Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นำ 5 องค์กรสิทธิฯ ตั้ง 3 ข้อสังเกตทางกฎหมายกรณีการจับกุมควบคุมตัว 2 ผู้ต้องสงสัย ลอบวางระเบิดในเขต กทม. พร้อมเรียกร้องสตช. 3 ข้อ ใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งสอบสวนหาบุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวญาติผู้ต้องสงสัยไปสอบถามข้อมูลโดยไม่มีการแสดงตัว ไม่เปิดเผยสังกัด และสถานที่ และบังคับให้ลงชื่อในบันทึกการสอบถาม

7 ส.ค.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ออกแถลงถึง ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อกรณีการจับกุมควบคุมตัว 2 ผู้ต้องสงสัย ลอบวางระเบิดในเขตกรุงเทพมหานคร 3 ประเด็นคือ 1. การปกปิดชะตากรรมผู้ต้องสงสัยใน 3 วันแรก 2. อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ 3 การควบคุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

องค์กรนักกฎหมายสิทธิฯ ยังเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงข้อสงสัยและดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2. ยุติการนำตัวผู้ต้องสงสัยจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร ไปควบคุมตัวในพื้นที่จังหวัดยะลาโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ใช้กลไกตามกฎหมายปกติในการสอบสวนและดำเนินคดี และ 3. ขอให้ดำเนินการสอบสวนหาบุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวญาติผู้ต้องสงสัยไปสอบถามข้อมูลโดยไม่มีการแสดงตัว ไม่เปิดเผยสังกัด และสถานที่ และบังคับให้ลงชื่อในบันทึกการสอบถาม

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อกรณีการจับกุมควบคุมตัว 2 ผู้ต้องสงสัย ลอบวางระเบิดในเขตกรุงเทพมหานคร

ช่วงระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 เกิดเหตุลอบวางระเบิดบริเวณสถานที่ราชการและพื้นที่สาธารณะอย่างน้อย 7 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและควบคุมตัวชายมุสลิมเชื้อสายมลายู 2 คน คือ นายลุกไอ แซแง อายุ 23 ปี และนายวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี ได้ที่จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ขณะทั้งคู่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาส

ตั้งแต่วันที่ 2–4 สิงหาคม 2562 ญาติและทนายความไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัวที่แน่ชัดและไม่สามารถเข้าพบบุคคลทั้งสอง กระทั่งวันที่ 5 สิงหาคม ญาติทราบว่าผู้ต้องสงสัยอาจถูกควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ส่วนหน้า อ.เมือง จ.ยะลา จึงได้เข้าพบนายลุกไอ ในขณะที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงว่า การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลทั้งสองอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคาดหมายว่าจะควบคุมตัวทั้งสองคนจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2562 

ระหว่างที่บุคคลทั้งสองถูกควบคุมตัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ยังเข้าควบคุมตัวและนำตัวญาติของนายลุกไอไปสอบถามข้อมูลโดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อ สังกัด และสถานที่ในการควบคุมตัวอีกด้วย  ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายจึงมีข้อสังเกตถึงการอ้างและใช้อำนาจตามกฎหมายในการควบคุมตัวนายลุกไอ แซแง และนายวิลดัน มาหะ ดังนี้ 

1. การปกปิดชะตากรรมผู้ต้องสงสัยใน 3 วันแรก

ช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 3 วัน (ระหว่างวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2562) ที่นายลุกไอ แซแง และนายวิลดัน มาหะ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวหรือหน่วยงานรัฐใดให้ข้อมูลแก่ญาติหรือทนายความถึงเหตุในการจับกุม และอำนาจที่ใช้ในการควบคุมตัว อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังให้ข้อมูลไม่ตรงกันถึงสถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสอง อันถือได้ว่าเป็นการปกปิดข้อมูลหรือชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งหากเป็นการจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในมาตรา 87 กำหนดให้ควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกจับไว้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน และผู้ถูกจับต้องได้รับแจ้งสิทธิในการแจ้งให้ญาติหรือทนายความรับรู้ถึงการจับกุมดังกล่าว

2. อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสองคน โดยปัจจุบันทั้งสองถูกควบคุมอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า อ.เมือง จ.ยะลา ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่สถานที่คุมขังได้ไม่เกิน 7 วัน โดยได้รับอนุญาตจากศาล และสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อขอขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละ 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน  

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายมีข้อสังเกตว่า เหตุที่ใช้ในการควบคุมตัวบุคคลทั้งสองคือเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เหตุที่เกิดภายในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ต่อเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 11 วรรคสองก่อน การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสองจากจังหวัดชุมพร และนำมาควบคุมตัวต่อที่จังหวัดยะลา โดยอ้างว่าอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งต้องมีประกาศใช้เฉพาะบางพื้นที่และต้องมีการทบทวนการประกาศใช้ทุกสามเดือน 

หากเหตุในการกระทำความผิดเกิดนอกพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่นำตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อขยายระยะเวลาในการควบคุมตัว ย่อมเป็นการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม

3. การควบคุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การควบคุมตัวญาติของนายลุกไอในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ไปจากที่ทำงานย่านสุขุมวิทเพื่อสอบถามข้อมูล โดยกลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่แต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ สังกัด และสถานที่ในการควบคุมตัว ไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับ รวมถึงการบังคับให้ลงชื่อในเอกสารเพื่อแลกกับการปล่อยตัวนั้น เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ และกระทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย (อ่านรายละเอียดในการควบคุมตัวใน: นอกเครื่องแบบคุมตัวน้าสาวของหนุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าวางสิ่งคล้ายระเบิด หน้า สตช.)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อข้างท้ายกังวลถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความกดดันในการค้นหาตัวผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมายนั้นต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน ปราศจากฐานอำนาจทางกฎหมายที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม อันอาจก่อความเสียหายมากยิ่งขึ้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงข้อสงสัยและดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

2. ยุติการนำตัวผู้ต้องสงสัยจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร ไปควบคุมตัวในพื้นที่จังหวัดยะลาโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ใช้กลไกตามกฎหมายปกติในการสอบสวนและดำเนินคดี

3. ขอให้ดำเนินการสอบสวนหาบุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวญาติผู้ต้องสงสัยไปสอบถามข้อมูลโดยไม่มีการแสดงตัว ไม่เปิดเผยสังกัด และสถานที่ และบังคับให้ลงชื่อในบันทึกการสอบถาม

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net