Skip to main content
sharethis

สมชัย ศรีสุทธิยากร ย้ำหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องได้ ชี้ รธน. 60 ร่างมาจากความกลัวพรรคการเมืองพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้ง ความอยากสืบทอดอำนาจต่อ และความเขลาไม่รู้ว่าปัญหาของชาติคืออะไร หนุนทุกภาคส่วนร่วมเดินหน้าแก้ หากถูกตีตกอย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนได้รู้ว่า หน้าไหนที่ไมเอาการแก้รัฐธรรมนูญ

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนาจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจัดโดยพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2562 ที่พุทธสถานเชียงใหม่ โดยระบุว่า เมื่อรับปากว่าจะมาพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มักจะมีผู้มาแสดงความคิดเห็นว่า ให้แก้ปัญหาปากท้องก่อนดีกว่า ไม่เว้นแม้แต่คนที่เคยชูประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็ตาม แต่ตนต้องการจะบอกว่า “หากไม่แก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาปากท้องก็แก้ไม่ได้”

สมชัย ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาปากท้อง เพราะรัฐธรรมนูญจะสร้างสรรค์ให้เกิดระบบการเมืองที่จะแก้ปัญหาของประชาชน หากรัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างระบบการเมืองที่สามารถไว้วางใจได้ว่า ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล เขาจะดำเนินนโยบาย หรือดำเนินการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

“แต่สิ่งที่เป็นอยู่นี้ กลายเป็นว่าเราสร้างระบบการเมืองที่ให้คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยทำอะไรมาบ้างก็ไม่รู้ อยู่มาแล้ว 5 ปี ก็ไม่ได้ทำอะไร และยังอยู่ต่อไปอีก คำถามคือ มันจะช่วยให้เรากินดีอยู่ดีได้อย่างไร” สมชัย

เขาตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งได้ไปคุยกับ รปภ. ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง โดย รภป. ได้ถามว่า ลุงตู่จะกลับมาอีกไหม เมื่อตอบไปว่า สงสัยจะกลับมา รปภ. คนนั้นก็พูดว่า แบบนี้ผมคงจะได้กินมาม่าต่ออีก 4 ปี สมชัยมองว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า ผู้คนมีความเข้าใจว่า ภายใต้ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ ไม่ได้มีช่องทางที่จะแก้ปัญหาปากท้องได้อย่างแท้จริง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญคือการออกแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งฝ่ายการเมืองที่มีความรู้ความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ แต่หากมีการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อสงวนพื้นที่ไว้สำหรับคนกลุ่มหนึ่งให้พวกเขาได้อยู่ในอำนาจต่อไป ชาตินี้ก็คงต้องกินมาม่าต่อไป

สมชัยกล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะเอื้อให้ระบบราชการ เป็นระบบที่จะสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพด้วย เพราะภายใต้การทำงานของฝ่ายการเมือง จะมีกลไกราชการเป็นกลไกที่ค่อยขับเคลื่อนนโยบาย อำนวยการ จัดการแก้ไขปัญหาของประชาชน หากรัฐธรรมนูญยังเป็นเรื่องที่กำหนดให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบที่ฝ่ายข้าราขการเป็นฝ่ายคิด และทำแบบเดิมๆ การตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนก็ไร้ประสิทธิภาพ และระบบโครงสร้างแบบนี้ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีได้

“การออกแบบรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นระบบที่ให้เกิดการกำกับ ตรวจสอบ ซึ่งกันและกันได้ ไม่ใช่เป็นระบบที่ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่สามารถถูกแตะต้องได้เลย และไม่ใช่ระบบที่ฝ่ายผู้มีอำนาจสามารถยื่นมือลงไปในกลไกต่างๆ ทำให้กลไกเหล่านั้นสนับสนุนฝ่ายตัวเอง เช่น ยื่นมือลงไปในวุฒิสภา เพื่อควบคุมการโหวตในสภาได้ หรือยื่นมือลงไปในองค์กรอิสระ เพื่อให้องค์อิสระนั้นสนับสนุนฝ่ายตัวเอง ในการที่จะทำอะไรก็ไม่ผิด” สมชัย กล่าว

สมชัย ชี้ว่า สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างรัฐธรรมนูญที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบโดยรัฐสภา โดยองค์อิสระที่มีความเป็นอิสระจริงๆ และตรวจสอบถ่วงดุลได้โดยประชาชน เขาย้ำด้วยว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัญหาต่างๆ ที่เคยมีมารวมทั้งปัญหาปากท้องก็จะคงอยู่ต่อไป

เขา แสดงความเห็นต่อไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ร่างขึ้นมาด้วยปัจจัย 3 ประการด้วยกันคือ ความกลัว ความอยาก และความเขลา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ร่างขึ้นมาบนพื้ฐานของเหตุผล และไม่ได้คำนึงถึงว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับบ้านเมือง สมชัยจำแนกต่อไปว่า ความกลัวที่ว่านี้คือ ความกลัวว่าพรรคการเมืองหนึ่งจะกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง และเพียงแค่กลัวพรรคการเมืองพรรคหนึ่งจะชนะการเลือกตั้ง ก็พยายามสร้างกลไกการเลือกตั้ง และออกแบบวิธีการคำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุด ส่วนความอยากนั้น คือความต้องการที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะอยู่มาแล้วมีความสุข จึงเขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ว มาจากการเลือกของตัวเองในขั้นท้ายสุด 250 คน และให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย ส่วนการร่างบนพื้นฐานของความเขลา คือการร่างไปโดยไม่รู้ว่าปัญหาของประเทศคืออะไร ไม่รู้ว่าเหตุของปัญหาคืออะไร ไม่รู้ว่าทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าจะเดินไปอย่างไร และไม่รู้ว่าจะจัดการปัญหาของประเทศได้อย่างไร หรือสรุปง่ายๆ คือ ไม่รู้ในอริยสัจ 4  

สมชัย กล่าวต่อว่า ต่อจากนี้จะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเขาคิดว่าสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญใหม่คือ รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นกติกาที่สร้างความเป็นธรรมให้กับคนทุกฝ่ายในสังคม ไม่ใช่เอื้อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความได้เปรียบ หรือมุ่งเอาเปรียบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะถ้าประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ กติกาที่เป็นธรรม ความขัดแย้งในบ้านเมืองก็จะลดน้อยถอยลง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญจะต้องสร้างกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง การเมืองควรจะมีเสถียรภาพ และรัฐธรรมนูญจะต้องมีกลไกในการกำกับตรวจสอบถ่วงดุลที่ทำงานได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นหนึ่งในหลักการประชาธิปไตย  

“ใครจะเก่ง มีความสามารถ หรือเป็นคนดีแค่ไหนก็แล้วแต่ เราขอเพียงมีกลไกในการกำกับตรวจสอบถ่วงดุล เพราะเราชื่อว่าการมองในเรื่องๆ หนึ่งจากหลายมุมมันจะทำให้เกิดการมองเห็นที่ครบถ้วนมากขึ้น และจะทำให้เกิดการช่วยกันเพื่อทให้เกิดผลที่สมบูรณ์ อย่าเชื่อว่า คนดี คนเก่ง จะถูกทุกอย่าง เพราะคนดี คนเก่ง ก็โง่ได้ ผิดพลาดได้” สมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สมชัยคิดคือ การมีรัฐธรรมนูญที่ดีภายใต้หลักการ 3 เรื่องที่กล่าวมาคือ เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย สร้างกลไกการบริหารราชการแผ่นดีที่มีประสิทธิภาพ และมีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี นั้นจะต้องมีผลที่เป็นจริงโดยไม่มีมีกรณียกเว้น

“รัฐธรรมนูญที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่มีหลักการที่ดี แต่เรื่องนาฬิกายืมเพื่อนยังไม่สามารถตรวจสอบได้ อย่างนี้เอาไปทำไม หลักการดีหมดแต่พอนายกฯ ต้องถวายสัตย์ มีข้อความให้พูดตาม 3 บรรทัด แต่ถึงเวลากลับพูดไม่ครบเนื่องจากอะไรก็แล้วแต่ ก็บอกว่าไม่เป็นไร อย่าถาม ไม่ควรรู้ มันกลายเป็นว่าทุกอย่างที่คุณเขียน กลับมีข้อยกเว้นสำหรับพวกคุณเสมอ แล้วจะมีประโยชน์อะไร” สมชัย กล่าว

เขากล่าว ต่อไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการบวนการในรัฐสภาว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดเงื่อนไขขั้นตอนต่างๆ ไว้มากมายเพื่อปิดกั้น และสกัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่ต่อจะให้ยากเย็นเพียงใด การผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องทำ แม้จะถูกตีตกกี่ครั้ง แต่ประชาชนจะเห็นว่าการตีตกเหล่านั้น เป็นการตีตกไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

“เดินหน้าแก้ไปเลยครับ มาตราไหนที่ไม่ดี จะชนะจะแพ้ไม่รู้ แต่ถ้าถูกตีตกในวาระที่ 1 ก็ดูซิว่าหน้าไหนบ้างที่มันโหวตไม่เอา ให้ประชาชนจำหน้ามันไว้” สมชัย กล่าว

ขณะที่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรณรงค์นอกสภา สมชัยเห็นว่า ต่อจากนี้ทุกถาคส่วนต้องร่วมมือกันทำให้ประชาชนได้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ต้องให้คนเห็นทุกข์ ตามหลักพุทธศาสนาถ้าเห็นทุกข์ได้ชัดเจน เราก็จะสามารถมองหาการดับทุกข์ได้ แต่การที่จะทำใหเห็นทุกข์ดังกล่าวได้ ก็จะต้องสามัคคีกับคนทุกฝ่าย อย่าให้งานขับเคลื่อนนี้เป็นเพียงงานของคนกลุ่มเดียว ต้องเปิดให้มีความหลากหลาย และมีพื้นที่สำหรับคนกลุ่มต่างๆ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net