เพียรพร ดีเทศน์: แม่น้ำโขง สายน้ำที่กำลังถูกรุมทึ้งทรัพยากร

น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงมากที่สุดในรอบ 50 ปี ภัยแล้งอาจเป็นจำเลยใหญ่ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือความผันผวนของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติอันเนื่องจากการสร้างเขื่อนกว่า 10 แห่งในจีนและลาว หากยังไม่ยอมรับว่านี่คือปัญหาและเปิดโต๊ะเจรจา ประชากรหลายล้านคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะได้รับผลกระทบ อ่านการวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอจาก ผอ.รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ

  • ปัญหาที่แท้จริงของแม่น้ำโขงไม่ใช่น้ำแล้งหรือน้ำท่วม แต่คือการผันผวนของระดับน้ำอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง
  • ประเทศไทยมีระดับไฟฟ้าสำรองเพียงพอ ทำไมจึงต้องสร้างเขื่อนไซยะบุรี
  • บทบาทที่หายไปของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
  • รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นแล้วและพูดคุยเจรจากับประเทศจีนหรือใช้กรอบอาเซียนในการเจรจา

ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงต่ำสุดในรอบ 50 ปี สร้างผลกระทบกับประชากรที่อยู่อาศัยตามริมน้ำโขง ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเนื่องจากฝนที่ตกลงมา ทว่าปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้ไม่ใช่น้ำแล้งหรือน้ำท่วม

“แต่เราพูดถึงความผันผวนของระดับน้ำที่มันผิดแผกจากที่เคยเป็นตามฤดูกาล ผิดธรรมชาติ” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าว

ภาพ เพียรพร ดีเทศน์ 

เขื่อนและความผันผวนของระดับน้ำ

ทั้งการที่ทางการจีนแถลงว่าเขื่อนจีนสร้างผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่โขงเป็นเรื่องเข้าใจผิด และบอกอีกว่าหลักการของจีนคือการเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้งและลดปริมาณน้ำในฤดูฝน ซึ่งเพียรพรยังคงยืนยันว่านี่เป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เธออธิบายว่า

“แม่น้ำโขงมีวงจรน้ำขึ้น น้ำลงตามฤดูกาล คือในฤดูฝนที่ฝนตก น้ำก็จะขึ้นตามลำน้ำสาขาต่างๆ น้ำจะท่วมไปถึงที่ราบน้ำท่วมถึง ป่าบุ่ง ป่าทาม และ wet land ต่างๆ พวกตะกอนดินหรือน้ำฝนใหม่ก็จะเป็นตัวส่งสัญญาณให้ปลาชนิดต่างๆ อพยพขึ้นมาตอนบนเพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ พอปลายฝนก็ค่อยๆ ลดลงตามฤดูกาล น้ำในช่วงหน้าแล้งก็จะลดลง กลายเป็นหาดทราย เป็นเกาะแก่ง เป็นระบบนิเวศของแม่น้ำ วงจรเป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแห่งแรกตอนปี 2539 ตอนนี้สร้างเสร็จไปแล้วถึง 11 แห่ง 9 แห่งในจีน และ 2 แห่งในลาวที่ไซยะบุรีและดอนสะโฮง มันก็เห็นว่าน้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติ นี่คือหัวใจการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง”

เขื่อนไซยะบุรี

เมื่อกล่าวถึงเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด บริษัทในเครือ ช.การช่าง ทางบริษัทออกมาอธิบายว่าการทดลองผลิตไฟฟ้าของทางบริษัทไม่ได้ส่งผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงเช่นกัน เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีมีลักษณะเป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่หรือ run-of-river ไม่มีการกักน้ำ

แต่ ผอ.รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าข้อเท็จจริงคือยังไงก็ต้องกักเก็บน้ำ เพราะต้องมีความต่างของระดับน้ำระหว่างข้างบนกับข้างล่างเพื่อจะผลิตไฟฟ้า ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ถึงแม้จะบอกว่าเป็น run-of-river หรือฝายน้ำล้นก็ตาม

“สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่เขาบอกว่าทดลองผลิตไฟฟ้า ก็อย่างที่เห็นว่าทางการลาวเองออกประกาศว่าเขื่อนจะทดลองผลิตช่วงวันนี้ๆ เดือนกรกฎาคม แล้วจะทำให้น้ำขึ้นลงผิดปกติ ซึ่งเราก็เห็นภาพข่าวในเว็บไซต์ของลาวที่เรือติดเพราะน้ำมันลงกะทันหันหรือว่ารูปกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ตายแถวหนองคาย แถวเชียงคาน มันก็เป็นประจักษ์พยาน มันปฏิเสธไม่ได้ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยแล้ง เขื่อนที่มากั้นเหนือน้ำจากภาคอีสานของไทย แล้วตอนนี้ทางลาวตอนเหนือที่โดนพายุวิภาน้ำก็ลงมามาก มันก็ผิดเพี้ยนหมด เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ปัจจัยธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเป็นความเสียหายที่เพิ่มทวีคูณขึ้นจากการควบคุมน้ำของเขื่อน”

ตอนนี้เขื่อนไซยะบุรีกำลังจะเสร็จสมบูรณ์และจะสามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือ กฟผ. ในเดือนตุลาคม ตามสัญญา 29 ปี ผอ.รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าภาคอีสานรอรับเลยว่าปัญหาจะเกิดขึ้นอีกมากมายหลังจากนี้ เพราะไม่มีกฎหมายที่เข้าไปควบคุมการจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดน

นอกจากนี้ เพียรพรตั้งข้อสังเกตถึงกำลังไฟฟ้าสำรองของไทยที่มีอยู่ในระดับสูง คำถามคือจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าอีกทำไม

“จะเอากำไรใช่ไม๊ จะเอาทรัพยากรของภูมิภาคนี้ไปใช้เพื่อผลิตเงิน ผลิตกำไรให้กับบางบริษัทเท่านั้นหรือ มันอาจจะถูกกฎหมาย เขาอาจจะอ้างว่าทำอีไอเอ (รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แล้ว แต่อีไอเอครอบคลุมแค่ 3-5 กิโลเมตรรอบๆ เขื่อน แต่ผลกระทบมันเกิดขึ้นเป็นร้อยกิโลเมตร ซึ่งก็เห็นว่าตัวผลกระทบมันก็ฟ้องด้วยตัวมันเอง เพราะฉะนั้นคำถามแรกคือทำไมต้องสร้างเขื่อนในเมื่อพลังงานไฟฟ้าเรามีจำนวนมากมาย

“แล้วเทรนด์ในปัจจุบันคือผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระมันเกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบที่รวมศูนย์มันควรจะพอได้แล้วและเชื่อว่ามันมีเทคโนโลยีที่จะบริหารจัดการได้ มันเป็นซอฟต์แวร์ เป็นการบริหารจัดการอาคารขนาดใหญ่ ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคครัวเรือนว่าจะมีวิธีการจัดการพลังงานให้มีความยั่งยืนและเป็นปัจจุบัน คือโลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว คุณไม่สามารถทำโครงการขนาดใหญ่สร้างผลกระทบมากมายแล้วก็เอาไฟฟ้าไปขาย พอบอกว่าประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองเกินเป็นครึ่ง บอกจะเอาไปขายมาเลเซียกับสิงคโปร์ผ่านอาเซียนพาวเวอร์กริด แบบนี้มันถูกเหรอ มันต้องจริงใจ ดูข้อเท็จจริง และมองถึง capacity (สมรรถนะ) ของทรัพยากรว่ามันรับไม่ไหวแล้ว ต้องรักษา ไม่ใช่ทำลายแล้ว แล้วเรื่องไฟฟ้าพลังงานก็มีคำตอบอีกมากมาย”

เสือกระดาษชื่อเอ็มอาร์ซี

ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) ที่ควรจะเป็นกลไกร่วมในการดูแลแม่น้ำโขงก็ได้กลายเป็นเสือกระดาษไปเรียบร้อยแล้ว เพียงพรกล่าวว่าเวลาพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ภาคประชาชนไม่ได้เอ่ยถึงเอ็มอาร์ซีมาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว เพราะชัดเจนว่าไม่มีผลใดๆ ต้องการตัดสินใจ เพราะอะไร เพียรพรให้คำตอบว่า

“เนื่องจากเราเห็นว่าการจัดการน้ำเรื่องเขื่อนมันวางอยู่บนผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ความร่วมมือในการรักษาแม่น้ำโขงในฐานะที่เป็นทรัพยากรร่วม เพราะฉะนั้นแม้เอ็มอาร์ซีจะศึกษาข้อมูลมาอย่างดี การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ของแม่น้ำโขงเมื่อปี 2010 หรือการศึกษาที่เรียกว่า council study คือข้อมูลมันดีมาก เอ็นจีโอไม่ต้องพูดเลย การศึกษาบอกชัดเจนว่าแม่น้ำโขงจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือปลาจะหายไป 40-70 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 20 ปี หรือท้ายน้ำจากเขื่อนจะทำให้น้ำขึ้นลงแล้วตลิ่งพังไปตลอดทางลงไปถึงกัมพูชา สิ่งเหล่านี้มันได้รับการศึกษาอยู่แล้วในการศึกษาของเอ็มอาร์ซี ก็อย่างที่เราเห็นว่าเมื่อรัฐบาลและบริษัทดำเนินการโครงการร่วมกัน เขาไม่ได้หยิบยกข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ของทางการมาใช้ในการตัดสินใจ

“ไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะปกปักรักษา มันกลายเป็นแย่งกันใช้ ใครจะเอาไปใช้ได้มากกว่ากัน”

รัฐบาลต้องยอมรับว่าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว

ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยหรือประเทศอื่นในลุ่มแม่น้ำโขงจะต่อรองกับจีน ผอ.รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ คิดว่าเป็นไปได้ แต่สิ่งแรกที่ต้องเกิดขึ้นก่อนคือรัฐบาลต้องยอมรับว่าเกิดปัญหาขึ้นจริงและต้องหยิบเรื่องขึ้นมาพูดคุยเจรจา ซึ่งจะนำไปสู่ทางออกได้

“อย่างกรณีล่าสุดที่มีประกาศของเขื่อนจิ่งหงว่าจะลดการระบายน้ำจาก 1,000-1,200 ลงเหลือแค่ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มันลดเป็นครึ่ง มันก็เป็นแค่การแจ้งเตือน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการแจ้งเตือนคือการจัดการเขื่อนให้ระบายน้ำสัมพันธ์กับฤดูกาล กับระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่มาก มีผู้คนจำนวนมากที่ใช้ทรัพยากรนี้ในมิติต่างๆ แง่มุมต่างๆ แต่มันถูกเอาไปใช้แค่ผลิตไฟฟ้า การเดินเรือ หรือผลประโยชน์ของบริษัทหรือบางครอบครัว มันเป็นการชิงทรัพยากรไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันไม่ชอบธรรม

“สองสามครั้งแล้วที่ สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) บอกว่าจะขอเจรจากับลาว แต่จริงๆ เขื่อนไซยะบุรีก็เขื่อนไทย เจ้าของก็คนไทย จะคุยก็คุยได้ แต่ไม่มีการยอมรับโดยรัฐบาลจริงๆ บางทีมีคำถามว่าแล้วต้องปรับตัวยังไง ทำไมคนโดนปล้นต้องปรับตัวให้เข้ากับโจรหรือ คนที่ต้องปรับตัวคือภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลความผาสุกของประเทศตนเอง

“ยุคนี้แล้ว คำว่าสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิในทรัพยากร มันทำแบบในอดีตคงไม่ได้ แย่งกันใช้แบบในอดีตคงไม่ถูกแล้ว ความทุกข์ยากของคนเป็นล้านๆ คน นี่ยังไม่นับความหลากหลายทางชีวภาพ นิเวศวิทยาอื่นๆ อีก อย่างของไทยก็มีการทำประตูระบายน้ำศรีสองรักซึ่งก็เป็นหนึ่งในแผนที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าภาคอีสานของไทย แล้วเราได้บอกเพื่อนบ้านหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่ว่าน้ำไหลออกจากประเทศไทยไปไม่เกิดประโยชน์ มันมีประโยชน์สิ มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ต่อโลกใบนี้ไง แล้วทำไมเราไม่รักษาฐานทรัพยากรให้มันอยู่ได้ต่อ”

เพียรพรเสนอว่าอาจต้องใช้กรอบอาเซียนในการเจรจาเรื่องนี้ โดยข้อที่หนึ่งคือตระหนักว่าปัญหากำลังเกิดขึ้น ข้อที่สองคือจะร่วมมือกันอย่างไร ไม่ใช่จะร่วมกันรุมทึ้งทรัพยากรที่เหลืออยู่อย่างไร

“มันคงต้องพึ่งพากรอบอาเซียนในการเจรจาและพูดคุยกันอย่างจริงจังด้วยสปิริตที่เราอยู่ด้วยกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน จะทำยังไงให้เราอยู่ร่วมกันได้ มันคงหมดยุคที่ว่าทำไมลาวสร้างได้ จีนสร้างได้ เราไม่สร้างบ้าง แล้วทำไมเราต้องทำแบบเขา เราก็มาพูดคุยกันดีๆ ว่าปัญหากำลังเกิดขึ้น มาแก้ปัญหากันเถอะ คุยกันแบบคนที่มีวุฒิภาวะ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท