Skip to main content
sharethis

รบ.เผย 'หม่อมเต่า' เดินทางรับลูกเรือไทย ถูกลอยแพกลางทะเลโซมาเลียกลับไทยด้วยตัวเอง

10 ส.ค. 2562 ที่ทำเนียบฯ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกเรือไทย 18 คน ที่ถูกลอยแพกลางทะเลประเทศโซมาเลียว่า ลูกเรือทั้ง 18 คนจะได้รับการช่วยเหลือและเดินทางกลับประเทศไทย โดยมีกำหนดถึงประเทศไทย วันที่ 12 สิงหาคม 2562 เวลา 6.30 น. โดยเที่ยวบินการบินไทยที่ TG 518 จากดูไบ

นางนฤมล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดหน่วยงานไปรับลูกเรือที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กองทัพเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือในขั้นต่อไป

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แสดงความประสงค์จะไปรับลูกเรือไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วยตนเองด้วย

ที่มา: แนวหน้า, 10/8/2562

ประธานบอร์ดค่าจ้างยันปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่กระทบเศรษฐกิจ เร่งเคาะตัวเลขใน 2 เดือน

ที่กระทรวงแรงงาน วันที่ 9 ส.ค. นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวหลังประชุมบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้ดูสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน ในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีข้อมูลจากทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายตัวแทนรัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ส่วนจะปรับขึ้น หรือไม่ปรับ จะปรับแค่ไหน ได้มีการตกลงเป็นมติว่าจะต้องทำอย่างรอบคอบที่สุด ต้องมีตัวเลขที่เหมาะสม และไม่กระทบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะใช้สูตรการคำนวณที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัดในเชิงคุณภาพ

"จะมีการพิจารณาทั้งจากตัวเลขเดิมที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลข 2-10 บาท ส่วนตัวเลขที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล เคยเสนอไว้ที่ 425 บาท ก็มีการนำมาคุยกัน แต่ทุกอย่างขึ้นกับบอร์ดไตรภาคี จะมีการประชุมทุกเดือน และจะให้มีมติออกมาเร็วที่สุดไม่ให้ยืดยาวออกไปอีก คาดว่าภายใน 1-2 เดือน น่าจะมีการนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาเพื่อเคาะตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำได้ โดยจะให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด" นายสุทธิ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/8/2562

กสร.ร่วม LPN ช่วยแรงงานพม่า ทวงค่าจ้าง ค่าทำงานวันหยุด เกือบ 7 แสนบาท ด้านนายจ้างยินยอมจ่ายเรียบร้อย

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา กสร.ได้รับการประสานจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กรณีลูกจ้างทำงานบ้านสัญชาติพม่า ถูกนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างและเงินอื่นๆ กว่า 6 แสนบาท ทันทีที่ได้ทราบข้อมูลดังกล่าว ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการสอบข้อเท็จจริงทราบว่า ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างที่บ้านพักใน จ.ชลบุรี มีหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้าและดูแลสัตว์เลี้ยง และนายจ้างรับว่าได้ค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับลูกจ้างจริง พนักงานตรวจแรงงานจึงได้แจ้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของนายจ้างต่อการจ้างงานคนงาน ซึ่งนายจ้างรับที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา นายจ้างได้นำเงินค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 693,500 บาท มาจ่ายให้แก่ลูกจ้างต่อหน้าพนักงานตรวจแรงงานของ กสร. โดยมีเจ้าหน้าที่จาก LPN และเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/8/2562

ช่อง 3 แจงเหตุเลิกจ้าง 154 ราย เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า

นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงถึงกรณีการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นว่า ตามที่กลุ่มอดีตพนักงานของช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมต่อการเลิกจ้างที่ผ่านมา โดยมีข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงบางเรื่อง และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยทางบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด จึงขออธิบายและให้รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของบริษัทเกี่ยวกับแถลงการณ์ดังกล่าว เพื่อความเข้าใจของสังคม เนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตของช่อง 13 และ 28 และการผลประกอบการขาดทุนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างขององค์กรให้มีขนาดที่เหมาะสมกับการดำเนินงานต่อไป การเลิกจ้างพนักงานเป็นสิ่งที่บริษัทไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป

ทั้งนี้ทางบริษัทขอชี้แจงเกี่ยวกับการเลิกจ้างเพื่อความเข้าใจ ดังนี้ 1. การยื่นคืนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ช่อง 13 และช่อง 28 ทำให้ต้องเกิดการปรับโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบกิจการช่อง 33 เพียงช่องเดียว จึงเป็นเหตุให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่ง โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเพื่อการเลิกจ้าง คือการลดอัตราตำแหน่งงานและหน่วยงานที่ทับซ้อนกันลง เพื่อให้มีจำนวนบุคคลากรที่เหมาะสมกับกลยุทธ์ใหม่ของฝ่ายข่าวหลังการปรับโครงสร้าง และการพิจารณาผลการปฏิบัติงานรวมถึงการให้ความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ของพนักงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นสำคัญ

2. บริษัทโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้มีการจัดประชุมกับพนักงานที่มีส่วนได้รับผลกระทบทุกคน เพื่อชี้แจงที่มาที่ไปและหลักเกณฑ์ในการเลิกจ้าง รวมถึงวิสัยทัศน์ต่อการปรับโครงสร้างฝ่ายข่าว โดยเปิดโอกาสให้มีการซักถามข้อสงสัยในระหว่างชี้แจงด้วย ในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. 2562 โดยให้มีระยะเวลาในการทางานถึงวันที่ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าพร้อมจ่ายค่าชดเชยค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1 เดือน และแม้สถานีโทรทัศน์ช่อง 13 และ 28 ยังคงออกอากาศจนถึงสิ้นเดือนกันยายน แต่ช่วง 2 เดือนหลังจากนี้การผลิตรายการสำหรับทั้ง 2 ช่อง มีจำนวนที่น้อยลง และไม่ได้ใช้จำนวนพนักงานมากเท่าเดิม

3. บริษัทจะหยุดการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่อง 13 และ 28 แต่อย่างไรก็ตามการทำงานข่าวเป็นการทำงานที่สนับสนุนกันทั้งหมดทั้งองค์กร จึงอาจมีรายการ ตำแหน่งงาน และ หน่วยงานที่ทับซ้อนกันในบางกรณีจึงทาให้มีการเลิกจ้างการทางานของช่อง 33 ไปบ้าง

4. จำนวนพนักงานที่มีการเลิกจ้างในครั้งนี้ มีจำนวน 154 คน ไม่ใช่จำนวน 200 คนตามที่แถลงการณ์ดังกล่าวได้อ้างถึง

5. บริษัทได้พิจารณาค่าชดเชยการเลิกจ้างโดยปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีการให้ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพิ่มเติมจานวนเงินที่มากกว่ากฏหมายกำหนดไว้ เพื่อบรรเทาปัญหาสำหรับพนักงาน นอกจากนี้บริษัทยังมีการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของบริษัทเป็นจำนวนเต็มให้กับพนักงานทุกคนในทุกอายุงาน

ที่มา: Nation TV, 9/8/2562

ประธานบอร์ดค่าจ้างยันปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่กระทบเศรษฐกิจ เร่งเคาะตัวเลขใน 2 เดือน

ที่กระทรวงแรงงาน วันที่ 9 ส.ค. นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวหลังประชุมบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้ดูสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน ในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีข้อมูลจากทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายตัวแทนรัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ส่วนจะปรับขึ้น หรือไม่ปรับ จะปรับแค่ไหน ได้มีการตกลงเป็นมติว่าจะต้องทำอย่างรอบคอบที่สุด ต้องมีตัวเลขที่เหมาะสม และไม่กระทบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะใช้สูตรการคำนวณที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัดในเชิงคุณภาพ

"จะมีการพิจารณาทั้งจากตัวเลขเดิมที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลข 2-10 บาท ส่วนตัวเลขที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล เคยเสนอไว้ที่ 425 บาท ก็มีการนำมาคุยกัน แต่ทุกอย่างขึ้นกับบอร์ดไตรภาคี จะมีการประชุมทุกเดือน และจะให้มีมติออกมาเร็วที่สุดไม่ให้ยืดยาวออกไปอีก คาดว่าภายใน 1-2 เดือน น่าจะมีการนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาเพื่อเคาะตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำได้ โดยจะให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด" นายสุทธิ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/8/2562

คาดควบรวม 'ทีเอ็มบี-ธนชาต' เสร็จปี 2564 ย้ำยังไม่ปลดพนักงาน

นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการแถลงข่าวธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบีควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต

นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ธนาคารมีจุดแข็งที่ดี คือ ธนชาต มีจุดเด่นเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ส่วนทีเอ็มบีมีจุดแข็งเรื่องการหาตลาด

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการควบรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาตครั้งนี้ ทีเอ็มบีจะเป็นผู้จัดหาเงินทุน 130,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธนาคารธนชาตแทนผู้ถือหุ้นเดิม คือ TCAP และสโกเทียแบงก์

ขณะที่ TCAP เมื่อได้เงินจากทีเอ็มบี 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าหุ้นแล้ว ทาง TCAP จะนำเงินดังกล่าว 25,000 ล้านบาทมาซื้อหุ้นบริษัทลูกและหุ้นของบริษัทที่ธนาคารธนชาตลงทุนไว้ เช่น บล.ธนชาต บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง และธนชาติประกันชีวิต เป็นต้น

นอกจากนี้ TCAP จะใช้เงินอีก 45,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีเอ็มบีเท่ากับว่า TCAP จะเหลือเงินสดจากธุรกรรมดังกล่าวประมาณ 11,000 ล้านบาท ส่วนชื่อธนาคารใหม่ภายหลังการควบรวมต้องไปปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่าจะใช้ชื่อใดอย่างเป็นทางการ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ภายหลังการควบรวมดังกล่าว โครงสร้างของผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนไป โดยมีกลุ่มไอเอ็นจี ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 21.3% รองลงมา คือ TCAP ถือหุ้น 20.4% กระทรวงการคลังถือหุ้น 18.4% และสโกเทียแบงก์ ถือหุ้น 5.6% ที่เหลืออีก 34.3% เป็นผู้ลงทุนรายย่อย

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารธนชาต กล่าวว่า การควบรวมกิจการของทั้ง 2 แห่ง จะต้องจัดกระบวนทัพด้านบุคลากรใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับ CEO ลงมา ซึ่งขณะนี้จะยังไม่มีการปลดพนักงาน เพราะพนักงานถือเป็นทรัพยากรบุคคลของบริษัท

ภายหลังการควบรวมกิจการแล้ว จะทำให้ธนาคารแห่งใหม่มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้าประมาณ 10 ล้านคน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ และมีพนักงานรวมกัน 19,000 คน ซึ่งคาดว่าการควบรวมกันจะเสร็จปี 2564

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/8/2562

14 แรงงานไทยถูกลอยแพในโซมาเลีย ขึ้นฝั่งแล้ว แต่ยังไม่กลับไทย ขอรอเพื่อนอีก 4 คนที่ยังติดในเรือ

9 ส.ค. 2562 หนึ่งใน 14 แรงงานประมงชาว ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกนายจ้างหลอกไปลอยแพไว้บนเรือกลางทะเลประเทศโซมาเลีย ที่ทางการไทยให้การช่วยเหลือขึ้นฝั่งเป็นที่เรียบร้อย  วีดิโอคอล คุณกับพ่อแม่และญาติๆ แจ้งว่าเจ้าหน้าที่ให้พักรออยู่ที่สนามบินดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเลตส์ และให้การดูแลเป็นอย่างดี ทำให้ครอบครัว รู้สึกคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้น

ส่วนวันที่จะเดินทางกลับประเทศไทยนั้น ยังไม่กำหนด เพราะทุกคนต้องการรอเพื่อนที่ติดอยู่ในเรืออีก 4 คน ที่ยังไม่ได้ขึ้นฝั่งมาด้วย เนื่องจากยังต้องอยู่เฝ้าเรือ และยังติดเรื่องเอกสาร จึงยอมทิ้งตั๋วเครื่องบินทั้ง 14 คน เพื่อรอเดินทางกลับพร้อมกัน เนื่องจากตอนที่อยู่ในเรือได้เผชิญชะตากรรมความยากลำบากมาด้วยกัน จึงไม่อยากจะเอาตัวรอดและกลับไปก่อน พร้อมทั้งได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือแรงงานอีก 4 คน ให้ได้เดินทางกลับบ้านพร้อมกันด้วย

ด้านนางนิตา ชาติเพชร และนางบัวเรียน ชาติเพชร แม่และน้าของ นายคณนาถ วาปีเตา อายุ28ปี หนึ่งในแรงงานที่ถูกหลอกไปลอยแพ บอกว่า ดีใจทราบข่าวทางการได้ช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกลอยแพขึ้นฝั่งแล้ว แต่จากการสนทนาทางวิดีโอคอล แรงงานทั้ง 14 คน ยืนยันรอเพื่อนกลับพร้อมกัน ส่วนกรณีที่บอกว่าลูกชายและเพื่อนเดินทางโดยผิดกฎหมายนั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจจะไปแบบไม่ถูกต้อง แต่รู้ทีหลังเนื่องจากตอนที่จะเดินทางไปนายจ้างบอกว่าจะดำเนินเรื่องเอกสารให้ จึงไม่คิดว่าจะถูกหลอกโดยไม่ได้ทำเรื่องผ่านกรมการจัดหางาน พร้อมฝากถึงคนที่คิดจะไปทำงานต่างประเทศ ควรจะตรวจสอบให้รอบคอบเพื่อจะได้ไปอย่างถูกต้องป้องกันการถูกหลอกลวง หากลูกชายกลับมาคราวนี้จะไม่ให้ลูกไปทำงานเรือประมงอีก เพราะกลัวลูกจะถูกหลอกไปเผชิญชะตากรรมเหมือนเดิมอีก

ที่มา: สปริงนิวส์, 9/8/2562

เชื่อมโยงฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวแบบดิจิทัล เตรียมเปิดให้บริการออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. และกรมการจัดหางาน ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการพาณิชยกรรมในขั้นตอนการขอและออกใบอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาประกอบอาชีพในนิคมอุตสาหกรรมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบดิจิทัล

โดยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งสองแห่งแบบ “สมาร์ทเซอร์วิส” (Smart Services) เพื่อให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ ขออนุมัติ อนุญาตผ่านระบบออนไลน์ (Online) ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายที่จะร่วมกันบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้มาตรฐานข้อมูลเดียวกันสำหรับการยื่นคำขอและพิจารณาคำขอแบบออนไลน์ระหว่างทั้งสองหน่วยงานให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลคำขออนุญาตให้ผู้นำช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการต่างด้าวเข้ามาทำงานในนิคมฯ แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ แบบ “สมาร์ทเซอร์วิส”

รวมทั้งการอนุญาตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องแจ้งให้กรมการจัดหางาน และแจ้งการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในนิคมฯ และกรมการจัดหางานจะดำเนินการเปิดเผยข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้แก่ กนอ. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต ขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักรและทำงานในนิคมฯ ช่วยเพิ่มความสะดวกลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดการใช้เอกสาร และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา ได้อย่างปลอดภัย

สำหรับการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กนอ. จะอำนวยความสะดวกในการเปิดเผยข้อมูล และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทำงาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับกรมการจัดหางาน และ ระยะที่ 2 กรมการจัดหางาน จะเป็นผู้จัดทำระบบใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Work Permit) ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาระบบบริการที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการจัดเก็บข้อมูลของทางราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสูงให้กับนักลงทุน ลดการสูญหายของเอกสารในการติดต่อทางราชการ เป็นการยกระดับหน่วยงานรัฐในขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ยังถือเป็นการยกระดับการให้บริการแก่นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และความคล่องตัวในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำระบบดังกล่าวคัดกรองบุคลากรที่เป็นแรงงานฝีมือและแรงงานชำนาญการที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการที่จะนำเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาชาติให้การยอมรับอีกด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8/8/2562

กสทช.นัดอดีตพนักงานช่อง 3 เข้าชี้แจงคณะอนุฯเยียวยา 8 ส.ค. 2562

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ส.ค. 2562) ได้มีตัวแทนอดีตพนักงานช่อง 3 ละตัวแทนบริษัทที่รับผลิตข่าวให้กับช่อง 3 เข้าร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเลิกจ้าง เลือกปฏิบัติ รวมถึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งได้รับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องเรียนไว้ พร้อมนำกรณีดังกล่าวบรรจุในวาระการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชยกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ที่มีอนุกรรมการเป็นผู้แทนจากหน่วยงานอื่น อาทิ ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งการประชุมจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้จะได้เชิญตัวแทนอดีตพนักงานช่อง 3 ละตัวแทนบริษัทที่รับผลิตข่าวให้กับช่อง 3 ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าว เข้ามาชี้แจง และจะเชิญผู้บริหารช่อง 3 เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงกับอนุกรรมการฯ ด้วย

สำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการฯ เป็นคนกลางที่ต้องรับฟังข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในการพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

"กรณีการเลิกจ้างพนักงานของช่องทีวีดิจิตอลที่ขอคืนใบอนุญาตเป็นประเด็นที่รัฐบาล สำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการเยียวยาฯ ให้ความสำคัญ โดยจะดูแลพนักงานที่ถูกบอกเลิกจ้างให้ได้รับความเป็นธรรม ต้องได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด และจะมีการชดเชยเพิ่มอีก" นายฐากร กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/8/2562

ลูกจ้างโรงงานผลิตชุดชั้นในจ่อร้องนายจ้าง หลังเลิกกิจการ นัดจ่ายค่าตอบแทน สุดท้ายเบี้ยว

สืบเนื่องกรณีโรงงานรับจ้างผลิตชุดชั้นใน (โรงงานไทร์อัมป์เก่า) ตั้งอยูใน ต.หนองกรด อ.เมืองนครสวรรค์ ได้เลิกกิจการ และยุติสายงานการผลิต ทำให้มีการมีเลิกจ้างและได้นัดหมายจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2562 แต่กลับไม่มีการจ่ายเงินแต่อย่างใด ทำให้ลูกจ้างเกิดความไม่พอใจ รวมตัวกันประมาณ 100 คน เพื่อเดินทางไปร้องเรียนเหตุการณ์ดังกล่าวที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครสวรรค์ ช่วงเช้าของวันที่ 6 ส.ค. 2562

ที่มา: มติชนออนไลน์, 6/8/2562

ประกันสังคม พร้อมเดินหน้าขยายผล “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้าน ประกันสังคมถ้วนหน้า”

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายประกันสังคม เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานอิสระในชุมชน สมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ถ้วนหน้า ว่ากระทรวงแรงงานมีนโยบายขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และเร่งผลักดันให้แรงงานภาคอิสระ ให้เข้าถึงหลักประกันทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม ด้วยการสร้างหลักประกันทางสังคม  ที่ครอบคลุม เหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่มอาชีพ ส่งเสริมให้แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ สมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวสำนักงานประกันสังคมได้มีการเร่งรัดกิจกรรมออกประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และประสานความร่วมมือกับอาสาสมัครแรงงานร่วมชี้แจงสิทธิประโยชน์และสิทธิแรงงานในหมู่บ้านชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงข้อดีของการมีหลักประกันสังคมและการใช้สิทธิต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดี จากข้อมูลผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านประกันสังคมถ้วนหน้าของสำนักเสริมสร้างความมั่นแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 พบว่ามีหมู่บ้าน/ชุมชนดำเนินการครบ 100% จำนวน 79 หมู่บ้าน มีแรงงานอิสระในพื้นที่สมัครเข้าสู่ระบบความคุ้มครองประกันสังคมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 5,916 ราย                

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคม พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการขยายความคุ้มครองตามมาตรา 40 ไปยังแรงงานทุกกลุ่ม ในทุกพื้นที่ ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันคุ้มครองแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระอย่างทั่วถึง ตามนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้าน ประกันสังคมถ้วนหน้า” ตนขอเชิญชวนแรงงานภาคอิสระที่สนใจ  สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนในการสมัคร และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสำนักงานประกันสังคมทางโทรศัพท์ 1506 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: บ้านเมือง, 6/8/2562

แรงงานถูกลอยแพทะเลโซมาเลียวอนรัฐเร่งช่วย

กรณีแรงงานชาว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ให้ญาติประสานหน่วยงานรัฐช่วยเหลือโดยอ้างว่าถูกนายจ้างหลอกไปทำงานประมงที่ประเทศโซมาเลีย แต่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างมานานกว่า5 เดือน ทั้งยังปล่อยลอยแพไว้กลางทะเลประเทศโซมาเลีย อาหารและน้ำ ใกล้จะหมดไม่มีทางกลับอยากให้ช่วยเหลือ

ล่าสุดแรงงานชาว ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทรายที่ติดอยู่บนเรือได้ถ่ายคลิปสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานที่ถูกลอยแพ ส่งมาให้ญาติๆที่บ้านเจ้าหน้าที่ฝั่งไปไทยดูโดยแรงงานระบุว่าขณะนี้เรือยังลอยลำอยู่ชายฝั่งดิโบติ ประเทศโซมาเลียยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ ทั้งบอกว่าเมื่อวันที่4ส.ค.ที่ผ่านมาได้มีไต๋ก๋งและนายจ้างชาวไทยที่เคยทำงานด้วยกัน แต่ไม่ใช่เฮียช้างคนที่หลอกลวงไปได้นำน้ำดื่มจำนวน4ถัง และเสบียงอาหารจำนวนหนึ่งไปให้เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้วคาดว่าจะใช้ประทังชีวิตต่อได้อีกหลายวัน แต่ข้าวสารที่มีอยู่คาดว่าจะกินได้อีก23วันเท่านั้นจึงได้ฝากให้หน่วยงานรัฐ ได้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือพากลับบ้านโดยเร็วด้วย

ด้านนายชูชีพ ถวิลวิทยานนท์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ได้ออกมาระบุถึงความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกลอยแพอยู่บนเรือในทะเลประเทศโซมาเลียว่า ขณะนี้ได้มีไต๋กงที่เคยทำงานบนเรือด้วยกัน นำเสบียงอาหารและน้ำดื่มไปให้แรงงานที่ถูกลอยแพอยู่บนเรือ เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น ก็คาดว่าจะใช้ประทังชีวิตได้อีกหลายวัน แต่ความต้องการของแรงงานคืออยากจะกลับบ้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทางกระทรวงแรงงาน ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือพากลับบ้าน

จากการตรวจสอบ พบว่ามีแรงงานชาว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ถูกลอยแพอยู่บนเรือ2ลำรวมจำนวน9คน เป็นการเดินทางไปทำงานโดยไม่ผ่านกรมการจัดหางานอย่างถูกต้อง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านายจ้างที่หลอกไปชื่อว่า "เฮียช้าง" ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งหลังจากช่วยเหลือพาแรงงานกลับมาบ้านแล้ว ก็จะได้แจ้งความเอาผิด "เฮียช้าง" ที่เป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน มีโทษทั้งจำและปรับ

ที่มา: Nation TV, 6/8/2562

อดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผล 4 ข้อ กรณีเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมหลังถูกเลิกจ้าง

5 ส.ค. 2562 แถลงการณ์กลุ่มอดีตพนักงานสถานีโทรทัศนีไทยทีวีสี ช่อง 3 ระบุว่า หลังจากที่กลุ่มอดีตพนักงานช่อง 3 ผู้ร่วมผลิตรายการและพนักงานลูกจ้าง ของผู้ร่วมผลิตรายการ ได้เดินทางเข้าหารือ ฝ่ายนิติกร ศาลแรงงานกลางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มจพิจารณาแล้วว่าจะเดินหน้าเรียกร้องขอความยุติธรรม จากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่าความจำเป็นในการเลิกจ้างของนายจ้าง ต้องมีผลต่อการประกอบธุรกิจในทันทีแต่การเลิกจ้างครั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อแลกมาด้วยเงินชดเชยจากการคืน 2 ช่องดิจิตอล คือช่อง 13 และ 28 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งถือว่าบริษัทได้ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานจำนวนหนึ่ง เพื่อแลกกับข้อเสนอเงินชดเชยที่ได้มา โดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือกับพนักงานผู้มี ส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและรับฟังถึงความเดือดร้อนของพนักงานที่จะต้องตกงานในภาวะวิกฤติของทีวีดิจิทัลแต่กับมีการหารือและตัดสินใจเป็นการภายในฉพาะคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ รวมถึงผู้บริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นเพียงเท่านั้น ขณะที่ข้ออ้างในการเลิกจ้างพนักงาน เพื่อเป็นการลดต้นทุนของบริษัท แต่ในความเป็นจริง บริษัทยังรับพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราเงินเดือนสูง จึงเห็นว่าการกระทำของบริษัทดังกล่าว มิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่ลูกจ้าง คู่ค้า คู่สัญญา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงพนักงานและลูกจ้างของผู้ประกอบธุรกิจร่วมในการผลิตข่าวที่รวมทำงานกันมานับ 10 ปี การกระทำของบริษัทจึงไม่สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทมหาชนที่จะดำรงไว้ในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมมาภิบาล มีจริยธรรม และคุณธรรมที่สามารถตรวจสอบได้ และพึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎหมายทุกฉบับและทุกประการและจะเดินทวงความเป็นธรรม

ตามรายละเอียดดังนี้

1. การดำเนินการเลิกจ้างในทันที โดยไม่แจ้งเหตุผลทั้งที่ยังเหลือเวลาออกอากาศอีก 2 เดือน

2. เป็นการคืนช่อง 28 และ 13 แต่กลับบอกเลิกจ้างกับพนักงานที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับช่องดังกล่าว และไม่มีการอธิบายหลักเกณฑ์และเหตุผลการพิจาณาเลิกจ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้พนักงานทั้ง 2 ช่อง มีประมาณ 122 คน แต่กลับเลิกจ้างพนักงานเกือบ 200 คน

3. ไม่มีมาตรการบรรเทาการเลิกจ้างก่อนที่จะมีการเลิกจ้างจริง เพราะการเลิกจ้างพนักงานควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะใช้หลังจากได้ใช้มาตรการบรรเทาการเลิกจ้างแล้ว

4. การจ่ายเงินบางประเภทไม่ใช้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและเท่าเทียมกันทั้งๆที่เป็นการบอกเลิกจ้างพร้อมกัน

ซึ่งทางกลุ่มยืนยันจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นรรมโดยจะเดินทางเข้าพบ กสทช.เพื่อสอบถามแนวทางหลักเกณฑ์ในการเยียวยาในวันพุธที่ 7 ส.ค. 2562 เวลา 11.30 น. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่จะเกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมาธิการด้านคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกลต. เพื่อสอบถามความโปร่งใส่ในการดำเนินงานของบริษัทตามหลักธรรมภิบาล ก่อนเดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางในสัปดาห์หน้า เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นธรรม และสร้างบรรทัดฐาน

ให้กับวิชาชีพสื่อมลชนต่อไป รวมทั้งขอเชิญชวนเพื่อนอดีตพนักงานที่คิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากการเลิกจ้างครั้งนี้ เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อรักษาสิทธิ์ที่ควรได้รับตามกฎหมาย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5 ส.ค. 2562

หลายหน่วยงานรุดเยี่ยมครอบครัวแรงงานถูกลอยแพกลางทะเลโซมาเลีย เร่งหาทางช่วยพากลับบ้าน

4 ส.ค. 2562 นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้นางมาลัยอร หิรัณยรัชต์ แรงงานจังหวัดบุรีรัมย์, นายชูชีพ ถวิลวิทยานนท์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์, นางทัดดาว วงษ์ทัต สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับทางอำเภอละหานทราย นำโดยนายโอฬาร เปี่ยมรัตนจำรูญ ปลัดหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ละหานทราย และนายกเทศมนตรี ต.สำโรงใหม่ ได้ลงพื้นที่ ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทราย เพื่อเยี่ยมครอบครัวของแรงงานชาวประมงที่ถูกนายจ้างคนไทยหลอกไปลอยแพบนเรือ 2 ลำ กลางทะเลชายฝั่งโบซาโซ ประเทศโซมาเลีย และไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 4 เดือน ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีแรงงานไทยถูกลอยแพอยู่บนเรือ2 ลำ ทั้งหมด 17 คน ในจำนวนนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.ละหายทราย จ.บุรีรัมย์ 7 คน ส่วนที่เหลือมีภูมิลำเนาอยู่ จ.สุรินทร์ ชัยภูมิ และ จ.เพชรบูรณ์

ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้โทรวีดีโอคอลไปสอบถามข้อมูลกับแรงงาน ที่ถูกลอยแพอยู่กลางทะเลโซมาเลียด้วยตัวเอง โดยแรงงานได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า ได้ถูกนายจ้างชื่อ “เฮียช้าง” หลอกไปทำงานบนเรือปลายทางน่านน้ำประเทศอิหร่าน โดยเดินทางไปตั้งแต่เดือน มี.ค.2562 โดยนายจ้างได้จ่ายเงินให้ล่วงหน้าแค่ 10,000 บาทครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับค่าจ้างอีกเลย ทั้งยังปล่อยลอยแพไว้กลางทะเล และขณะนี้เรือก็ยังลอยอยู่ในทะเลไม่สามารถเข้าฝั่งได้ เพราะไม่มีตั๋วเทียบท่าต้องรอนายจ้างเป็นคนดำเนินการให้ และเงินที่จะซื้ออาหารก็ไม่มีเพราะทุกอย่างนายจ้างจะเป็นคนจัดการ แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ สิ่งที่ต้องการคืออยากให้ทางการไทยช่วยเหลือพากลับบ้านโดยเร็วที่สุด เพราะอาหาร และน้ำจืดก็เหลือน้อย

นางมาลัยอร หิรัณยรัชต์ แรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว ก็จะได้รวบรวมข้อมูลประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล เพื่อดำเนินการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกลอยแพอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งจะได้ประสานติดตามเงินค่าจ้างที่นายจ้างค้าง ให้แรงงานดังกล่าวด้วย

ด้านนายชูชีพ ถวิลวิทยานนท์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จากการสอบถามแรงงานทราบว่าได้ถูกนายจ้างคนไทยหลอกจะพาไปทำงานเป็นลูกเรือประมงที่ประเทศอิหร่าน แต่กลับพาไปลอยแพอยู่ในทะเลประเทศโซมาเลีย และยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่านายจ้างหลายคนไปโดยไม่ผ่านกรมการจัดหางาน เนื่องจากนายจ้างอ้างกับแรงงานว่าจะเป็นคนดำเนินเรื่องเอกสารต่างๆ ให้ทั้งหมด

โดยในเบื้องต้นก็จะทำการช่วยเหลือพากลับบ้าน แต่ส่วนเรื่องเงินเยียวยากรณีที่ไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ก็คงจะไม่ได้รับแต่ก็จะช่วยเหลือติดตามเงินค่าแรงที่นายจ้างติดค้างให้

ที่มา: สยามรัฐ, 4/8/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net