สุรพศ ทวีศักดิ์: เราคาดหวังอะไรจากศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในหนังสือ “จิตสำนึกแห่งพระเจ้า: ประสาทวิทยาศาสตร์ ศรัทธาและการแสวงหาจิตวิญญาณของมนุษย์” เขียนโดยนักประสาทวิทยาชื่อ เจย์ ลอมบาร์ด (สิรพัฒน์ ประโทนเทพ แปล) ตอนหนึ่งผู้เขียนพูดถึง “ชีวิตที่ไร้ความทรงจำ” โดยยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ ประสบการณ์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ของพระทิเบตรูปหนึ่งชื่อเทนซิน

หลังจากผ่านกระบวนการวินิจฉัยว่าพระเทนซินมี “อาการความทรงจำระยะสั้นถดถอยอย่างชัดเจน” เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคอัลไซเมอร์ ในช่วงแรกๆ ของการรักษานั้น ลอมบาร์ดบันทึกความประทับใจในบุคลิกภาพของพระเทนซินว่า

“ท่านเทนซินเป็นที่เคารพมากและเป็นผู้เข้าถึงจิตใจของคนหลายพันคนด้วยการสอนธรรมะของท่าน แต่ท่านไม่ได้พูดเรื่องพุทธศาสนากับผมเลยสักคำ ท่านก็แค่ ‘เป็นเช่นนั้นเอง’ ตามคำสอนนิกายเซนแท้ๆ ท่านมีความพอใจกับวิถีการดำรงชีวิตของท่าน แบบอย่างชีวิตที่อ่อนโยนและมีปัญญาเช่นนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดมันทำให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้น แค่ผมได้อยู่ใกล้ๆ ท่าน”

เมื่อทราบว่าตนเป็นโรคอะไร ท่านเทนซินนอกจากจะไม่ได้แสดงอาการกังวลใดๆ แล้วยังบอกให้หมอและคนรอบๆ ตัวไม่ต้องกังวลด้วย ราวกับว่าอาการของอัลไซเมอร์ที่ท่านกำลังเผชิญอยู่ไปด้วยกันได้กับความเข้าใจแบบพุทธที่ว่า “ความทรงจำเป็นอัตตา และปราศจากอัตตาก็จะไม่มีตัวฉัน ดังนั้นเมื่อไม่มีความทรงจำ อัตตาก็จะหายไปด้วย” แต่ในมุมมองของนักประสาทวิทยาอย่างลอมบาร์ดเห็นว่า ความน่าเศร้าเป็นพิเศษของโรคอัลไซเมอร์คือ มันจะพรากเอาธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของเหยื่อไป ด้วยการลบฮาร์ดไดรฟ์ความทรงจำซึ่งเก็บข้อมูลเรื่อง “การระลึกถึงความเป็นตัวตน” (self-memorial-hood) ออกไป

ลอมบาร์ดบันทึกความเบิกบานของพระทิเบตขณะเดินเล่นที่ชายหาดด้วยกัน ในช่วงเวลาหนึ่งของการรักษาว่า พระเทนซินพูดถึงอาการอัลไซเมอร์ของตนเองว่า “นี่เป็นโอกาส และไม่ใช่ความบกพร่อง มันทำให้อาตมาได้รับรู้ประสบการณ์ทั้งหมดนี้โดยไม่มีอะไรปิดบัง ความทรงจำเปรียบเหมือนเมฆหมอกที่มาบดบังทะเลสาบแห่งนี้ เราไม่อาจเห็นภาพสะท้อนอันแท้จริงของมันได้ ตอนนี้อาตมาเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง และที่นี่ทุกสิ่งช่างดูงดงามทีเดียว” นี่เป็นมุมมองของพระเทนซินในช่วงที่อัลไซเมอร์ยังไม่กำเริบมาก เป็นมุมมองที่เห็นว่าการสูญเสียความทรงจำไปกันได้กับการสลายไปของอัตตา

แต่ต่อมาเมื่ออาการอัลไซเมอร์หนักขึ้น พระเทนซินกลายเป็นคนละคน ลอมบาร์ดบันทึกว่า “ท่านเทนซินในแบบที่ทุกคนรู้จัก และในแบบที่ท่านเคยรู้จักตัวเองมาร่วมเจ็ดทศวรรษกำลังหลุดลอยไป ไม่มีใครที่อยู่ใกล้ชิดท่านสามารถใช้เหตุผลและอดทนกับอารมณ์และพฤติกรรมอื่นๆ ที่ตามมาของท่านได้อีกต่อไป...ด้วยการสลายไปของเรื่องราวที่เป็นตัวตน กิริยามารยาทของท่านแปรสภาพไปสู่สภาวะที่แทบจะไร้การควบคุม ชายผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคนอ่อนน้อม และเป็นที่เคารพเชิดชูได้ลดสภาพไปสู่สภาวะที่เกรี้ยวกราด และบางครั้งก้าวร้าวรุนแรง โดยสรุปคือท่านไม่ใช่ท่านเทนซินอีกต่อไปแล้ว”

อ่านเรื่องนี้แล้ว ชวนให้คิดต่อได้หลายอย่าง ดูเหมือนการปฏิบัติธรรมในบางความหมายจะมีกระบวนการทางชีวภาพเป็นตัวช่วยอยู่ด้วย เช่น การภาวนาที่เป็นการบ่มเพาะความรู้สึกอ่อนโยนผ่านกิจกรรมต่างๆ น่าจะมีกระบวนการทำงานของสมองซีกขวาและกระบวนการบันทึกความทรงจำที่ส่งผลให้เกิดเกิดบุคลิกภาพที่อ่อนโยน มีจิตเมตตาและความเบิกบานงอกงามขึ้นในตัวบุคคล แต่กระบวนการทางชีวภาพก็อยู่เหนือการควบคุมของเจตจำนงของเรา และดูเหมือนว่ากระบวนการทางชีวภาพอาจจะไม่ใช่ตัวช่วยไปสู่อิสรภาพด้านใน

อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึง “อิสรภาพด้านใน” หรือ “อิสรภาพทางจิตวิญญาณ” ดูเหมือนผู้รู้ทางศาสนามักจะอ้างว่ากำลังพูดถึงความจริงบางอย่างที่ “ลึก” กว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะไปถึง ดังนั้น มันจึงบอกไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่าอิสรภาพด้านในหรืออิสรภาพทางจิตวิญญาณมันเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนไหนของสมอง (หากวิทยาศาสตร์รู้ “พื้นที่อิสรภาพด้านใน” ว่ามันอยู่ส่วนไหนของสมองมนุษย์ ศาสนาก็คงหมดหน้าที่) แต่ถ้าเป็นเช่นนี้จริงกระบวนการเรียนรู้ผ่านการภาวนาเพื่ออิสรภาพด้านใน ก็ย่อมต้องการ “ความเชี่ยวชาญ” ที่มากกว่าหรือเก่งกว่าในระดับที่สามารถไปสู่ความจริงที่ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้

แน่นอนว่าความเชี่ยวชาญดังกล่าวนี้ต้องการอิสรภาพในการเลือกดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคลเป็นพื้นฐาน เช่น ระยะหลังผมเลือกฟังคลิปคำบรรยายการภาวนาเพื่ออยู่กับ “ความรู้สึกตัว” ของอาจารย์ “เขมานันทะ” มากเป็นพิเศษ มีผู้ถามว่า “คุณเคยบวชมานานไม่ใช่หรือ” อาจารย์เขมานันทะตอบว่า “เรื่องนี้ต้องไปถามคุณโกวิท (ชื่อจริงของเขา) ดู” คืออาจารย์เขมานันทะต้องการจะบอกว่า ชีวิตของการบวชที่ผ่านมาของเขาไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับอิสรภาพด้านในได้ ยิ่งพุทธศาสนาแบบรัฐนอกจากจะไม่ให้คำตอบทางจิตวิญญาณได้แล้ว ยังสร้างการครอบงำอย่างซับซ้อน

พูดแบบอาจารย์เขมานันทะก็ต้องบอกว่า “ไปให้พ้นจากความเป็นพระ” เช่นเดียวกับ “สิทธารถะ” หันหลังให้กับการบวชเป็นสาวกของพุทธะ นั่นก็คือการหันหลังให้ศาสนา เพราะหลังจากสนทนากับพุทธะแล้วเขาพบคำตอบว่า อิสรภาพด้านในเป็น “ประสบการณ์ตรงของแต่ละคน” ที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับศาสนา บางทีการใช้ชีวิตบนเส้นทางศาสนา (เช่น แบบที่โควินทะเลือกบวชและใช้ชีวิตตามจารีตของสังฆะ) อาจเป็นการเดินทางถลำลึกในพันธนาการที่ซับซ้อนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ชีวิตผู้แสวงหาแบบเขมานันทะก็ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วๆ ไปจะทำได้ง่ายดาย เพราะมันต้องเริ่มจากความชอบอย่างลึกซึ้งจริงจัง ความกล้าที่จะเลือกใช้ชีวิตเช่นนั้น และต้องประกอบด้วยการศึกษาศาสตร์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจชีวิตด้วย ไม่ใช่เพียงศึกษาคำสอนจากคัมภีร์ศาสนาเพียวๆ เช่นเดียวกันเฮอร์มานน์ เฮสเสที่สร้างตัวละคร “สิทธารถะ” ขึ้นมาเช่นนั้น ก็ย่อมจะมีพื้นฐานทัศนะต่อชีวิตจากหลากหลายมุมมอง ขณะที่งานเขียนเรื่อง “จิตสำนึกของพระเจ้า” ของลอมบาร์ดก็เป็นงานที่เสนอบทสนทนาระหว่าง “ศรัทธา-วิทยาศาสตร์-ปรัชญา” อันเป็นเทรนด์การศึกษาศาสนาแบบโลกสมัยใหม่

ขณะที่บ้านเราประกาศตนว่าเป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” หรือเป็น “ศูนย์กลางการปฏิบัติธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก” การศึกษาศาสนาแบบรัฐกลับแผ่ขยายไปทั่ว หลายคนคงจะนึกภาพออกว่า เวลาที่เด็กนักเรียนคุยกัน ครูมักจะทำให้เงียบเสียงด้วยการสั่งให้ “นั่งสมาธิ” เท่ากับว่าสมาธิกลายเป็นเครื่องมือสะดวกใช้ในการ “ลงโทษ” ที่หนักกว่านั้นก็มี เช่น ตามที่เป็นข่าวว่าพระวิทยากรสั่งให้นักเรียนพี่เลี้ยงคาบรองเท้ากว่าร้อยคู่ที่วางเกะกะมาเรียงให้เป็นระเบียบ เพราะพี่เลี้ยงไม่สามารถควบคุมน้องๆ ให้วางรองเท้าเป็นระเบียบก่อนเข้าห้องประชุมในการเข้าค่ายปฏิบัติธรรมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง นี่ยังไม่นับว่ามีเด็กๆ ที่ถูกเกณฑ์เข้าค่ายปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความเครียด เกิดอาการชัก หรืออุปาทานหมู่ว่าผีเข้า ซึ่งเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

หากไปถามเด็กๆ ก็จะพบว่าส่วนใหญ่เด็กไม่ชอบหรือไม่มีความสุขกับการถูกบังคับเรียนศาสนา เพราะมีเนื้อหาแบบให้ท่องจำซ้ำๆ ตั้งแต่ประถมยันมัธยมปลาย แต่แล้วการเรียนศาสนาแบบท่องจำและน่าเบื่อหน่ายกลับเกิดผลเกินคาด ในแง่ที่เป็นการปลูกฝังทัศนะทางศีลธรรมแบบ “ดี-ชั่ว ขาว-ดำ” รองรับการตัดสินถูก ผิดในทางสังคมและการเมืองอย่างเอื้อประโยชน์ต่อความมั่นคงของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม

มันเหมือนกันกับการเรียนประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ท่องจำซ้ำๆ เกี่ยวกับวีรกรรมของชนชั้นปกครองที่แสนน่าเบื่อ แต่มันได้ผลเกินคาดในการปลูกฝังอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแก่พลเมืองที่ส่งผลให้คนส่วนใหญ่แยกดี-ชัว ขาว-ดำบนกรอบคิดเรื่อง “ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี” ต่อชนชั้นปกครองเป็นด้านหลัก

ดังนั้น คำถามว่าเราคาดหวังอะไรจากศาสนา ขึ้นอยู่กับว่า “เรา” คือใคร ถ้าเราคือปัจเจกบุคคลผู้ที่ใฝ่ฝันจะแสวงหาคุณค่าหรืออิสรภาพด้านใน เราย่อมจะไม่ได้สิ่งที่เราคาดหวังจากศาสนาแบบรัฐ แต่ถ้าเราคือข้ารับใช้ของสถาบันศาสนาและของชนชั้นปกครอง เราก็ได้รับจากศาสนาอย่างเกินคาด เพราะเราได้ถูกสร้างให้เป็นข้ารับใช้ผู้ภักดีอย่างสมบูรณ์แล้ว และเราในฐานะข้ารับใช้นี่เองที่พร้อมเสมอที่จะใช้ศาสนาเป็นอาวุธฟาดฟันใครก็ตามที่คิดต่างหรือถูกเชื่อว่าเป็นปฏิปักต์ต่อวิถีที่ถูกต้องของข้ารับใช้ผู้ภักดี   
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท