Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Eastern Economic Corridor (EEC) หรือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมัยที่ 2 (คสช.2) ซึ่งสานต่อมาจากแผนเศรษฐกิจเดิมที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคแรกที่ คสช. อยู่ในอำนาจ โดยมี 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรีและอดีตสมาชิก คสช. เป็นผู้ผลักดันคนสำคัญ
 
ภาพในฝันของการดำเนินโครงการแบบ EEC คือ การพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ โดยอาศัยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมือง เพื่อดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่พิเศษในสามจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ด้วยความหวังที่ว่าจะส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ ด้วยการส่งเสริมกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง
 
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในยุค คสช. มีการใช้อำนาจพิเศษตาม 'มาตรา 44' เพื่อปลดล็อคทุกข้อจำกัดที่ทำให้โครงการไม่เดินหน้า รวมถึงการให้ 'สนช.' สภาแต่งตั้งของตัวเองออกกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะ อาทิ 'พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' หรือ 'พ.ร.บ.อีอีซี'
 
อย่างไรก็ดี ภายใต้ภาพที่ คสช. เฝ้าฝัน ยังมีเหรียญอีกด้าน ว่าด้วยการ "ลด-แลก-แจก-แถม" สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับกลุ่มทุน และเปิดช่องให้มีการช่วงชิงและจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงทำให้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่พิเศษดังกล่าวต้องตกอยู่ในแผนการพัฒนาแบบบีบบังคับ โดยที่เสียงของพวกเขากลับไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาเพื่อตัดสินใจกำหนดทิศทางของโครงการนี้ เสมือนคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการพัฒนา

"EEC" เขตอำนาจพิเศษของ คสช.

แนวคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเริ่มปรากฎตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลัง คสช. ยังใช้อำนาจตาม 'มาตรา 44' ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรีในยุค คสช. และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจกำหนดนโยบายและอนุมัติแผนพัฒนาต่างๆ รวมถึงการกำกับดูแลให้มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
 
นอกจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แล้ว คสช. ยังให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของตัวเองออกกฎหมายมาอีกหลายฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ 'พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' หรือ 'พ.ร.บ.อีอีซี'  โดยตัวกฎหมายรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน ให้กับนักลงทุนในด้านต่างๆ ไปไว้ที่ 'คณะกรรมการนโยบาย' และ 'เลขาธิการ' ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เสมือนมีหน่วยงาน 'รัฐซ้อนรัฐ' ขึ้นมาบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ 
 
พ.ร.บ.อีอีซี ยังยกเว้นกฎหมายบางอย่างเพื่อให้การขับเคลื่อนไม่ติดข้อจำกัด เช่น การยกเว้นกฎหมายผังเมืองในการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค หรือการยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) เพื่อให้นำที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรมาใช้ประโยชน์ได้ หรือแม้แต่การยกเว้นบางมาตราของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ไม่จำกัดว่าผู้เชี่ยวชาญที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะมีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
 
มิใช่แค่นั้น ในระหว่างที่ พ.ร.บ.อีอีซียังไม่ใช้บังคับ หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 47/2560 เพื่อยกเว้นการใช้ผังเมืองในการทำแผนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยคำสั่งดังกล่าวเปิดทางให้มีการจัดทำนโยบายและแผนภาพรวม แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และอื่นๆ ให้เสร็จภายใน 6 เดือน และการทำแผนดังกล่าวให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง
 
นอกจากนี้ สนช. ยังผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ขึ้นมาแทน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ฉบับปี 2530 โดยกำหนดให้ "การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ" เป็นกิจการ "เพื่อประโยชน์สาธารณะ” และให้อำนาจรัฐสามารถเวนคืนที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งยังสามารถเวนคืนที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินป่าสงวนหวงห้าม และที่ดินสงวนหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุหรือตามประมวลกฎหมายที่ดินได้อีกด้วย

"EEC" เขตสิทธิพิเศษสำหรับนักลงทุน

ภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีการให้ "สิทธิพิเศษ" แก่นักลงทุนหลายอย่าง เช่น  สิทธิในการถือครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติ  สิทธิที่จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น
 
โดยประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันมาก คือ สิทธิสำหรับการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตพัฒนาพิเศษ มีข้อกำหนดว่า ห้ามทำสัญญาเช่าเกิน 50 ปี แต่สามารถต่อสัญญาอีกไม่เกิน 49 ปี ทั้งนี้ ไม่ให้นำมาตรา 540 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาใช้บังคับ หมายความว่า ผู้เช่าไม่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดที่ว่า ห้ามจดทะเบียนทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นานเกินกว่า 30 ปี รวมไปถึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินในกรณีเช่าที่ดินเกินร้อยไร่ ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับการทำสัญญาเช่ากรณีทั่วไป 
 
อีกทั้ง บรรดาผู้ประกอบกิจการภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษย่อมมีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการนโยบายฯ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตประกอบการเสรีได้อีกด้วย 
 
ในกรณีที่ต้องการนำเข้า-ส่งออก นักลงทุนอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระสินค้าหรือบริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้

"EEC" เขตพัฒนาพิเศษที่ไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่

ภายใต้การพัฒนาด้วยอำนาจพิเศษของภาครัฐและการให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังมีเหรียญอีกด้านที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง คือ ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
 
ข้อมูลจาก "รายงานศึกษาธรรมาภิบาลด้านที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" ที่จัดทำโดยนักวิชาการและภาคประชาชน พบว่า นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทำลายหลักนิติธรรม (rule of law) และรอนสิทธิของประชาชน อีกทั้งยังไม่มีงานศึกษาใดๆ มารองรับ นับตั้งแต่การศึกษาถึงความเป็นไปได้ การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (EIA) และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และที่สำคัญการขาดมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนแม้แต่กับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการในท้องถิ่น การขาดกระบวนการดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบและนำไปสู่การคัดค้านหรือความขัดแย้งกับประชาชน
 
อีกทั้ง นโยบายดังกล่าวจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือโครงการ "อีสเทิร์นซีบอร์ด" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด" ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอีนเทิร์นซีบอร์ดยังคงมีอยู่ สะสมและหมักหมมปัญหาเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่จนถึงปัจจุบันนี้ อาทิเช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มิได้กระจายความมั่งคั่งและความอยู่ดีมีสุขอย่างถ้วนหน้า การแย่งชิงฐานทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง การเปลี่ยนการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมขนานใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ตลอดจนความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่เริ่มโครงการ
 
รูปธรรมปัญหาอย่างแรก ก็คือ การจัดทำผังเมืองใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในพื้นที่ เช่น พื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง บริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศอย่างมาก เพราะมีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรา อีกทั้ง พื้นที่ดังกล่าวยังไม่เหมาะแก่การใช้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย
 
หรือ พื้นที่บริเวณรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (โครงการ 2)) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญระดับประเทศ เนื่องจากได้ผลผลิตคุณภาพสูงและมีปริมาณมาก
 
รูปธรรมปัญหาที่กำลังจะตามมาก็คือ การพุ่งขึ้นของราคาที่ดินและการค้าที่ดิน ทำให้เกษตรกรที่เคยเช่าที่ดินทำการเกษตรและการประมงมายาวนาน ต้องถูกยกเลิกสัญญาเช่าโดยทันทีเมื่อเจ้าของที่ดินขายที่ดินให้กับนักลงทุน ตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมไปถึงการเวนคืนที่ดินจากการขยายระบบโครงการพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาขนส่งสินค้าคอนเทรนเนอร์ (ICD) พื้นที่ประมาณ 800 ไร่ ในตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น
 
กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) เปิดเผยว่า กระบวนการมีส่วนร่วมที่ผ่านมามีข้อจำกัด ประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงผังเมืองส่วนมากไม่ได้รับรู้และเข้าร่วมให้ความเห็น ประกอบกับระยะเวลาในการรับฟัง ทั้งๆ ที่เป็นผังเมืองที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดมีเนื้อหาและรายละเอียดเป็นจำนวนมาก แต่เวทีรับฟังที่เกิดขึ้นเป็นเวทีที่จัดเพียงครึ่งวัน และมีเวลาเพียงน้อยนิดสำหรับผู้เข้าร่วมในการแสดงความเห็น
 
นอกจากนี้ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จนถึงวันนี้ยังไม่มีการให้ข้อมูล-ร่าง-ผังเมือง EEC แก่บุคคลทั่วไป การจะได้มาต้องมีการชุมนุมร้องขอ และไม่มีการปิดประกาศเพื่อรับคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียที่อาจจะถูกรอนสิทธิ์ในที่ดินจากการประกาศใช้ผังเมือง EEC
 
อย่างไรก็ดี กัญจน์ เปิดเผยว่า ทางออกร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว คือ การจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยชุมชน เปลี่ยนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นเขตสร้างสรรค์ความสุข ที่มีเป้าหมายในการสร้างความอยู่ดีมีสุข การพัฒนาพื้นที่มีความสมดุล รับมือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

Thailand Grand Sale: กม.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฉบับย่นย่อ
ถอดบทเรียน คสช. ใช้มาตรา 44 สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ข้ามหัวสิทธิชุมชน กับ เดชรัต สุขกำเนิด

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://ilaw.or.th/node/5358

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net