อ่านสื่อพม่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากเซ็นเซอร์-กดปราบ สู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์?

เปิดตัวหนังสือเรื่องสื่อพม่า ขยายความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อของประเทศเพื่อนบ้านที่ยุคหนึ่งต้องรายงานจากฝั่งไทยเข้าไปในประเทศเพราะถูกกดปราบ ในวันที่การเมืองเปิด อะไรเป็นมรดกของคณะทหาร อะไรคือโอกาส และอะไรคือความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม และจริงหรือไม่ที่สื่อพม่าไม่อยากทำข่าววิกฤตโรฮิงญาแล้ว

ภาพตำรวจคุมตัววะลง (สวมกุญแจมือ) ที่มาภาพ wikipedia

วงการสื่อพม่ากลายเป็นที่ได้ยินในไทยมากขึ้นหลังวะลงและจ่อซออู 2 นักข่าวรอยเตอร์ประจำพม่าถูกจับกุมและขังคุกในข้อหาละเมิดกฎหมายเผยแพร่ความลับทางราชการเมื่อปี 2560 แต่เราจะสนใจวงการสื่อพม่าไปทำไม

แต่รู้หรือไม่ว่าสื่อพม่ามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประชาธิปไตยของพม่า การเป็นพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารที่อยู่ยงคงกระพันมายาวนานกว่า 50 ปีก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐสภาลูกผสมพลเรือน-ทหารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

รู้หรือไม่ว่า อ.แม่สอด และ จ.เชียงใหม่เคยเป็น (และยังเป็น) ฐานปฏิบัติการให้สื่อพม่าจำนวนมากที่ส่งข่าววิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน มียุคหนึ่งที่คนพม่าเชื่อถือสื่อนอกประเทศมากกว่าสื่อในประเทศเสียอีก

เส้นเวลาตลอดช่วงเวลาราว 5 ทศวรรษที่พม่าตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร เมื่อถึงคราวผลัดเปลี่ยน รัฐบาลจากการเลือกตั้งขึ้นมาและมีสัดส่วนผสมผสานไปกับฝ่ายทหารในรัฐสภา บรรยากาศอึมครึมก็คลี่คลายลง ชีวิตทางสังคม การเมืองในพม่านั้นมีสื่อเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่ง การเข้าใจสังคม การเมืองพม่าจึงต้องเข้าใจผู้นำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นสู่สาธารณะด้วย แต่เราเข้าใจสื่อพม่าขนาดไหน วันนี้มีหนังสือที่พูดถึงมันได้อย่างลึกซึ้ง

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2562 ที่สำนักงานมีเดีย อินไซด์ เอาท์ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน มีงานเปิดตัวหนังสือเรื่องสื่อพม่า “สื่อพม่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน: มรดก ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง” โดยมี รศ.ลิซ่า บรูเทน นักวิจัยผู้ใช้ชีวิตในชายแดนไทย-พม่ามาในช่วงทศวรรษ 1990 ผศ.กายาทรี เวนกิตสวารัน อดีตผู้อำนวยการพันธมิตรสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) Eaint Thiri Thuis นักศึกษาปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เคยลงพื้นที่เป็นผู้ประสานงานนักข่าวในรัฐยะไข่ และเจน แมดลีน แมคเอลโลนผู้เชี่ยวชาญด้านวารสารศาตร์และการพัฒนาสื่อ ในสังคมปิดและสังคมเปลี่ยนผ่าน เป็นผู้จัดทำหนังสือร่วมกันและมาร่วมเปิดตัวหนังสือในวันดังกล่าว

ซ้ายไปขวา: นฤมล ทับจุมพล Eaint Thiri Thuis ลิซ่า บรูเทน เจน แมคเอลโลน กายาทรี เวนกิตสวารัน

“ปี 1962-2010 เป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์พม่าถูกขับเน้นด้วยการเซ็นเซอร์อย่างเคร่งครัดต่อสื่อ รวมถึงทัศนศิลป์และการแสดงสด หลังจากนายพลเน วินขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 1962 เน วิน ล็อกเป้าสื่อ ขัง บก. หนังสือพิมพ์และก่อตั้งหนังสือพิมพ์ของรัฐ 2 หัว...เขา (เน วิน) ยังจัดตั้งสภาสื่อพม่าเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อผ่านการสังเกตการณ์โดยสมัครใจบนจริยธรรมสื่อที่รัฐบังคับ”

“เมื่อช่วงการปฏิรูปเริ่มต้น วงการสื่อนั้นมีความกระฉับกระเฉง แต่ก็ถูกจำกัดอย่างมีนัยสำคัญ ขณะนั้นมีนิตยสารและข่าวที่รายงานข่าว กีฬาและเรื่องไลฟ์สไตล์แบบรายสัปดาห์-รายเดือนราว 200 เจ้าในตลาด สิ่งพิมพ์เอกชนหลายเจ้ามีความเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพไปจนถึงเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐมนตรี”

“รัฐบาล ทหารและหุ้นส่วนธุรกิจบางคนเท่านั้นที่ยังคงได้รับสิทธิควบคุมส่วนการแพร่ภาพกระจายเสียง เสรีภาพทางศิลปะยังคงถูกกำชับอย่างมีนัยสำคัญ ภาคส่วนโทรคมนาคมไม่โตเนื่องจากราคาซิมการ์ดที่สูงและโครงสร้างภายในที่ยังมีน้อย”

“พัฒนาการตั้งแต่ช่วงการเปิดกว้างทางการเมืองจะต้องทำความเข้าใจต่างไปจากบริบทการต่อสู้กับการปกครองโดยทหารเพื่อเสรีภาพ และการประชันขันแข่งของอัตลักษณ์ที่เกี่ยวกับความเป็นชาติอันเกิดจากระบอบเผด็จการหลายทศวรรษ และความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ที่ยาวนานทั่วประเทศ เมื่อย้อนไปดูร่องรอยแรกสุดของสื่อในพม่า มันสะท้อนภาพการดิ้นรนของประเทศกับการควบคุมและการเซ็นเซอร์และความพยายามที่จะต่อต้านมันที่มีมายาวนาน รวมถึงการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในสื่อของกลุ่มรัฐบาลและศาสนา”

ตอนหนึ่งในบทนำของหนังสือ

เจนกล่าวว่า ความเข้าใจในบริบทสื่อพม่าปัจจุบันมาจากสองทศวรรษก่อน หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 สื่อมีพัฒนาการขึ้นหลังจากการเมืองเปิด และการที่สื่อที่ลี้ภัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่าย้ายกลับเข้าไปในพม่าก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ ไม่มีใครรู้ว่าสังคมปิดจะกลายเป็นอะไรเมื่อมันเปิด อย่างที่ขณะนี้มีเรื่องของทุนเอกชนที่เข้ามา ความไม่ไว้วางใจระหว่างสื่อเอกชนกับองค์กรระหว่างประเทศและสื่อลี้ภัย

เจนยังกล่าวว่า การมีชีวิตรอดทางการเมืองและเศรษฐกิจของสื่อเอกชนในพม่ายังคงเป็นประโยคคำถาม เพราะ นอกจากยังอาจถูกรัฐบาลคุกคามได้แล้ว สื่อรัฐบาลก็มีความเข้มแข็งและมีต้นทุนเยอะ เข้าถึงงบประมาณรัฐและโครงสร้างต่างๆ อย่างเสากระจายเสียงหรือฐานปฏิบัติการได้มาก แม้ทุนเอกชนจะมีในการสนับสนุนสื่อแต่ส่วนมากก็เป็นทุนท้องถิ่น 

Eaint Thiri Thuis ผู้เป็นคนออกแบบปกและเขียนบทหนึ่งในหนังสือ เล่าถึงการไปสอบถามคนทำงานสื่อในประเทศจำนวนหลายคนเพื่อใช้ประกอบหนังสือ เธอเล่าว่าหลายคนมองว่าสถานการณ์สื่อในพม่ากำลังถอยหลังเข้าคลอง หลายคนคิดว่าสื่อมีอคติ ไม่มีเสรีภาพ มีบางคนเห็นว่ากฎหมายในประเทศมีผลกับเสรีภาพสื่อ แต่ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ส่วนตัวเธอเห็นว่าการเข้าถึงสื่อและการแสดงออกอย่างเสรีได้มากขึ้น เพราะก่อนปี 2553 เธอยังต้องเอาหนังสือรัฐศาสตร์ไปซ่อนเพราะกลัวจะโดนจับอยู่เลย การเปลี่ยนผ่านของภูมิทัศน์สื่อในพม่าตอนนี้จึงยังไม่เห็นตอนจบซึ่งอาจจะดีขึ้นหรือแย่ลง

สื่อพม่าเบื่อข่าวโรฮิงญา: บทสะท้อนความท้าทายของสื่อที่เริ่มเปลี่ยนผ่าน

ต่อคำถามว่า จริงหรือไม่ที่วงการสื่อพม่าต่างอิดหนาระอาใจและเบื่อกับการทำข่าวเรื่องวิกฤตชาวโรฮิงญา หรือเมื่อเห็นกระแสความสนใจจากต่างชาติพุ่งเป้าไปที่เรื่องชาวโรฮิงญา Eaint Thiri Thuis ตอบว่า เรื่องนี้เป็นบททดสอบวงการสื่อในพม่า สื่อพม่ามองวิกฤติชาวโรฮิงญาว่าเป็นเรื่องต่างประเทศ เป็นข่าวที่ต่างประเทศให้ความสนใจ ในฐานะคนในประเทศก็เห็นตรงกันว่ามีความขัดแย้งอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการให้ความสนใจจากข้างนอก  นักข่าวท้องถิ่นยังต้องการเวลาและต้องเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหา สำหรับสื่อต่างประเทศนั้น เธอแนะนำว่า แทนที่จะให้ความเห็นว่าสื่อพม่าเหยียดประเด็น ก็ควรสร้างความเชื่อใจและหันไปใส่ใจประเด็นอื่นๆ และค่อยๆ สร้างความตระหนักให้กับสื่อท้องถิ่นถึงความหนักหนาสาหัสของปัญหารัฐยะไข่ด้วย

ภาพหนังสือ (ที่มา:Media Inside Out)

พัฒนาการของโซเชียลมีเดียขณะนี้ไปจำกัดพื้นที่สื่อดั้งเดิม คนไปรับสารกันที่โซเชียลมีเดียเยอะขึ้น บวกกับตอนนี้ที่รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย  (NLD) มีความชอบธรรมมาก คนมองว่าการวิจารณ์รัฐบาลคือการเป็นศัตรูกับรัฐบาล สื่อจึงมีเรื่องท้าทายในการเขียนงาน เพราะการวิจารณ์รัฐบาลพลเรือนกลับถูกประชาชนจำกัดเสียเองซึ่งเป็นเรื่องตรงข้ามกับสมัยรัฐบาลทหาร มีเพื่อนนักข่าวหลายคนถูกทำร้ายร่างกายจากการวิจารณ์รัฐบาล 

ลิซ่ากล่าวว่า การที่สื่อตะวันตกนำภาพของอองซานซูจีไปเสียบแล้ววิจารณ์นั้น ไม่สามารถเป็นภาพแทนของพม่าทั้งประเทศได้ วาทกรรมเช่นนั้นถือว่าตื้นเขินไป เธอคิดว่าไม่สามารถพูดถึงความตึงเครียดในหมู่คนทำข่าวด้วยกันได้โดยไม่พูดถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดจากการถอนกองข่าวที่ประจำการอยู่ต่างประเทศออก แล้วเน้นไปใช้ผู้ช่วยนักข่าวในท้องถิ่น (local fixer) ที่ทำให้ขาดความเข้าใจในปัญหาในพื้นที่ สื่อตะวันตกเองก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อตะวันตกด้วยกันเองด้วย

กายาทรีกล่าวว่า ความท้าทายหนึ่งของสื่อคือบทบาทของตัวเอง นอกไปจากการบอกเล่ากล่าวถึงข้อมูลให้ประชาชนรับทราบแล้ว แต่การพัฒนาสื่อเองก็มีความสำคัญ ใต้พรมของวาทกรรมการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่านั้นยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง อย่างไรก็ดี เธอมองว่า ความคาดหวังต่อสื่อพม่าที่เพิ่งจะเปิดกว้างนั้นอาจจะสูงเกินไปในตอนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท