Skip to main content
sharethis

 

  • คณะกรรมการอีอีซีผ่านร่างผังเมืองแล้ว แบ่งพื้นที่เป็น 4 กลุ่ม เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติเพื่อนำมาบังคับใช้เร็ว ๆ นี้
  • กลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกปล่อย “ปู” เข้าทำเนียบฯ เพื่อคัดค้านแผนอีอีซีที่ขาดการมีส่วนร่วม หวั่นผังเมืองฯ กระทบพื้นที่ชุมชนและเขตอนุรักษ์อย่างน้อย 7 แห่ง ใน 3 จังหวัด
  • มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Enlaw) เตรียมฟ้องระงับผังเมืองอีอีซีกับศาลปกครอง หาก ครม. ผ่านร่างผังเมืองอีอีซี

เครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ ปล่อยปูหน้าทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ:
Anchan Chaiyanw

6 ส.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ส.ค.62) เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. กลุ่มผู้ประท้วงอีอีซีจากเครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ ได้รวมตัวกันนำปูจากแม่น้ำบางปะกงประมาณ 30 ตัวมาปล่อยที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผนผังเมืองของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาขัดขวางจนกระทั่ง สุรศักดิ์ เรืองเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารับเรื่อง ผู้ประท้วงจึงกลับไปยังจุดปักหลักบริเวณฝั่งสะพานชมัยมรุเชฐ 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ประท้วงได้ทำพิธีปล่อยลูกปลานิลนับพันตัวในช่วงเช้า โดยนิมนต์พระองค์หนึ่งจากวัดวังศิลาธรรมารามมาเป็นประธานในพิธี ผู้ประท้วงระบุว่าพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากผังเมืองอีอีซี เป็นแหล่งเพาะปลานิลพันธุ์พระราชทานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก นอกจากนี้ ยังมีการนำเมล็ดพืชพันธุ์พืชที่เพาะในพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบมาขายเพื่อคัดค้านผังเมืองอีอีซีด้วย

ขณะที่วานนี้ (5 ส.ค.62) กลุ่มผู้ประท้วงได้มาชุมนุมที่ฝั่งสะพานชมัยมรุเชฐ บริเวณทำเนียบรัฐบาลเช่นกันเพื่ออ่านแถลงการณ์คัดค้าน เนื่องจากในวันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมการอีอีซี ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และสมาชิกส่วนใหญ่ของ ครม. เป็นกรรมการ ในที่ประชุมได้มีการผ่านร่างประกาศผังเมืองแล้ว หลังจากนี้จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามอนุมัติ

สำนักข่าว Thai Publica รายงานว่าประกาศร่างผังเมืองและการพัฒนาสาธารณูปโภคจะแบ่งพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และฉะเชิงเทราเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ พื้นที่พัฒนาเมือง พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใน 4 กลุ่มนี้จำแนกออกเป็นพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 11 ประเภท

ผังเมืองอีอีซี ฉบับวันที่ 25 กรกฎาคม 2562

ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงคือการขอเลื่อนพิจารณาผังเมืองอีอีซีออกไปก่อน เนื่องจากร่างผังเมืองปัจจุบันกระทบพื้นที่ชุมชนและเขตอนุรักษ์รวม 7 จุด​ แต่โครงการยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับชุมชนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้​ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร​ของชุมชน ไม่ใช่พื้นที่รกร้างของเอกชนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้อ้างที่กล่าวอ้าง​ ได้แก่:

  1. พื้นที่บริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเปลี่ยนจากที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม
  2. พื้นที่บริเวณรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2)
  3. พื้นที่บริเวณต้นน้ำบางปะกง ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถูกกำหนดเพิ่มเติมจากผังเมืองเดิม 2,000 ไร่ ทั้งที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความเสี่ยงด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ
  4. พิ้นที่ริมแม่น้ำนครนายก บริเวณ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ไม่ถูกกำหนดประเภทที่ดิน
  5. พื้นที่เขายางดง บริเวณรอยต่อ อ.แปลงยาว-พนมสารคาม ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้หายไป
  6. พื้นที่บริเวณ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลุบรี ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งที่ยังมีข้อพิพาทเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ป่าคุ้มครอง และปัจจุบันมีชุมชนอยู่อาศัยในพื้นที่ราว 400 ครัวเรือน
  7. พื้นที่บริเวณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ที่ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกิจการพิเศษ โดยไม่มีข้อห้ามที่เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการ และราชการบัญญัติไว้ด้วย

ในประเด็น​ที่ฝ่ายโครงการอีอีซีโจมตีว่าผู้ประท้วงไม่ได้เป็น​ประชาชนในพื้นที่จริง​ ๆ​ นั้น​ ผู้ประท้วงได้แสดงบัตรประชาชนให้ดูเพื่อยืนยันว่าตนอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจริง

นอกจากขอให้เลื่อนพิจารณา​ผังเมืองแล้ว​ กลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ ยังขอให้ปรับ 10 ข้อกำหนดที่อยู่ในร่างประกาศผังเมือง ซึ่งมีเป็นกรอบระเบียบที่ใช้ในการจัดประเภทและวิธีการใช้สอยพื้นที่ สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ให้ข้อมูลว่าหาก ครม. ผ่านประกาศร่างผังเมืองดังกล่าว กลุ่มประชาชนในพื้นที่จะร่วมมือกับเครือข่ายในการฟ้องร้องเพื่อขอให้ศาลปกครองระงับผังเมืองอีอีซีต่อไป

 เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

โครงการอีอีซีต้องเตรียมพบกับแรงปะทะจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน ในวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อโควต้าภาคตะวันออก พรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ประท้วงในฐานะคนจังหวัดชลบุรี ระบุว่าพรรคฝ่ายค้านได้เสนอตั้งญัตติขอตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาผลกระทบจากโครงการอีอีซีแล้ว แต่พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานสภาประกาศงดประชุมในวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมอภิปรายการแถลงนโยบาย วาระเรื่องอีอีซีจึงเตรียมเข้าสภาในวันพุธนี้ (7 ส.ค.62) โดยพรรคอนาคตใหม่วางตัวผู้อภิปรายเอาไว้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net