Skip to main content
sharethis

ชาวชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เดินเท้าแจกข้อมูล หลังถูกปิดหมายบังคับคดี ให้ออกภายใน 27 ส.ค.นี้ ขุดกระดูกบรรพบุรุษและเอกสารยันแล้วฏีกาก็ยังชี้ว่าผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่า 'ขบวนการอีสานใหม่' ถามจะเลือกอะไรระหว่างปลูกสวนป่ายูคาฯ หรือจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ "หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์"
 

5 ส.ค.2562 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า วันนี้ (5 ส.ค.62) ช่วง 10.00 - 16.00 น. ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จัดกิจกรรมรณรงค์ เดินเท้าแจกเอกสารข้อเท็จจริง เพื่อแจ้งข่าวไปตามหมู่บ้านต่างๆ ใน ต.ทุ่งพระ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ในแต่ละชุมชนได้เข้าใจถึงปัญหาผลกระทบความเดือดร้อนจากการถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับซ้อนที่ดินทำกิน พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่า จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ กว่า 60 คน เข้าปิดหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 ส.ค.62 นี้

ขบวนการอีสานใหม่ (New Isan Movement) โพสต์อธิบายถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างชาวชุมชนบ่อแก้วกับ อ.อ.ป. ว่า ย้อนไปเมื่อปี 2516 รัฐบาลประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ต่อมาปี 2521 เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับ อ.อ.ป. ตั้งแต่มีการปลูกป่าคอนสารทับที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว และยืดเยื้อมานานจนปัจจุบัน หากย้อนกลับไปถึงเหตุปัญหา จะพบว่าชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 277 ราย ได้ถือครองทำประโยชน์และพบหลักฐานการครอบครองในที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2552 และได้จัดตั้งชื่อหมู่บ้านบ่อแก้ว เพื่อรอคำตอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตามที่ชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล และมีมติที่ประชุมในการแก้ไขปัญหาให้ลงมาร่วมกันรับผิดชอบ นอกจากนี้ ชาวบ้านร่วมกันพลิกพื้นผืนดินให้สมบูรณ์ด้วยการคิดค้นแนวทางจัดการที่ดินไปสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรมอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่าพืชเศรษฐกิจเช่นไม้ยูคาฯ ที่รัฐนำเข้ามาปลูกนั้น ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน 

ขบวนการอีสานใหม่ ระบุต่อว่า หากเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาฯ ของ อ.อ.ป. นอกจากเป็นการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่แล้ว ไม้ยูคาฯ ยังได้ลำลายสภาพแวดล้อม ส่งผลความเสียหายต่อผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เกิดการเสื่อมโทรม ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมากกับการผลิตของชาวบ้านที่ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการผลิตของชาวบ้านยังสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัว โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก มีบางรายที่สามารถขายเป็นรายได้ในครัวเรือน จำพวกกล้วย ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพด และพืชผักบางชนิด เป็นต้น

ชาวบ้านมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐในที่ดินทำกิน ให้ร่วมจัดการแก้ไขปัญหาด้วยความถูกต้อง คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร ให้จัดสรรที่ดินให้ผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ชาวบ้านจึงได้เข้าปักหลักยึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา

แต่การดำเนินงานแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐล่าช้า และไม่มีความต่อเนื่อง ส่งผลให้การกลับเข้ามายังที่ดินทำกินเดิม จนนำไปสู่การที่ อ.อ.ป.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องดำเนินคดีชาวบ้าน ในข้อหาบุกรุก จำนวน 31 คน 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้ชาวบ้านได้แสดงหลักฐาน กระทั่งไปขุดเอากระดูกบรรพบุรุษของพ่อ ของแม่ รวมทั้งเอาเอกสารทุกอย่างมายืนยัน แต่ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ รวมทั้งศาลฏีกา พิพากษาว่าชาวบ้านมีความผิดในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า

"สังคมจะเลือกอะไรระหว่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างสวนป่ายูคาลิปตัส กับการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ "หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์" ขบวนการอีสานใหม่ โพสต์ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net