Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 62 ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้จุดประเด็นกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าไม่สมบูรณ์เนื่องจากการกล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดในมาตรา 161 ซึ่งได้ปรากฏเป็นข่าวไปเรียบร้อยแล้วว่าหลักใหญ่ใจความที่ขาดหายไปคือถ้อยคำข้อความที่ว่า

“ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

นับจากวันที่ ครม.เข้าถวายสัตย์ฯ ก็ผ่านล่วงเลยมาจวนจะครบ 30 วันเข้าไปแล้ว ยังไม่มีท่าทีที่แน่ชัดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้ อย่างไร?

แต่ถ้าดูจากการให้สัมภาษณ์ทั้งจากรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม ที่ในตอนแรกหลังจากกรณีนี้เป็นข่าว ได้บอกให้สังคมอย่าไปอยากรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ หรือสักวันหนึ่งจะรู้เอง แล้ว ยิ่งทำให้ประเด็นดังกล่าวแทนที่จะเงียบไปตามเจตนารมณ์ความต้องการของรัฐบาล กลับทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้น กระทั่งมีการนำเรื่องดังกล่าวไปถามกับ พล.อ.ประยุทธ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่เป็นคนนำกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนเจ้าปัญหาดังกล่าว แต่คำตอบที่ได้รับยิ่งหนักไปกว่าที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายตอบซ่ะอีก เพราะนายกฯได้บอกให้เรื่องนี้ผ่านกระบวนการครบแล้ว ให้จบๆไป หรือการบอกกำลังหาทางแก้ไขอยู่ อย่าเอามาทำเป็นเรื่องการเมือง ยิ่งทำให้ประเด็นนี้ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่

สื่อมวลชนบางสำนัก ได้มีการหยิบยกประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนดังกล่าว ไปเทียบเคียงกันกับการถวายสัตย์ฯ ของอดีตนายกฯ 2 ท่านที่ตอนนี้ต้องหลบคดีไปอยู่พำนักในต่างประเทศในทำนองว่า ถวายสัตย์ฯ ครบ แต่ต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ เหมือนต้องการชี้ให้สังคมเข้าใจว่าการถวายสัตย์ฯ ไม่สำคัญเท่าการกระทำของคณะรัฐมนตรี หรือหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าจะคนละประเด็นกันโดยสิ้นเชิง

หลักใหญ่ใจความสำคัญของมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 นั้น บัญญัติไว้ดังนี้
ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

จริงๆ แล้วมีประเด็นให้คิดวิเคราะห์เพียงไม่มาก แต่มีความพยายามเบี่ยงประเด็นกันไป-มา เท่านั้นเอง ซึ่งประเด็นที่ว่านี้อยากให้สังคมลองคิดพิจารณาตามดังนี้

1) มีการกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?

2) ถ้ามีการกล่าวไม่ครบ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

3) สามารถไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่?
แล้วสมมติหากนายกฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แล้วไม่ผิด บุคคลทั่วไปสามารถไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่?

4) การไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่?

และ 5) เราสามารถกระทำผิดกฎหมายต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ได้หรือไม่?

ประเด็นจึงมีอยู่เพียงเท่านี้จริงๆ แม้บรรดาผู้รู้ ผู้เกี่ยวข้องบ้าง ไม่เกี่ยวข้องบ้าง จะมีความเห็นต่างกันอยู่ในกรณีที่ว่านี้ บ้างก็บอกคณะรัฐมนตรีทำผิด ต้องดำเนินการใหม่ให้ถูก บ้างก็บอกต้องลาออก บ้างก็บอกให้กลับไปขอพระราชทานอภัยโทษ พร้อมกับดำเนินการใหม่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเริ่มการถวายสัตย์ฯ แต่บ้างก็บอกไม่ผิด ไม่ต้องดำเนินการใดๆ แล้ว

แต่ถ้าจับอากัปกิริยาของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่า มีการกระทำการไม่เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญจริง ซึ่งก็น่าจะสอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่บอกกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า

“กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่....”

อยู่ที่ว่ากำลัง “แก้” แบบไหน ระวัง!!! ยิ่ง“แก้” จะยิ่งยุ่ง  แบบ “ลิงแก้แห” หรือเปล่า

เพราะต้องไม่ลืมนะว่า สำหรับสังคมไทยแล้ว หากมีบุคคลไม่ยืนตรงถวายบังคมในโรงภาพยนตร์ ยังถูกไล่ล่า ถูกแจ้งความเอาผิดมาตรา 112 ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำผิดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ได้เป็นการกระทำผิดต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ ด้วยซ้ำไป

เรื่องนี้จึงถือว่า เป็นเรื่องเปราะบางอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีจึงควรเร่งสร้างความกระจ่างชัดในเรื่องนี้โดยเร็ว มิฉะนั้นเรื่องอาจจะบานปลาย การอยู่เงียบๆ หวังให้เรื่องจบๆ ไป อาจจะไม่เป็นผลดี

ที่เคยบอกว่าการแก้ไขปัญหาปากท้อง สำคัญกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น วันนี้ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา อาจจะอยากแก้รัฐธรรมนูญก่อนด้วยซ้ำไป หากมีผลย้อนหลังได้ โดยเฉพาะมาตรา 161

พึง!!ระวังเดี๋ยวจะยิ่งเป็น “ลิงแก้แห” จริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net