Skip to main content
sharethis

กองปราบปราม เตือนลูกจ้างแกล้งป่วย ปลอมแปลงใบรับรองแพทย์ มีโทษหนักถึงจำคุก

จากกรณีแพทย์หญิงคนหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กแชร์ประสบการณ์ ถูกคนไข้ปลอมแปลงใบรับรองแพทย์ จากเดิมที่แพทย์เขียนไว้ว่า ผู้ป่วยมีอาการไข้ เป็นไข้หวัด แต่ผู้ป่วยไปเขียนเพิ่มเติมจากไข้หวัด เป็นไข้หวัดสายพันธุ์บี และเขียนวันหยุดเพิ่มเข้าไปอีก แก้ตัวเลขเป็นให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 19-25 กรกฎาคม

คุณหมอรู้เรื่องนี้จากนายจ้างที่โทรศัพท์กลับมาสอบถาม จึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ไม่อยากให้ใครทำแบบนี้อีก เพราะจะมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการ เป็นคดีอาญา เพราะใบรับรองแพทย์นี้ออกโดยโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้ คุณหมอเตือนเพื่อนในวงการแพทย์ด้วยกัน ขอให้ขีดหน้า-ขีดหลังข้อความไว้ ไม่ให้เติมข้อความเพิ่มได้จะดีกว่า พร้อมระบุว่า ผู้ที่ปลอมแปลงเอกสารราชการจะมีความผิดในคดีอาญาด้วย

ขณะที่ เพจกองปราบปราม เตือนอย่าคิดปลอมแปลง แก้ไขอะไรในใบรับรองแพทย์ ถือว่ามีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ ไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 34 นอกจากนี้ นายจ้างยังสามารถไล่ออกได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 (1) ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย เพราะถือว่าเป็นการทุจริตแก่นายจ้าง

ด้าน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอตรวจสอบการกระทำผิดนี้ในแง่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ว่าการที่ลูกจ้างได้ปลอมแปลงใบรับองแพทย์ ข้อนี้ นายจ้างจะสามารถใช้เป็นเหตุบอกเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่

ที่มา: news.ch7.com, 2/8/2562

ก.แรงงาน ขยายเวลาปล่อยกู้อบรมพนักงานถึง 30 ส.ค. 2563

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบขยายระยะเวลาการให้กู้ยืมเงิน แบบไม่มีดอกเบี้ย สิ้นสุดในเดือน ส.ค. 2563 เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ นำไปใช้ในการฝึกอบรมให้กับพนักงานของตนเอง หรือกู้ไปเพื่อไปใช้ในการดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมถึงกลุ่มของผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฯ ด้วย สำหรับ การให้กู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน แบบไม่มีดอกเบี้ยสิ้นสุดโครงการในเดือน ก.ค. 2562 สถานประกอบกิจการต้องยื่นเอกสารการขอกู้ให้เรียบร้อยภายใน 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งยังมีสถานประกอบกิจการอีก 28 แห่ง รอรับการพิจารณาให้กู้ยืมรวมวงเงินอีกกว่า 22 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีสถานประกอบกิจการอีกหลายแห่งที่มีความสนใจที่จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับพนักงานของตนเอง แต่ยังจัดทำเอกสารประกอบคำขอกู้ไม่เสร็จ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงพิจารณาให้มีการขยายการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวออกไปอีกถึง ส.ค. 2563 วงเงินให้กู้ยืมสูงสุดถึง 1,000,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 ก.ค. 2563 ยื่นเอกสารได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร 0 2390 0261- 5 หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0 2643 6039 หรือเว็บไซต์ www.dsd.go.th/sdpaa

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 2/8/2562

รมว.แรงงาน ยันไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้ หวั่นกระทบผู้ประกอบการ

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท.เข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสอบถามความชัดเจนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาท ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงไว้ ซึ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคล ระบุว่ายังไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ เพราะหากปรับขึ้นช่วงปลายปีจะกระทบกับนายจ้างในการจ่ายเงินโบนัส แต่หากเป็นช่วงต้นปี 2563 ก็มีความเป็นไปได้

ส่วนตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาทนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดจะกระทบกับผู้ประกอบการ ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา และที่สำคัญต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย

ทางด้านนายสมพร มองว่า คณะกรรมการไตรภาคีไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจในการขึ้นค่าจ้างอย่างแท้จริง แต่อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล เพราะก่อนการเลือกตั้งก็มีการประชุมเพื่อปรับค่าจ้างแต่ก็เลื่อนออกไป ซึ่งรัฐบาลก็ต้องดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้กำหนดโครงสร้างค่าจ้าง ปรับค่าจ้างทุกปีตามสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าด้วยรวมถึงเสนอให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตรจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพร้อยละ 50 ของเงินเดือนสุดท้ายการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตน

ที่มา: Bright TV, 2/8/2562

พนักงานช่อง 3 ปรึกษาศาลแรงงานกลางเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

1 ส.ค. 2562 ที่ศาลแรงงานกลาง เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มพนักงานฝ่ายข่าว และผู้ผลิตรายการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จำนวนเกือบ 20 คน เดินทางมาที่ศาลแรงงานกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมและปรึกษานิติกร กรณีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของผู้บริหาร หลังมีการคืนช่องสัมปทานทีวีดิจิตอล ช่อง 13 Family และ ช่อง 28 SD โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางรัก มาดูแลความปลอดภัยบริเวณโดยรอบ ในขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนหลายสำนักสนใจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มพนักงานใช้เวลาหารือนิติกรนานกว่า 1 ชั่วโมง

นายวรชิต ตรีพืช อายุ49 โปรดิวเซอร์ข่าวการเมือง ในฐานะ ตัวแทน กล่าวว่า ตนทำงานมา 24 ปี มาร้องขอความเป็นธรรม ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับใคร เพียงแต่มาปรึกษานิติกรเพื่อหาแนวทาง และที่ที่มาร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้มีหลายเหตุผล คือ 1.ผู้บริหารไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โดยให้พนักงานพ้นสภาพโดยทันทีก่อนที่จะมีการยุติออกอากาศของช่อง 13 Family และ ช่อง 28 SD

2.การจ่ายเงินชดเชยพิเศษไม่เป็นไปตาม มาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน ทั้งที่ มาตรา44คำสั่ง คสช.ที่ระบุว่าต้องดูแลพนักงานอย่างดีรวมทั้งมีหนังสือชี้แจงจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ระบุว่าจะให้เงินชดเชยมากกว่าที่กฎหมายกำหนด 3.บริษัท ปลดพนักงานออก อ้างเรื่องการลดต้นทุน แต่บริษัท ก็มีการรับพนักงานใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เงินเดือนที่สูง 4.พนักงานมีการทำหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมยื่นไปที่ผู้บริหาร แต่ได้รับการเพิกเฉย โดยในสาระสำคัญจะเป็นการถามเกี่ยวกับเกณฑ์ในการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดใด และ 5.มีการเลิกจ้างคนที่อยู่ในบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิตอลเลย

"ทั้งนี้ฝากถึงผู้บริหารว่าควรจะมีการพิจารณาข้อมูลหรือตอบคำถามให้รอบคอบก่อนที่มีการตัดสินใจ ที่ผ่านมาไม่ความชัดเจนให้กับพนักงานเลย อย่างไรก็ตาม กลุ่มพนักงานเตรียมจะเดินทางไปที่ กสทช. เพื่อหารือแนวทางอื่นๆต่อไป" นายวรชิตระบุ

ที่มา: Nation TV, 1/8/2562

หนุนตั้ง คกก.สวัสดิการ ดูแลแรงงานข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.62 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนเสวนา “หลังคลื่น IUU: เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย” เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนนโยบายและการบริหารจัดการแรงงานอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และมองหาข้อท้าทายและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทย หลังไทยถูกปลดใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรป

น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามหาช่องทางให้แรงงานข้ามชาติสามารถร้องเรียนกับทางบริษัท กฎหมายคุ้มครองไว้ว่านายจ้างต้องมีการจัดการเลือกตั้งให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้น โดยต้องมีคณะกรรมการฯ 5 ขึ้น ซึ่งเท่าที่ดูในสถานประกอบการ มีความเป็นไปได้ และดีในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่อยากเห็นไม่ได้เพียงในกฎหมาย อยากเห็นฟังก์ชั่น หรือรูปแบบที่แรงงานใช้ได้จริง ดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสรรหาแรงงานต้องคำนึงถึงทุกชาติที่อยู่ในโรงงาน เช่น ลาว กัมพูชา คนไทย ได้พยายามเสนอถ้าแรงงานสถานประกอบการ มีไม่น้อยกว่า 10,000 คน แต่มีผู้ปฏิบัติเพียง 5 คน คงดูไม่เหมาะสม อยากให้ดูสัดส่วนของแรงงาน ให้แรงงานมาสมัครเป็นคณะกรรมการฯมากกว่า 5 คน และให้มีแรงงานมาสมัครในทุกชาติ คำนึงถึงความเป็นเพศด้วย เพราะบางสถานประกอบการมีแรงงานหญิงมากกว่าแรงงานไทย อีกทั้งถ้ามีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ เสร็จ ต้องมีการอบรมให้คณะกรรมการสวัสดิการซึ่งมาจากแรงงานรู้ถึงบทบาทหน้าที่ และต้องมีการประชุมทุก 3 เดือน ต้องมีผู้บริหารของบริษัทที่สามารถตัดสินใจได้ ไม่ใช่เอาใครก็ได้ ไม่สามารถตอบอะไรได้แก่แรงงาน

“อยากฝากในทุกบริษัท โรงงานจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการ จัดทำตามขั้นตอนในข้อเสนอหรือไม่อย่างไร กลไกการร้องเรียนแต่ละบริษัท เมื่อแรงงานมีประเด็นร้องเรียน บริษัทมีกระบวนการอย่างไร และอยากถามถึงภาครัฐ ได้มีการตรวจสอบหรือไม่ว่าแต่บริษัทได้ทำตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือรอเพียงรายงาน 3 เดือนในกระดาษเท่านั้น รวมถึงเมื่อใดจะได้รับสัญญาณจากรัฐบาลได้รับอนุสัญญา ILO (International Labour Organization)หรือ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ที่รับรองสิทธิคนงานในการตั้งสหภาพแรงงาน และคุ้มครองคนงานไม่เลือกหน้า” น.ส.สุธาสินี

น.ส.เบ็ญจพร ชวลิตานนท์ ตัวแทนจากบริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าซีเฟรส มีแรงงานประมาณ 2,600 คน มีแรงงานต่างด้าวจากพม่ามากสุด และแรงงาน 80% เป็นผู้หญิง โดยการตั้งคณะกรรมการสวัสดิการนั้น มีตัวแทน 22 คน และปัจจุบันมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน 8 ช่องทาง ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการสวัสดิการ และทีม HR จะเป็นช่องทางในการที่คนงานมาร้องเรียนมากที่สุด อีกทั้งได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสวัสดิการกับนายจ้าง ถือว่ามีบทบาทที่มากขึ้น ให้เขาได้รู้ว่ามีหน้าที่อย่างไร พยายามให้มีตัวตนและให้ภาคภูมิใจ ดังนั้น ทางบริษัท โรงงานได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการ ให้เป็นไปตามกลไกของภาครัฐ เป็นไปตามกฎหมาย

“ปัญหาของแรงงานที่ผ่านมา หลายๆ เรื่องของแรงงานเกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างหัวหน้าคนไทยกับลูกน้องต่างด้าว นั่นเกิดจากการสื่อสาร ทำให้เกิดช่องว่าง ตอนนี้ได้อบรมภาษาพม่าให้แก่หัวหน้างานทั้งหมด ส่งผลให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น เนื่องจากหัวหน้าและลูกน้องสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน และกำลังขยายไปกับพนักงานอื่นๆที่ต้องเรียนรู้กับแรงงานพม่า และแรงงานชาติอื่นๆ นอกจากนั้น บริษัทได้ขับเคลื่อนผ่านทีมงาน ทีม HR แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องท้าทาย และต้องใช้เวลา” น.ส.เบ็ญจพร กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 31/7/2562

กพร.ลุยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เสริมทักษะ STEM ให้เอสเอ็มอี ตั้งเป้า 15,000 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยเน้นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงาน ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปฏิรูปคนทำงาน (Workforce transformation) รองรับกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง

กพร.ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงศักยภาพกำลังแรงงานอยู่เสมอว่า ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการด้าน SME จึงจัดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานขึ้น โดยจัดส่งทีมงานออกให้คำปรึกษาและวิเคราะห์กระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิตได้ รวมถึงให้ความรู้แก่พนักงานให้สามารถวิเคราะห์งาน เพื่อแก้ไขปัญหาในการทำงานเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปี 2562 โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน มีเป้าหมายให้คำปรึกษาแนะนำแก่สถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP และ SME จำนวน 228 แห่ง มีสถานประกอบการทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมทั้งสิ้น 332 แห่ง และพัฒนาทักษะแก่พนักงานหรือสมาชิก รวมจำนวน 15,000 คน เพื่อให้คิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ตามแนวทาง STEM Workforce และมีทักษะที่หลากหลาย (Multi Skill) ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันหรือสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ โครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนสิงหาคม 2562 นี้ หลังจากนั้นจะสรุปผลภาพรวมทั้งประเทศ ถึงมูลค่าที่สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน อย่างไรก็ตามหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะมีการติดตามผลและให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯอย่างต่อเนื่อง

ด้าน “นางน้อย รอดปันนา” หัวหน้าฝ่ายผลิต เล่าว่า บริษัท จอย สปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่กระเป๋ากันน้ำ เบาะเรือ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และแฟชั่น เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก จัดเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษา แนะนำ โดยช่วงแรกจะเข้ามาดูกระบวนการผลิต ขั้นตอนการทำงาน เพื่อศึกษาว่ามีจุดไหนบ้างที่ส่งผลต่อการผลิต ซึ่งพบว่าเครื่องจักรในแผนกตัดเย็บ ขาดการบำรุงรักษา ทำให้ต้องมีการซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง ส่งผลต่อการผลิตได้ไม่เต็มที่ และสร้างความเสียหายต่อชิ้นงาน จึงจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้และบำรุงรักษาจักรอุตสาหกรรมแก่พนักงานแผนกตัดเย็บ จำนวน 20 คน ให้สามารถบำรุงรักษา และซ่อมเครื่องจักรได้เบื้องต้น ซึ่งช่วยให้ตัดเย็บชิ้นงานได้มากขึ้น และส่งลูกค้าทันเวลา ที่สำคัญคือประหยัดค่าใช่จ่ายในการซ่อมบำรุงอีกด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29 ก.ค. 2562

สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เล็งพบ รมว.แรงงานให้เดินหน้ามาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เตรียมทำหนังสือขอเข้าพบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานที่ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้ามาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงาน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้มีค่าแรงที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และทักษะฝีมือแรงงาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28 ก.ค. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net