พม. ไฟเขียวโรฮิงญาร่วมเวทีอาเซียนภาค ปชช. แต่ไม่หนุนงบ หวั่นพม่าไม่โอเค

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้โควตาชาวโรฮิงญา 20 คนร่วมเวทีภาคประชาชนอาเซียน 2562 ที่จะมีขึ้นในเดือน 10-12 ก.ย. นี้ที่ กทม. แต่ไม่ให้งบสนับสนุนค่าที่พัก อาหาร เดินทางเหมือนผู้ร่วมงานอื่น เหตุหวั่นกระทบกระทั่งกับพม่า ประชาสังคมเตรียมจัดหารายชื่อ-หางบสนับสนุน แต่ให้ได้แค่ในไทยเพราะมีปัญหาเรื่องเอกสารยืนยันตัวตน คณะทำงานระบุ รัฐบาลไม่ให้เดินขบวนประท้วงเด็ดขาด

ภาพชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

6 ส.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้อนุญาตให้ชาวโรฮิงญาเข้าร่วมประชุมเวทีภาคประชาสังคมอาเซียน/อาเซียนภาคประชาชน (ACSC/APF) ที่จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 10-12 ก.ย. 2562 จากเดิมที่มีกระแสข่าวว่า พม. ปฏิเสธรายชื่อชาวโรฮิงญาที่จะเข้าร่วมงานนี้ เนื่องจากกลัวเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลและประชาสังคมจากพม่า

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในคณะกรรมการจัดงานอาเซียนภาคประชาชน ให้ข้อมูลกับประชาไทหลังร่วมประชุมกับทาง พม. เมื่อ 5 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า คณะทำงานฯ ได้หารือกับทาง พม. หลังมีความเห็นและแถลงการณ์ในเชิงประท้วงจากภาคประชาชนสืบเนื่องจากกระแสการไม่ให้ชาวโรฮิงญาเข้าร่วมงานประชุม ซึ่งทาง พม. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณราวร้อยละ 90 ของงานนี้ก็ระบุว่าใช้งบประมาณของ พม. ไม่ได้ เพราะทางพม่าอาจจะส่งเรื่องมาต่อว่าหรือคว่ำบาตร คณะทำงานฯ จึงได้เสนอว่าจะหาเงินมาสนับสนุนชาวโรฮิงญาเอง ทาง พม. จะได้ถือว่าไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนในส่วนของชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาควรจะมีโอกาสได้พูดเพราะว่าพวกเขาถูกรังแกมามากแล้ว การพูดคุยในเวที ACSC/APF จะเป็นการพูดคุยเพื่อหาทางออก

ปีนี้ พม. เป็นสนับสนุนงบประมาณการจัดเวทีภาคประชาชนอาเซียน โดยให้การสนับสนุนค่าที่พักและค่าอาหาร โดยมีโควตาผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นราว 1,000 คน โดยแบ่งโควตากันภายในประเทศอาเซียน ซึ่งร่วมถึงติมอร์ เลสเต สำหรับไทยนั้นได้รับโควตา 600 คน แบ่งกันไปตามรายประเด็น สำหรับชาวโรฮิงญานั้นได้รับโควตาทั้งสิ้น 20 คน 

พุทธณี กางกั้น นักวิจัยจากฟอร์ติฟาย ไรท์ องค์กรที่สนับสนุนและประสานงานให้ชาวโรฮิงญาเข้าร่วมเวทีประชุม ACSC/APF ที่กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีรายชื่อผู้เข้าร่วมแล้วแต่ยังไม่ครบ ซึ่งอาจจะมีการชวนชาวโรฮิงญาในต่างจังหวัดที่อาจจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคใต้มาอีก ซึ่งทางองค์กรก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่าย จากรายชื่อที่มีตอนนี้ เท่าที่ดูส่วนมากมีงบที่จะเดินทางมาเองได้ อาหารก็หากินด้วยกัน ทั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของผู้ร่วมงานได้ จึงประสานงานได้เพียงชาวโรฮิงญาที่มีบัตรยืนยันตัวตนที่อยู่ในไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ต บัตรบุคคลผู้ไร้สัญชาติ บัตรหมายเลข 0 6 หรือ 7 หรือบัตรผู้อยู่อาศัยถาวร เป็นต้น

ในส่วนของการเดินขบวนของภาคประชาชนบนท้องถนนที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการประชุม ACSC/APF นั้น ชลิดาระบุว่าปีนี้ทางรัฐบาลไม่ให้เดินอย่างเด็ดขาด หลังจากนี้จะมีการคุยกับฝ่ายความมั่นคงทั้งหมดเพื่อขอให้อำนวยความสะดวกในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งอาจเดินขบวนในพื้นที่จัดงาน ส่วนโอกาสในการได้พบกันระหว่างผู้นำประเทศอาเซียนกับตัวแทนภาคประชาสังคมหรือ interface นั้น อยู่ในขั้นขอเข้าหารือกับ รมว.การต่างประเทศของไทย เพื่อให้มีการประสานกับ รมว.ต่างประเทศของสมาชิกอาเซียน

เปิดแถลงการณ์โรฮิงญาต่อผู้นำอาเซียนที่ไม่ได้ยื่น หลังถูก ตร.ห้ามเคลื่อนไหว

บังกลาเทศ-UNHCR จดทะเบียนเตรียมส่งโรฮิงญากลับ ด้านพม่าแจกสัญชาติจูงใจ

ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมโชว์ รัฐบาลพม่ายังไล่รื้อทำลายที่อยู่อาศัยชาวโรฮิงญา

อาเซียนซัมมิท 2562: 'ประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ฝันที่ผู้นำเป็นเจ้าของและเลือกใช้

ที่ผ่านมาชาวโรฮิงญายังไม่มีพื้นที่สื่อสารทางการเมืองต่อรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการ กองทัพพม่าใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตีชุมชนโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 จนเป็นเหตุให้มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตนับหมื่นคน และลี้ภัยออกนอกประเทศ ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 900,000 คนลี้ภัยมาอยู่ในคอกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ในจำนวนนั้นมีถึง 741,000 คนที่ลี้ภัยมาจากปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อ ส.ค. 2560

แนวโน้มชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานั้นมีทีท่าว่าจะจบลงด้วยการถูกส่งตัวกลับพม่า การดำเนินการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับพม่าค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังพม่าและบังกลาเทศมีข้อตกลงร่วมกันในการนำตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่าเมื่อต้นปี 2561 แต่ทางสหประชาชาติเองก็กดดันให้การส่งตัวกลับเป็นไปโดยสมัครใจและต้องประกันความปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัย จนถึงตอนนี้ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่กลับไปนั้นมีจำนวนน้อย โดยส่วนมากผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ หนึ่งในสาเหตุที่การเดินทางกลับยังไม่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย

เมื่อเดือน พ.ค. 2562 ทางการบังกลาเทศ ร่วมกับข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ (UNHCR) ประกาศว่าได้ทำการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 270,000 แล้ว และยังให้บัตรประจำตัวกับผู้ลี้ภัยเหล่านั้นแล้วด้วย โดยในบัตรมีข้อมูลจำพวกชื่อ วันเกิด รวมถึงสถานที่เกิดซึ่งระบุว่าเป็นพม่า

กระบวนการลงทะเบียนเริ่มขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกันสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเพื่อใช้ในการเดินทางกลับพม่าโดยสมัครใจ ดังแผนที่เคยมีและจะดำเนินไปในอนาคต เมื่อ 17 พ.ค. รัฐบาลบังกลาเทศและ UNHCR จดทะเบียนให้กับชาวโรฮิงญา 270,348 ราย หรือ 59,842 ครอบครัว ในเขตที่พักพิงชั่วคราว อ.คอกซ์ บาซาร์

สำหรับท่าทีของรัฐบาลไทยต่อประเด็นโรฮิงญานั้น เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ รายงานผลการหารือทวิภาคีกับระหว่างดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กับ จ่อ ติน รมว.กระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศพม่า โดยระบุว่า ฝ่ายไทยยืนยันการสนับสนุนความพยายามของพม่าในการแก้ไขสถานการณ์รัฐยะไข่ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะเพิ่มบทบาทของอาเซียนในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อแนะนำของคณะประเมินความต้องการเบื้องต้นของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management – AHA Centre) เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการเดินทางกลับของผู้พลัดถิ่นโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงเรื่องกระบวนการรับคืนผู้ลี้ภัยกลับประเทศ จากที่ ASPI มองว่าศูนย์รับผู้ลี้ภัยมีลักษณะคล้ายสถานกักกัน มีทั้งส่วนที่เป็นอาคารที่พักล้อมด้วยรั้วและมีการวางป้อมสังเกตการณ์โดยรอบ จอห์น ควินลีย์ ที่ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากฟอร์ติฟายไรท์ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่าศูนย์รับผู้ลี้ภัยมีลักษณะคล้ายเรือนจำและอาจจะยิ่งทำให้เกิดระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวหนักขึ้นในส่วนอื่นๆ ของรัฐยะไข่

เคยมีรายงานที่รั่วไหลจากทีมโต้ตอบและประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN-ERAT) ระบุให้เห็นแผนการรับผู้ลี้ภัยกลับพม่าภายในช่วงเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีการตั้ง "ศูนย์รับ" และ "ศูนย์ส่งตัว" ผู้ลี้ภัยกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ซึ่งผู้ที่อยู่ในขั้นตอน "ศูนย์ส่งตัว" จะถูกส่งไปอยู่ในที่พักชั่วคราวที่มีลักษณะคล้ายตู้คอนเทนเนอร์และให้อาศัยอยู่รวมกันตู้ละ 8 ครอบครัว โดยครอบครัวเหล่านี้จะต้องอยู่ในศูนย์ส่งตัวเป็นระยะเวลา 30 วัน หลังจากนั้นผู้ลี้ภัยจะมีทางเลือก 3 ทางคือ หนึ่ง ถ้าหากบ้านเดิมยังคงอยู่พวกเขาสามารถกลับไปอยู่อาศัยได้ทันที สอง พวกเขาสามารถย้ายไปอยู่ในที่ตั้งใหม่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ได้ สาม พวกเขาสามารถร่วมโครงการทำงานแลกเงินเพื่อสร้างบ้านของพวกเขาเองในสถานที่ๆ รัฐบาลจัดไว้ให้ได้

เวทีภาคประชาชน หรือเวทีภาคประชาสังคมอาเซียนได้รับการริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น รมว.กต. เพราะมีข้อครหาว่าเวทีความร่วมมืออาเซียนเป็นเวทีความร่วมมือของรัฐบาลเท่านั้น ในช่วงแรกเริ่มเป็นการประชุมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชน

ต่อมาในปี 2548 ในปีที่มาเลเซียเป็นเลขาธิการอาเซียน จึงได้มีการจัดตั้งเวทีภาคประชาชนอาเซียนในลักษณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปรกติ ในการประชุมทุกปี แต่ละชาติจะส่งตัวแทนภาคประชาชนไปกล่าวแถลงการณ์กับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ การพบปะของภาคประชาสังคมกับผู้นำรัฐครั้งสุดท้ายที่มีการทำเป็นกิจลักษณะมีขึ้นในปี 2558 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ สำหรับปีที่แล้วที่จัดขึ้นในสิงคโปร์ก็มีบรรยากาศการถูกจำกัดทั้งในด้านงบประมาณและสถานที่ และแถลงการณ์ของประชาสังคมก็ไม่ได้ถูกส่งไปที่เวทีสุดยอดผู้นำ แต่ถูกส่งไปยัง กต. ประเทศสิงคโปร์ที่รับปากว่าจะกระจายต่อให้กับ กต. ของรัฐสมาชิก ในการประชุมเมื่อ 1 พ.ค. ทางคณะจากสิงคโปร์ยังคงติดตามทาง กต. อยู่

ที่ผ่านมา ในการประชุมอาเซียนภาคประชาชน เป็นเวทีที่มีประชาสังคมหลากหลายพื้นเพเข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมหลากหลายประเด็นจากหลายประเทศ ไปจนถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อยู่ต่างประเทศ ที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มชาวเวียดนามและลาวที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ในส่วนของการไม่ได้เดินขบวนบนท้องถนนนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริงจะเป็นการปิดกั้นการเดินขบวนประท้วงเป็นปีที่สองติดต่อกัน เพราะเวทีอาเซียนภาคประชาชนปี 2561 ที่สิงคโปร์ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินขบวนประท้วง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท