Skip to main content
sharethis

คณะ ส.ส. ทีมบริหาร อดีตผู้สมัครฯ พรรคประชาชาติ เข้าแจ้งความหมิ่นประมาทผู้ใช้เฟสบุ๊คโยงพรรคฯ เอี่ยวระเบิด กทม. ระบุ ทำให้เกิดความเกลียดชัง เสียชื่อเสียง ทำให้ลงพื้นที่ลำบาก แจ้งความหวังให้จับตัวดำเนินคดีเป็นเยี่ยงอย่าง กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาสคาด ตำรวจส่ง 2 ผู้ต้องสงสัยไปคุมตัวที่ยะลาแทนที่จะเป็น กทม. พื้นที่เกิดเหตุ เพราะจะใช้กฎหมายพิเศษคุมตัวยาว 7 วัน ไม่ต้องส่งศาลภายใน 48 ชั่วโมง วอนเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหลักกระบวนการยุติธรรม

กมลศักดิ์ กูเฮง มูฮัมหมัดรุสดี และทวีศักดิ์ ขณะเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองนราธิวาส

6 ส.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ  ส.ส. เขต 4 นราธิวาส พร้อมด้วยคณะจากพรรคประชาชาติ ประกอบด้วยกูเฮง ยาวอฮาซัน ส.ส. เขต 3 นราธิวาส มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ กรรมการบริหารพรรคและอดีตผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพ และทวีศักดิ์ ปิ กรรมการบริหารพรรคและอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนราธิวาส กรณีมีผู้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คให้ร้ายพรรคประชาชาติว่า มีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา

ประมวลเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ 1-2 ส.ค. 62

ประมวลเหตุการณ์จับกุม-คุมตัว-ถูกพาดพิงหลังเหตุระเบิดหลายแห่งใน กทม.

กมลศักดิ์นำภาพของผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Piyapong Prasaththong ที่ได้โพสต์และแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คของตน รวมทั้งแชร์ไปยังกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่ม ใจความว่า "พรรคประชาชาติเป็นผู้บงการระเบิดป่วนเมือง เพราะจ้างวานให้คนรุ่นใหม่ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปวางระเบิดป่วนเมือง" พร้อมกับแนบโลโก้พรรคด้วย ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพรรคฯ และทำให้ประชาชนเกลียดชังพรรคฯ ทำให้สมาชิกพรรคฯ และ ส.ส. เกิดความลำบากในการลงพื้นที่ จึงปรึกษากับหัวหน้า เลขาธิการและคณะผู้บริหารพรรคฯ ว่าต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อนำตัวผู้กระทำมาดำเนินคดีให้เป็นกรณีตัวอย่าง เนื่องจากการใส่ร้ายโจมตีในลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นเป็นประจำ คนในพื้นที่ชายแดนใต้จะรู้จักในนาม 'ไอโอ' (information operation – IO) ที่มักโจมตีกล่าวร้ายคนทำงานภาคประชาสังคมหรือนักกิจกรรมมาโดยตลอด หากเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดก็จะช่วยทำให้การใส่ร้ายในลักษณะนี้ไม่เกิดขึ้นอีก 

กมลศักดิ์ตั้งข้อสังเกตในส่วนของผู้ต้องสงสัย 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่นั้น ปรากฏว่า เป็นคนอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของตน โดยตนอยากขอวิงวอนให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหลักกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความจริงปรากฎ อย่างไรก็ดี ปรากฎว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวทั้ง 2 คน มาควบคุมตัวและสอบสวนที่ศูนย์ปฏิบัติติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จังหวัดยะลา แทนที่จะดำเนินการที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ อาจสันนิษฐานได้ว่า หากดำเนินการที่กรุงเทพฯ  ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษหรือกฎอัยการศึกควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นระยะเวลานานได้ แต่จะต้องทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไป ซึ่งต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลภายใน 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ การเชื่อมโยงการระเบิดที่กรุงเทพฯ กับกลุ่มผู้ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจพิเศษได้

กมลศักดิ์ กล่าวว่า ตนในฐานะ ส.ส. ขอยืนยันว่าพรรคประชาชาติไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูปแบบและสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ตามกระบวนการยุติธรรม และยึดหลักนิติธรรม และตนในฐานะนักกฎหมาย (ทนายความ) มองว่าสังคมไม่ควรชี้นำเกินกว่าพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบ และไม่ควรรีบด่วนสรุปว่าใครหรือกลุ่มไหนเป็นผู้ก่อเหตุ 

ในส่วนของทวีศักดิ์นั้น ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเอาผิดในข้อหาหมิ่นประมาท ในกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์กล่าวหาใส่ร้ายตนว่าเกี่ยวข้องกับการระเบิดในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้ทราบว่ามีการโพสต์ข้อความโดยผู้ใช้เฟสบุ๊คที่มีชื่อว่า Aruj Panachinbonchorn ในลักษณะบทวิเคราะห์เหตุระเบิดที่กรุงเทพ  โดยระบุว่าหนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้อย่าง  PerMAS ข้อเขียนนี้ยังได้เชื่อมโยงมายังตนในฐานะอดีตบรรณาธิการสำนักข่าววารตานี (Wartani)  ว่าเป็นมือระเบิดในคดีเก่าก่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังเชื่อมโยงตนกับกลุ่ม BRN ด้วย 

ทวีศักดิ์ระบุว่า ชื่อที่ปรากฏในข้อเขียนนั้น เป็นชื่อและนามสกุลจริงของตน และตนเคยเป็นอดีตบรรณาธิการสื่อวารตานีจริง แต่ไม่เคยมีคดีติดตัวมาก่อนและไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายอื่นๆ  ตามที่บทความนี้กล่าวหา ตนจึงปรึกษากมลศักดิ์ซึ่งเป็นทนายความ และตัดสินใจนำหลักฐานมาแจ้งความร้องทุกข์ด้วยกันในครั้งนี้ โดยขอแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาท 

ทวีศักดิ์กล่าวอีกว่าการโจมตีใส่ร้ายในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในบริบทชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาเคยมีการฟ้องร้องแล้วแต่เรื่องก็เงียบไป ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่มีสภาผู้แทนราษฎรที่คอยช่วยเหลือประชาชน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเรียกตัวผู้โพสท์มาได้ การโพสท์ความเท็จเพื่อโจมตีผู้อื่นเป็นการสร้างความเกลียดชังในสังคม เป็นอุปสรรคต่อความพยายามสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวเข้าหากันและกันเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

เมื่อ 1 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมลูไอ แซแง และวิลดัน มาหะ ที่ด่านตรวจบริเวณปฐมพร ถ.เพชรเกษม ขณะทั้งสองเดินทางลงใต้บนรถทัวร์ปรับอาหาศกรุงเทพ-นราธิวาส ทั้งสองเป็นผู้ต้องสงสัยว่าวางวัตถุระเบิดหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อ 1 ส.ค. ทางสื่อ Patani Notes อ้างอิงการรายงานจากกลุ่ม Persatuan Pemuda Pemudi Patani เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ส.ค.ว่ามีบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 คนไปรับตัวซาเดีย มาหะมะ ญาติของลูไอ โดยญาติได้ระบุว่าซาเดียถูกนำตัวไปสอบปากคำที่ สน.สามเสน ซึ่งคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีของลูไอ

ลูไอและวิลดันถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สตช. จังหวัดยะลา พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สตช. ยืนยันว่าทั้งสองปลอดภัยดี และเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยยึดแนวทางการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้ แต่การควบคุมตัวจะขยายเวลาออกไปเพื่อการสอบสวนอันทำได้ตาม พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 7 วันคือจนถึงวันที่ 8 ส.ค. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net