญชาล็อตแรก 4,500 ขวด ให้ สธ. 7 ส.ค. นี้

วันเดียวกัน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ว่าองค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขึ้น เพื่อพัฒนาให้ได้สายพันธุ์กัญชาไทยที่สมบูรณ์ในการรักษาโรคที่ยาแผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันเพื่อพัฒนาให้ได้สายพันธุ์กัญชาไทยที่สมบูรณ์ มีปริมาณสารสำคัญที่ใช้เป็นยาสูง โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะ 1 เร่งด่วน ได้มีการเริ่มปลูกเมื่อเดือน ก.พ. 2562 เป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมายต้นแรกในอาเซียน เน้นการศึกษาวิจัยและผลิตสารสกัดกัญชาเป็นเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยมีประสิทธิภาพและมีการควบคุมมาตรฐานการปลูกเป็นไปตาม GAP และเร่งขยายผลเริ่มปลูกรอบที่ 2 ในเดือนนี้ (ส.ค.) จำนวน 140 ต้น 

ระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้ผลิตสารสำคัญได้ปริมาณสูงและสามารถปลูกลงแปลงได้ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตสารสกัดเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000-200,000 ขวด ซึ่งคาดว่าจะปลูกได้ในต้นปี 2563

ระยะที่ 3 เป็นการขยายขนาดปลูกและการผลิตสารสกัดกัญชาสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยใช้พื้นที่ขององค์กรเภสัชกรรม อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี รวมถึงจะขยายสร้างความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนองค์กรหน่วยงานอื่นเพื่มขึ้น

นายแพทย์วิฑูรย์ กล่าวอีกว่าในวันที่ 7 ส.ค. นี้องค์การเภสัชกรรมจะมีการส่งมอบสารสกัดน้ำมันกัญชาจำนวน 4,500 ขวดล็อตแรกให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปกระจายใช้ในการแพทย์รักษาผู้ป่วยกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป อย่างไรก็ตามองค์การเภสัชกรรมคำนึงถึงคุณภาพและราคาการนำไปใช้อย่างสมเหตุสมผลของสารสกัดกัญชาและผลักดันเน้นคุณภาพปลอดภัยเป็นหลักสำคัญ

 

กรมการแพทย์คาดผู้ป่วยกว่า 14 ล้านคนใช้กัญชารักษาได้

ขณะเดียวกัน นายแพทย์ปัตพงษ์ เกียรติสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า จากการประเมินข้อมูลของกรมการแพทย์ พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วย กว่า 14 ล้านคน ที่อยู่ในกลุ่มโรค ที่คาดว่ากัญชาน่าจะสามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคได้ถึงแม้จะไม่ช่วยรักษาให้โรคหายขาดได้ แต่สามารถช่วยบรรเทาอาการ หรือทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นโดย ได้ให้ข้อสังเกต ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไข้ไปใช้กัญชารักษาโรค เนื่องมาจากการเข้าถึงยาของภาครัฐ ที่ไม่เพียงพอ รวมถึงคุณภาพในการรักษา

จากการสำรวจดู พบว่าผู้ป่วยจำนวนมากหาซื้อสารสกัดกัญชา จากอินเทอร์เน็ต และแนะนำบอกต่อกันมา จึงอยากให้คำแนะนำ ผู้ป่วย ในการใช้สารสกัดกัญชา ควรนำมาเจือจางก่อนเพื่อให้เหลือ สารสกัดกัญชาร้อยละ 3 ซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยการผสมน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น แล้วนำไปบรรจุไว้ในหลอดยาหยอดตาเปล่า ซึ่งการหยดเพียงครั้งแรกอาจจะยังไม่เห็นผล ต้องค่อยๆเพิ่มวันละหยดจนกระทั่งได้ระดับยาที่ออกฤทธิ์หรือว่าได้ผลในการควบคุมอาการส่วนการเตรียมสั่งจ่าย สารสกัดน้ำมันกัญชาแพทย์บางส่วนที่ยังคงมีความกังวล และไม่มีความมั่นใจ จึงเห็นว่าต้องสร้างองค์ความรู้ในด้านนี้

ขณะที่ความคืบหน้าในการวิจัยสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตการปลูกและทำการวิจัย จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีการวางแผน จะทำครบวงจร ตั้งแต่การปลูก กัญชาสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งสายสายพันธุ์ไทยและสารพันธุ์ต่างประเทศ หลังจากนั้นก็จะนำมาผลิตเป็นยา และนำทดลองใช้กับผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้อาจารย์จากคณะแพทย์ ยื่นเสนอโครงการมาไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ ทั้งโรคมะเร็งและไม่ใช่โรคมะเร็ง

เบื้องต้น ระยะแรกอาจยังปลูกกัญชาไม่ทัน เนื่องจากใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน ในการปลูก และสกัด จึงได้ทำเรื่องขอ อนุเคราะห์จากองค์การเภสัชกรรมในการจัดสรรยาที่ทางองค์การเภสัชผลิตขึ้นมาให้ทาง คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่นได้ทดลองนำล่อง ประมาณ 1,000 ขวด

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นยัง มีแผนการวิจัยกัญชารักษาโรคในสัตว์ด้วย หลังจากมีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า กัญชามีสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็งในสัตว์ได้

 

 

อ้างอิง: ไทยโพสต์, วอยซ์ทีวี, วอยซ์ทีวี, ทีเอ็นเอ็น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net