รายงานเผย เขื่อนไทยในพม่าอาจกระทบกว่า 23,000 ชีวิตท้ายน้ำ

2 รายงานเปิดผลกระทบเขื่อนในแม่น้ำตะนาวศรี มีเขื่อนไทยขนาด 1,040 เมกะวัตต์ร่วมใน 17 โครงการ อาจทำให้ชาวบ้านมากกว่า 7,000 คนใน 32 หมู่บ้านต้องออกจากพื้นที่ 23,000 คนท้ายน้ำอาจได้รับผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและอาชีพ ระบุ ผู้อยู่ในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ชาวกะเหรี่ยงอาบน้ำในแม่น้ำตะนาวศรี พื้นที่เขตตะนาวศรี (ที่มา: แฟ้มภาพ)

9 ส.ค. 2562 ซอ อัลเบิร์ต ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในภาคตะนาวศรี ภาคใต้ของพม่า กล่าวว่าได้มีการเปิดตัวรายงาน 2 ฉบับ เนื่องในวันสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง โดยรายงานนี้เกี่ยวข้องกับการลงทุนของบริษัทไทย ที่จะเข้าไปก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำตะนาวศรีในพม่า   มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพื้นเมือง แม่น้ำตะนาวศรี และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ และปัญหาจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีการเสนอให้ก่อสร้างจำนวนมากในพื้นที่ 

รายงานชิ้นแรกคือ เหนือกว่าแม่น้ำ: เอาชนะความท้าทายด้วยภูมิปัญญาด้านนิเวศของชนพื้นเมือง (Beyond the River: Overcoming Challenges with Indigenous Ecological Knowledge) จัดทำโดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง TRIPNET และรายงานอีกชิ้นคือ  ปิดกั้นเส้นเลือด: ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีกลัวผลกระทบจากเขื่อนขนาดใหญ่ (Blocking a Bloodline: Communities Along the Tanintharyi River Fear the Impacts of Large-Scale Dams) จัดทำโดยกลุ่มอนุรักษ์ Candle Light, Southern Youth และ Tarkapaw ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้เคารพพื้นที่ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และจารีตประเพณีของชุมชนพื้นเมือง และให้ยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่   

ซอกล่าวว่ารายงาน “เหนือกว่าแม่น้ำ” นำเสนอข้อมูลของพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ 115 ชนิด รวบรวมจากการวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้เวลาศึกษา 4 ปี โดยกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำตะนาวศรี งานวิจัยนี้มีชาวบ้านเป็นแกนนำ ร่วมกันเก็บข้อมูลโดยใช้ภูมิปัญญาทางนิเวศ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามแนวจารีตประเพณีดั้งเดิม 

“ชาวบ้านต่างมีทักษะในการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ข้อค้นพบจากงานวิจัยในรายงาน ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างชุมชนในพื้นที่กับแม่น้ำตะนาวศรี” ซอ ผู้ประสานงานโครงการของ TRIPNET กล่าว 

ผู้ประสานงานกล่าวว่าเราจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาทางนิเวศที่ลึกซึ้งของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำตะนาวศรี และนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อการอนุรักษ์และการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำแห่งนี้  

ซอ แฟรงกี้ อาบรู ผู้อำนวยการกลุ่ม TRIPNET กล่าวว่า “ชนพื้นเมืองกำลังปกป้องแม่น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ เราจำเป็นต้องมีเวทีเพื่อชี้ให้เห็นแรงจูงใจของพวกเขา และแลกเปลี่ยนความสำเร็จของการทำงานระดับชุมชนเพื่อการอนุรักษ์เหล่านี้ และการทำวิจัยนี้ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งของชุมชนเพื่อคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำตลอดทั่วภูมิภาคตะนาวศรี  ซึ่งเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ระดับชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous and Community Conserved Areas - ICCAs) ในพม่า 

อูเยอ่อง ชาวบ้านเขตตะนาวศรี กล่าวว่า “พวกเราที่เป็นชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับที่ดินของเรา เนื่องจากเรามีองค์ความรู้และความสามารถในการจัดการทรัพยากรของเราเองการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำของเรา ช่วยหนุนเสริมการคุ้มครองระบบนิเวศโดยรวมของแม่น้ำตะนาวศรี”

ทั้งนี้มีการผลักดันโครงการเขื่อนขนาด 1,040 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำตะนาวศรี โดยบริษัทจีเอ็มเอส GMS ของคนไทย และโครงการเขื่อนอื่นๆ อีกถึง 17 โครงการ โดยในรายงานชื่อ ปิดกั้นเส้นเลือด: ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีกลัวผลกระทบจากเขื่อนขนาดใหญ่ ได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบที่อาจจะเกิดจากโครงการเขื่อนเหล่านี้ 

นอพอเซวา ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์ Candle Light กล่าวว่าการสร้างเขื่อนแห่งนี้อาจส่งผลให้ชาวบ้านมากถึง 7,000 คนจาก 32 หมู่บ้านที่อยู่ตอนเหนือของแม่น้ำตะนาวศรี ต้องอพยพออกจากพื้นที่ เขื่อนแห่งนี้ยังจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและอาชีพของชาวบ้านกว่า 23,000 คนซึ่งอาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำด้วย

รายงานชิ้นนี้เป็นผลจากการสำรวจความเห็นชาวบ้านกว่า 1,200 คน ที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรี เน้นให้เห็นความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ต่อการดำรงชีวิตของชุมชน การเข้าถึงแหล่งน้ำ การขนส่ง และวัฒนธรรมประเพณี และชี้ให้เห็นผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่อชีวิตของชุมชนพื้นเมือง ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ และอนาคตของสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค 

อนึ่งแม่น้ำตะนาวศรี ไหลขนานไปกับเทือกเขาตะนาวศรี ไล่ตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ไปจนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเส้นทางการค้าสำคัญในยุคโบราณ ที่ส่งสินค้าจากทะเลอันดามัน ฝั่งเมืองมะริด มายังอ่าวไทย โดยไม่ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกา และเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของพม่า 

อ่านรายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท