นักเศรษฐศาสตร์ชี้ 4 เดือนสุดท้ายเสี่ยงปัญหาเศรษฐกิจ เตือนรับมือปัญหาการว่างงาน

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต ระบุเศรษฐกิจไทย 4 เดือนสุดท้ายปี 2562 ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ชี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ควรผ่อนคลายการเงิน เตือนรับมือปัญหาการว่างงาน


ที่มาภาพประกอบ: Wutthichai Charoenburi (CC BY 2.0)    

4 ส.ค. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เศรษฐกิจไทย 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงภายนอกภายในรุมเร้า คาดการณ์ว่าส่งออกยังไม่ฟื้นตัวหดตัวมากกว่าเดิม รายได้ภาคท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สัญญาณการบริโภคชะลอตัว ยอดซื้อสินค้าคงทนลดลงชัดเจน คาดภาคการลงทุนจากต่างประเทศและเอกชนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ควรพิจารณาผ่อนคลายทางการเงินเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเผชิญกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ดีขึ้น นอกจากนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังจะช่วยบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาท ทุกๆ 1% ที่บาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์ สินค้าส่งออกไทยจะแพงขึ้น 0.3% เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยถดถอยลงท่ามกลางการหดตัวของการส่งออก

นอกจากนี้เหตุระเบิดล่าสุดส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ จะทำให้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการบริโภคชะลอตัวลงอีก รัฐบาลต้องดูแลให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประเทศ และ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นมาอีก ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนรุนแรงขึ้น no deal brexit กระทบต่อระบบการค้าโลก ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยต้องเตรียมรับมือในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวในระดับต่ำ จากข้อมูลล่าสุดพบว่าเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนล้วนชะลอตัวเกือบทุกหมวด ภาคการผลิตขยายตัวต่ำ มีภาคการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการว่างงานมากขึ้น มีการลดชั่วโมงการทำงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นผลมาจากทั้งวัฏจักรธุรกิจ การปรับโครงสร้างของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม การใช้ระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นอกจากนี้ควรมีการปิดช่องโหว่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ในหลายกรณีการฟ้องร้องคดีความที่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง ซึ่งยุติลงในกระบวนการยุติธรรมเพียงชั้นไกล่เกลี่ย รับเงินชดเชยในหลักแสนบาท แต่ไม่ได้กลับเข้าทำงาน เพื่อแก้ปัญหาการเลิกจ้างคนงานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเป็นต้องปฏิรูประบบไต่สวนของศาลแรงงาน ผู้พิพากษาควรมีความเชี่ยวชาญเรื่องแรงงานเพื่อไม่ให้แรงงานเสียสิทธิ รวมทั้งเลี่ยงการใช้วิธีไกล่เกลี่ย มากกว่าสืบคดีพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้าง   

ผศ.ดร.อนุสรณ์ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี จะมีรูปแบบการทำงานและการจ้างงานแบบชั่วคราวมากขึ้น การทำงานไม่เต็มเวลามากขึ้น มีการเลิกจ้างมากขึ้น การเลิกจ้างในธุรกิจสื่อมวลชน ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆยังคงทยอยเกิดขึ้นต่อเนื่อง อุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า อุตสาหกรรมส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ที่เป็นเทคโนโลยีตกยุค นอกจากนี้ในบางธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออกไม่ถึงขนาดมีการเลิกจ้างแต่จะมีลดชั่วโมงการทำงาน จะมีการเลิกจ้างในเครือข่ายธุรกิจค้าปลีก เครือข่ายสาขาธนาคารเพิ่มเติมอีกจากช่วงครึ่งปีแรก พนักงานวางแผนทางการตลาดพนักงานขาย นักบัญชี นักกฎหมาย ที่ระบบอัตโนมัติหรือเอไอสามารถทำหน้าที่ได้แทน บุคลากรในสถานศึกษาเป็นกลุ่มคนที่จะถูกเลิกจ้างด้วย ขณะที่มีการขยายตัวของการจ้างงานในธุรกิจหรือกิจการที่ใช้รูปแบบออนไลน์แต่ตำแหน่งงานไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก  

ขณะเดียวกันมีการขาดแคลนแรงงานในหลายกิจการ เช่น ภาคก่อสร้าง ภาคเกษตรกรรม  และ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานจากกิจการที่มีการเลิกจ้างเข้าทดแทนกันได้ในทันทีเนื่องจากมีทักษะและคุณสมบัติของแรงงานที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ แรงงานไทยที่ถูกเลิกจ้างมักมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปซึ่งมีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะหรือเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ๆหรือเปลี่ยนอาชีพ ทางการจึงควรมีระบบการคุ้มครองและดูแลคนเหล่านี้ให้สามารถดูแลตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แรงงานไทยออกจากภาคเกษตรกรรมมากขึ้น และมาเป็นแรงงานนอกระบบ (Informal Sector) หรือ แรงงานอิสระ มักจะขาดความมั่นคงและสวัสดิการ หรือ แม้นแต่ แรงงานในระบบ (Formal Sector) เองก็มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างน้อย เนื่องจากระบบสหภาพแรงงานที่ไม่เข้มแข็งของไทย แม้นรัฐบาลที่ผ่านมาจะพยายามปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ดีขึ้นก็ตาม ในภาคเกษตรกรรม แรงงานข้ามชาติจึงก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเนื่องจากจำนวนของกำลังแรงงานภาคเกษตรของไทยลดลงอย่างมาก    

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ทั้งในส่วนการคุ้มครองแรงงาน การจัดหางานใหม่ การฝึกทักษะใหม่ๆให้กับแรงงาน ในระยะยาวแล้ว ต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้และระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและอุปสงค์ในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท