Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมวงสนทนาให้ความเห็นเพื่อพัฒนาสื่อหนึ่ง ที่น่าสนใจคือความเห็นในวงสนทนาต่อการผลิตสื่อเพื่อตอกย้ำความเป็นไทยที่มีประวัติศาสตร์ มีรากเหง้ายึดโยงคนไทยเข้ากับความเป็นไทยที่ผู้พูดพูดราวกับว่า “ความเป็นไทย” นั้นมีอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากต้องการทำรายการที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตชุมชน นอกจากเรื่องความเป็นไทยแล้วภาพชนบทในความคิดและความเข้าใจของคนในวงสนทนายังคงเป็นภาพชนบทที่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปกับกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ยังคงเป็นชนบทที่ใช้ระบบเศรษฐกิจชุมชน มีความเป็นอยู่ที่พอเพียง นวัตกรรมต่างๆ ล้วนเกิดมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน ชวนให้ผู้เขียนย้อนกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่าสำหรับผู้เขียนแล้วภาพชนบทและเกษตรกรของผู้เขียนเป็นอย่างไร กอปรกับกระแสความชื่นชมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ของพรรคอนาคตใหม่ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 – 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายพิธาได้ลุกขึ้นมาอภิปรายนโยบายเกษตรที่ดินของรัฐบาลด้วยการเสนอปัญหา “กระดุม 5 เม็ด” เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาหลักที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญมาตลอด และนโยบายเกษตรที่รัฐบาลแถลงไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เขาได้รับการชื่นชมจากพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สังคมออนไลน์ และสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย หลังจากการแถลงนโยบายซูเปอร์โพลได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบความพึงพอใจของประชาชนจำนวน 2,111 ตัวอย่างต่อการแถลงนโยบายรัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ผลจากการสำรวจปรากฏว่านายพิธาได้ความนิยมเป็นลำดับที่ 1 โดยได้รับคะแนนร้อยละ 16.3  (https://www.matichon.co.th/politics/news_1601689

จากวงสนทนาเรื่องการพัฒนาสื่อและความนิยมของนายพิธา บทความนี้จึงต้องการชวนคิดว่าทำไมชนชั้นกลางและชนชั้นนำจึงได้ปรารถนาที่จะสร้างภาพชนบทที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นชนบทที่ชวนฝันและพร้อมโอบอุ้มผู้คนที่อกหักผิดหวังจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในเมืองให้กลับไปเลียแผลใจเสมอ รวมถึงความเชื่อมโยงของภาพชนบทดังกล่าวกับการยอมรับ กล่าวขวัญในตัวนายพิธาและปัญหา “กระดุม 5 เม็ด” ที่เขาเสนอด้วย โดยผู้เขียนจะเริ่มที่กระแสความนิยมในตัวของนายพิธาก่อนจะขยายภาพไปยังชนบทในฝันของชนชั้นกลางในเมือง

สำหรับ “กระดุม 5 เม็ด” ที่นายพิธาเสนอนั้นคือ ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน วงจรหนี้สิน การประกันราคาและสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ นวัตกรรม/การไปไม่ถึงโอกาสการพัฒนาตัวเอง และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร อย่างไรก็ตามเป้าหมายของบทความนี้ไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอ “กระดุม 5 เม็ด” โดยตรงแต่ต้องการจะเสนอว่าท่ามกลางการชื่นชมนายพิธาของชนชั้นกลางนั้นแฝงไปด้วยการรับรู้เกี่ยวกับภาพบางประการของนักการเมืองและเกษตรกร นายพิธานั้นมิใช่ “เกษตรกร” ในภาพแบบที่เรารู้จักหรือคุ้นชิน เขาเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ที่มีภูมิหลังเป็นชนชั้นนำ บิดาของนายพิธา นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์เป็นอดีตที่ปรึกษากระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ และตัวของนายพิธาเองก็เป็น “นักเรียนนอก” จากการที่จบปริญญาโท 2 ใบจากสหรัฐอเมริกา ทั้งยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคารภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

การชื่นชมนายพิธาจึงแฝงไปด้วยภาพฝันของชนชั้นกลาง ที่มองว่านายพิธาเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีการศึกษา พร้อมด้วยข้อมูลในเรื่องที่ต้องการอภิปราย อีกทั้งยังแต่งกายเรียบร้อย พูดจาสุภาพน่าฟังคู่ควรแก่การเป็นสมาชิกสภาอันทรงเกียรติ เป็นนักธุรกิจการเกษตรที่ประสบความสำเร็จในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านอื่นจากอนาคตใหม่อาจได้รับการตอบรับที่ต่างไป เนื่องจากนำเสนอภาพของสมาชิกสภาที่ผิดแผกไปจากภาพที่ชนชั้นกลางคุ้นชิน มิหนำซ้ำ “กระดุม 5 เม็ด” ที่นายพิธาเสนอยังเป็นที่ยอมรับจากชนชั้นกลาง นักวิชาการ เอ็นจีโอและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเนื่องจากตอกย้ำภาพของสังคมชนบทที่อยู่ในภาพฝันของชนชั้นกลาง เป็นภาพของเกษตรกรที่ “โง่ จน เจ็บ” มีวิถีชีวิตยากจนข้นแค้นไม่มีที่ดินทำกิน เป็นเกษตรกรที่อยู่ในวงจรหนี้ เข้าไม่ถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ (จนในบางกรณีเอ็นจีโอบางกลุ่มอาจกล่าวว่าถูกรัฐรังแก) ในการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร รวมถึงไม่สามารถยกระดับไปประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเชิงการเกษตรได้ (ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่มีพรรคการเมืองและกลุ่มเอ็นจีโอกล่าวถึง และถกเถียงมาแล้วจึงไม่ใช่เรื่อง “ใหม่” แต่อย่างใด)  

แล้วภาพฝันของชนบทที่เหล่าชนชั้นกลางจินตนาการถึงนั้นมาจากไหน? ผู้เขียนเสนอว่าภาพฝันเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาจากสื่อกระแสหลักทั้งละคร ภาพยนตร์ เพลง งานเขียน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ในรูปแบบละคร และรายการทีวีจำนวนมากที่นำเสนอภาพของชนบท และเกษตรกรที่อยู่ในท้องไร่ ท้องนา ภูเขา บ้านกลางทุ่ง มีวิถีชีวิตแบบชนบทที่เนิบช้า สงบ พอเพียง ผูกติดกับวิถีเศรษฐกิจแบบชุมชน “ชาวบ้าน” มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแทนที่จะใช้เงินสดซื้อของ นวัตกรรมการผลิตยังเป็นการผลิตแบบปฐมภูมิเป็นหลัก กำลังแรงงานมาจากการร่วมลงแรงของชาวบ้าน ซึ่งเป็นภาพที่สื่อกระแสหลักพยายามสร้างให้ผู้ชมได้รับรู้ เข้าใจและมีภาพฝันของชนบทแบบนั้น (ลองจินตนาการดูว่าหากเราเห็นชาวนาหรือเกษตรกรใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อทำการเกษตร ดังเช่นเกษตรกรในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาหรือหลายประเทศในยุโรปก็คงจะเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจผิดไปจากการรับรู้เดิมของเรา) 

ดังนั้นภาพชนบทที่คนเมือง อยากเห็น อยากให้เป็น อยากให้ดำรงอยู่ ก็คือภาพชนบทที่หยุดนิ่ง พอเพียง ไม่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เพราะชนบทยังเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า สัญญาณโทรทัศน์และโทรศัพท์ มีวิถีชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ เมื่อคนเมืองอกหักจากวิถีชีวิตทุนนิยมในเมืองก็สามารถกลับไปรำลึกหาความหลังในชนบทได้ หรือสามารถไป “พัฒนาชนบท” ได้ ดังนั้นจึงปรากฏกิจกรรมประเภทค่ายอาสาพัฒนาชนบทจำนวนมากนับตั้งแต่การเกิด “มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 และการก่อตั้ง “โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร” (หรือปัจจุบันคือวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2512 โดยมีนายป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นแกนนำในการก่อตั้ง (https://www.silpa-mag.com/history/article_36335

อย่างไรก็ตามชนบทได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนภาพฝันของชนชั้นกลางอีกต่อไป เกษตรกร ชาวนา หรือชาวบ้านไม่ได้เป็นฝ่ายรองรับความช่วยเหลือจากรัฐอยู่ในชนบทเพียงฝ่ายเดียว แต่กลับมีการเคลื่อนย้ายมาเป็นแรงงานในเมือง เปลี่ยนจากเกษตรกรหรือชาวนามาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือเป็นผู้เสนอโครงการเพื่อรับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น โดยงานศึกษาชิ้นสำคัญของนักวิชาการหลายท่านได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในมิติสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของชนบทไว้อย่างชัดเจน และแหลมคมยิ่งนัก (โปรดดูงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในชนบท เช่น “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” โดยอภิชาต สถิตนิรามัยและคณะ “ชาวนาการเมือง” โดยแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ แปลโดยจักกริช สังขมณี “Finding Their Voice: Northeastern Villagers and the Thai State.” โดย Charles F. Keyes “หีบบัตรกับบุญคุณ: การเมืองการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายอุปถัมภ์” โดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ และ “การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย” บรรณาธิการโดยประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นต้น)  

กล่าวได้ว่าแม้จะมีงานเขียนจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าชนบทเปลี่ยนไปแล้ว แต่ทว่าชนชั้นกลางกลับเลือกที่จะเชื่อว่าชนบทยังคงเป็นชนบทในภาพฝันของพวกเขาเพราะมันสอดรับกับความเชื่อที่ว่าคนชนบท “โง่ จน เจ็บ” ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ถูกนักการเมืองควบคุม จึงไม่สมควรที่จะมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองเท่ากับคนเมืองผู้มีการศึกษา หรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือ การเมืองควรอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญจำนวนน้อย ที่มีการศึกษา มีความรู้และมีภาพลักษณ์เรียบร้อยสะอาดสะอ้านในแบบที่ชนชั้นกลางชอบ ปรากฏการณ์ความนิยมในตัวนายพิธาในอีกมุมหนึ่งจึงเป็นการตอกย้ำภาพฝันของชนบทที่ชนชั้นกลางฝันถึง อีกทั้งยังย้ำว่าคนที่สมควรปกครองบ้านเมืองนี้ยังต้องเป็นคนดี ที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญอีกด้วย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net