Skip to main content
sharethis

กรณีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาท งามศุกร์ รัตนเสถียร นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล โพสต์ลิงก์บทความบนเฟสบุ๊ก ซึ่งภายในบทความแนบลิงก์ยูทูบที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทธรรมเกษตร ชาญชัย เพิ่มผล ฝ่ายโจทก์ยันไม่มีลูกจ้างทำงานตอนกลางคืน ศาลนัดฟังคำสั่งจะรับฟ้องหรือไม่วันที่ 18 ก.ย. 2562

ภาพจากไอลอว์

7 ส.ค. 2562 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญากรุงเทพ ได้มีการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องครั้งที่สองในคดีหมิ่นประมาทที่บริษัทธรรมเกษตรฟ้องงามศุกร์ รัตนเสถียร นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 งามศุกร์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการเพจเฟสบุ๊ก ‘สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล’ โพสต์บทความภาษาอังกฤษชื่อ “#Thailand: End Judicial Harassment of Human Rights Defenders Nan Win and Sutharee Wannasiri” ซึ่งภายในบทความนั้นได้มีการแนบลิงก์ เมื่อคลิกไปแล้วได้ส่งต่อไปยังหน้าเว็บไซต์ยูทูบ ที่มีคลิปวิดีโอสัมภาษณ์แรงงานโดยองค์กรฟอร์ตี้ฟาย ไร้ท์ (Fortify Rights) โดยในคลิปดังกล่าวมีการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ที่กล่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทธรรมเกษตร คือการทำงานหนัก ไม่มีเวลาหยุดพักผ่อน รวมถึงการถูกยึดหนังสือเดินทางจากนายจ้าง

ในการไต่สวนมูลฟ้องครั้งที่สองนี้ฝ่ายโจทก์มีทนายความมาศาลพร้อมกับชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจ งามศุกร์ เดินทางมาพร้อมกับทีมทนายความ และมีเพื่อนนักวิชาการ เช่น โคทม อารียา และเจ้าหน้าที่จาก UN เข้าสังเกตการณ์

สืบเนื่องจากการไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรก ศาลได้รับคำร้องจากทนายจำเลยที่อ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลยกฟ้อง เพื่อป้องกันการฟ้องคดีในลักษณะที่เรียกว่า การฟ้องคดีปิดปาก Strategic Litigation Against Public Participation (SLAPP) โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ควรฟ้องเป็นคดีอาญา ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดียังไม่ยุติ คู่ความต้องนำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงให้เห็นก่อน ศาลต้องการฟังพยานฝ่ายโจทก์ จะขอรอไว้สั่งเรื่องนี้ในภายหลัง และให้ฝ่ายโจทก์ทำพยานเข้าสืบ

ชาญชัยขึ้นเบิกความว่า เหตุพิพาทเกิดจากกลุ่มแรงงานได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานให้เข้ามาเจรจากัน และพนักงานตรวจแรงงานได้สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยเพิ่ม 1.7 ล้านบาท แต่กลุ่มแรงงานภายใต้การดูแลของกลุ่มบุคคลหนึ่ง ยังคงทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเพิ่มข้อกล่าวหาเข้ามา เช่น กล่าวหาว่า โจทก์ให้ทำงานโดยไม่ได้พักผ่อน และแรงงานถูกกักขังไม่ได้ออกจากฟาร์ม ออกไปเพียงสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และยังถูกยึดหนังสือเดินทางกับเอกสารประจำตัว โดยไปยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานให้โจทก์ต้องจ่ายเงิน 44 ล้านบาท และต่อมา กสม. ก็เห็นว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิดังกล่าว ให้โจทก์เพียงแค่จ่ายค่าชดเชยเพิ่มตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น

แต่ทั้งนี้บริษัท ธรรมเกษตรก็ได้ดำเนินการฟ้องอดีตลูกจ้างทั้ง 14 คนในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ในเดือน ก.ค. 2561 แต่ศาลแขวงดอนเมืองได้ยกฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าว

ชาญชัยยืนยันว่า ไม่มีการให้ลูกจ้างทำงานในเวลากลางคืนเนื่องจากเป็นชั่วโมงมืด ต้องปิดไฟเพื่อให้ไก่ได้พักผ่อน แต่ทั้งนี้จะมีการตอกบัตรเมื่อเข้าไปสู่โรงเลี้ยง ซึ่งประกอบด้วยโรงเลี้ยงไก่ และที่พักสำหรับรับประทานอาหารของลูกจ้าง โดยปกติลูกจ้างจะตอกบัตรทำงาน 8.00-12.00 น. และพักเวลา 12.00-13.00 น. จากนั้นตอกบัตรทำงานต่อเวลา 13.00-17.00 น.

หลังจากศาลไต่ส่วนมูลฟ้องได้มีคำสั่งให้ทนายทั้ง 2 ฝ่ายต้องส่งคำแถลงปิดคดีให้ศาลภายในวันที่ 5 ก.ย. 2562 และศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่วันที่ 18 ก.ย. 2562

ขณะที่จำเลยและทนายจำเลยปฏิเสธให้ความเห็นต่อคดีเพิ่มเติม

 

ใบแถลงคดีเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาจาก Fortify Right

ประเทศไทย: ยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับงามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

บริษัทฟาร์มไก่ยังคงคุกคามการแสดงออกอย่างเสรีในประเทศไทยต่อไป

(กรุงเทพฯ 5 สิงหาคม 2562) ทางการไทยควรยกเลิกการดำเนินคดีหมิ่นประมาทที่บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มไก่ ฟ้องงามศุกร์ รัตนเสถียร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และอาจารย์ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและ สันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ฟอร์ตี ้ฟายไรต์กล่าวในวันนี ้ 

วันนี้ ศาลอาญากรุงเทพ มีกำหนดพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องเป็นครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีอาญาต่อ งามศุกร์ เนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่บริษัท ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนในประเทศไทยหรือไม่

“คดีเหล่านี้ คุกคามเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย เป็นที่น่าเสียใจที่ทางการไทยยังคงปล่อยให้บริษัทธุรกิจใช้ศาลเป็นเครื่องมือโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยใช้ข้อหาที่ขาดมูลความจริง” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “คดีเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความกลัว ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเวลา ก่อให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจโดยไม่จำเป็น”

บริษัทธรรมเกษตรจำกัดฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่องามศุกร์กล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊กของสถาบันฯ ด้วยการ แชร์ใบแถลงข่าวของฟอร์ตี้ฟายไรต์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ใบแถลงข่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาของบริษัทธรรมเกษตร จำกัดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้ง นานวินและสุธารี วรรณสิริซึ่งยังคงถูกดำเนินคดีใน ข้อหาเดียวกัน จากการทำงานส่งเสริมสิทธิด้านแรงงานและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ใบแถลงข่าวได้แนบ ลิงค์วีดีโอที่ผลิตโดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ที่กล่าวถึงบริษัทธรรมเกษตรฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่ออดีตลูกจ้าง 14 คน บริษัทธรรมเกษตรอ้างว่าใบแถลงข่าวมีข้อความที่นำไปสู่วีดีโอที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่อบริษัทธรรมเกษตร

ในปี 2559 อดีตลูกจ้าง 14 คนของบริษัทธรรมเกษตรได้ร้องเรียนข้อมูลการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานให้กับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จากการร้องเรียนกับกสม. บริษัทธรรมเกษตรกลับดำเนินการฟ้องอดีตลูกจ้างทั้ง 14 คนในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ในเดือนกรกฎาคม 2561 ศาล แขวงดอนเมืองได้ยกฟ้องข้อกล่าวหานี้ และในเดือนมกราคม 2562 ศาลฎีกาได้พิพากษาให้บริษัทธรรมเกษตร จำกัด จ่ายเงินจำนวน 1.7 ล้านบาท เป็นค่าสินไหมทดแทนให้กับอดีตลูกจ้าง 14 คน ต่อการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

บริษัทธรรมเกษตร จำกัดฟ้องคดีต่องามศุกร์ตามมาตรา 326 และ 328 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ตามขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ต้องเสนอพยานหลักฐานและคำให้การต่อศาล เพื่อพิจารณาว่ามีมูลความ จริงมากพอที่รับไว้พิจารณาเป็นคดีอาญาหรือไม่ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ทนายทั้งของฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ซักถามและซักค้านนายชาญชัย เพิ่มผล ตัวแทนของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ในบ่ายวันนี้ มีกำหนดต้องซักค้านเพิ่มเติม หลังจากนั้นศาลจะพิจารณาว่าคดีมีมูลสมควรเข้าสู่การพิจารณาในข้อหาหมิ่นประมาทหรือไม่

ในช่วงเริ่มต้นการไต่สวนมูลฟ้องเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ทนายความของงามศุกร์ จากมูลนิธิศูนย์ ข้อมูลชุมชน ได้ขอให้ศาลพิจารณา มาตรา 161/1ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อเดือนธันวาคม 2561 เพื่อป้องกันการฟ้องคดีในลักษณะที่เรียกว่า การฟ้องคดีปิดปาก Strategic Litigation Against Public Participation (SLAPP)แต่ศาลยังไม่ได้พิจารณามาตรานี้ ในระหว่างการไต่สวนคดีต่องามศุกร์

“ทางการตระหนักว่าที่ผ่านมามีการฟ้องคดีปิดปากจริงและมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อป้องกันคดีเหล่านี ้” เอมี สมิธกล่าว “เราจึงคาดหวังว่าศาลจะใช้กฎหมาย และพิจารณายกฟ้องคดีเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง”

ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องคดีอาญาและแพ่งอย่างน้อย 17 คดีต่อคนงาน นักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว และนักวิชาการ ในวันที่ 18 กรกฎาคม ศาลจังหวัดลพบุรีวินิจฉัยให้รับคำฟ้องเพื่อพิจารณา โดยเป็นการฟ้องคดี ลักษณะเดียวกันของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ที่ฟ้องต่อผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ และในวันที่ 30 กรกฎาคม ศาลจังหวัดลพบุรีได้ ยกฟ้องคดีที่เป็นการอุทธรณ์ของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด โดยทางบริษัทกล่าวหาว่าคนงานขโมยบัตรลงเวลาทำงานของตนเอง

ประเทศไทยควรดำเนินการเพื่อประกันว่า บุคคลทุกคนสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกลัวการ ตอบโต้ รวมทั้งการคุกคามโดยการฟ้องคดีที่ไม่มีมูล หรือในลักษณะการฟ้องคดีปิดปาก การฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัดมีเป้าหมายคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถือเป็นการแทรกแซงที่ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วนต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพ ในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างงามศุกร์ทำงานเพื่อให้สังคมดีขึ้น และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน แต่ ตอนนี้สิทธิของเธอเองกลับถูกละเมิด” เอมี สมิธกล่าว “ทางการไทยควรคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและยุติการใช้ กระบวนการยุติธรรมเพื่อคุกคาม เพื่อให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net