Skip to main content
sharethis

 

ผลสำรวจชี้ 'พนักงานที่เป็นแม่' มีประสิทธิภาพในที่ทำงาน องค์กรธุรกิจ 1 ใน 4 ต้องการจ้างคุณแม่มือใหม่กลับมาทำงานอีกครั้ง 55% เชื่อว่ามีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ 30% มองว่าเป็นพนักงานที่ไว้วางใจได้ และกว่า 31% เห็นว่ามีทักษะด้านการจัดการดีกว่าพนักทั่วไป


ที่มาภาพประกอบ: Lyncconf Games (CC BY 2.0)

ในรายงาน Working Mothers Report: Keeping mum in the workplace ของ Regus ซึ่งเป็นบริษัทด้านการให้บริการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นนำระดับโลก สาขาของรีจัสมีอยู่ทุกที่ทั่วโลกกว่า 2,500 แห่งใน 106 ประเทศ ได้ทำการสำรวจความเห็นนักธุรกิจอาวุโส 44,000 คนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยรายงานระบุว่าคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายมีบทบาทสำคัญต่อ GDP ของประเทศ โดยเป็นฐานแรงงานสร้างศักยภาพการเติบโตได้ดี แต่บทบาทความรับผิดชอบในฐานะแม่และผู้หญิงทำงานถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้นผู้หญิงจึงจำเป็นต้องเลือกที่จะพักการทำงานเพื่อดูแลบุตร

อย่างไรก็ตามผู้บริหารส่วนใหญ่สนใจที่จะดึงดูดกลุ่มคุณแม่มือใหม่เหล่านี้กลับที่ทำงาน โดยร้อยละ 83 เชื่อว่ารูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นจะเป็นกุญแจสำคัญ เพราะพนักงานที่เป็นแม่มีประสบการณ์การทำงาน เชี่ยวชาญทักษะงานด้านต่างๆ ซื่อสัตย์ไว้วางใจได้ และที่สำคัญสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีอีกด้วย บรรดานายจ้างทั้งหลายมองว่าคุณแม่เหล่านี้มักไม่นิยมเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น บริษัทจึงวางใจได้หากต้องยอมลงทุนในเรื่องของการจัดฝึกอบรม และดูแลวางแผนสวัสดิการ

งานสำรวจก่อนหน้านี้ชี้ด้วยว่าร้อยละ 57 ขององค์กรธุรกิจมองว่าการดูแลว่าจ้างพนักงานคุณแม่เหล่านี้ช่วยยกระดับผลงาน ในขณะเดียวกันก็ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนไปกับการฝึกพนักงานที่เข้ามาใหม่

นอกจากนี้ยังพบว่าองค์กรบริษัทมากกว่า 1 ใน 4 ของการสำรวจปี 2558 ยืนยันว่าต้องการว่าจ้างคุณแม่กลับมาเป็นพนักงานอีก โดยคุณแม่ที่หวนคืนสู่วงการนั้น ร้อยละ 55 เชื่อว่ามาพร้อมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและทักษะ โดยร้อยละ 30 มองว่าเป็นพนักงานที่ไว้วางใจได้ และกว่าร้อยละ 31 เห็นว่ามีทักษะด้านการจัดการดีกว่าพนักงานอื่นๆ ทั่วไป

ร้อยละ 23 มองว่าคุณแม่หวนคืนวงการเหล่านี้เป็นผู้ทำงานหนัก และมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อผู้อื่น เพื่อนร่วมงานมากกว่าคนอื่น และร้อยละ 28 ของมืออาชีพในวงการทำงานทั่วโลกต่างยกย่องความทะเยอทะยานในการพิสูจน์ความสามารถในการทำงานของเหล่าคุณแม่เหล่านี้

คนทำงาน: 'Supermom' เป็นแม่และเป็นพนักงาน
‘ผู้หญิงมีลูก’ ขาดโอกาสในตลาดแรงงาน
ทุกข์คนทำงาน: พนักงานหญิงในไอร์แลนด์ขาดแคลน ‘มุมนมแม่’ ที่เหมาะสม

เสนอสร้างความยืดหยุ่นและอำนวยความสะดวกเพื่อรักษาบุคลากรคุณแม่มือใหม่

“มีรายงานชี้ว่าจำนวนผู้หญิงในวัยทำงานนั้นมีอัตราส่วนเท่ากับผู้ชายที่มีผลต่อ GDP ของประเทศคิดเป็น ร้อยละ10 หรืออาจจะมากกว่า ดังนั้น กรณีการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในการดึงบุคลากรกลุ่มนี้เข้าสู่วงการ และถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต้องหันกลับมาพิจารณาประเด็นความยืดหยุ่น และสถานที่ทำงานกันอย่างจริงจังหากต้องการได้กลุ่มคนทำงานที่มากศักยภาพ และมีความเป็นไปได้สูงเช่นกลุ่มคุณแม่วัยทำงานเหล่านี้” ผู้บริหารของ Regus ประเทศไทยระบุ

นอกจากนี้ผู้บริหารของ Regus ประเทศไทย ยังให้ข้อมูลว่าคุณแม่ใหม่เหล่านี้ถือเป็นแหล่งบุคลากรมากศักยภาพ ประสบการณ์การทำงานสูงที่น่าจะเป็นทีมงานที่ดีได้ แต่ติดเรื่องของครอบครัวเท่านั้นเอง ดังนั้นการทำงานที่ให้ความคล่องตัว ยืดหยุ่นในการจัดการอาจเปิดโอกาสที่จะดึงเอาคนเหล่านี้มาเป็นกำลังเสริมให้แก่องค์กร ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับนั้นชัดเจนมาก อาทิ ลดอัตราการลาออกของพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างและฝึกอบรมน้อยลง และมีพนักงานที่มีพรสวรรค์ โดยองค์กรนำเสนอว่า ต้องให้ข้อเสนอที่น่าสนใจ ยืดหยุ่นในการทำงานแก่บุคลากรกลุ่มนี้เพื่อดึงดูดใจอาทิ สถานที่ทำงานไม่ไกลจากบ้านหรือที่พักเกินไป

#ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ แคมเปญส่งเสริมพนักงานที่เป็นแม่ของยูนิเซฟ

เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟได้รณรงค์แคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ โดยระบุว่ายูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อเนื่องจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย มีทารกเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แม่หยุดให้นมแม่ คือการต้องกลับไปทำงาน โดยที่สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ยังขาดนโยบาย สภาพแวดล้อม (เช่น มุมนมแม่) และการสนับสนุนจากนายจ้างและเพื่อนร่วมงานที่เอื้อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

ปัจจุบันการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานถือเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับบริษัท องค์กรใหญ่ทั่วโลกจำนวนมากขึ้นมีโครงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อพนักงานหญิงตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บริษัทมักต่อยอดโดยมีนโยบายให้สถานที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว (Family-friendly workplace) มากขึ้น เพื่อมาดึงดูดผู้สมัครงานที่มีความสามารถ

ในด้านประโยชน์ต่อองค์กรนั้น ยูนิเซฟระบุว่าจะช่วยให้อัตราการลางานของพนักงานหญิงน้อยลง เนื่องจากไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกหลังเลิกงาน หรือตอนกลางคืน เนื่องจากมีห้องนมแม่จัดไว้ให้ที่บริษัท, อัตราการลาออกของพนักงานหญิงลดลง เนื่องจากพนักงานเห็นถึงสวัสดิการที่บริษัทมีให้จากการจัดตั้งห้องนมแม่ให้ จึงเกิดความรู้สึกดี และรักองค์กร จึงต้องการทำงานกับองค์กรต่อไปนานๆ, องค์กรสามารถรักษาบุคคลากรที่มีประสบการณ์และคุณภาพไว้เนื่องจากพนักงานลาออกน้อยลง ทำให้ไม่ต้องลงทุนในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ และองค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลบุตรพนักงาน (เพราะลูกแข็งแรงจากนมแม่) ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณขององค์กรในระยะยาว

ในด้านประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ยูนิเซฟระบุว่าจะช่วยลดงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ เนื่องจากเด็กมีสุขภาพที่ดีจากการได้รับสารอาหารที่ดีจากนมแม่ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และเด็กที่ได้กินนมแม่จะมีสติปัญญา สุขภาพกายและใจที่ดี ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

วิธีการจัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน

คู่มือการจัดทำมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ (มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, 2561) ได้อธิบายถึงขั้นตอนการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในที่ทำงานสำหรับให้พนักงานได้ปั๊มนมและเก็บน้ำนมไว้อย่างละเอียด โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 7 ข้อ ดังนี้

1. จัดทำนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรทำนโยบายให้เป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศให้พนักงานทุกระดับได้รับทราบ

2. จัดสถานที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการปั๊ม/เก็บน้ำนม ควรเป็นพื้นที่ส่วนตัว มิดชิด สะอาด อากาศถ่ายเท และอยู่ในบริเวณที่พนักงานใช้ได้สะดวก

3. ให้เวลาแก่พนักงานเพื่อปั๊ม/เก็บน้ำนม ควรให้เวลาแก่คุณแม่ในการปั๊มนมประมาณวันละ 2-3 ครั้ง หรือทุกๆ 3 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวระหว่างการทำงาน และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างสมดุล

4. ส่งเสริมให้พนักงานให้มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล หรือพนักงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะทำให้พนักงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ทำให้มุมนมแม่ของบริษัทเป็นพื้นที่ที่ได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า

5. มีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทุกคนในองค์กรสามารถมีส่วนช่วยให้มุมนมแม่ประสบความสำเร็จได้ เช่น

- เจ้าของกิจการ/ผู้จัดการ กำหนดนโยบายสนับสนุนนมแม่ที่ชัดเจน และจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม

- เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ผลักดันให้เกิดนโยบาย และสร้างความเข้าใจอันดีในกลุ่มพนักงาน จัดการอบรมเรื่องนมแม่ให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ และติดตามการใช้มุมนมแม่อย่างสม่ำเสมอ

- เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ช่วยประชาสัมพันธ์มุมนมแม่ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมนมแม่ขององค์กร

- หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน เข้าใจและให้กำลังใจ เพื่อนร่วมงานที่เป็นแม่

- พนักงานที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำความเข้าใจกับหัวหน้างานเรื่องเวลาพักเพื่อบีบ/เก็บน้ำนม และปฏิบัติตามกฎระเบียบ ขององค์กรอย่างเคร่งครัด

6. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงนโยบายสนับสนุนนมแม่ขององค์กรให้ทุกคนได้เข้าใจ อธิบายถึงความสำคัญของเรื่องนี้ต่อองค์กร และประโยชน์ที่ทั้งพนักงานและองค์กรจะได้จากมุมนมแม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการสนับสนุนจากพนักงาน ช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร

7. การส่งเสริมการใช้สิทธิการลาคลอดตามกฎหมายแรงงาน ส่งเสริมให้พนักงานใช้สิทธิลาคลอดอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีเวลาดูแลลูกและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่

 

ที่มาข้อมูล
Working Mothers Report: Keeping mum in the workplace (Regus Plc., 2013)
83% say flexitime is key to getting mothers back into the workforce (humanresourcesonline.net, 28 August 2015)
พนักงานที่เป็น “แม่” ได้รับการยอมรับว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำงาน (รีจัส ประเทศไทย, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11 ส.ค. 2562)
ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ (unicef.or.th, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11 ส.ค. 2562)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net