Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกจดหมายเปิดผนึก 'วิกฤตการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ' เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกจดหมายเปิดผนึก 'วิกฤตการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ' เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ ส่งถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ประธานวุฒิสภา (สำเนาถึงสมาชิกวุฒิสภาทุกคน) ระบุว่าาสืบเนื่องจากความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทำให้นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร ได้ยื่นหนังสือลาออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เป็นผลให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังคงเหลืออยู่คือ นายวัส ดิงสมิตร นางประกายเพชร ตันธีรวงศ์ และนางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะลงนามในหนังสือด่วนที่จะมีถึงประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราวระหว่างการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดใหม่นั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ไม่เห็นด้วยกับการที่นายวัส ติงสมิตร พยายามที่จะยืดอายุการทำงานของตนเองและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีตนเป็นประธานออกไปอีกด้วยวิธีการดังกล่าว และเห็นว่าคณะกรรมการสิทธมนุษยชนแห่งชาติที่ยังเหลืออยู่หมดความชอบธรรมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแล้ว การยืนยันที่จะไม่ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งคณะ โดยการอ้างผลงานการดำเนินการเรื่องร้องเรียนเก่าที่คงค้างอยู่เสร็จสิ้นไปกว่า 81 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นที่ทราบกันดีในเครือข่ายภาคประชาชนว่า ส่วนใหญ่เป็นการยุติและปัดเรื่องการร้องเรียนออกโดยการปฏิเสธที่จะดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่มาร้องเรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและนานาอารยะประเทศ คณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions - ICC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Global Alliance of National Human Rights Institutions – GANHRI ยังมีข้อกังขากับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ที่ไม่กล้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจอยู่ซึ่งได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยมากมาย จึงยังคงสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่ม B ซึ่งทำให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทยได้รับผลกระทบ 3 ประการ คือ (1)  ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ (2) สถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทยจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ (3) ไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.ขอเรียกร้องให้ประธานและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังคงเหลืออยู่ 3 คน คือ นายวัส ดิงสมิตร นางประกายเพชร ตันธีรวงศ์ และนางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากหมดความชอบธรรมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการต่อไป 2.ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่โดยเร็วเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนโดยเร็ว ทั้งนี้  ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาอยู่แล้ว จึงไม่สมควรเรียกร้องให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้คัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาทำหน้าที่แทนชั่วคราวเป็นการเฉพาะ ตามที่นายวัส ดิงสมิตร พยายามยืดอายุการทำงานของตนเองโดยไม่สนใจต่อความรับผิดชอบทางสังคม

และ 3.ขอเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคน รับผิดชอบต่อสังคมและรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐ และปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคีและสหประชาชาติรับรอง เพื่อยกฐานะประเทศไทยในบทบาทสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ดังนั้น สมาชิกวุฒิสภาต้องลงมติเลือกผู้เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีประสบการณ์และบทบาทการทำงานสิทธิมนษยชนอย่างแท้จริงและเป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่เลือกใครก็ได้เข้ามา หรือเป็นข้าราชการเกษียณอายุที่ไม่มีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนเฉกเช่นที่ผ่านมา ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดก่อนได้คัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่

หลักการปารีสว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากบุคคลหลายฝ่าย ต้องเป็นผู้ที่สามารถก่อให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ หรือเป็นผู้แทนมาจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรภาคเอกชน (NGOs) สื่อ นักวิชาการ และหน่วยงานของรัฐ  จึงต้องการให้มีผู้แทน NGOs หรือภาคประชาสังคมอยู่ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อที่จะได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นอิสระ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอแนะต่อวุฒิสภาในการพิจารณารายชื่อผู้ผ่านการสรรหาด้วยความเป็นธรรม ปราศจากอคติต่อผู้ผ่านการสรรหาที่มาจากภาคประชาสังคม และมีประสบการณ์ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นที่ประจักษ์ เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของไทยให้ได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประการดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย และจะทำให้กลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับสากลในทุกภูมิภาคของโลก มีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net