Skip to main content
sharethis
  • การพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินโครงการ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการระเบียงเศษรฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจาก ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส. ประชาธิปัตย์ เสนอให้เปลี่ยนวาระการประชุมมาเป็นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 และร่างเหรียญราชรุจิ ร.10 ก่อน
  • ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีสมาชิกสภาฯ คนใดตั้งคำถามถึงความเร่งด่วน เพียงแต่ได้แสดงความกังวลว่าการเสนอญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณา ระหว่างที่สภากำลังอยู่ในวาระพิจารณาญัตติให้แต่งตั้ง กมธ. EEC จะมีผลให้ญัตตินี้ตกไปหรือไม่ ข้อถกเถียงในสภาผู้แทนจึงเกิดขึ้น เมื่อสุชาติ ตันเจริญ ประธานสภาเห็นว่าไม่ตก ขณะที่ข้อบังคับการประชุมเขียนชัดว่า "ให้ตกไป"
  • สุดท้ายวิปฝ่ายค้านกับวิปฝ่ายรัฐบาลตกลงกระบวนการในสภาร่วมกันได้ พร้อมผ่านร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ 3 วาระรวด แต่เหลือเวลาไม่ทันพิจารณาญัตติ EEC ในขณะที่ผังเมืองใหม่ที่ออกแบบมาให้สอดรับกับการดำเนินโครงการ EEC จ่อเข้า ครม. เตรียมมีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงค้านของประชาชนในพื้นที่ กระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จึงถูกตั้งคำถามว่านี่คือ ‘การแทรกกฎหมายซื้อเวลา’ ของรัฐบาล หรือไม่

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 ณ ห้องประชุมจันทรา อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เกียกกาย วันที่ 7 ส.ค. 2562 หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาในวาระรับทราบเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่จะเข้าช่วงของการพิจารณาญัตติเร่งด่วน ช่วง 40 นาทีสุดท้ายของการประชุม ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติขอเปลี่ยนวาระการชุมตามข้อบังคับข้อที่ 46 (2) โดยขอให้นำร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ....  ตามระเบียบวาระเร่งด่วนที่ 21 และร่างพระราชญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ....  ตามระเบียบวาระเร่งด่วนที่ 22 ขึ้นมาพิจารณาก่อน จากนั้นได้มีผู้ให้การรับรองการเสนอญัตติครบตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตามในการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างวิปฝ่ายค้าน และวิปฝ่ายรัฐบาล ในช่วงเช้าก่อนเข้าประชุม ไม่ได้มีการตกลงร่วมกันว่าจะมีการเสนอญัตติเพื่อขอเปลี่ยนแปลงระเบียบวาระการประชุม

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551

หลังจากที่มีสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรให้การรับรองการเสนอญัตติแล้ว จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยได้ปรึกษาหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเวลานั้น สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ โดยจุลพันธ์ ระบุว่า

“ผมเข้าใจความจำเป็นเร่งด่วนของญัตติที่ 21 และ 22 ที่มีการขอเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่สิ่งที่อยากจะปรึกษาหารือกับท่านประธานคือ เรามีญัตติเร่งด่วนในลักษณะเดียวกันซึ่งค้างคาในการประชุมอยู่ คือ ญัตติในเรื่องของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเรื่อง EEC ซึ่งค้างการพิจารณามา 2 อาทิตย์แล้ว เมื่อเรามีการเลื่อนญัตติลักษณะนี้ แต่เราไม่มีการงดเว้นข้อบังคับการประชุมข้อที่ 50 อยากจะเรียนถามประธานว่าระเบียบวาระเรื่อง EEC จะตกหรือไม่”

(อ่านระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนครั้งที่ 13 ได้ที่นี่)

สุขาติ ระบุว่า ผู้เสนอได้เสนอญัตติ ตามข้อบังคับที่ 46 ซึ่งจะมีข้อบังคับเขียนไว้ในข้อ 47 โดยของให้สมาชิกลองอ่านดูก่อน เพราะมีข้อกำหนดว่าให้เลื่อนขึ้นมาไม่ตก

อย่างไรก็ตามเมื่อดูตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 47 ไม่พบว่ามีข้อกำหนดใดที่ระบุตามที่ สุชาติ กล่าวในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551

จากนั้น ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับประธานสภาฯ ต่อว่า การที่เพื่อนสมาชิกเสนอให้เปลี่ยนวาระการประชุมโดยให้นำเอาญัตติที่ 21 และ 22 ขึ้นมาพิจารณาก่อนนั้น เมื่อมีสมาชิกรับรองก็ถือว่า เป็นญัตติที่ถูกต้อง ขั้นต่อไปจะเป็นการให้ความเห็นชอบว่าให้เลื่อนหรือไม่ให้เลื่อน แต่ก่อนที่จะมีมติตรงนั้น ตนอยากจะขออนุญาตประธาน เนื่องจากจุลพันธ์ ได้ลุกขึ้นมาทักท้วงประธานไปว่า ถ้ามีการนำเอาเรื่องด่วนที่ 21 และ 22 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็น ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับเหรียญตราของรัชกาลที่ 10 เชื่อว่าเพื่อนสมาชิกเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องนำมาพิจารณา แต่สิ่งที่ประธานอ้างข้อบังคับที่ 47 นั้นอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ประธานได้เข้าสู่วาระพิจารณาเร่งด่วน โดยให้สมาชิกเสนอญัตติในวาระประชุมเร่งด่วนที่ 1 2 3 4 (ญัตติที่สมาชิกสภาผู้แทนฯ ยื่นตั้งคณะกรรมาธิการเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC) โดยสภามีมติว่าให้มีการพิจารณารวมกัน (ตามข้อบังคับที่ 47 (2)) จากนั้นเพื่อนสมาชิกได้แถลงญัตติไปแล้ว 2 ญัตติ และได้อภิปรายเหตุผลประกอบ หลังจากนั้นก็หมดเวลาประชุม วันนั้นประธานบอกว่า ให้นำไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งก็คือ การประชุมในครั้งนี้

ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ในวาระของการพิจารณา สภาได้เข้าสู่ระเบียบวาระเรื่องรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และ EEC ไปแล้ว และตามข้อบังคับการประชุมที่ 50 หากมีการนำเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแทรก ญัตติเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่จะตกไปทันที ฉะนั้นประธานสภาควรใช้ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 146 เพื่อให้สมาชิกโหวตงดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 50

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551

“จริงอยู่หลายท่านอาจจะตีความว่าระหว่างที่พิจารณาเรื่องญัตติใดๆ อยู่ ถ้านำญัตติอื่นมาพิจารณาเท่ากับว่าญัตติที่พิจารณาอยู่ตกไป แต่การตีความไม่ได้ตีความว่า ขณะที่ หรือกำลังพิจารณาอยู่ในวันนี้เพียงอย่างเดียว ความหมายของการพิจารณาคือ เรื่องนั้นยังไม่แล้วเสร็จ... ในความเห็นผมถ้าจะนำเรื่องใดๆ เข้ามาพิจารณาในระหว่างการพิจารณาญัตติอื่นอยู่ข้อบังคับที่ 50 ถูกตีความแน่นอน เรายินดีสนับสนุนสภาทุกอย่าง ขอเพียงแต่ว่า เราต้องยึดข้อบังคับไว้เป็นหลัก ไม่แปลกที่จะนำเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่ขอให้ท่านใช้ข้อบังคับข้อที่ 176 คือสภาแห่งนี้สามารถมีมติที่จะยกเว้นข้อบังคับบางข้อ โดยอาศัยมติของสภา แน่นอนว่าต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ขององค์ประชุมที่มีอยู่ ผมคิดว่าถ้าท่านประธานทำอย่างนั้นก็จะเป็นการปลอดภัย โดยท่านต้องงดเว้นข้อบังคับที่ 50... ผมคิดว่าสภาแห่งนี้ให้ความเห็นชอบอยู่แล้ว” ชลน่าน กล่าว

“และที่สำคัญมันมีเสียงว่า ถ้าไม่เว้นข้อบังคับข้อที่ 50 มันจะมีผลให้ญัตติเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และญัตติ EEC ตก ซึ่งเป็นความต้องการของคนบางกลุ่มหรือเปล่า... ถ้ามันตกด้วยการกระทำแบบนี้ผมคิดว่าพวกเรายอมไม่ได้นะครับ เพราะนี่คือผลปรโยชน์ของประเทศชาติ แล้วจะมาใช้กลไกเทคนิคทางกฎหมายมาทำให้มันตกไปผมก็ไม่ยอม ประเทศนี้ใช้เทคนิคทางกฎหมายมาเยอะ อภินิหารกฎหมายมีเยอะ ไม่ปฎิญาณตนตามรัฐธรรมนูญระบุก็เป็นอภินิหารทางกฎหมาย ก็ยังทำงานได้ แล้วกฎหมายที่จะเข้าสู่สภาพรุ่งนี้ ถ้าผมเอง และสมาชิกเข้าชื่อร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า สภาเราทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็คือพิจารณากฎหมายที่ไม่ชอบ เพราะ ครม. ไม่ชอบ มันจะยุ่งนะครับ” ชลน่าน กล่าว

จากนั้นสุชาติ ได้ของฟังความเห็นจากชินวรณ์ โดยชินวรณ์ ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่ขอเปลี่ยนระเบียงวาระนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่คณะรัฐมนตีได้เสนอเรื่องมาให้เป็นเรื่องเร่งด่วน และทุกฝ่ายเห็นชอบว่า ควรร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เป็นกฎหมาย เพื่อที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนประเด็นที่ชลน่าน กล่าวอ้างว่า การที่มีการดำเนินการขอเปลี่ยนระเบียงวาระ อาจจะขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 50 ตนคิดว่าในเวลานี้หลังจากสภามีการพิจารณาในวาระรับทราบจบลงแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นพิจารณาญัตติในวาระด่วน จึงถือว่าชอบด้วยข้อบังคับการประชุม

ด้านจุลพันธ์ ได้ปรึกษาหารือกับประธานสภาว่า เป็นความจำเป็นหากจะมีการเลื่อนญัตติเรื่องที่ 21 และ 22 พิจารณาก่อนหน้า โดยเฉพาะก่อนหน้าเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งเชื่อว่าสมากชิกเห็นตรงกันกับชินวรณ์ว่าจะเลื่อนร่างกฎหมายทั้ง 2 ขึ้นมาพิจารณาในช่วงเช้าพรุ่งนี้เลย หลังจากมีการหารือจบแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากทำอย่างนั้นก็จะเป็นการทำผิดข้อบังคับการประชุมข้อที่ 16 วรรค 2 ที่บอกว่า ในกรณีที่ประธานสภาเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน จะจัดไว้ในลําดับใดของระเบียบวาระ การประชุมก็ได้แต่จะจัดไว้ ก่อนเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องงดเว้นข้อบังคับข้อนี้ด้วย

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551

“และเพื่อความปลอดภัยในดำเนินการของเราให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับข้อที่ 50 ก็เป็นอีกที่จะงดเว้น ผมเรียนเสนอท่านออกกับท่านว่า หากท่านจะพิจารณาให้มีการเลื่อนญัตติในวันพรุ่งนี้เพื่อสมาชิก มากันครบ แล้วเราเลื่อนญัตติที่ 21 กับ 22 มาพิจารณา โดยงดเว้นข้อบังคับการประชุมข้อที่ 16 วรรค 2 ข้อ 21 ข้อ 46 วรรค 2 และข้อที่ 50 เพื่อเป็นการยืนยันว่าการเลื่อนญัตติครั้งนี้จะ ไม่เป็นการทำให้ญัตติเรื่องรถไฟเชื่อมสนาม และ EEC ตกไป ขอท่านโปรดพิจารณา” จุลพันธ์ กล่าว

ด้านปิยบุตร แสงกนนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้หารือกับประธานสภาว่า การเลื่อนญัตตินั้นในที่ไประชุมนี้คงไม่สมาชิกคนใดขัดข้องแน่นอน แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องทำให้สอดคล้องกับข้อบังคับการประชุม โดยตนต้องการหาทางออกให้

ปิยบุตรเห็นว่า เวลานี้การประชุมอยู่ในวาระที่สาม คือการรับรองรายงานการประชุม ปกติแล้ววาระที่เป็นเรื่องด่วนจะอยู่หลังเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ก่อนวาระที่ 5 เรื่องที่ค้างพิจารณา ฉะนั้นการจะนำญัตติที่ 21 และ 22 มาพิจารณาก็จำเป็นต้องเลื่อนวาระการประชุมก่อน แต่การจะเลื่อนการประชุม ปัญหายังติดอยู่ที่ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 16 วรรค 2 ซึ่งบังคับว่า กรณีที่เป็นเรื่องด่วนจะต้องต่อแถวจากวาระที่ 4 คือเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว ฉะนั้นเพื่อให้เป็นไปตามที่ชินวรณ์ เสนอมาจึงจำเป็นต้องงดเว้นข้อบังคับการประชุมที่ 16 วรรค 2

ต่อมาประเด็น กล่าวด้วยว่า ญัตติที่ 21 และ 22 นั้นอยู่ลำดับท้ายสุด หากจะต้องแทรกญัตติอื่นขึ้นมาจะต้องใช้ข้อบังคับข้อที่ 47 (7) คือ ขอให้ยกเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณา แต่ในข้อ 50 เขียนว่ากรณีที่ประชุมลงมติให้เลื่อนญัตติ ระหว่างพิจารณาญัตติอื่นอยู่ ให้ถือว่าญัตตินั้นตกไป และก็จะทำให้ญัตติเรื่อง EEC ซึ่งคาดอยู่ 2 สัปดาห์ตกไปทันที ฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ญัตติเรื่อง EEC ตกจะต้องงดเว้นข้อบังคับที่ 50 โดยใช้ข้อบังคับข้อที่ 176 ซึ่งนี่คือทางออกที่สอดคล้องกับข้อบังคับที่สุด

ต่อมาชินวรณ์ ได้กล่าวต่อประธานสภาว่า การขอเลื่อนระเบียบวาระที่ได้นำเรียนต่อประธานไปนั้น ได้ดำเนินการตามข้อ 46 คือการขอเปลี่ยนระเบียบวาระ และหากที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนระเบียบวาระ ก่อนเรื่องที่ระเบียบวาระเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และหากที่ประชุมมีมติก็สามารถที่จะดำเนินการได้ ส่วนกรณีที่เพื่อนสมาชิกได้แนะนำก็เป็นเรื่องข้อบังคับข้อที่ 47 ที่เขียนว่า เมื่อที่ประชุมกำลังพิจารณาญัตติใดอยู่ ห้ามเสนอญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณาเว้นแต่เรื่องดังต่อไปนี้ ซึ่งสมาชิกได้บอกว่าเป็น ข้อที่ 47 (7) ซึ่งตนไม่ได้เสนอตามข้อบังคับนี้

“เพราะขณะนี้เราไม่ได้ พิจารณาญัตติใดเลย เป็นเรื่องที่จบวาระที่ท่านประธานได้ให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระที่ 2 จบไปแล้ว และกำลังจะเริ่มต้นวาระใหม่ ผมก็ได้ถือโอกาสนี้ยกมือเสนอญัตติตามข้อ 46 แล้วเวลานี้ก็ไม่ได้มีการพิจารณาญัตติใด” ชินวรณ์ กล่าว

สุชาติ ได้สรุปว่า ชินวรณ์ได้เสนอระเบียบวาระเร่งด่วนมาพิจารณา ส่วนชลน่านก็เป็นห่วงว่า ญัตติที่พิจารณาค้างอยู่จะตกไปหรือไม่ ส่วนปิยบุตร และจุลพันธ์ก็เสนอว่า การเลื่อนระเบียบวาระไปใส่ไว้ก่อนวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วได้หรือไม่ เพราะต้องบรรจุหลังจากระเบียบวาระที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เกรงว่าจะขัดต่อข้อบังคับ

“กรณีนี้ผมวินิจฉัยว่า เป็นไปตามที่ชินวรณ์ระบุ คือเวลานี้ สภายังไม่ได้พิจารณาญัตติใดอยู่ และการขอเลื่อนระเบียบว่าวาระนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงของการพิจารณาญัตติอยู่ หรือค้างอยู่ กรณีนี้ผมคิดว่ามันคงไม่ตกไป เหมือนที่แจ้งให้ทราบ” สุชาติ กล่าว

ด้านชลน่าน ลุกขึ้นทักท้วงอีกโดยกล่าวว่า คำว่าญัตติที่กำลังพิจารณาอยู่ สามารถถูกตีความได้ว่า เป็นช่วงของเหตุการณ์ เพราะวันที่ 18 ก.ค.  ได้มีการรวมญัตติที่เหมือนกันคือเรื่องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกเรื่อง รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และเรื่อง EEC ซึ่งได้แถลงญัตติไปแล้ว 2 แต่ยังเหลือ 2 ญัตติที่ยังไม่ได้แถลง โดยตอนนั้นประธานบอกว่าหมดเวลาการประชุมแล้ว และขอให้เลื่อนไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

“ต้องกราบเรียนว่า การตีความของท่านชินวรณ์ กับท่านประธาน ท่านตีความไม่เหมือนผม ท่านบอกว่าท่านใช้ข้อ 46 หากท่านมองแค่เพียงขณะนี้ใช่ครับ เพราะเราเพิ่งเสร็จวาระแจ้งทราบ และให้ขั้นปรึกษาหารือ และเสนอญัตติด้วยวาจาได้ แต่การเสนอนั้นมันมีผลต่อเรื่องที่เราพิจารณาค้างอยู่ครับ ผมถามท่านประธานด้วยความเคารพว่าตอนนี้เราเข้าสู่การพิจารณาเร่งด่วนที่ 1 2 3 4 หรือยัง ที่ประชุมแห่งนี้ต้องตอบว่า เข้าแล้วเพราะเราแถลงไป 2 ญัตติแล้ว แต่ค้างอยู่อีก 2 ญัตติ และยังไม่ได้มีการลงมติใดๆ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการหรือไม่ ก็ยังไม่มีมติ เรายังอยู่ในขั้นตอนนี้ กำลังพิจารณาอยู่ ฉะนั้นไม่ว่าท่านจะเสนอเข้ามาช่วงใดก็แล้วแต่มันก็อยู่ช่วงของการจะนำเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาขณะที่มีการพิจารณาญัตติอื่นอยู่ เหตุผลจำเป็นที่ต้องใช้ข้อ 47 เพราะมันเป็นข้อห้าม เพราะผมตีความเรามีญัตติที่พิจารณาค้างอยู่ หากไม่เอาเรื่องอื่นขึ้นมา ก็จบวารระแจ้งทราบ ก็ต้องเข้าสู่วาระพิจารณาญัตตินี้ทันที แม้แต่เรื่องที่คณะกรรมธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ก็ยังต้องมาพิจารณาหลังจากที่เราพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่จบ เพราะข้อบังคับเขาห้าม ถ้าจะเว้นก็ต้องใช้ ข้อ 47 (7) .... ฉะนั้นถ้าจะเว้นข้อบังคับไม่ได้มีความเสียหายใดๆ ทั้งข้อ 16 วรรค 2 ข้อ 50 และข้อ 21 ด้วย เพื่อความปลอดภัย และถ้าจะให้ดีผมคิดว่าพักการประชุมแล้วมาต่อพรุ่งนี้ดีกว่าครับ”

จากนั้นสุชาติ ได้รับข้อเสนอของชลน่าน และให้มีการประชุมกันเรื่องดังนี้อีกครั้งในวันถัดไป และชินวรณ์ ก็เห็นด้วยว่าควรปิดการประชุมแล้วค่อยดำเนินการต่อในวันถัดไป

วิปฝ่ายค้านและวิปฝ่ายรัฐบาลตกลงกันได้ ยอมให้เปลี่ยนวาระการประชุม ยอมงดเว้นข้อบังคับบางข้อ แต่สุดท้ายเวลาหมดไม่ทันเข้าญัตติ EEC

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 ซึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องที่ค้างจากการประชุมในครั้งก่อน โดยสุชาติ ได้ระบุถึเรื่องที่ยังตกค้างจากเมื่อวาน ซึ่งชินวรณ์ได้เสนอญัตติให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าการเสนอญัตติอื่นเข้ามาให้พิจารณาก่อนญัตติที่กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น จะทำให้ญัตติที่กำลังพิจารณานั้นตกไปหรือไม่ และหากจะเลื่อนมาก่อวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว จะถูกต้องตามข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งยังรอตนวินิจฉัย

จากนั้นจุลพันธ์ กล่าวว่า ได้มีการปรึกษาหารือระหว่างวิปฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลในช่วงเช้าในประเด็นนี้ ทางฝ่ายค้านตกลงกันว่า ยอมให้มีการเลื่อนญัตติตามที่มีการเสนอมา โดยขอให้ใช้ข้อบังคับข้อทื่ 176 เพื่องดเว้นข้อบังคับการประชุมที่ 46 วรรค 2 และ ข้อ 50 เพื่อยืนยันว่าญัตติเรื่องรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และ EEC จะไม่ตกไป

สุชาติ ระบุว่า เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ค้างการวินิจฉัยอยู่ จึงขอวินิจฉัยว่า การเสนอญัตติดังกล่าวเข้ามาพิจารณาก่อนจะไม่ทำให้ญัตติเดิมที่พิจารณาอยู่ตกไป เพราะยังไม่ได้พิจารณาถึงวาระของการพิจารณาญัตติ แม้จะเป็นญัตติที่ค้างจากการพิจารณาค้างไว้แล้วก็ไม่ถือว่า กำลังพิจารณาญัตตินั้นอยู่ จึงไม่ถือเป็นการเสนอญัตติซ้อนญัติที่กำลังพิจารณาอยู่

จุลพันธ์ กล่าวว่า การวินิจฉัยของประธานนั้นทางฝ่ายค้านเองรับทราบ แต่ยังเป็นห่วงว่า การตีความข้อบังคับจะเป็นไปอย่างไร หากมีผู้ที่ให้ความสนใจแล้วไปร้องเรียนขึ้นมาก็จะเกิดเป็นปัญหาในช่วงหลัง ไม่ว่าจะเป็นญัตติเรื่องเหรียญหรือญัตติเรื่อง EEC จากการหารืออย่างไรเราก็ต้องงดเว้นข้อบังคับข้อที่ 46 วรรค 2 อยู่แล้ว และขอข้อ 50 อีกข้อเพื่อความสบายใจและการดำเนินการที่ราบรื่นของรัฐสภา

สุชาติ ระบุว่า นั่นเป็นเรื่องที่ที่ประชุมจะต้องเสนอ และเป็นมติของที่ประชุม

จากนั้นวิวัช รัตนเศษรฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวในช่วงเช้าได้มีการคุยกับระหว่างวิปฝ่ายรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ในประเด็นที่ฝ่ายค้านเป็นห่วงคือ การวินิฉัยของประธานอาจจะทำให้ญัตติเรื่อง EEC ตกไป ซึ่งตนอยากจะเรียนว่า เมื่อมีการพิจารณาญัตติที่ 21 และ 22 เสร็จแล้ว จากนั้นก็จะพิจารณาร่างข้อบังคับ และสุดท้ายก็จะเป็นไปตามระเบียบวาระเดิม ส่วนรายละเอียดที่จะมีการของงดเว้นข้อบังคับต่างๆ นั้นฝ่ายรัฐบาลไม่ขัดข้องเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว

จากนั้น ชลน่าน ได้กล่าวต่อประธานว่า จริงๆ แล้วข้อหารือระหว่างวิปฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลได้ข้อยุติแล้ว ก็จะมีการดำเนินการตามที่ได้มีการนำเสนอไป เพื่อป้องกันการตีความ และการวินิจฉัย แต่สิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจอย่างยิ่งคือ การที่ประธานลงมาวินิจฉัยเรื่องนี้โดยไม่มีอำนาจตามข้อบังคับการประชุม

“ผมพยายามตรวจสอบข้อบังคับการประชุมเรื่องการวินิจฉัยว่าญัตติจะตกหรือไม่ตก ไม่ใช่หน้าที่ประธานครับ หรือท่านประธานจะเปิดข้อบังคับอ่านให้ผมฟัง ถ้าผมผิดผมยินดีที่รับทราบและจะจำไว้ว่าเป็นอำนาจประธานในการวินิจฉัยว่าญัตติตกหรือไม่ตก ท่านประธานครับมันเป็นอำนาจสภา และเป็นอำนาจตามข้อบังคับที่เขียนไว้เลย มันเป็นกฎ ถ้าทำเยี่ยงนี้ มีพฤติกรรมกรรมอย่างนี้ มีการกระทำอย่างนี้จะทำให้เป็นอย่างนี้ มันเขียนไว้ครับ เหมือนรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ที่บัญญัตติว่า การกระทำใดที่ขัดต่อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้ เริ่มปรากฎโฉมแล้วครับ และจะขอบคุณมากถ้าท่านจะบอกว่านั้นเป็นความเห็นท่าน ไม่ใช่ความเห็นสภา และอย่าได้ใช้ความเห็นท่านเป็นบรรทัดฐาน” ชลน่าน กล่าว

ด้านสุชาติ ตอบว่า ตนอำศัยอำนาจตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 8 พร้อมระบุว่า

“ก็ฟังครับ ฟังหมอชลน่านท้วงติงก็ดีครับ และท่านเป็นกรรมาธิการร่างข้อบังคับก็เอาชัดๆ ไปเลยครับ ให้อำนาจประธานวินิจฉัยไปเลยก็ได้ครับคราวต่อไป จบนะครับเรื่องนี้”

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551

จากนั้น สุชาติ ได้ถามว่า มีสมาชิกคนใดไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องที่ชินวรณ์เสนอมาพิจารณาก่อนหรือไม่ ปรากฎว่าไม่มีสมาชิกคนใดไม่เห็นด้วย และในการใช้ข้อบังคับข้อที่ 176 เพื่องดเว้นข้อบังคับที่ 46 วรรค 2 และข้อที่ 50 สมาชิกออกเสียงเห็นด้วยให้งดเว้นข้อบังคับดังกล่าว 465 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการออกเสียง สุชาติได้กล่าวให้สมาชิกออกว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการงดเว้นข้อบังคับการประชุมที่ 46 วรรค 2 เป็นประเด็นเดียวเท่านั้น จนจุลพันธ์ ต้องลุกขึ้นทักท้วงอีกครั้ง โดยให้สุชาติ ขอมติจากสมาชิกในเรื่องของการงดเว้นข้อบังคับข้อที่ 50 ด้วย

สุดท้ายข้อถกเถียงดังกล่าวก็จบลง จากนั้นสภาได้ดำเนินการลงมติร่าง พ.ร.บ. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10  3 วาระรวด และสภาได้ให้ความเห็นชอบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ญัตติเร่งด่วนเรื่องเสนอให้ตั้งคณะกรรมการธิการศึกษาเรื่อง รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และศึกษาเรื่องระเบียงเศษรฐกิจพิเศษ ถูกยกไปพิจารณาต่อในการประชุมสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 8/2562 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค (อ่านที่นี่) ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นการนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในวันที่ 13 ส.ค. นี้

ประมวลสถานการณ์: ปล่อย 'ปู' หน้าทำเนียบ ผังอีอีซีเจอศึกหนัก

พิชัย นริพทะพันธุ์ : 'อีอีซี' เป้าหมายดี แต่วิธีการยังไม่ผ่าน

อย่างไรก็ตามยังคงมีกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องให้มีการทบทวบร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว เพราะการดำเนินการโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการปรึกษาหารือ หรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้​ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร​ของชุมชน ไม่ใช่พื้นที่รกร้างของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยมีอย่างน้อย 7 พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ

1.พื้นที่บริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเปลี่ยนจากที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม

2.พื้นที่บริเวณรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2)

3.พื้นที่บริเวณต้นน้ำบางปะกง ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถูกกำหนดเพิ่มเติมจากผังเมืองเดิม 2,000 ไร่ ทั้งที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความเสี่ยงด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ

4.พื้นที่ริมแม่น้ำนครนายก บริเวณ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ไม่ถูกกำหนดประเภทที่ดิน

5.พื้นที่เขายางดง บริเวณรอยต่อ อ.แปลงยาว-พนมสารคาม ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้หายไป

6.พื้นที่บริเวณ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลุบรี ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งที่ยังมีข้อพิพาทเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ป่าคุ้มครอง และปัจจุบันมีชุมชนอยู่อาศัยในพื้นที่ราว 400 ครัวเรือน

7.พื้นที่บริเวณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ที่ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกิจการพิเศษ โดยไม่มีข้อห้ามที่เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการ และราชการบัญญัติไว้ด้วย

นอกจากนี้แหล่งจากพรรคฝ่ายค้าน ได้เปิดเผยกับประชาไทด้วยว่า กระบวนการที่เกิดในการประชุมสภาครั้งนี้ แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้ถึงความเร่งด่วนในการพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นกระบวนการในการยึดเวลาที่สภาจะได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษา ตรวจสอบ และทบทวนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือไม่ เพราะโดยมารยาททางการเมืองแล้วหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการเกิดขึ้น โครงการของรัฐที่ถูกศึกษานั้นจะต้องชะลอการดำเนินการออกไปก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net