การศึกษาคนและชุมชนด้วยวิธีทางมานุษยวิทยา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มานุษยวิทยา เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของคน โดยใช้วิธีเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชน (ethnography) เพื่อทำความเข้าใจผู้คนและประเพณีของที่นั้นๆ  เรามักใช้คำว่า “ลงพื้นที่” ซึ่งการลงพื้นที่ในที่นี้ ไม่ใช่การลงพื้นที่พบปะประชาชนหรือแค่ลงไปรับฟังความเห็นเพียง 2-3 วัน แต่นักมานุษยวิทยามักลงไปอยู่ร่วมกับเขาเป็นเวลานาน ราวกับว่าได้กลายเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน

วิธีวิจัยทางมานุษยวิทยามีมาก ที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นเพียงประสบการณ์เล็กน้อยที่ผมอาจไม่เห็นด้วยกับท่านอื่นๆ ซึ่งเป็นความปกติ และไม่ได้เสนอว่า วิธีการอย่างอื่นไม่ได้ผลเลย สิ่งหนึ่งที่อยากชักชวนให้พิจารณาคือ การหาความแตกต่าง ทั้งด้านข้อมูลและวิธีวิจัย เป็นสิ่งที่นักวิจัยควรทำ
 

ทำไมต้องอยู่ในพื้นที่นาน ?

เพราะการจะรู้จักคนหรือวัฒนธรรมใหม่อย่างรอบด้าน จะต้องใช้เวลาในการอยู่ด้วยกัน และเข้าถึงคนหลายกลุ่ม 2 ตัวอย่างต่อไปนี้ ผมจะไม่มีวันเข้าใจได้เลย หากใช้เวลาสั้นๆ หรือรับข้อมูลจากคนเพียงกลุ่มเดียว

1.1 หมู่บ้านนี้ไม่มีความขัดแย้ง

ปี ค.ศ. 2016 มีโอกาสไปศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในสามจังหวัด หมู่บ้าน X เป็นหมู่บ้านไข่ดาว คือ ชาวพุทธเป็นคนกลุ่มน้อยและถูกแวดล้อมด้วยมุสลิม ความพิเศษของที่นั่นคือ ไม่เคยมีผู้เสียชีวิตเช่นกับพื้นที่อื่นๆ และผู้ใหญ่บ้านเป็นคนพุทธ คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า ทำไมคนมุสลิมส่วนใหญ่ถึงเลือกผู้นำที่เป็นชาวพุทธ แต่ขอข้ามไปก่อน เพื่อจะอธิบายประเด็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น

ในวันที่ทีมวิจัยจากกรุงเทพฯ ลงไปที่นั่น ผู้ใหญ่บ้านจัดการต้อนรับอย่างดี มีการเชิญคนในหมู่บ้านมาสัมมนาเรื่อง “พหุวัฒนธรรม” พบว่า คนที่มาเข้าร่วม 90% เป็นชาวพุทธที่เป็นคนกลุ่มน้อย มุสลิมมีเพียง 3-4 คนซึ่งทำงานใกล้ชิดกับผู้ใหญ่บ้าน ถ้าไม่ตั้งคำถามต่อ ก็อาจเชื่อไปเลยว่า หมู่บ้านนี้ไม่มีความขัดแย้ง

ผมเข้าไปคุยกับหลวงตาที่วัด ซึ่งท่านไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยในครั้งนั้นด้วย อาจเพราะอายุมากและไม่มีความสำคัญนัก ท่านเล่าว่า “อาทิตย์ที่แล้ว มีพิธีพุทธาภิเษกที่วัด ข้างหลังวัดก็มีระเบิด แต่โชคดีไม่มีคนตาย ปกติคนในหมู่บ้านนี้จะแยกกันอยู่ แม้แต่เวลาขายน้ำยาง (พารา) มุสลิมก็ไม่ได้มาขายที่นี่ เขามีคนมารับซื้อถึงข้างในหมู่บ้าน คนพุทธก็เช่นกัน ไม่พยายามพูดภาษายาวี (แม้หลายคนจะพูดได้) เพราะเชื่อว่าหากพูดภาษายาวีก็จะไม่ใช่คนไทย เมื่อเห็นว่ามุสลิมมีอัตลักษณ์ที่เข้มแข็ง ตัวเองก็อยากมีอัตลักษณ์บ้างเพื่อสร้างความแตกต่าง อาจมองว่าสงบนะ แต่ผมก็อยู่ด้วยความหวาดระแวง ผมว่า นี่มันอยู่บนพรมของความขัดแย้ง”

นั่นหมายความว่า มีกระบวนการบางอย่างที่บังคับให้หมู่บ้านนั้นเกิดความสงบ ซึ่งเราไม่ทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร หรือแม้ไม่มีการฆ่า แต่มีความรุนแรงในรูปแบบอื่นหรือไม่ ก็มักไม่มีใครพูดถึง และการจะเข้าถึงข้อมูลนั้น ควรอยู่นานเพื่อคลุกกับคนวงในและคุยกับทุกกลุ่ม ไม่ใช่เลือกเชื่อข้อมูลจากบางกลุ่ม ที่สำคัญคือ นักวิจัยไม่ควรเชื่อหรือพอใจอยู่กับคำบอกเล่าซึ่งเป็นข้อมูลเชิงบวกเท่านั้น

1.2 ใครคือแม่ของเธอ ?

ปี 2015 ที่ผมเก็บข้อมูลเรื่องคนจีนกับศาสนาพุทธในชวา มีโอกาสได้พบสตรีท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเศรษฐีแต่มาอยู่วัดเพราะปัญหาทางบ้านบางอย่าง เธอมีความเป็นเถรวาทที่เข้มข้มมาก เป็นลูกศิษย์พระวัดป่าของไทยด้วย เธอชวนผมไปเที่ยวบาหลีพร้อมสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเธอ แต่ก็พูดมาว่า “จะต้องขออนุญาตแม่ก่อน” ซึ่งผมไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเป็นธรรมเนียมคนจีน ชวา หรือกระทั่งชาวบูกิส (เกาะสุลาเวสี) ที่แม้เขาจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่หากจะเรียน ทำงาน ทำธุรกิจ หรือแม้กระทั่งออกนอกบ้าน ก็ควรได้รับอนุญาตจากพ่อแม่เสียก่อน

วันถัดมา เธอบอกผมว่า “ต้องขอโทษด้วย แม่ไม่อนุญาต” และอธิบายเพิ่มว่า “ถ้าเกิดฝืนคำสั่งแม่ อาจเกิดอันตรายระหว่างการเดินทางได้” ซึ่งผมก็ไม่ติดใจอีกเหมือนกัน เพราะมีเรื่องเล่าท้องถิ่นและเรื่องในพุทธศาสนาที่บรรยายถึงโทษของการไม่เชื่อฟังพ่อแม่อยู่บ้าง และหากเขาเป็นชาวพุทธ อาจไม่ยากที่จะซึบซับเรื่องเหล่านั้นด้วย

ความน่าสนใจคือ ผมเพิ่งมาทราบในเดือนที่สอง ว่าพ่อแม่เธอรวมทั้งพ่อแม่สามีได้เสียไปหมดแล้ว คำถามคือ ใครคือแม่ที่เธอต้องขออนุญาต? แน่นอนว่า ผมไม่ถามคำถามนี้กับเธอคับ เพราะกลัวว่า การถามจะเป็นการละเมิด หรือหากเขาจำต้องตอบ อาจทำให้เขารู้สึกละอายที่ต้องแสดงภาพความงมงายหรือไม่ปกติออกมา

ผ่านไปราวหนึ่งอาทิตย์ เธอบอกผมว่า “คุณเป็นคนดีมากเลยนะ” ผมจึงถามกลับไปว่า รู้ได้อย่างไร? เธอตอบว่า “แม่บอกมา”มันคงถึงเวลาที่เธออยากเล่าเรื่องแม่นี้กับผม เลยพูดต่อมาว่า “แม่เป็นคนที่รู้ทุกเรื่อง และมีความเมตตามาก ฉันมีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้ รวมทั้งการทำธุรกิจอย่างราบรื่น เพราะมีแม่เป็นที่ปรึกษา อันนี้เป็นรูปแม่ติดตรงผนังห้อง” และเธอก็เอารูป “เจ้าแม่กวนอิม” ในโทรศัพท์ให้ผมดู ผมเลยถามว่า สื่อสารกับท่านอย่างไร เช่น เวลาที่ต้องถามคำถามหรือตัดสินใจเรื่องธุรกิจ? คำตอบคือ “จุดธูป สวดมนต์ และโยนไม้สีแดงสองอันเพื่อให้เจ้าแม่ทำนาย”

ผมไม่ได้เล่าเรื่องนี้เพื่อสะท้อนว่า เธองมงายหรือฉลาด เป็นเถรวาทแท้หรือยังเป็นจีน เพราะแต่ละคนล้วนมีที่พึ่งที่แตกต่างกัน สิ่งหนึ่งที่ได้จากตัวอย่างนี้คือ การเข้าถึงข้อมูลบางอย่าง อาจต้องใช้เวลานาน (กรณีนี้ 3 เดือน) และไม่ควรถามมากจนผู้ให้ข้อมูลรู้สึกว่าถูกรุกราน แต่ควรรอจนกว่าเขาจะพร้อมและเมื่อเขารู้สึกว่าสนิทมากพอ เขาจะเล่าทุกอย่างออกมาเอง นั่นหมายความว่า ถ้าผมสัมภาษณ์เธอเพียง 1 ชั่วโมง ก็คงจะยังเข้าใจผิดอยู่ว่า แม่เธอยังมีชีวิตอยู่ เพราะเรื่องความเชื่อส่วนตัว เขามักไม่เปิดเผยกันง่ายๆ

แน่นอนว่า นักวิจัยที่เก่ง มีความรู้ทางทฤษฏีมาก แม้สังเกตปรากฏการณ์เพียงหนึ่งสัปดาห์ อาจเข้าใจชุมชนได้ลึกกว่าคนที่อยู่เป็นปีแต่ไม่รู้จักสังเกตและไม่มีมุมมองใหม่ๆ ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การอยู่นานย่อมมีประโยชน์ เพราะพฤติกรรมบางอย่างจะถูกจัดสรรขึ้นเพื่อแสดงต่อหน้าผู้มาเยือน แต่หากอยู่นาน จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนและชุมชนด้วย

2. ภาษาถิ่น จำเป็นหรือไม่ ?

ตอบอย่างไม่ต้องลังเลว่า “จำเป็นมาก” การมีล่ามอาจช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดมาก (ดังจะอธิบายในหัวข้อถัดไป) แต่การไม่ได้ภาษาถิ่น ไม่ได้หมายความว่าแย่เสมอไป เพราะมีบางอย่าง ที่คนได้ภาษาถิ่นอาจไม่มีโอกาสสัมผัส

ผมเคยอยู่ในหมู่บ้านชวา ซึ่งเขาแทบไม่ใช้ภาษาอินโดนีเซีย แน่นอนว่าเขาจะพูดกับผมด้วยภาษาอินโดนีเซีย แต่เขาเองก็มีข้อจำกัดในการสื่อสารภาษาอินโดฯ บางศัพท์ก็ไม่รู้ ต้องหันไปถามคนข้างๆ แต่ข้อดีคือ การสลับภาษาไปมา ช่วยสื่อกับผมว่า อะไรเป็นเรื่องที่เขาอยากให้ผมรู้ และอะไรที่เขาไม่อยากให้ผมรู้

สิ่งนี้สังเกตได้จากการที่เขาคุยภาษาอินโดฯ กับเรา และสักพัก เขาเปลี่ยนไปพูดภาษาชวากับเพื่อนอีกคนอย่างเป็นจริงเป็นจัง เหมือนจะตกลงอะไรกันสักอย่าง ตัวอย่างหนึ่งคือ ผมถามเพื่อนมุสลิมว่า มุสลิมจะมีแฟนได้ไหม? คนที่ผมถามเป็นคนขี้เล่น และแน่นอนว่า แกเองก็มีแฟน ขณะที่แกกำลังจะเอ่ยปาก เพื่ออีกคนก็รีบพูดบางอย่างกับแกด้วยภาษาชวา และสุดท้าย เพื่อนคนนั้นก็กล่าวเป็นภาษาอินโดฯ ว่า “ไม่ควรมีแฟนหรอก ชอบกันก็ควรแต่งงานไปเลย เพื่อจะได้ไม่ละเมิดประเวณีด้วย” นี่เป็นตัวอย่างคำตอบที่เขาจัดมาให้ ผ่านการตกลงกันด้วยภาษาชวา

ผมไม่ได้สื่อว่า การพูดภาษาถิ่น จะสะท้อนการปกปิดข้อมูลหรือสร้างความเป็นส่วนตัวเสมอไป เพราะบางครั้ง ยากเหมือนกันที่จะพูดภาษาที่สองกับคนที่เราคุ้นเคยด้วยภาษาแรก เช่น กรณีของผมเอง ยากมากที่จะใช้ภาษาไทยกลางกับเพื่อนสนิทที่ปกติจะพูดภาษาใต้กัน ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเพื่อนภาคอื่น เราก็จะพูดใต้เสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตคือ แม้เราจะพูดสำเนียงใต้ แต่จะใช้คำศัทพ์ไทยกลางให้มากที่สุด เพื่อให้คนอื่นๆ ได้เข้าใจด้วย หรือหากไม่เข้าใจ การได้ยินศัพท์ที่เขาคุ้นเคยเพียงบางคำ จะช่วยให้เขารู้สึกว่าไม่แปลกแยกได้ ดังนั้น การปกปิดข้อมูลหรือการสร้างความเป็นส่วนตัว อาจต้องสังเกตจากระดับความจริงจังและท่าทางการสนทนาของเขาอีกที

สิ่งหนึ่งที่ควรเน้นคือ นักวิจัยไม่ได้ต้องการแค่ข้อเท็จจริงจากผู้ให้สัมภาษณ์ เพราะหลายอย่างเราเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยวิธีอื่น สิ่งที่เราควรได้จากการสัมภาษณ์อีกอย่างคือ “ทำไมเขาต้องตอบแบบนั้นกับเรา? เขาต้องการรักษาภาพลักษณ์แบบใด? และสิ่งนั้นสำคัญต่อเขาหรือชุมชนอย่างไร? งานทางสังคมศาสตร์ ต้องอาศัยการตีความด้วย ดังนั้น ขณะที่ยังเรียนภาษาถิ่น ไม่เข้าใจสิ่งที่เขาสื่อทั้งหมด เราก็สามารถฝึกตีความและเข้าใจเขาผ่านการแสดงออกผ่านท่าทางอย่างอื่นไปได้ก่อน

3. การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการดีอย่างไร ?

ผมชื่นชอบการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ (informal interview) มากกว่า เพราะการจัดที่ จัดเวลา และจัดสรรคนให้มาคุยกับเรา เขาเหมือนจะมีชุดคำตอบบางอย่างที่ต้องพูดตามนั้นอยู่แล้ว ยิ่งสัมภาษณ์แบบกลุ่ม ซึ่งเขาต้องตอบต่อหน้าคนอื่น ทำให้เขาไม่มีอิสระที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

การสัมภาษณ์ที่ดีจึงเกิดขึ้นขณะที่เราช่วยเขารดน้ำผัก ให้อาหารไก่ หรือนั่งโม้กันข้างน้ำตก และเป็นการพูดคุยเรื่องอื่นๆ ไปด้วยจนทำให้เห็นว่า “กูอยากคุยกับมึงในฐานะเพื่อน ไม่ใช่จะใช้มึงเป็นเครื่องมือวิจัย” หลายคนได้ข้อมูลในวงเหล้า และนี่ก็เป็นตัววัดอันหนึ่ง ที่นักวิชาการมานุษยวิทยาปัจจุบันชอบตั้งคำถามกับนักวิจัยบางคน ที่มีภาพลักษณ์นักวิชาการจัดที่ลงไปคุยกับคนในหมู่บ้านเสมือนครูที่ลงไปสอนเด็ก ภาพลักษณ์ของผู้ทรงอำนาจ ทรงความรู้มากกว่า จะส่งผลต่อการพูดบางอย่างของคนที่เรากำลังคุยด้วย

หมู่บ้านชาวพุทธแห่งหนึ่งในชวา มีความเป็นพุทธที่เข้มแข็งมาก รวมตัวกันสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกคืนตั้งแต่ 20.00 – 20.30 น. หมู่บ้านนี้กลายเป็นบ้านในอุดมคติของคนพุทธอินโดนีเซีย มีพระจากหลายที่มาให้การช่วยเหลือ เช่น บริจาคเงิน มาบรรยายธรรม ซึ่งเมื่อเข้ามาในหมู่บ้านแต่ละครั้ง ก็จะสัมภาษณ์ชาวบ้าน คนทั่วไปก็ต้องพูดว่า “ขอบคุณและยินดีมากที่ท่านให้การสนับสนุน”

ผมคุยกับลุงคนหนึ่งในสวนกาแฟ ว่า มีพระจากหลายนิกายมาสอนที่นี่ ชาวบ้านชอบนิกายไหนมากที่สุด? ลุงตอบว่า “คนที่นี่รับฟังทั้งหมดแหละ อะไรที่เป็นประโยชน์ พอจะเอาไปทำได้ ก็รับเอา แต่เขาไม่แคร์หรอก เพราะเขาเข้มแข็งมาได้ก่อนที่พระเหล่านั้นจะเข้ามา ผมคิดว่า ตอนนี้ คนที่นี่น่าจะกลัวอย่างเดียว คือ มาสอนว่าอันนั้นผิด อันนี้ถูก ตามหลักนิกายนั้นๆ และจะมาทำให้หมู่บ้านเราเป็นพุทธในแบบที่เขาต้องการ และถ้าจะทำถึงขั้นนั้น เราคงไม่ต้อนรับพวกเขา”

นี่เป็นความเห็นอันหนึ่ง ซึ่งเขาไม่สามารถพูดออกสื่อหรือให้สัมภาษณ์กับกลุ่มชาวพุทธที่เอาไมล์มาจ่อปากเขาได้ แต่เป็นความรู้สึกลึกๆ และวิธีต่อรองซึ่งเขาเตรียมไว้ และการจะได้ฟังสิ่งนี้ จะต้องอาศัยการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ

4. นักวิจัยยอดกตัญญู

มีคำกล่าวว่า เมื่อได้ข้อมูลจากพื้นที่และเขียนงานวิจัยเสร็จแล้ว การกลับไปเยี่ยมชุมชนบ้าง ถือเป็นเรื่องควรทำ เพราะเท่ากับไม่อกตัญญูต่อผู้ที่เคยให้ข้อมูลตน คนที่ไม่กลับไป อาจถูกตำหนิว่าเป็นพวก เฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น คือ ไปสำรวจพื้นๆ พอได้ข้อมูลมาเขียนก็ไม่เคยสนใจชาวบ้านอีกเลย

ผมเห็นด้วยกับการตำหนินักวิจัยที่ไม่ลงพื้นที่อย่างเป็นจริงเป็นจัง ไปสัมภาษณ์ไม่กี่ชั่วโมงและได้ข้อมูลมาเขียนราวกะเป็นคนใน (ข้อเสียของการไม่อยู่นานก็ดังที่กล่าวมาแล้ว) แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการต้องนิยามความกตัญญูผ่านการกลับไปหาชุมชนอีก การทวงบุญคุณเช่นนี้ ไม่ต่างกับการที่เด็กเมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่ควรลืมตีน แต่ต้องกลับไปช่วยหมู่บ้าน ผมคิดว่า นักวิจัย (รวมทั้งเด็กในชุมชนนั้น) มีอิสระพอที่จะไปทำมาหากินหรือทำประโยชน์ให้ที่ไหนก็ได้บนโลกนี้

ถ้าจะให้นิยามความกตัญญู ผมคิดว่า นักวิจัยต้องรู้จักการนำเสนอข้อมูล ปกปิดบางอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ขณะเดียวกัน ก็เสนอข้อมูลที่คนอื่นเข้าไม่ถึงให้มากที่สุด เพื่อจะช่วยให้รู้จักชุมชนหรือวิธีคิดของคนมากขึ้น การใช้ชื่อปลอม หรือกรณีที่รุนแรง แม้ชื่อหมู่บ้านก็ต้องสมมติด้วย แต่ก็ยังทำหน้าที่ชักชวนให้คนสนใจข้อมูลเชิงลึก เสนอให้คนได้เปรียบเทียบกรณีนั้นๆ กับสิ่งที่เขาได้พบเห็นรอบตัว ตั้งคำถามคำความไม่เป็นธรรมเป็นต้น การไม่ทรยศต่อระเบียบวิธีวิจัย ไม่สร้างข้อมูลเท็จ และให้เกียรติคนในชุมชนด้วยการหาความรู้/ข้อมูลอย่างจริงจัง ถือเป็นความกตัญญูและหน้าที่ของนักวิจัยแล้วคับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: วารสารมานุษยวิทยาศาสนา Journal of Religious Anthropology: JORA

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท