'ประสิทธิ์-ภาวิณี-ภัควดี-ปิยบุตร' ถก 'NEVER AGAIN' ว่าด้วยผลกระทบจากรัฐประหารของ คสช.

วงเสวนาสะท้อนหลังรัฐประหารปี 2557 ทหารตำรวจเข้ายุติกิจกรรมสิทธิเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ กระบวนการยุติธรรมใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยวเอาผิดคนเห็นต่าง มองกองทัพเป็นอิสระเกินไปจนกลายเป็นองค์กรทางการเมือง ถอดบทเรียนเทคนิคใหม่ของคณะรัฐประหารคือการดำเนินคดีความ ขณะที่ปัจจุบันแม้หมดยุคคสช.แล้วแต่ผลพวงจาก 5 ปีก่อนยังอยู่ แถมเป็นเพียงกฎหมายมาห่อหุ้มอำนาจจากปลายกระบอกปืน

10 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 16.00 น. ชั้น 2 หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดวงเสวนาหัวข้อ ‘NEVER AGAIN’ ว่าด้วยผลกระทบของการรัฐประหารตลอด 5 ปีกว่าที่ผ่านมา เพื่อจุดประกายหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่เกิดซ้ำ และหาหนทางเดินต่อไปด้วยกัน ร่วมพูดคุยกับประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาและจำเลยกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ และปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมคุยชวนคุยโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (เรียงจากซ้ายไปขวา)

ทหาร-ตร. แทรกแซงเกือบทุกงานสิทธิ-เสรีภาพ สร้างความกลัวแก่คนรุ่นใหม่

ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจำเลยกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เริ่มด้วยบอกเล่าความทรงจำครั้งเกิดการรัฐประหาร ย้อนกลับไป 22 พฤษภาคม 2557 จำได้ว่าเวทีวิชาการภายในมหาวิทยาลัยต้องยุติลงเพราะทหารสั่งห้าม และเมื่อตนเองได้อ่านแถลงการณ์เรียกเรียกร้องความชอบธรรมให้กับเพื่อนนักกิจกรรมในกรุงเทพก็ถูกทหารจากค่ายมณฑลทหารบกที่ 33 ขอพบชวนไป 'กินกาแฟ' ในค่ายทหารทันที แต่ตนเองได้ต่อรองขอเปลี่ยนสถานที่เป็นภายในมหาวิทยาลัยแทน เพราะหลายคนเตือนเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อเข้าไปในค่ายทหาร ทำให้ทหารเป็นฝ่ายยกเลิกนัดในครั้งนั้น

หลังรัฐประหาร ประสิทธิ์ยังคงเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพมาโดยตลอด แต่จุดที่ทำให้รู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามคือการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ครั้งนั้นตนเองได้ไปสถานีตำรวจเพื่อยื่นเอกสารแจ้งสถานที่ วัน และเวลาในการจัดกิจกรรมให้ตำรวจทราบ หลังจากยื่นเอกสารเสร็จก็มีเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคาดว่าเป็นตำรวจโทรเข้ามาทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ตำรวจยังได้เข้าไปในห้องเรียนของตนเองแต่ตนเองไม่อยู่ เนื่องจากลาอาจารย์ไปติดต่อเรื่องเอกสารที่ว่านี้

 "...ประมาณสิบเอ็ดโมง เจ้าหน้าที่รัฐผลักประตูเข้าไปในห้องเรียนที่กำลังมีการเรียนการสอนอยู่ ถามหา ‘ประสิทธิ์อยู่ไหน’ ทุกคนในห้องก็งงว่าเราไปทำอะไร ตอนนั้นเราอยู่ด้านล่าง อาจารย์จึงบอกให้ไปที่อื่นก่อน พอตอนเที่ยงตำรวจมาดักเจอเราจนได้นั่งคุยกันที่ร้านกาแฟภายในมหาวิทยาลัย ต่อมาเราก็ถูกดำเนินคดีจากประกาศ/คำสั่งของคสช. ในข้อหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกับข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีดำเนินมาปีกว่าๆ แล้วจบที่เราถูกปรับหนึ่งร้อยบาท ต่อมาเรายังโดนคดีข้อหามาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่นจากการชุมนุมที่กรุงเทพ ซึ่งระหว่างทางที่โดนคดีนี้ต้องไปโรงพัก ขึ้นศาล บินไปกลับกรุงเทพเชียงใหม่หลายครั้ง" 

ประสิทธิ์ พูดถึงกิจกรรม ‘ดำหัวคนเฒ่า #เยาวชนก็เช่นกัน’ ในปี 2557 ที่จัดขึ้นในวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ (อ่านเกี่ยวกับกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ https://prachatai.com/journal/2015/04/58813) โดยตนเองเป็นหนึ่งในทีมงานของกิจกรรมนี้ว่าได้มีทหารหลายคนเข้ามากดดันเจ้าอาวาสเพื่อบอกให้พวกเราให้ออกไปจากวัด ทำให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมในสถานที่ที่ไม่ควรโดนห้ามก็โดนห้าม รวมถึงยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ทหารเข้ามาแทรกแซง สุดท้ายจึงไม่ใช่แค่ประเด็นทางการเมืองที่ต้องยุติลงหลังมีการรัฐประหาร แต่รวมถึงกิจกรรมวิชาการก็ต้องขออนุญาตทหารก่อน เห็นได้ว่าการรัฐประหารส่งผลกระทบต่อชีวิตในทุกด้าน กระทั่งด้านการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปที่บ้านเป็นประจำ เพื่อพูดคุยกับแม่ บางช่วงเดือนละครั้ง บางช่วงสัปดาห์ละสองครั้งหรือสัปดาห์ละครั้ง แม้ว่าบางกิจกรรมนั้นตนเองจะไม่ได้ไปร่วมก็ตาม

“... มันเป็นความคุกคาม เพราะทหาร ตำรวจ รู้เกี่ยวกับเราทุกอย่าง กลายเป็นว่าเราไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ไม่สบายใจที่จะใช้ชีวิตตามปกติจนต้องระมัดระวังตัว นอกจากนี้ทำให้คนที่อยากจะทำงานเหมือนเราต้องลำบากใจ เพราะมองว่ามีความเสี่ยง ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนี้ เพราะเราไม่ได้ทำแค่กิจกรรมทางการเมือง แต่กลายเป็นว่าพอเราทำกิจกรรมก็ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาแทรกแซงตลอด

ล่าสุดมีเจ้าหน้าที่รัฐไปถามน้องคนหนึ่งว่าเราทำอะไร อยู่ไหน ทั้งที่น้องคนนี้ไม่รู้จักเราด้วยซ้ำ แล้วพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างเรากับน้องคนนี้ ซึ่งอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เชื่อว่าเด็กแต่ละคนทำกิจกรรมต่างๆ เองได้” ประสิทธิ์กล่าว

บังคับใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน และแม้หมดยุคคสช. แต่อำนาจยังอยู่

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นว่าแม้เข้าสู่ภาวะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีประกาศ/คำสั่งของคสช. หรือการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารที่ได้ยินกันเป็นประจำอีกแล้ว แต่อยากชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาศาลยุติธรรมได้รับรองให้อำนาจของคสช. มาโดยตลอด ย้อนกลับไปช่วงเริ่มมีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เห็นได้ว่ามีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมออกมาเป็นระยะๆ ในเชิงรับรองว่าคสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศและคำสั่งคสช.จึงถือเป็นกฎหมาย สามารถใช้บังคับได้แม้ประกาศและคำสั่งคสช. จะออกโดยไม่มีฐานอำนาจใดรองรับ จนถึงปี 2559 ได้มีการเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหารแต่ได้โอนคดีต่างๆ ไปที่ศาลยุติธรรม 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องพูดถึงในวันนี้คือปัญหาในกระบวนการยุติธรรมตามปกติแล้วคืออะไรบ้าง นอกเหนือการรับรองอำนาจของคสช. แลัว มีการตรวจสอบถ่วงดุลปฏิบัติหน้าที่กันมากน้อยเพียงไหน 

“... ตอนนี้ไม่มีคสช. แล้วเราต้องออกมาพูดให้มากถึงการใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนบิดเบี้ยว ไม่ใช่เฉพาะภายในศาลเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายด้วย รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ สันติบาล เราไม่แปลกใจถ้าอัยการทหารจะสั่งฟ้องคดีทุกคดี แต่น่าสังเกตว่าพอถึงอัยการพลเรือนแล้ว อัยการพลเรือนก็ยังสั่งฟ้องเกือบทุกคดีเช่นเดียวกัน มีน้อยมากที่อัยการพลเรือนจะสั่งไม่ฟ้อง”

ภาวิณี กล่าวต่อว่า แม้ยังไม่เห็นแนวโน้มของคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีสิทธิและเสรีภาพ แต่ศาลยุติธรรมค่อนข้างตีความในเชิงคุ้มครองสิทธิ์ แม้อัยการจะสั่งฟ้องแล้วยกฟ้องในที่สุด หากระหว่างทางกว่าจะถึงวันพิพากษาต้องมีการรายงานตัว มีหลักทรัพย์ประกันตัว ต้องเสี่ยงกับการถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวไปแถลงข่าว ซึ่งมีบางคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุยชนให้ความช่วยเหลือไม่ทัน ทำให้บางคนถูกดำเนินคดีไปเรียบร้อยแล้วทั้งที่การกระทำนั้นๆ ถือว่าไม่ผิดกฎหมายเสียด้วยซ้ำ คือบางครั้งแล้วเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้กฎหมายในการดำเนินคดีกับฝ่ายตรงข้ามตามอำเภอใจ

“...ทุกวันนี้มีกรณีที่ผู้หญิงคนเดียวถูกเจ้าหน้าที่รัฐสี่คนเอาตัวไปไว้ที่ไหนก็ไม่รู้แล้วถูกซักถามเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนจะให้เซ็นยินยอมว่าสมัครใจมาให้ข้อมูล ทั้งๆ ที่ไม่ได้สมัครใจเลย แต่ต้องเซ็นให้เพราะไม่มีทางเลือก คือกระบวนการแบบนี้ยังมีอยู่ อาจไม่ใช่ในนามของคสช. แต่ในนามของหน่วยงานความมั่นคง สันติบาล หรือตำรวจ หากถามว่าพวกเขามีอำนาจในทางกฎหมายให้ทำไหม คำตอบคือไม่มี จึงอยากชี้ประเด็นสำคัญให้เห็นว่าทุกวันนี้เรายังอยู่กับซากเดนของอำนาจรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ ที่สนช.ออกมา หรือ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะก็ยังถูกใช้ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”

ภาวินี กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับการทำงานของทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า นอกจากต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายแล้วยังต้องทำให้ศาลเห็นบริบทของสถานการณ์ทางการเมืองไทย บางครั้งต้องอาศัยชุดคำอธิบายจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เพื่อให้ศาลได้เข้าใจที่มาที่ของคดีและวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินคดีเหล่านี้ว่าต้องการให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีนั้นหยุดเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ

คดียุคคสช. เป็นฐานไต่เต้าของทหาร และการปฏิรูปกองทัพต้องอาศัยเจตจำนงของทุกคน

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ ชวนทุกคนมองว่าปัญหาของประเทศไทยไม่ได้เกิดจาก 5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ต้องย้อนกลับไปนานกว่านี้ด้วย เพราะถ้าไม่ย้อนกลับไปก็จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 ในยุค รสช. ประชาชนได้มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ต้องการให้ทหารกลับกรมกองและทหารต้องเป็นทหารอาชีพ แต่ข้อเสนอจบลงแค่นั้น คือทหารถอยกลับกรมกองและไม่เข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในกองทัพ และไม่ได้จัดการความสัมพันธ์ที่กองทัพมีต่อสังคมไทย จนเกิดรัฐประหารขึ้นในปี 2549 และ ปี 2557 

ภัควดี กล่าวว่า การรัฐประหารครั้งล่าสุด กองทัพได้เตรียมการมาค่อนข้างดี แทรกซึมเข้าไปในหน่วยงานต่างๆ ของสังคมไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะป็นมหาวิทยาลัย ศาล หรือสถาบันอื่นๆ อีกทั้งบทบาทของกองทัพยังมีความชัดเจนและแตกต่างไปจากอดีต ชี้ให้เห็นว่าการปล่อยกองทัพให้เป็นเสมือนสถาบันหรือองค์กรที่มีอิสระในตนเองโดยประชาชนไม่เข้าไปตรวจสอบ ปรับเปลี่ยน รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเองก็รักษาสเถียรภาพของตนเองด้วยการปล่อยให้กองทัพทำทุกอย่างตามที่กองทัพพอใจ ไม่เข้าไปก้าวก่ายเลย หรือเรียกว่า ‘ไม่เข้าไปล่วงลุก’  ไม่ว่าจะบทบาทของกองทัพที่นอกเหนือจากการเป็นทหารอาชีพ เช่น เป็นเจ้าของสื่อทั้งโทรทัศน์ คลื่นวิทยุ เจ้าของที่ดิน หรือมีงบลับ สามารถซื้ออาวุธได้โดยที่ไม่ต้องตรวจสอบ ทั้งหมดนี้ทำให้กองทัพกลายเป็นสถาบันหรือองค์กรที่ใหญ่โตและมากอิทธิพลต่อสังคมไทย ขณะที่กองทัพเองไม่ค่อยมีความเข้าใจสังคมไทย

“... หลายคนพูดว่าทหารยังคิดว่าสังคมไทยอยู่ในยุคสงครามเย็น ยังมองว่าประชาชนเป็นศัตรู มีศักยภาพที่ล้มล้างสถาบัน หรือเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง เห็นได้ว่าพอทหารออกมาสู่สังคมพลเรือน ทหารไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าสังคมพลเรือนมีความคิดที่แตกต่าง หลากหลาย มีความขัดแย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอความเห็นต่างๆ

กองทัพพยายามแช่แข็งสังคมไทยแล้วเอาอุดมคติ อุดมการณ์ของตนเองเข้ามาฝัง ด้วยความต้องการให้สังคมไทยคิดแบบทหาร ทำแบบทหาร ปกครองแบบทหาร แต่ความจริงคือมันเป็นไปไม่ได้ และไม่มีประสิทธิภาพในสมัยใหม่ เช่นที่พอรัฐประหารเสร็จแล้วทหารก็พยายามเข้ามาบริหารประเทศ แต่ล้มเหลว” 

ภัควดี กล่าวต่อว่า ปัญหาของลัทธิทหารในสังคมไทยมีลักษณะเคลื่อนตัวไปบางอย่างจากเมื่อตอนมีคอมมิวนิสต์ ทหารเคยคิดว่ามันเป็นความคิดแตกต่าง ผิดจากแนวคิดประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์จึงผิดและต้องทำลายทิ้งผ่านวิธีการของกองทัพในสมัยก่อน คือพยายามกำราบและกดขี่ หากตอนนี้มีลักษณะเคลื่อนตัวไปอีกแบบหนึ่งคือไม่ใช่กำราบความคิดแตกต่างอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทหารยังเป็นข้าราชการการเมือง กองทัพกลายเป็นนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่ทำไม่ใช่แค่การรักษาความมั่นของประเทศแต่เป็นหารรักษาความมั่นคงของอำนาจของตนเอง ตัวเลขของคนที่ถูกดำเนินคดีไม่ใช่แค่คนที่ถูกกำราบเพราะความคิดแตกต่างเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้คดีพวกนี้เป็นฐานในการไต่เต้าของทหารบางคน สร้างสถานะหรือความสำเร็จทางอาชีพของตนเองในกองทัพ 

“...ทุกครั้งที่ดิฉันถูกเรียกตัวไปคุยในค่ายทหาร เวลาคุยกับ ผบ.ทบ. 33 เขาพูดค่อนข้างตรงว่า ‘คุณไปทำกิจกรรมที่ไหนก็ได้ แต่อย่าทำที่นี่’ คล้ายว่าทหารจะมีรายชื่อของคนที่อยู่ในความดูแลของเขาอยู่แล้วในแต่ละจังหวัด และทหารจะไม่ดูแลคนแบบข้ามเขตนอกจากคนๆ นั้นจะเป็นคนดังจริงๆ 

รวมถึงการที่ประชาชนโดนคดีที่ไม่ควรโดนก็สะท้อนให้เห็นว่าทหารกล้าทำและเก็บแต้มของตัวเอง เหมือนกับว่ากองทัพต้องสร้างคดีจำนวนมากขึ้นมาหรือเพื่อให้ผู้รับผิดชอบในเขตนั้นๆ ประสบความสำเร็จหรือเปล่า”

ภัควดี ทิ้งท้ายว่า การที่กองทัพไม่ต่างจากองค์กรทางการเมืองแล้วลงมาเล่นการเมืองเองนั้นเป็นเหตุผลให้ต้องมีการปฏิรูปกองทัพ กองทัพควรดูแลเฉพาะความมั่นคงระหว่างประเทศ เลิกยุ่งกับความมั่นคงภายในประเทศ เลิกส่งนอกเครื่องแบบมานั่งฟังเสวนาแล้วจดกลับไปแบบผิดๆ ถูกๆ ทำเป็นแผนผังล้มเจ้า ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไม่แก้ไขจุดนี้ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการปฏิรูปกองทัพในหลายประเทศนั้นยากและใช้เวลานาน โดยอย่างแรกสุดคือเจตจำนงของประชาชน และการยอมรับว่ามีก้าวไปข้างหน้าและก้าวถอยหลังอยู่ตลอดเวลา

ปืนห่อด้วยกฎหมาย = เทคนิคบริหารราชการเผด็จการยุคนี้

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ 5 ปีที่ผ่านมาในยุคคสช. ครองอำนาจได้สร้างอะไรที่เป็นที่สุดหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเผด็จการทหารอื่นๆ ในแง่ของจำนวนการออกประกาศ/คำสั่งไว้มากเป็นอันดับต้นๆ ตลอดการยึดอำนาจของประชาชน 5 ปี 1 เดือน คสช. ได้ออกประกาศ/คำสั่ง ทั้งหมด 559 ฉบับ เฉลี่ยปีละ 111.8 ฉบับ ซึ่งมากกว่าจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ แต่รองจากสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ยึดอำนาจของประชาชน 1 ปี 10 เดือน ได้ออกประกาศ/คำสั่ง ทั้งหมด 966 เฉลี่ยปีละ 480 ฉบับ และแม้ยุคพลเอกประยุทธ์น้อยกว่ายุคจอมพลถนอม แต่ต้องไม่ลืมว่ายุคนั้นมีช่วงเวลาที่ไม่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงต้องออกกฎหมายผ่านคำสั่งคณะปฏิวัติ แต่คสช. นั้นมีสนช. อยู่ตลอด แต่ยังมีการออกประกาศ/คำสั่งของคสช. จำนวนมาก

ปิยบุตร กล่าวถึงอีกสถิติที่น่าสนใจคือการประกาศคุ้มกันประกาศ/คำสั่งของการใช้อำนาจของคสช. ไว้อย่างรัดกุม แน่นหนา ที่เห็นได้ชัดคือการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2562 มาตรา 279 ที่ได้รับรองไว้ว่าบรรดาประกาศ/คำสั่งการใช้อำนาจทั้งหลายของคสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องจะชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด นั่นเท่ากับว่าผลิตผลของการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ ตลอด 5 ปี นั้นไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ

“... พูดง่ายๆ คือการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 279 เพื่อจะรับรองการใช้อำนาจของคสช. และรับรองไปถึงอนาคตอีกด้วย แม้ประกาศ คำสั่งของคสช. ยกเลิกไปแล้ว แต่หากมีการกระทำที่ต่อเนื่องไปอีกไม่ว่ารูปแบบอะไรก็ย่อมชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งนั้น และนั่นคืออันตรายของมัน เพราะบางอย่างจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยตัวมันเอง แต่นี่คือมันไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ คุณจึงต้องเขียนว่าให้มันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และรับรองเอาไว้ในอนาคตอีกด้วย”

ปิยบุตร กล่าวต่อ ประกาศ/สั่งของคสช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้ใช้อย่างครอบคลุมทุกวงการตั้งแต่โยกย้ายข้าราชการ ถอดยศนักการเมือง เรียกนักการเมืองไปรายงานตัว ละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เอื้อกลุ่มทุนนขนาดใหญ่ รวมถึงปราบวินมอเตอร์ไซต์ เด็กแว๊น หมดทุกเรื่องจนประชาชนได้รับผลกระทบทั้งหมด และประกาศ/คำสั่งของคสช. อยู่กับประชาชนอย่างยาวนานมาก นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ เมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวรแล้วแต่คสช. มีอำนาจพิเศษอยู่ต่อเนื่องจนกว่าจะมีครม. ชุดใหม่แต่ครม. ชุดใหม่ก็คือนายกคนเดิม ซึ่งมันไม่ใช่แค่ความบังเอิญแต่ถูกออกแบบไว้แล้ว นับได้ว่าตลอด 5 ปีกว่าที่มาเป็นที่สุดในหลายๆ เรื่อง และน่าจะเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับปี 2514 ปี 2515

ปิยบุตร กล่าวว่า น่าสังเกตที่การดำเนินคดีกับประชาชนเป็นเทคนิคในการบริหารราชการ การใช้อำนาจแบบใหม่ๆ ของเผด็จการทหาร เป็นที่ทราบดีว่าเขาอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้จึงต้องเปลี่ยนการใช้อำนาจดิบเถื่อนให้ดูดี โดยแปลงเป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้นเผด็จการทหารในยุคสมัยนี้จึงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออยู่ตลอดเวลา  ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศ/คำสั่งด้วยตนเองหรือให้สนช.ออก ซึ่งสนช.นี้ พลเอกประยุทธ์ตั้งสนช. ไว้เองหมดเลยแล้วพอเป็นกฎหมายเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องใช้ตาม เมื่อมีใครละเมิดกฎหมายของคสช. สักคนหนึ่งเท่ากับว่าละเมิดกฎหมายก็ถูกดำเนินคดีและจำคุก เมื่อบอกว่าเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชน เผด็จการก็จะพูดเสมอว่านี่คือการทำตามกฎหมายทั้งหมด นานาชาติอยากจะเข้ามาสังเกตการณ์แทรกแซงก็จะเข้ายากขึ้นเพราะทั้งหมดคือการทำตามกฎหมาย 

แน่นอนว่าแม้เผด็จการของพลเอกประยุทธ์จะดูซอฟท์ มีคนบาดเจ็บล้มตายน้อยมาก แต่เอาเข้าจริงแล้วเมื่อดูเผด็จการ อย่าพิจารณาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพียงจำนวนคนเจ็บล้มตายเท่านั้น ตรงกันข้ามยิ่งคนที่ถูกดำเนินคดีมากขึ้น ยิ่งแสดงว่าเผด็จการแนบเนียนกว่าเดิม คือมันไม่ได้ใช้ปืนแต่ใช้กฎหมาย และมันง่ายนิดเดียวเพราะกลไกของรัฐพร้อมสนับสนุน ทั้งๆ ที่คนที่บอกให้ทุกคนเคารพกฎหมายคือคนที่ละเมิดกฎหมายคนแรกคือคนที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน 

“...ผมเรียกวิธีการของรัฐประหารสมัยนี้ว่าเอากฎหมายมาห่อหุ้มปืน จริงๆ แล้วอำนาจที่เขาใช้อยู่ในวันนี้คือปืนหมดเลย แต่เมื่อปืนมันน่าเกลียดก็เอากฎหมายมาห่อมันไว้ แล้วก็ใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วไปในทางลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ คือหลายเรื่องไม่ควรถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยซ้ำตั้งแต่แรก และดำเนินคดีเอาไว้ก่อนเพื่อที่จะมีคดีทำให้คนเคลื่อนไหวยากขึ้น สร้างบรรยากาศอึมครึม ขมุกขมัวจนมนุษย์เลิกที่จะใช้เสรีภาพของตนเอง เผด็จการทหารกับกฎหมายจึงเป็นคู่หู ผีเน่ากับโรงผุมาหลายยุคสมัย”

ปิยบุตร ทิ้งท้ายด้วยว่า การแก้ไขปัญหาจากรัฐประหารนั้นต้อง ‘จัดการ แก้ไข ลบล้าง และป้องกัน’ พอสรุปได้ว่า 

จัดการ: ทบทวนประกาศ/คำสั่งคสช. ที่ยังไม่ถูกยกเลิก ฉบับไหนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีเนื้อหาขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรงต้องยกเลิกให้หมด และยังต้องเยียวยาผู้เสียหาย สำหรับประกาศ/คำสั่งที่เกี่ยวข้องการใช้ชีวิตประจำวันปกติ ถ้าจะให้ใช้ต่อต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายระดับรอง สำคัญที่สุดต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279  ที่สร้างกรอบคุ้มกันเอาไว้ให้กับการรับรองการใช้อำนาจของคสช. 

แก้ไข: ศาลทหารต้องเป็นไปตามมาตรฐานศาลทหารสากล มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ให้ถูกตามเจตนารมณ์ ไม่อนุญาตให้ทหารประกาศกฎอัยการศึก อย่างน้อยที่สุดกฎอัยการศึกต้องถูกประกาศโดยคณะรัฐมนตรี และใครประกาศต้องมีความรับผิดชอบ มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทจากการถูกใช้เป็นความผิดทางอาญาเป็นความผิดทางแพ่ง  ยกเลิกแก้ไขกฎหมายการบริหารราชการในกระทรวงกลาโหม

ลบล้าง: ประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีรัฐประหารแล้วคือการนำคนทำรัฐประหารไปดำเนินคดี จะได้ทำให้คนต่อๆ ไปไม่กล้าทำรัฐประหารอีกโดยต้องทำให้การนิรโทษกรรมตนเองเป็นโมฆะเพื่อดำเนินคดีกับคนก่อรัฐประหารได้

ป้องกัน: ต้องมีการปฏิรูปกองทัพและนักการเมืองที่มีคุณภาพ

นิทรรศการ ‘NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน’

วงเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดงานนิทรรศการ ‘NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน’ ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมฟรีจนถึงวันที่ 16 สิงหาคมนี้ (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ณ ชั้น 2  หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ภายในนิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวและข้าวของที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 พยานหลักฐานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นถาพถ่าย จดหมายจากห้องขัง เสื้อของผู้ถูกดำเนินคดี คราบเลือดผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ป้ายไวนิล โปสการ์ด พริก เกลือ กระเทียม ฯลฯ ล้วนย้ำถึงการควบคุม คุกคาม ปราบปราม ที่ทั้งหยุดยั้งและเหยียบย่ำพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศมานานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 

สำหรับผู้สนใจนิทรรศการ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง https://www.facebook.com/events/214360019451546/

พิธีเปิดนิทรรศการในวันที่ 16 สิงหาคม ก่อนเริ่มวงเสนาหัวข้อ ‘NEVER AGAIN’ นั้นผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยกล่าวเปิดงาน ตามด้วยภัทรานิษฐ์ เยาคำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในระยะ 5 ปี พร้อมข้อเสนอเพื่อปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศ

ภัทรานิษฐ์ เริ่มต้นด้วยการชวนดูเสื้อตัวที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมรณรงค์ด้านประชาธิปไตยที่ใส่ในวันที่ถูกทำร้ายร่างกายจากกลุ่มชายจำนวน 4 คน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมาด้านข้างเวที ซึ่งเป็นครั้งที่สองที่เขาถูกทำร้ายภายในเดือนเดียวกัน ก่อนหน้านั้นเขาถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุม จัดกิจกรรม เสวนา และเรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดยคณะรัฐประหารหรือคสช. ลงจากอำนาจถึง 13 คดี เรื่องราวนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของชีวิตคนธรรมดาที่เปลี่ยนไปหลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

โดยนับตั้งแต่คสช. เข้ามายึดอำนาจประชาชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น มีคนที่ถูกเรียกรายงานตัวหรือเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติอันถือว่าเป็นการคุกคามซึ่งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและกลายเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 929 คน มีคนที่ถูกข่มขู่ คุกคาม และติดตามตัวที่บ้าน จำนวน 572 คน มีที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วยการแจ้งข้อกล่าวหา 112 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำนวน 434 มีคนที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยการแจ้งข้อกล่าวหาตามประกาศและคำสั่งคสช. พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จำนวน 773 คน และมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากหวาดกลัวในภัยคุกคามต่อชีวิต อันเนื่องจากความเห็นต่างทางการเมืองจำนวน 100 คน

ภัทรานิษฐ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารและบันทึกเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลที่นำโดยคสช. มาตลอดระยะเวลา 5 ปี เห็นว่า ห้วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาสำคัญที่เราต้องเริ่มสร้างความจดจำและเรียกร้องให้เกิดความรับผิดและเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงของการรัฐประหารในทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย 8 ประเด็นหลัก คือ 

​1. การแก้ไขและยกเลิกกฎหมายอันเป็นส่วนหนึ่งสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารและเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐบาลที่นำโดยคสช.

​2. การทำให้สิ้นผลไปซึ่งคำพิพากษาที่ไม่ว่าออกโดยศาลใด แต่รับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหาร สร้างเอกสิทธิ์ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และวินิจฉัยตามกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอันนำมาสู่การลงโทษบุคคลดังกล่าว

​3. การสนับสนุนให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรม โดยรับรองหลักความเป็นอิสระ ความเป็นกลางของสถาบันตุลาการ และต้องนำทหารออกจากกระบวนการยุติธรรม ด้วยการยุติการนำศาลทหารมาใช้พิจารณาคดีพลเรือน ตลอดทั้งยุติการนำพยานหลักฐานที่ได้มาจากการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในพิจารณาคดีต่อบุคคลนั้น

​4.การเปิดเผยข้อมูลที่จัดเก็บโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งนำมาสู่การข่มขู่ คุกคาม และละเมิดซึ่งสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของประชาชน

​5. การกำหนดหรือจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง เพื่อตรวจสอบรูปแบบและลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการใช้อำนาจโดยมิชอบภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่นำโดยคสช.

​6. การกำหนดนิยามผู้เสียหาย ประเภท ลักษณะ และระดับความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลอันเนื่องมาจากการรัฐประหาร และเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเยียวยาชดใช้ให้บุคคลดังกล่าวโดยวิธีการทั้งที่อยู่ในรูปแบบตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน

​7. การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยอย่างน้อยที่สุด ต้องสามารถระบุบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระดับการกำหนดนโยบาย การสั่งการ การปฏิบัติ และการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เพื่อประโยชน์ในการนำตัวบุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

​8. การติดตามการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารที่มีเหนือหรือแทรกซึมเข้าไปในงานพลเรือนในมิติต่างๆ

โดยภายในงานยังมีการแสดงเพื่อสะท้อนสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม สามารถติดตามรอบการแสดงได้ที่ ลานยิ้มการละคร Lanyim Theatre https://www.facebook.com/ลานยิ้มการละคร-Lanyim-Theatre-1220980744703913/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท