Skip to main content
sharethis

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพชวนตั้ง สสร. หรือไม่ก็เอา รธน. 3 ฉบับมาทำประชามติให้ปชช.โหวตเลย ขณะที่ 'เพื่อไทย' ชู ถนน สสร. ชวน นายกฯ รัฐบาล ส.ว.มาร่วมเพื่อเดินออกจากความขัดแย้ง ‘อนาคตใหม่’ ปลุกประชาสังคมสร้างฉันทามติใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ผู้นำแรงงานย้ำ แก้รธน.เรื่องเดียวกับปากท้อง

10 ส.ค.2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคโดมปฏิวัติ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนาหัวข้อ "3 ปีประชามติ ได้อะไร เสียอะไร เอาไงต่อ?" โดยมี หัวข้อย่อยคือ "3 ปีประชามติที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม" นำเสวนาโดย ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกรชนก ธนะคูณ รองเลขาสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.ประชามติ อีกหัวข้อย่อยคือ "แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง" โดย รศ.ดร.โภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและเเผนงาน พรรคเพื่อไทย และรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.ประชามติ โดยมี ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการโทรทัศน์ ครู และนักกิจกรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ

คปอ.ชวนตั้ง สสร. หรือไม่ก็เอา รธน. 3 ฉบับมาทำประชามติให้ปชช.โหวตเลย

ก่อนเสวนา ตัวแทนของ คปอ. โดย พัชณีย์ คำหนัก อ่านแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีของการทำประชามติของ คปอ. ประกาศชวนทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ย้ำว่าการลงประชามติครั้งที่ผ่านมาไม่แฟร์ไม่ฟรี  และทาง คปอ. เคยประกาศไม่ยอมรับกระบวนการทำประชามติและกระบวนการต่อเนื่องจากประชามติแต่ต้น อีกทั้งหลังจากนั้นมีการแก้รัฐธรรมนูญหลายมาตราจนไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นฉบับประชามติอีกต่อไป

คปอ. ยืนยันจุดยืนและข้อเรียกร้องเดิมว่า 1. ขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับประชามติครั้งที่ผ่านมา 2. เชิญชวนพรรคการเมือง องค์กรทางการเมืองผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและเสนอให้มี สสร. เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และ มีประชามติที่มีเสรีภาพการแสดงออก 3. หรือหากไม่สามารถทำทั้ง 2 ข้อแรกได้ก็เรียกร้องให้มีการทำประชามติ โดยนำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 50 และ 60 มาโหวตใหม่ ภายใต้บรรยากาศที่เป็นธรรมและเสรี

ตัวแทน คปอ.ยังยื่นแถลงการณ์ข้อเรียกร้องดังกล่าวให้ รศ.ดร.โภคิน คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและเเผนงาน พรรคเพื่อไทย และรังสิมันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ด้วย

วรัญชัย โชคชนะ ร่วมวงเสวนาพร้อมป้ายและโมเดลรถถังที่อยู่บนพานรัฐธรรมนูญ

ทนายสิทธิฯ ชี้เป็น ‘ประชามติ’ ท่ามกลางการดำเนินคดี ข่มขู่ คลุมเครือ

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่มีลูกความที่ถูกดำเนินคดีระหว่างประชามติดังกล่าวจำนวนมากกล่าวถึงกฎหมายที่มีการใช้ในการดำเนินคดีกับผู้ที่เคลื่อนไหวรณรงค์ช่วงทำประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติ ม.60 ม.61 ว่า มีปัญหาเพราะเขียนกว้างมาก สามารถนำไปใช้ในการกลั่นแกล้งทางการเมืองมากขึ้น เช่น เรื่องคำว่า “ก้าวร้าวหยาบคาย” นั้นก็ไม่มีคำอธิบายว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นปัญหาการทำประชามติดังกล่าวว่า 1. เป็นเพียงแค่กระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับ รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. เอกสารที่แจกของ กกต. ก็เป็นการบอกเพียงข้อดี และคำถามพ่วงเรื่อง ส.ว. หลายคนก็อาจไม่ทราบว่าที่ ส.ว.สามารถโหวตนายกฯ ได้นั้น เป็นผลมาจากคำถามพ่วง 2. มีการดำเนินการข่มขู่คุกคามกับคนที่ออกมาดำเนินการณรงค์ออกเสียงประชามติ มีความคลุมเครือในการทำประชามติของ กกต. มีความเคลือบแคลงสงสัยตลอดเวลา แค่แจกสติกเกอร์โหวตโนก็ถูกดำเนินคดี หรือเรื่องศูนย์ปราบโกงของ นปช. ที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก 3. พ.ร.บ ประชามติ คำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นเครื่องมือปิดปากในการทำประชามติ และ 4. มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมารณรงค์ โดยมีผู้ถูกดำเนินคดี 212 คน เกี่ยวกับประชามติ แม้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่3/58 ก็ยังเหลืออีก 53 คน ที่ยังไม่สิ้นสุด หลายคดีของประชามติที่ขึ้นสู่ศาลจะยกฟ้อง หรือยกเลิกคำสั่ง คสช. 3/58 แต่การดำเนินคดีหรือไปเยี่ยมบ้านนั้นเป็นการสร้างภาระกับผู้รณรงค์ทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเรียกว่าเป็นประชามติที่ฟรีและแฟร์

ผู้นำแรงงานย้ำ แก้รธน.เรื่องเดียวกับปากท้อง

กรชนก ธนะคูณ รองเลขาสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ (สพท.)และผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.ประชามติ กล่าวว่า ตนเองเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานให้กับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ รณรงค์ให้ความรู้ให้กับสมาชิกสหภาพ และด้วยองค์กรที่เราไปสังกัดคือ สพท. นั้นก็มีแนวคิดในการรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย เพราะเรื่องของคนงานหรือผู้ใช้แรงงานนั้นต้องมีเรื่องประชาธิปไตยด้วย เนื่องจากส่งผลต่อสิทธิแรงงาน  ทำให้หลังจากรัฐประหารพวกตนมีการคุยกันในเรื่องนี้ หากการเมืองเปลี่ยนไปในรูปแบบนี้คนงานจะเจออะไรบ้าง

สำหรับเหตุการณ์ที่กรชนกถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติที่บางเสาธงนั้น เธอเล่าว่า วันเกิดเหตุมีนักศึกษานักกิจกรรมจัดกิจกรรมแจกเอกสารที่บางเสาธง ซึ่งเป็นทางผ่านที่เราจะเข้าไปสำนักงาน เราเข้าไปเจอนักกิจกรรมที่รณรงค์แจกใบปลิว พวกตนก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อคนงาน เรามองว่าการออกไปใช้สิทธินั้น มันมีตัวหนึ่งที่เป็นเอกสารที่เป็นเรื่องการไปใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตจึงไปช่วยแจกเอกสารความรู้ตรงนั้น แต่แจกอยู่สักพักเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาล็อคตัวโรมก่อน และมีคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารพาไป สภ.บางเสาธง และขังไว้คนละห้องทีโรงพักในตอนแรก ไม่มีการแจ้งข้อหาว่าทำผิดอะไร จนทนายมา อยู่ที่นั่นทั้งคืนและจับเราไว้ในห้องขังทั้งคืน จน 7 โมงเช้า และส่งพวกตนมาที่ศาลทหาร ข้อหาที่ถูกดำเนินคดี คือ ชุมนุมและขัดคำสั่ง คสช. รวมทั้ง ม.116 พรบ.ประชามติ ด้วย คดีนั้นล่าสุดเมื่อวานศาลทหารโอนคดีไปที่ศาลพลเรือนที่ จ. สมุทรปราการ

กรชนก กล่าวถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายในยุค คสช. ว่านำมาซึ่งความเดือดร้อนต่อคนจำนวนมาก การยื่นเจรจาข้อเรียกร้อง เมื่อจะชี้แจงต่อเพื่อนสมาชิกสหภาพแรงงานก็มีทหารเข้ามาเป็นสิบ หรือเวลาจะจัดกิจกรรมอะไรก็ต้องขออนุญาตก่อน หรือบทบาทของ กอ.รมน. ที่มักเข้าไปพบพวกตนก็มองว่านี่เป็นการคุกคาม จากนี้สิ่งที่เราจะทำคือจะร่วมรณรงค์แก้ไขเพื่อให้คนในสังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้น มีสิทธิมีเสียง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญกับเรื่องปากท้องเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวเสริมว่าการดำเนินคดีในศาลทหารมีความพิเศษที่ต่างจากศาลยุติธรรมคือการได้รับการประกันตัวนั้นต้องถูกนำตัวไปปล่อยตัวที่เรือนจำ คือต้องเข้าเรือนจำก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว ถือเป็นการละเมิดสิทธิฯ เช่นกัน

คาด พ.ร.บ.ชุมนุม-คอมฯ จะถูกเอามาใช้มากขึ้น

ขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ศศินันท์ กล่าวว่า ทางศูนย์ทนายฯ ประเมินว่า ทิศทางของการทำงานในอนาคตจะมีการใช้วิธีการและกฎหมายอื่นในการลิดรอนสิทธิของประชาชน เช่น ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือการเรียกเข้าไปคุย ทำให้หวาดกลัวด้วยการไปแถวบ้าน มีวิธีการข่มขู่ที่เปลี่ยนไปเพื่อทำให้หวาดกลัว อีกกฎหมายที่เอามาใช้มากขึ้นคือ พ.ร.บ.ชุมนุม ในการไม่แจ้งการชุมนุม พ.ร.บ.คอมพิวเตอด้วย คิดว่าการล่ารายชื่อหรือรณรงค์ก็อาจมีการเอา 2 กฎหมายนี้มาใช้มากขึ้น

ถนน สสร. ฝ่ายค้านชวน นายกฯ รัฐบาล ส.ว.มาร่วมเพื่อเดินออกจากความขัดแย้ง

รศ.ดร.โภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและเเผนงาน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากมายหลายฉบับ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ปี 2475 โดยเริ่มต้นให้มีสภาเดียว แต่ต่อมาก็มีการแยกเป็น 2 สภา พร้อมทั้งมีการยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตลอด แต่ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาสิ่งที่ประชาชนต้องการคือนายกที่มาจาก ส.ส. และประธานสภามาจาก ส.ส. เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย รวมไปถึงการเรียกร้องผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปี และ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคเพื่อให้มีวินัยเพราะหากไม่สังกัดก็จะเรียกร้องต่อรองออกไปจากพรรคตลอด

คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เล่าถึงที่มาของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มีการแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ  เติมเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากย้อนไปรัฐธรรมนูญปี 40 นั้น เราได้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่มาปี 50 แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เลือกตั้งครึ่งหนึ่งก็แปลกแล้ว ซึ่งเป็นกลไก ที่ออกมาเพื่อเล่นงานบางพรรค แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ยิ่งเต็มกำลังเลย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหานอกจากตอบโจทย์ตัวเอง ตั้งแต่ปี 50-62 เรากำลังหลงวังวนกับกฎเกณฑ์สูงสุดของสังคมบางองค์การ ตอบโจทย์บางองค์กร สังคมไทยหลงในอำนาจนิยม อยากมีฮีโร่สักคนที่จะเข้ามาช่วย แต่ถ้าเรามีภาคประชาชนเป็นเครือข่ายมันก็เป็นพลัง วันนี้สังคมมี 3 ภาคส่วนคือ หนึ่ง รัฐบาล สอง ภาคธุรกิจที่ถูกผู้ขาด และภาคที่ 3 คือภาคประชาชนที่ตัวเล็กแต่ต้องรับภาระทั้งหมดทั้งภาษีก็ต้องจ่าย ถ้าภาคประชาชนไม่โตประเทศนี้ไปไม่ได้ เราต้องออกแบบรัฐธรรมนูญให้ภาคประชาชนโต

รศ.ดร.โภคิน กล่าวถึงกรณีที่ 7 พรรคฝ่ายค้านร่วมแถลงข่าวรณรงค์สู่การแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อวานนี้ว่า เรื่องรัฐธรรมนูญนั้น มี 2 ส่วนคือกระบวนการและเนื้อหา โดยกระบวนการนั้นสำคัญที่ต้องมีความชอบธรรม สิ่งที่แย่ของรัฐธรรมนูญปี 60 นั้นคือ 1. เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่ออำนาจเป็นของประชาชน แต่สิ่งที่ไม่ได้มาจากประชาชน เช่น ส.ว. นั้นนำไปสู่ความขัดกันรุนแรง 2. เรื่องการนิรโทษกรรมตนเอง มันขัดต่อหลักอำนาจเป็นของปวงชนและหลักนิติธรรม 3. รัฐบาล ที่ใครมาเป็นรัฐบาลนั้นแทบจะทำอะไรไม่ได้ ต้องสอดคล้องกับแผนต่างๆ ถามว่าจะไปหาเสียงทำไม เพราะต้องทำตาม รธน. เป็นต้น

สิ่งแรกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เห็นว่าเกือบทุกพรรคตอนเลือกตั้งบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทยก็เสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแบบมี สสร. ส่วนเรื่องการบอกว่าจะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้นั้นเป็นเรื่องฟังไม่ขึ้นเพราะการแก้รัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่ละพรรคอาจมองการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นรายประเด็นก็มี

เราเคยมีรัฐธรรมนูญ 40 ฉบับประชาชน ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยประชาชนและเห็นชอบโดยประชาชนจะเอาไหม ดังนั้นสิ่งที่เราเสนอคือขอให้มี สสร. ขึ้นมาเหมือนสมัยรัฐบาลบรรหาร แก้ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ขึ้นมาใหม่ จากนั้นเลือกตั้งและทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา เช่น 8 เดือนก็ยกร่าง และมีการตั้ง กมธ. เสนอเข้าสู่สภา สสร. เพื่อเห็นชอบและทำประชามติเสร็จแล้วทูลเกล้าถวาย เป็นรัฐธรรมนูญโดยประชาชน และเห็นชอบโดยประชาชน โดยมีการรณรงค์ต้องเปิดเต็มที่ เรามาอันนี้เพื่อคืนอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ 7 พรรคฝ่ายค้านตกลงกันมาแบบนี้ และอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมมือ คิดว่าความขัดแย้งจะยุติได้ตรงนี้

รศ.ดร.โภคิน ย้ำว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญวันนี้ของเราเป็นเรื่องมี สสร. หรือไม่มี เมื่อจะเอามี สสร. ต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่เราว่าไว้ นี่คือประเด็นของ 7 พรรค วันนี้เราไม่ได้เขียนอะไรขอเพียงอย่างเดียวการมี สสร. แม้แต่ นายกฯ ก็ต้องเชิญชวนมาร่วมกระบวนการนี้ อย่าเพิ่งมองใครไม่ใช่พวก มองใครเป็นศัตรู เป็นเส้นทางเดินของทั้งประเทศ วันนี้คือสิ่งที่ควรจะทำคือให้ทุกคนมาสู่ถนนนี้ด้วยกัน ต้องเชิญชวน ส.ว. พรรคร่วมรัฐบาลและนายกฯ มาร่วมเส้นทางนี้ด้วยกัน

‘อนาคตใหม่’ ชวนประชาสังคมสร้างฉันทามติใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ตั้งฉายารัฐธรรมนูญปี 60 นี้ ว่าเป็น “ฉบับ 3 ขัง” ขังแรกคือขังผู้เห็นต่าง ตั้งแต่ช่วงรณรงค์ประชามติที่ประชาชน ถูกจับกุมดำเนินคดี สอง ขังผู้สร้าง ขังพล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่กับเรา ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องผูกพันกับสิ่งที่ตัวเองเขียนไว้ รวมทั้ง ส.ว.และยุทธศาสตร์ชาติ ขังสุดท้ายเป็นขัง ปท.ไทย ไม่ให้เดินไปไหน

พรรคอนาคตใหม่มีการคิกออฟแคมเปญแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ อนาคตใหม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพียงแต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา จึงแบ่งระยะออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะสั้นและยาว ระยะสั้นคือต้องการเสียงของ ส.ส.100 คน เรามี 81 คน และยังต้องการอีก 20 เสียงเพื่อไปยื่นสภาเพื่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเดียวกับที่ 7 พรรคจะแก้รัฐธรรมนูญโดยในระยะสั้นเรารู้ว่ามันจะทำง่ายกว่า เราเสนอ 2 เรื่อง คือยกเลิกบทบัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง คสช. เป็น กฎหมายอีกอันคือต้องการยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ ส.ว. เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ เอาเฉพาะพรรคการเมืองที่ประกาศไม่เอาประยุทธ์นั้นได้เสียงเยอะมาก แต่เมื่อมี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้องหลายพรรคการเมืองความเข้มข้นในอุดมการณ์ต่างกัน จึงตัดสินใจเข้าร่วม พล.อ.ประยุทธ์ และเลือกตั้งสมัยหน้า ส.ว.ก็มีสิทธิ์เลือกนายกฯ อีก ดังนั้นผลที่มันจะเกิดขึ้นจะเกิดกับ 2 รบ.เป็นอย่างน้อย ที่เราจะอยู่กับมรดก คสช. ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จึงเสนอว่าเราแก้ ส.ว.ได้ไหม เพื่อให้อำนาจในส่วนของฝ่ายบริหารมาจากประชาชน

ระยะยาว เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเรื่องของ สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญสิ่งนี้ต้องกลับไปที่ประชาชนว่าตกลงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งเราอยากให้มีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง เหล่านี้ต้องกลับไปถามประชาชนว่าประชาชนจะเอาอย่างไร ความขัดแย้งทางการเมืองมันอยู่ที่ว่าเราหาฉันทมติไม่เจอว่าสังคมไทยต้องการเอาแบบไหน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เคลมฉันทามติมาโดยตลอด ตอนตนรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ถือฉันทามติ แต่ปัญหาความไม่ฟรีไม่แฟร์ ผลออกมาประชามติเกมนั้นดูเหมือนว่า คสช. จะชนะ แต่เหมือนว่าชัยชนะนั้นไม่ได้เป็นฉันทามติของสังคมที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. อยู่ต่อเพราะมีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนเห็นต่างมากมาย เราอาจสรุปได้ว่าการลงประชามติดังกล่าวไม่ได้เป็นของสังคมไทย

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ณ เวลา นี้เราจะหาฉันทามติอย่างไรในการกำหนดในรัฐธรรมนูญเราไม่อยากทำรัฐธรรมนูญฉบับแก้แค้น ไม่ต้องการสร้างให้ความขัดแย้งดำเนินไปเรื่อยๆ แต่อยากให้มันยุติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อยากกลับไปที่การรณรงค์ธงเขียว เรื่องรัฐธรรมนูญปี 40 เกิดจากภาคประชาสังคมรณรงค์อย่างเข้มข้นรับ รัฐธรรมนูญจนทำให้นักการเมืองโหวตรับนี่คือรูปธรรมแรกของฉันทามติ รูปธรรมต่อมาคือตอนนี้มีเรื่องของกัญชา ที่มีพรรคการเมืองหนึ่งในการนำเสนอ อาจมีคนโต้แย้งเรื่องปัญหาของกัญชา แต่ก็เห็นว่ามันเปิดขึ้นเรื่อยๆ เราอยากเห็นบรรยากาศที่เปิดขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นรัฐธรรมนูญ หมดเวลาที่จะมีคนมาร่างแล้วบอกว่านี่เป็นสิ่งที่สังคมอยากได้แล้ว สังคมจะต้องถกเถียงกันเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติที่สังคมเกิดขึ้น สร้างบทสนทนาในสังคม

สำหรับการตั้ง สสร. นั้น เป็นเรื่องที่เราอยากจะเห็น พรรคอนาคตใหม่ก็เห็นทิศทางนี้ แต่ประเด็นก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราก็ต้องเจอปัญหาของเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว. แต่หากมิติของการแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่จำกัดเฉพาะ ส.ส.หรือสภา แต่เป็นเรื่องของภาคประชาสังคมออกมาด้วยนั้นความเป็นไปได้จะมากขึ้นด้วย ณ วันนี้ ถ้าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคการเมืองอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องโยนโจทย์นี้ไปที่ภาคประชาชนประชาสังคม เสียงของประชาชนเข้าไปแก้ด้วย มี 2 กระบวนคือการแก้รัฐธรรมนูญและเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ เป็น 2 สิ่งที่ต้องการฉันทามติของประชาชนเฉพาะนักการเมืองอย่างเดียวไม่พอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net