Skip to main content
sharethis

พรรคสามัญชน จัดเสวนาเปิดปัญหาของของ รธน.60 พร้อมเสนอภาคประชาชนต้องเป็นแรงขับเคลื่อนสร้างกระแสความต้องการ รธน.ใหม่ เลิศศักดิ์ ชี้แค่อ่าน รธน. ก็เห็นความวิปริตอาเพศในอนาคต ด้านเลขาธิการพรรคประชาชาติเผย 7 พรรคฝ่ายค้านเห็นร่วม ‘ไม่ใช่แค่แก้ แต่ต้องร่างใหม่’

7 ส.ค. 2562 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พรรคสามัญชนได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับกระบวนการมีส่วนร่วมนอกสภา” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน – iLaw, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ลขาธิการ พรรคประชาชาติ และประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน และนุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค

จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วก็ตาม แต่เวลานี้ไม่สามารถพูดได้ว่าเราอยู่ในยุคประชาธิปไตย เพราะตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคของ คสช. 2 เนื่องจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปอีกสมัยเป็นดอกผลของรัฐธรรมนูญที่ คสช. และเนติบริกร สร้างขึ้นมา และที่สำคัญที่สุดคือมาจากผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนซึ่ง คสช. เป็นผู้เลือกให้มาดำรงตำแหน่ง โดยเลือกผู้ที่จะจงรักภักดีกับพวกเขามากที่สุด

จอน กล่าวต่อว่าการที่ 250 ส.ว. ลงคะแนนเสียงเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นว่าระบบอุปภัมถ์ยังทำงานอยู่ และกระบวนการต่อจากนี้ไปในกระบวนการนิติบัญญัติ คสช. ก็สามารถใช้ 250 ส.ว. เข้ามาเพื่อช่วยผ่านร่างกฎหมาย หรือตีตกกฎหมายได้ โดยใช้กลไกในการตีความว่า กฎหมายนั้นเป็น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปประเทศ ซึ่งจะเปิดช่องให้ ส.ว. เข้ามาพิจารณากฎหมายร่วมกับ ส.ว. ได้

250 ส.ว. ไม่เพียงแค่มีสิทธิโหวตนายกฯ แต่ผ่านกฎหมายปฎิรูป 11 ด้านร่วมกับ ส.ส. ได้ด้วย

“ประชาชาชนเหมือนถูกขังอยู่ในห้องร่วมกับ คสช. ซึ่งใช้อำนาจควบคุม และห้องนี้ถูกล็อคจากข้างนอก เราไม่สามารถออกไป และไม่ใช่ล็อคห้องอย่างเดียว แต่เขาเอากุญแจไปทิ้งลงทะเลด้วย ปัญหาคือ เราจะปลดล็อคตรงนี้อย่างไร” จอน กล่าว

จอน อธิบายต่อไปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในรัฐสภากระบวนการนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะในวาระแรกจะต้องใช้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ส.ว. ทั้งหมดอยู่ภายใต้การอุปภัมถ์ของ คสช. แต่อย่างไรก็ตามยังมีความหวังอยู่หากเกิดกระแสความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน

จอน เสนอว่าสิ่งหนึ่งที่จะต้องแก้ให้ได้คือ ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่เพียงแค่การยกเลิกวิธีการได้มาในบทเฉพาะกาลเท่านั้น แต่ต้องยกเลิกวิธีการได้มาจากการเลือกกันเองในกลุ่มสาขาอาชีพด้วย เขายืนยันว่า วุฒิสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540

จอน ชี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีกลไกหลายอย่างที่สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลได้ แต่องค์กรอิสระที่มีอยู่ในเวลานี้กลับมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม เพราะมาจาก สนช. ที่ คสช. เป็นคนแต่งตั้ง ซึ่งแน่นอนว่า คสช. สามารถที่จะควบคุมได้ และนี่คือสภาพที่เลวร้ายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จอน กล่าวว่า ในระยะสั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้เรื่อง ส.ว. และบทเฉพาะกาล ส่วนในระยะยาวนั้นจำเป็นที่จะต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ และต้องมีวิธีร่างที่เป็นประชาธิปไตย และมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเข้ามาร่างโดยเฉพาะ ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเท่านั้น 

ส่วนหนทางที่จะเป็นการนำไปสู่การแก้ไข หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้นั้น จอนเห็นว่า ภาคประชาสังคมทุกกลุ่มต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องอธิบายให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร และนำมาสู่การเอารัดเอาเปรียบประชาชนในด้านไหนบ้าง และต้องสร้างกระแสให้ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเกิดกระแสสังคมที่แรงพอ สมาชิกวุฒิสภาซึ่งอยู่ในระบบอุปภัมถ์ของ คสช. อาจจะเริ่มคิด และตัดสินใจใหม่ว่าจะจงรักภักดีกับ คสช. หรือจะจงรักภักดีกับประชาชน และในอนาคตเราคงได้เห็นการลุกขึ้นของประชาชนออกมาชุมนุมใหญ่ เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่หวังว่า การเรียกร้องนั้นจะไม่นำไปสู่การเสียเลือดเนื้อ แต่จะเป็นชุมนุมโดยสงบที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องทั้งประเทศ” จอน กล่าว

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เริ่มต้นด้วยการระบุถึง ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งกลุ่มประชาชนที่ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สูงกว่าหลายพื้นที่ โดยมีจำนวนมากถึงร้อยละ 80 อีกทั้งในช่วงเวลาที่มีการรณรงค์ออกเสียงประชามติก็มีประชาชนทั่วประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐรรมนูญถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า เมื่อการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของคนกลุ่มหนึ่งที่รับใช้ผู้มีอำนาจ คนกลุ่มนั้นก็จะร่างกฎหมายเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนอย่างหนึ่งคือ วันนี้ประชาชนไม่ได้มีอำนาจที่จะรักษาฐานทรัพยากรของตนเอง ประชาชนถูกทำให้กลายเป็นขอทาน รอคอยสิ่งที่รัฐจะหยิบยื่นให้

เขากล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญคือ กติการ่วมกันของคนทั้งประเทศฉะนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่ในรัฐสภาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ที่จะมีส่วนร่วมในการตกลงว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้อย่างไร สำหรับในส่วนของพรรคฝ่ายค้านนั้นได้ปรึกษาหารือกัน และเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยจะทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ระบุว่า การฉีกรัฐธรรมนูญหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยอำนาจที่มาจากการรัฐประหารทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจริงหรือไม่ และแท้จริงแล้วกฎหมายสูงสุดของประเทศควรมีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ่งที่เห็นมีเพียงแค่การจัดวางว่า ใครจะได้ผลประโยชน์อะไรบ้างในเกมอำนาจทางการเมือง แต่กลับไม่พูดถึงรวมธรรมของการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

เขากล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีกฎหมายใดที่สร้างสำนึกให้รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ และความรุนแรงของภัยแล้งครั้งนี้ ไม่แตกต่างจากภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แต่ในมุมมองของรัฐบาลตอนนี้มีแต่เรื่องภัยความมั่นคง และค่อยสอดส่องประชาชนว่า ใครจะเป็นภัยความมั่นคงอยู่ตลอดเวลา สาเหตุที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะต้องการให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญกับภัยแล้งเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ของรัฐอยู่ และรัฐธรรมนูญควรจะเป็นกฎหมายที่สร้างสำนึกต่อระบบราชการ หรือรัฐบาลให้ตื่นตัวในการแก้ปัญหาปากท้อง ความทุกข์ยากของชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่พูดแต่เรื่องการรักษาหวงแหนอำนาจ

“รัฐธรรมนูญไทยแต่ละฉบับ เปรียบได้กับตำราโหราศาสตร์ การอ่านรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับการอ่านดวงเมือง เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วก็พอทำนายได้ว่า บ้านเมืองจะวิปริตอาเพศขนาดไหน ดูแค่เรื่องการกล่าวคำถวายสัตย์ปฎิญาณที่ไม่ครบก็พอจะทำนายได้ว่าบ้านเมืองจะวิปริตอาเพศขนาดไหน และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ต้องบอกว่าเป็นฉบับที่พุดขึ้นมาจากอเวจี” เลิศศักดิ์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีโครงสร้างเดิมของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเรียกว่าเป็นฉบับประชาชนเหลืออยู่เลย เรียกได้ว่าเป็นการทำลายหลักการเดิมทั้งหมด องค์กรอิสระที่เคยตกลงรวมกันว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ก็กลายเป็นเพียงแขนขาของผู้มีอำนาจ และปกป้องอำนาจของฝ่ายบริหารในปัจจุบัน ศาลเองก็ไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับไปพิทักษ์การรัฐประหารแทน

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกเรื่องคือโครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญส่งผลกับการเมืองอย่างมหาศาล เช่น การจัดตั้งพรรคการเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดพรรคการเมืองเล็กๆ ที่สอดคล้องใกล้ชิดกับปัญหา และความปรารถณาของประชาชน แต่กลับเอื้ออย่างยิ่งต่อการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และพรรคการเมืองซึ่งอิงอยู่กับกลุ่มทุน และรับใช้ทุน

“รัฐธรรมนูญ 2560 อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นพิมพ์เขียวของฝ่ายขวา เป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายขวา ถ้าจะแก้รัฐธรรมก็ต้องทำให้มันเป็นพิมพ์เขียวของฝ่ายก้าวหน้า.... การมี ส.ว. แต่งตั้งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์จากต่างประเทศว่า ไม่เป็นประธิปไตย แต่เป็นรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ แค่ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. แล้วกรรมการสรรหามาเป็น ส.ว. เองแค่นี้ก็สุดยอดแล้ว ไม่รู้จะพูดยังไง.... และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีที่มาจากการรัฐประหาร ผมคิดว่าการลบเชื้อมูลหน่อเนื้อของการรัฐประหารให้สิ้นซากไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไข แต่เป็นการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ” เลิศศักดิ์ กล่าว

นุชนารถ แท่นทอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายเลย เพราะรู้สึกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเอง แต่จริงๆ กฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับเรา และทุกคน ทุกชนชั้นในสังคม ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง เรื่องสิทธิชุมชม และการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ได้รับกสารรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผู้ร่างกลับกลายเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีความเดือดร้อน ไม่รับรู้ความเดือดร้อนของประชาน แต่กลับเขียนกฎหมายออกมาให้ทุกคนต้องทำตาม และที่สำคัญยังเขียนกฎหมายออกมาเพื่อปกป้องชนชั้นนำ

เธอกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นประชาชนควรลุกขึ้นมาขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะยังติดอยู่ในวังวนนี้ต่อไป ซึ่งจะทำให้คนไทยไม่สามารถลืมตาอ้างปากได้ คนทั่วไปไม่ได้ต้องการงอมืองอเท้ารอรับการสงเคราะห์จากรัฐจากรัฐเท่านั้น แต่ต้องการที่จะมีงานที่ดีทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีโอกาสในชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net